มีชัย วีระไวทยะ บุคคลต้นแบบจิตสาธารณะ

มีชัย วีระไวทยะ บุคคลต้นแบบจิตสาธารณะ

ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกระแสธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยว่า ธุรกิจเพื่อสังคม มีมานานแล้ว โดยแฝงตัวอยู่ในองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งตัวอย่างที่โดดเด่น คือ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน นําโดยคุณมีชัย วีระไวทยะ

คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้เป็นบุคคลต้นแบบในวงการจิตสาธารณะ เจ้าของสมญานามถุงยางอนามัยที่เรียกกันว่า “ถุงมีชัย

คุณมีชัยเกิดในครอบครัวที่ทั้งบิดามารดาเป็นแพทย์ ได้รับการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลีย แต่ใช้ทั้งชีวิตของการทํางานคลุกฝุ่นอยู่กับคนจนและผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานของไทย

ยังเป็นผู้ก่อตั้งและนําพา สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ให้ได้รับความสําเร็จจนเป็นที่ยกย่องในระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ใน พ.ศ.2537 และรางวัลนานาชาติอีก 20 กว่ารางวัล

คุณมีชัยและเพื่อนร่วมงานยังได้ระดมทุนมาพัฒนาประเทศไทยในช่วง50 ปีที่ผ่านมาได้ถึง 1.25 หมื่นล้านบาท!

การบ่มเพาะเป็นแรงบันดาลใจ

        คุณมีชัยเติบโตในครอบครัวที่มีคลินิกรักษาพนักงานบริษัท และบุคคลทั่วไป และนอกจากนั้นยังจัดห้องเป็นคลินิกสำหรับรักษาคนจนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ซึ่งเป็นแพทย์หญิงชาวสก็อตได้บ่มเพาะจิตสาธารณะให้กับคุณมีชัยอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่เด็ก

เมื่อคุณมีชัยจบการศึกษาปริญญาตรีกลับมาจากออสเตรเลีย จึงได้รับการทาบทามจากบริษัทน้ํามันให้เข้าทํางาน ซึ่งคุณแม่ของคุณมีชัยมีความเห็นว่า “ถ้าคนอย่างลูกทํางานเพื่อเงิน แล้วใครที่ไหนเล่าจะช่วยคนจน”

ด้วยเหตุนี้ คุณมีชัย จึงตัดสินใจรับราชการที่  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทําคุณประโยชน์ให้ประเทศ แต่เนื่องจากคุณมีชัยเป็นคนที่คิดนอกกรอบ

และหลังจากนั้น 7 ปี คุณมีชัยและเพื่อนร่วมงาน จึงได้ลาออกมาตั้งองค์กรอิสระไม่แสวงหากําไร ซึ่งได้กลายมาเป็นสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนในปัจจุบันเพื่อทํางานพัฒนาชนบทได้เต็มกําลังความคิดความสามารถโดยเริ่มต้นที่การวางแผนครอบครัว

การริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคม

        คุณมีชัยเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้วจากประสบการณ์ทํางานว่า “งานพัฒนาต้องการเงิน และถ้ามัวรอเงินบริจาคอย่างเดียวก็จะไม่ยั่งยืน”

ในช่วงแรกนั้นคุณมีชัยได้รับเงินช่วยเหลือ และอุปกรณ์คุมกำเนิด จากต่างประเทศ คือสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ ( International Planned Parenthood Federation: IPPF) เป็นเวลาห้าปี

หลังจากนั้นตามข้อตกลงเงินช่วยเหลือได้หมดลง เหลือแต่อุปกรณ์คุมกําเนิดต่างๆ ได้แก่ ยาคุมกําเนิดและถุงยางอนามัย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือต่อมาอีก 15 ปี จึงได้นําอุปกรณ์เหล่านี้ไปให้บริการและนำรายได้มาเพื่อหล่อเลี้ยงการบริหาร และงานพัฒนา

คุณมีชัยได้นําครูกว่า 320,000 คน และอาสาสมัคร มาฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์คุมกําเนิดใน 24 อําเภอ ซึ่งท้ายที่สุดได้กลายมาเป็นต้นแบบของการแจกจ่ายอุปกรณ์คุมกําเนิดในชุมชน (Community-Based Contraceptive Distribution )

ทั้งนี้ ได้มีการตั้งราคาขายให้เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของราคาตลาด แต่ไม่มีการแจกฟรี ชาวบ้านที่ต้องการจริง ๆ สามารถทําความดีเพื่อแลกอุปกรณ์คุมกําเนิดได

อย่างไรก็ดี ในขณะนั้นการจ่ายอุปกรณ์คุมกําเนิดนั้นต้องเป็นแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น แต่ประเทศไทยในขณะนั้น มีแพทย์หนึ่งคนต่อสตรี 110,000 คน แม้จะขยายไปรวมนางพยาบาลและนางผดุงครรภ์ก็จะครอบคลุมสตรีไทยได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของคุณมีชัย ในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข ให้สมาคมฯ มีหน่วยอาสาประจำหมู่บ้านสมัครแจกจ่ายอุปกรณ์คุมกําเนิดในชนบทซึ่งเป็นที่มาของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา

ซึ่งพลเรือตรี นพ.วิทุร แสงสิงแก้วอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวไว้ว่า “อาสาสมัครวางแผนครอบครัวชุมชน เป็นต้นแบบของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)”

การระดมทุนเพื่อสังคม

คุณมีชัยได้ไปกู้เงินจากองค์กรจากประเทศสหัฐอเมริกาชื่อ International Pregnancie Service (IPAS) เป็นเงิน 62,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท มาตั้งคลินิกและร้านอาหาร ซึ่งต่อมาได้เป็นบริษัทพัฒนาประชากร

จากนั้นคุณมีชัยได้นําที่ดินในพัทยาที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่มาใช้ในกิจการเพื่อสังคม โดยการตั้งร้านอาหาร Cabbages and Condoms (C&C) และ โรงแรม Birds and Bees มีขนาด 54 ห้อง และต่อมาสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนจึงได้มีโรงแรมและรีสอร์ทเล็ก ๆ อีกหลายจังหวัด

ทําให้ในปัจจุบันสมาคมฯมีธุรกิจเพื่อสังคมกว่า 30 โครงการรวมกัน ซึ่งในปีปกติสามารถหล่อเลี้ยงกิจกรรมเพื่อสังคมได้ถึงร้อยละ 70 โดยไม่ต้องอาศัยเงินบริจาค

นอกจากนี้ เงินที่ได้จากธุรกิจประเภทต่างๆยังได้นําไปเป็นค่าบริหารจัดการของสมาคม และบริจาคเพื่อการศึกษาอีกด้วย

    คุณมีชัยเคยกล่าวว่า “การจะทําอะไรเพื่อสังคม เริ่มจากการตั้งเป็นมูลนิธิ ควรทําให้ตนเองเลี้ยงตัวเองได้ก่อน”

คุณมีชัยเห็นว่ามูลนิธิหรือสมาคมโดยลำพังนั้นหมดสมัยไปแล้ว ต้องมีธุรกิจเพื่อสังคมช่วยส่งเสริมและไม่พยายามที่จะให้เปล่ากับคนที่ไม่ช่วยเหลือตัวเอง แต่ต้องมีการสาธิตให้ดูซึ่งในความคิดของคุณมีชัยนั้นธุรกิจเพื่อสังคมต้องใช้กําไรเพื่อ 3 สิ่ง คือ เงินทุนสํารอง ขยายธุรกิจ และสาธารณะประโยชน์
   

ในด้านปัจจัยแห่งความสําเร็จ คุณมีชัยเห็นว่า ธุรกิจเพื่อสังคมจะทําได้ต้องมีทุนและไอเดียที่ดีและธุรกิจเพื่อสังคมที่สําเร็จต้องมีสองล้อคือ ต้องสามารถแสวงหากําไรสูงสุดจากคนมีเงินหรือมีกําไรให้เหมาะสมพอเลี้ยงตัวได้

พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมจะสู้ธุรกิจเอกชนได้ก็ต้องดีจริง เพราะ ความตั้งใจอย่างเดียวนั้นดีไม่พอ ราคาต้องเหมาะสมเพื่อเอากําไรนี้ไปใช้เพื่อสังคมด้วย

 ในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันคุณมีชัยได้มาถึงขั้นตอนที่ห้าของการปฏิรูปสังคมไทยจาก 1) ลดการเกิด 2) ลดการตาย3)ลดความยากจน 4) ลดคนงก และ 5) ลดความโง่ เพื่อเพิ่มจิตสาธารณะ

โดยทางมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะได้จัดตั้งโรงเรียนไม้ไผ่หรือโรงเรียนมีชัยพัฒนาเพื่อหวังปฏิรูปการศึกษาไทยในชนบท เป็นโรงเรียนนอกกะลาที่จ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดี 800 ชั่วโมงและปลูกต้นไม้ 800ต้น เป็นค่าเทอมร่วมกับผู้ปกครอง

โรงเรียนนี้พ่อแม่ต้องมาเรียนรู้กับลูก ทําให้โรงเรียนกลายเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนรอบๆโรงเรียน ให้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม โดยเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และพัฒนาอย่างแท้จริง นักเรียนที่ถูกบ่มเพาะจากโรงเรียนนี้จะกลายเป็นผู้ประกอบการที่มีจิตสาธารณะ

 คําพูดที่คุณมีชัยอยากฝากไว้ให้คนรุ่นใหม่ คือ “เราคือเจ้าของประเทศ และรัฐบาลแต่ละสมัยแค่เข้ามาเช่าอยู่แล้วก็ไป เราต้องช่วยให้ประเทศเราพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องหาเวลามาช่วยคิดช่วยกันทํา และทุกโรงเรียนต้องสอนเด็กให้แผ่เมตตาให้คนอื่น”
“มาร่วมกันสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมกันนะคะ”