จามนิดหน่อยก็ต้องลา! Gen Z นำเทรนด์ลาป่วย เหตุไม่อยากเป็นต้นตอแพร่เชื้อ

จามนิดหน่อยก็ต้องลา! Gen Z นำเทรนด์ลาป่วย เหตุไม่อยากเป็นต้นตอแพร่เชื้อ

ไอนิดจามหน่อยก็ต้องลางาน! Gen Z แหกขนบการลาป่วย ไม่อยากเป็นต้นตอแพร่เชื้อให้เพื่อนร่วมงาน-เป็นภาระของทีม

KEY

POINTS

  • พนักงานรุ่น Gen Z กลายเป็นผู้นำทัศนคติการเปลี่ยนแปลงการลาป่วย ด้วยแนวคิดว่าแม้จะไอจามเล็กน้อยก็ต้องลางาน หวั่นเป็นต้นตอแพร่เชื้อให้เพื่อนร่วมงาน
  • การริเริ่มเทรนด์ทำงานใหม่ๆ รวมถึงการลาป่วยที่มากขึ้นของชาว Gen Z เป็นผลมาจากคนรุ่นนี้เติบโตมากับการพัฒนาการด้านสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อน 
  • วัยทำงาน Gen Z เป็นรุ่นที่แสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกอย่างมาก จึงทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเองเป็นอันดับแรก

ในวิถีปฏิบัติหรือบรรทัดฐานการทำงานของคนวัยทำงานยุคก่อน หากมีอาการป่วยนิดๆ หน่อยๆ (ไข้ ไอ จาม) ก็มักจะไม่กล้าลางาน เพราะกลัวโดนมองแรง หาว่าสำออยบ้าง ป่วยไม่จริงบ้าง อ่อนแอเกินไปบ้าง ฯลฯ แต่หลังการระบาดใหญ่โควิดผ่านไป ทุกวันนี้แค่ได้ยินเสียงไอ จาม จากใครบางคนในออฟฟิศ คนรอบข้างก็เริ่มหวั่นใจ กลัวว่าจะป่วยตามๆ กันไปด้วย และส่วนใหญ่ก็มองว่าหากไม่สบายก็ควรลาป่วยไปพักรักษาตัวจะดีกว่า

จริงๆ แล้ว สมัยนี้ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงานรุ่นไหนก็มีความเห็นตรงกันว่า หากป่วยก็ควรลางานดีกว่า เพราะจากประสบการณ์ในยุคโควิด ทุกคนรู้ซึ้งแล้วว่าแม้แต่การไอจามเพียงเล็กน้อยในสำนักงาน ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนรอบข้างได้ 

Gen Z ใช้วันลาป่วยเพิ่มขึ้น 29% ในปี 2024 เมื่อเทียบกับปี 2019

อย่างไรก็ตาม มีผลการสำรวจใหม่จาก Dayforce แพลตฟอร์มทรัพยากรบุคคล ที่ได้สอบถามรวบรวมข้อมูลจากพนักงานออฟฟิศกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,500 ราย เกี่ยวกับการใช้สิทธิวันลาป่วย พบว่าพนักงานคนรุ่นใหม่กลายเป็นผู้นำทัศนคติการเปลี่ยนแปลงการลาป่วยในแนวทางดังกล่าว

โดยตามรายงานชี้ว่า วัยทำงานรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 36 ปีลงมา (กลุ่มประชากรรุ่น Gen Z และ Gen Y ตอนปลาย) พวกเขากระตือรือร้นในการ “ลาป่วย” มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากทัศนคติดังกล่าวข้างต้น และพบข้อมูลด้วยว่า จำนวนวันลาป่วยของพนักงานออฟฟิศทุกช่วงวัยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 55% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2019 

เมื่อแยกย่อยรายละเอียดลงไปอีก พบว่า พนักงานที่มีอายุน้อยกว่า 36 ปี กลายเป็นกลุ่มที่มีการลาป่วยมากที่สุด พวกเขาใช้วันลาป่วยเพิ่มขึ้น 29% ในปี 2024 เมื่อเทียบกับปี 2019 ส่วนพนักงานที่มีอายุมากกว่า 36 ปีขึ้นไป ใช้วันลาป่วยเพิ่มขึ้น 16% 

การใช้วันลาป่วยอย่างเป็นปกติของ Gen Z เป็นอีกหนึ่งวิถีใหม่ของการทำงานยุคนี้

เจมี ลินช์ (Jamie Lynch) ผู้จัดการบริษัทถ่ายภาพอสังหาริมทรัพย์ในออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา วัย 34 ปี บอกกับนิตยสารฟอร์จูน ว่า “ตอนที่ฉันเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ หลังจบมัธยมปลาย (ย้อนไปสิบกว่าปีก่อน) ฉันกลัวจนแทบสิ้นสติที่จะโทรไปลางาน แต่ตอนนี้โลกไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว”

ลินช์ทำงานกับพนักงานทุกช่วงวัย เธอสังเกตเห็นว่าพนักงานที่อายุน้อยใช้สิทธิวันลางานมากขึ้นเพื่อรักษาสุขภาพของตนเอง ดูแลตัวเอง และชาร์จแบตให้ตัวเองเพื่อให้พร้อมทำงาน เธอมองว่าคนรุ่น Gen Z เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ไม่กลัวการขอลาป่วยกับบริษัทเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านสุขภาพร่างกายของตัวเอง

การใช้วันลาป่วยอย่างเป็นปกติของพนักงานรุ่น Gen Z (แม้จะป่วยเล็กๆ น้อยๆ) ถือเป็นอีกหนึ่งวิถีใหม่ที่แหกขนบเดิมๆ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานของคนยุคนี้ โดยพวกเขาเป็นกลุ่มแรงงานหลักที่สนับสนุนเทรนด์ทำงานรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานแบบไฮบริดและ Remote work, เทรนด์การทำงาน Quiet Quitting, การแต่งกายแบบไม่เป็นทางการในออฟฟิศ ฯลฯ จนก่อตัวเป็นกฎเกณฑ์ใหม่ในโลกการทำงาน

ลินด์เซย์ โพลแล็ก (Lindsey Pollak) ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานที่ทำงานและผู้เขียนหนังสือ The Remix: How to Lead and Succeed in the Multigenerational Workplace บอกว่า แนวโน้มของคนรุ่น Gen Z ในการริเริ่มเทรนด์ทำงานใหม่ๆ รวมถึงการลาป่วยที่มากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากคนรุ่นนี้เติบโตมากับการพัฒนาการด้านสภาพแวดล้อม สังคม และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ล้วนมีส่วนทำให้แนวคิดและทัศนคติของพวกเขาแตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อน

คนรุ่นใหม่อาจไม่สนใจ Unwritten Rule มองว่าทุกคนย่อมใช้สิทธิได้เท่าเทียมกัน

เธอตั้งสมมติฐานว่าออฟฟิศทุกแห่งล้วนมี “กฎเกณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ในคู่มือการทำงาน (Unwritten Rule)” หรืออาจเรียกว่าเป็นวัฒนธรรม บรรทัดฐาน หรือวิถีการอยู่ร่วมกันของผู้คนในออฟฟิศที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ใครมาใหม่ก็ต้องทำตาม เช่น ในบางออฟฟิศอาจมี “วัฒนธรรมการไม่ลาป่วย” หากป่วยเพียงเล็กน้อย แม้ว่าจริงๆ แล้วสามารถลางานได้ตามกฎระเบียบของบริษัทก็ตาม 

แต่สำหรับกลุ่ม Gen Z ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน อาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจใน Unwritten Rule เหล่านี้ที่สั่งสมมาจากคนรุ่นก่อนๆ และด้วยความที่พนักงานรุ่น Gen Z เป็นคนรุ่นที่เติบโตมาในโลกที่หาข้อมูลทุกอย่างได้รวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต พวกเขาเชื่อในเหตุและผลที่อธิบายได้ พวกเขาจึงอาจจะไม่ยึดติดอยู่กับบรรทัดฐานของรุ่นก่อน โดยในกรณีของสิทธิการลาป่วย หากกฎระเบียบของบริษัทให้สิทธิลาป่วยได้พวกเขาก็ย่อมใช้สิทธินั้น

อีกทั้งตามรายงานของบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากกลุ่มวัยทำงาน Gen Z เป็นรุ่นที่แสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกอย่างมาก จึงทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเองเป็นอันดับแรก ในขณะที่ 56% ของผู้ตอบแบบสำรวจพนักงาน Gen Z ในสหรัฐฯ 56% ระบุว่า ความฟิตของร่างกายเป็น “สิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด” ของพวกเขา นอกจากนี้คนรุ่น Gen Z ก็ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตอย่างมากด้วย

อาจพูดได้ว่าคนรุ่น Gen Z เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงเวลาที่บรรทัดฐานในโลกการทำงานเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากระยะไกลที่เพิ่มขึ้น หรือการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ตามต้องการ พวกเขาจึงมีทัศนคติว่าสถานที่ทำงานสามารถเป็นพื้นที่ที่คล่องตัวและเอื้อต่อการกำหนดขอบเขตของพนักงานได้ หากมีการขอให้พวกเขาทำสิ่งตรงกันข้าม คนหนุ่มสาวก็มักจะคัดค้าน เพราะพวกเขารู้ว่าระบบที่ยืดหยุ่นกว่า ก็สามารถทำให้งานบรรลุผลได้เช่นกัน