ระวัง! มิจฉาชีพโผล่บนเว็บหางาน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว ไม่ได้งานแถมเสียเวลา

ระวัง! มิจฉาชีพโผล่บนเว็บหางาน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว ไม่ได้งานแถมเสียเวลา

มิจฉาชีพสมัยนี้ไม่ได้มีแค่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ยังโผล่บนเว็บหางานอีก! หลอกลวงเอาเงิน-ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ ถึงขนาดรัฐบาลกลางสหรัฐต้องออกคำเตือน

KEY

POINTS

  • หางานยุคนี้ว่ายากแล้ว ยังต้องมาเจอสแกมเมอร์บนแพลตฟอร์มหางานหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวอีก ปัญหานี้ยิ่งซ้ำเติมให้วัยทำงานเครียดและท้อแท้ใจ
  • เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐ ถึงขนาดที่ว่ารัฐบาลกลางสหรัฐต้องออกคำเตือน
  • มิจฉาชีพกลุ่มนี้ มักพูดกล่อมให้เหยื่อส่งเงินหรือข้อมูลส่วนตัวไปให้ หรือพยายามขายคอร์สฝึกอมรม-คอร์สฟังคำแนะนำจากโค้ช โดยบอกว่าต้องผ่านขั้นตอนนี้ก่อนถึงจะได้งาน

‘หางาน’ ยุคนี้ว่ายากแล้ว ยังต้องมาเจอสแกมเมอร์ปั่นหัว หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว แถมเหยื่อบางรายเสียเงินโดยไม่รู้ตัวอีกต่างหาก ซ้ำเติมให้วัยทำงานยิ่งเครียดและท้อแท้ใจในการหางานมากกว่าเดิม ว่ากันว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่มากในสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นที่ว่าหน่วยงานของรัฐบาลกลาง เช่น FBI และ คณะกรรมการการค้าแห่งรัฐบาลกลาง ต้องออกมาเตือนประชาชน เกี่ยวกับการหลอกลวงในรูปแบบของการจ้างงานเลยทีเดียว

เปิดกลโกงสแกมเมอร์ในคราบนายจ้าง มักขอข้อมูลส่วนตัวเยอะๆ เน้นขายคอร์สฝึกอบรม

สำหรับกลโกงของแก๊งมิจฉาชีพที่มาในคราบนายจ้างก็คือ พวกนี้มักจะแอบอ้างตัวเองเป็นผู้รับสมัครงานและติดต่อคุณมาเอง โดยที่คุณไม่ได้เคยติดต่อบริษัทดังล่าวมาก่อน ทั้งยังมีการขึ้นประกาศรับสมัครงานตามแพลตฟอร์มหางานชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Indeed และ LinkedIn หรือแม้แต่ผ่านทางข้อความ WhatsApp เพื่อล่อใจผู้สมัครงานด้วยการเสนอตำแหน่งงานที่คุณไม่ได้สมัครเอาไว้ในระบบ

อแมนดา ออกัสติน (Amanda Augustine) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพจาก TopResume อธิบายว่า เมื่อผู้สมัครงานหลงเชื่อ สแกมเมอร์เหล่านี้ก็จะพูดกล่อมให้เหยื่อส่งเงินหรือข้อมูลส่วนตัวไปให้ หรือพวกเขาอาจอ้างว่า ผู้สมัครต้องเรียนหลักสูตรฝึกอบรม หรือเข้าคอร์สกับโค้ชทางอาชีพให้เสร็จก่อน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับตำแหน่งงานที่เสนอมาดังกล่าว  พวกเขาจะพยายามขายคอร์สเหล่านี้ให้เหยื่ออย่างเอาเป็นเอาตาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าคนจัดหางานทุกคนจะเป็นสแกมเมอร์ มีบ้างเหมือนกันที่นักจัดหางานตัวจริง จะติดต่อหาผู้สมัครงานไปก่อน หรือที่เรียกว่า Headhunter (นักล่าค่าหัว) คนกลุ่มนี้มีหน้าที่มองหาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้บริหารระดับสูงให้กับบริษัท ซึ่งมีจุดแตกต่างจากพวกสแกมเมอร์

ฟีบี้ กาวิน (Phoebe Gavin) โค้ชนักพัฒนาด้านอาชีพการงานและความเป็นผู้นำ (ตัวจริงไม่ใช่สแกมเมอร์) อธิบายว่า คนที่เป็น Headhunter จะมองหาพนักงานเพื่อมาทำงานในตำแหน่งงานระดับสูง เวลาติดต่อไปหาผู้สมัครที่เข้าตา พวกเขาจะแจ้งความประสงค์อย่างตรงไปตรงมา และระบุตัวตนของพวกเขาอย่างชัดเจน ในขณะที่หากเป็นสแกมเมอร์ พวกนี้มักจะพูดอ้อมๆ ชักแม่น้ำทั้งห้า ไม่เปิดเผยตำแหน่งงานที่จะเสนอให้อย่างชัดเจน 

วิธีเช็ก มิจฉาชีพ VS นายจ้างตัวจริง สังเกตยังไงบ้าง?

สำหรับจุดสังเกตหลักๆ ที่บ่งชี้ถึงมิจฉาชีพที่ปลอมตัวมาในคราบผู้จ้างงาน และวิธีป้องกันตนเองไม่ให้โดนหลอกลวงในระหว่างที่กำลังหางาน ผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำดังนี้ 

1. ตำแหน่งงานที่ดูสมบูรณ์แบบเกินไป ให้สงสัยไว้ก่อน!

ออกัสตินบอกว่า หากผู้สมัครไล่เสิร์ชดูตำแหน่งงานต่างๆ บนแฟลตฟอร์มหางาน แล้วเจอประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งที่ “ดูดีเกินจริง” ก็ให้เอะใจไว้ก่อน โดยส่วนใหญ่มักจะมีคีย์เวิร์ดหรือคำสัญญาในทำนองที่ว่า “จะทำให้คุณได้เงินจำนวนมากอย่างรวดเร็ว” หรือ “ทำงานไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน แต่ก็รวยได้ง่ายๆ” หากเจอข้อความลักษณะนี้ รีบหนีไปให้ไกล 

2. เสนอตำแหน่งงานให้โดยเร็ว โดยไม่ผ่านขั้นตอนมาตรฐาน

ข้อควรระวังลำดับต่อมาคือ หากเจอบริษัทที่เสนอตำแหน่งงานให้คุณอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยไม่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกตามมาตรฐาน เช่น ไม่ร้องขอเรซูเม่ ไม่ขอใบรับรองการศึกษา/ใบรับรองการทำงาน หรือไม่เรียกสัมภาษณ์งาน (กระบวนการหางานที่ถูกต้องตามกฎหมายควรต้องมีการสัมภาษณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง) หาเจออะไรแปลกๆ ทำนองนี้ ก็เข้าข่ายพี่มิจ(ฉาชีพ)เช่นกัน

3. จัดฉากสัมภาษณ์งานแบบปลอมๆ อย่าหลงเชื่อ!

อย่างไรก็ตาม การสัมภาษณ์งานไม่ได้รับประกันว่าตำแหน่งงานนั้นจะถูกต้องตามกฎหมาย บางครั้งสแกมเมอร์พวกนี้มักจะจัดฉากจะสัมภาษณ์งานปลอม โดยใช้การแชทข้อความและวิดีโอเพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของคุณโดยที่พวกมันไม่ยอมเปิดเผยตัวตน ตามรายงานของ ZipRecruiter หนึ่งในแพลตฟอร์มจัดหางานยอมนิยม เคยพบข้อมูลน่าแปลกใจว่า มีผู้หางานจำนวนไม่น้อยที่ถูกหลอกโดยที่ไม่รู้ตัว แถมยังแชร์การสัมภาษณ์งานปลอมเหล่านั้นบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย

ขณะเดียวกัน มีรายงานข้อมูลจาก LinkedIn ออกมาเตือนผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มด้วยว่า ทางแพลตฟอร์มตรวจสอบพบบัญชีนายจ้างปลอมจำนวนมาก และได้บล็อกบัญชีปลอมไปมากกว่า 63 ล้านบัญชีในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 อีกทั้งยังได้ลบ “สแปม” และ “เนื้อหาหลอกลวง” มากกว่า 108 ล้านชิ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

ออสการ์ โรดริเกซ (Oscar Rodriguez) รองประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ความเชื่อถือของ LinkedIn กล่าวในแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์มนี้ยังคงเป็นของแท้ ปลอดภัย และใช้งานง่ายสำหรับสมาชิก หากพบว่ามีนายจ้างติดต่อคุณเพื่อเสนอตำแหน่งงานที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งคุณไม่ได้สมัครไป “คุณจะต้องสงสัยไว้ก่อน

4. อธิบายตำแหน่งงานแบบคลุมเครือ หรือไม่มีคำอธิบายใดๆ เลย

บางครั้งนักต้มตุ๋นที่ปลอมตัวมาจะยืนกรานว่า ไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับงานนี้ได้ เนื่องจากประกาศรับสมัครงานเป็นความลับ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกบริษัทที่ถูกกฎหมายต้องสามารถอธิบายตำแหน่งงานได้อย่างโปร่งใส่ กาวินอธิบายเพิ่มว่า แม้ในตำแหน่งงานระดับสูง บริษัทอาจไม่บอกข้อมูลทั้งหมดในตอนแรก แต่สุดท้ายก็ต้องแจ้งข้อมูลสำคัญในช่วงการสัมภาษณ์งาน 

ด้านออกัสตินบอกอีกว่า หากบริษัทไหนไม่สามารถอธิบายตำแหน่งงานหรือไม่ส่งสำเนารายละเอียดของตำแหน่งงานนั้นมาให้ นั่นถือเป็นสัญญาณอันตราย นอกจากนี้ ควรระวังคำอธิบายงานที่คลุมเครือมาก หรือให้ข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับชื่อตำแหน่ง สถานที่ตั้งของบริษัท ความรับผิดชอบหลัก และคุณสมบัติที่ต้องการ ฯลฯ

5. เช็กประวัติบริษัทนั้นๆ ซ้ำอีกทุกครั้ง อย่าเผลอเชื่อทันที

ออกัสติน แนะนำว่า หากตำแหน่งงานนี้ดูคลุมเครือ ผู้สมัครควรสืบค้นประวัติหรือที่มาของบริษัทนั้นๆ เพิ่มเติม (ทุกอย่างบนโลกออนไลน์มี Digital Footprint) ซึ่งอาจหาโปรไฟล์บน LinkedIn หรือเพจโซเชียลมีเดียก็ได้ ถ้าไม่เจอข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนี้เลย หรือมีข้อมูลน้อยมาก ลองขอให้ว่าที่นายจ้างรายดังกล่าวเปิดเผยเว็บไซต์ของพวกเขา หรือหากมีการแนบลิงก์แปลกๆ มาให้กดดาวน์โหลด หรือกดเปิดไฟล์ อย่าเผลอกดเด็ดขาดเพราะนั่นคือลิงก์หลอกลวงดูดข้อมูลส่วนตัว

ควรใช้ความระมัดระวังหากนายจ้างไม่ได้ใช้ที่อยู่อีเมลของบริษัท แต่กลับอีเมลผ่านบัญชี Gmail Hotmail หรืออื่นๆ จุดนี้ก็น่าสงสัยเช่นกัน บริษัทตัวจริงต้องใช้อีเมลบริษัทในการรับสมัครงานเท่านั้นเพื่อความน่าเชื่อถือ 

นอกจากนี้ ควรระวังการสื่อสารจากที่อยู่อีเมลที่มีการสะกดผิด (ชื่อบริษัทปลอมที่มีความคล้ายคลึงกับบริษัทจริง แต่สะกดแตกต่างกันเล็กน้อย) อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ แนะนำให้พิมพ์ชื่อบริษัทนั้น พร้อมใส่คำว่า “หลอกลวง” ลงบน Google การค้นหาดังกล่าวอาจแสดงประวัติการฉ้อโกงของบริษัทนั้นๆ ขึ้นมาโชว์ก็ได้

6. อย่าใจร้อน ค่อยๆ หางานไป และอย่าท้อถอย

ความเครียดและความเร่งรีบจากการ “อยากได้งานเร็วๆ” อาจทำให้เราขาดสติ ขาดความระมัดระวัง และขาดเหตุผล จึงอาจทำให้เราหลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ง่าย ดังนั้น ผู้หางานจึงควรชะลอความเร่งรีบลง เมื่อมีใครยื่นโอกาสงานหรือยื่นข้อเสนอมาให้ ก็ให้ค่อยๆ คิดไตร่ตรองก่อน อย่าเพิ่งรีบเชื่อ ไม่มีบริษัทไหนที่จะหาพนักงานโดยทำกระบวนการทุกอย่าง ทั้งโทรหาเราเอง ขอข้อมูล เจรจาต่อรอง และสัมภาษณ์เราจนเสร็จสิ้นภายในหนึ่งชั่วโมง 

ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวเราเอง เราจึงควรการใช้เวลาตรวจสอบว่า บริษัทนั้นๆ มีตัวตนจริงไหม มีสถานที่จริงไหม บริษัทตั้งอยู่ที่ไหน เช็กข้อมูลบ่อยๆ ว่างานที่สมัครไว้ถูกดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว อย่าหลงเชื่อว่าได้งานแล้วเพียงเพราะมีสายโทรเข้ามา ฯลฯ สุดท้ายนี้ ออกัสตินและกาวินแนะนำผู้หางานว่า อย่าปล่อยให้ความกลัวที่จะไม่ได้งาน เอาชนะตัวเราไปได้ เพราะความกลัวจะนำมาซึ่งการขาดสตินั่นเอง