รู้จัก Toxic Employee 3 ประเภท ที่ยิ่งทำงานด้วยก็ยิ่งปวดประสาท
ไม่อยากเจอพี่คนนั้นที่ออฟฟิศ? รู้จักพนักงานเป็นพิษ (Toxic Employee) 3 ประเภท ที่ใครทำงานด้วยก็เป็นต้องกุมขมับ แม้เพียงคนเดียวก็อาจทําลายศักยภาพของทั้งทีมหรือแม้แต่ทั้งบริษัทได้
ไม่ว่าจะออฟฟิศไหนๆ ก็มักจะมี ‘พี่คนนั้น’ หรือ ‘น้องคนนั้น’ พนักงานที่คนหมู่มากเห็นพ้องต้องกันว่าเป็น Toxic people ในสังคมการทำงานเสมอ แม้โดยเนื้อแท้ของพวกเขาอาจไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร แต่มีพฤติกรรมการทำงานบางอย่างของพวกเขากลับส่งผลต่อประสิทธิภาพงานโดยรวมของทีม พนักงานเป็นพิษ หรือ Toxic Employee เพียงคนเดียวก็อาจสามารถทําลายวัฒนธรรมของบริษัททั้งหมดได้
ตามรายงานของสมาคมการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Society of Human Resource Management) อธิบายลักษณะของคนทำงานกลุ่มนี้ไว้ว่า Toxic Employee มักจะเป็นคนที่ทําให้บรรยากาศในที่ทำงานดูอึดอัด ไม่น่าอยู่ ขัดขวางประสิทธิภาพการทํางาน กระทบต่อขวัญกําลังใจเพื่อนร่วมงาน และแม้กระทั่งทําให้ผู้อื่นลาออกจากงานได้ พวกเขาอาจก่อกวนผู้อื่นในที่ทำงาน มีพฤติกรรมไม่จริงใจ หรือเข้ากับคนอื่นได้ยาก
ทอม กิมเบล (Tom Gimbel) ซีอีโอของบริษัทจัดหาพนักงานและสรรหาบุคลากร LaSalle Network ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อนร่วมงานอาจมองเห็นพฤติกรรมแย่ๆ ของ Toxic Employee ได้อย่างชัดเจน แต่บ่อยครั้งก็ยากที่จะรู้ได้ว่าพฤติกรรมแบบนั้นส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพงานจริงหรือไม่? หรือส่งกระทบต่อคนหมู่มากแค่ไหน? และการถามพวกเขาโดยตรงอาจเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจ
ดังนั้น กิมเบล จึงได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับ Toxic Employee ที่ส่งผลเสียประสิทธิภาพงานโดยรวมจริงๆ เพื่อเป็นแนวทางตรวจสอบเพื่อนร่วมงานในทีม หรือแม้แต่ตรวจสอบตนเองว่ามีลักษณะเข้าข่ายแบบนี้ไหม นำไปสู่กระบวนการตักเตือนผ่านสายงาน หรือปรับปรุงตัวเองได้ทันท่วงที ซึ่งมักจะมีพฤติกรรม 3 รูปแบบ ดังนี้
พนักงานที่คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด ควรได้รับรางวัล แต่ไม่มีผลงานอะไรโดดเด่น
กิมเบลอธิบายว่า ในหลายๆ บริษัทมักจะมีพนักงานประเภทที่ชอบพูดว่า พวกเขาสมควรจะได้เลื่อนขั้นหรือขึ้นเงินเดือนอยู่เสมอ แต่ขณะเดียวกันก็มักจะแสดงออกว่า “จะทําเฉพาะงานที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเท่านั้น พวกเขาจะไม่ทำงานอื่นนอกเหนือจากรายละเอียดงานของตนเอง ไม่ทำงานที่ช่วยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น พวกเขาจะไม่อุทิศเวลาให้กับงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ส่วนงานของตนเอง” ซึ่งคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่พนักงานที่พึงประสงค์
พนักงานที่มีพฤติกรรมการทำงานดังกล่าว นอกจากพวกเขาจะไม่พัฒนาตัวเองแล้ว พวกเขายังชอบข่มคนอื่น เพื่อทำให้ตนเองดูสูงส่งกว่าเพื่อนร่วมงาน บางครั้งเมื่อคนประเภทนี้เห็นเพื่อนร่วมงาน (ที่มีอายุงานน้อยกว่า) ได้รับการเลื่อนตําแหน่งก่อนตนเอง พวกเขาจะรู้สึกตื่นตกใจแบบไม่ทันตั้งตัว แต่มันก็ช่วยไม่ได้เพราะการเลื่อนตําแหน่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของงาน การมีปฏิสัมพันธ์ดีต่อคนรอบข้าง และมีวิธีช่วยขับเคลื่อนบริษัทไปข้างหน้า
ดังนั้นถ้าใครทำผลงานเหล่านี้ได้ดีก็ควรรับความดีความชอบไป ส่วนคนที่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งแทนที่จะแสดงความไม่พอใจ แต่ควรทบทวนว่าตนเองว่าบกพร่องตรงไหน แล้วหาทางพัฒนางานให้ดีขึ้น หาวิธีสร้างสรรค์งานใหม่ๆ เพื่อให้ตนเองสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นทางออกที่ดีกว่า
พนักงานที่ชอบสร้างข่าวลือ หรือชอบโยนความผิดให้ผู้อื่น
ในโลกการทำงานทุกคนต่างก็ทำผิดพลาดกันได้ในบางครั้ง แต่การทำผิดพลาดแล้วโยนความผิดให้ผู้อื่น ถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่บ่งชื้ว่าคนๆ นี้คือ Toxic Employee ตัวจริง! โดยผู้เชี่ยวชาญอีกคนอย่าง ทาเลีย ฟ็อกซ์ (Talia Fox) ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาผู้บริหาร KUSI Global ให้ความเห็นว่า “การยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและมีความซื่อสัตย์ในระดับสูงนั้นมีความสำคัญมากในโลกการทำงาน เมื่อเราทำงานอะไรผิดพลาดไป ก็แค่ยืดอกยอมรับตรงๆ” Fox กล่าว
ฟ็อกซ์ เล่ากรณีตัวอย่างให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยมอบหมายงานให้เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งไปทำ พร้อมกับได้สื่อสารถึงความคาดหวังในงานนั้นอย่างชัดเจนแล้ว แต่เมื่อพนักงานคนนั้นส่งงานกลับมาพบว่ามีข้อผิดพลาดที่เห็นได้ชัด และพอถามว่าใครทำงานนี้ผิด คนๆ นั้นกับโยนความผิดมาที่ฟ็อกซ์ เธอโดนตำหนิว่าคำแนะนำของเธอนั้นไม่ชัดเจนเพียงพอ
“ตอนนั้นมีการเรียกทั้งทีมมาพุดคุยกัน และพูดถึงการกระทำของคนๆ นั้นที่ส่งผลกระทบมาถึงฉันด้วย ต่อมาภายหลังฉันสังเกตเห็นว่าบุคคลคนนั้นได้ยอมรับในพฤติกรรมของตนเองแล้ว” เธอกล่าว พร้อมกับบอกอีกว่า พฤติกรรมแบบนี้เป็นการหลอกลวงและใจร้าย แทนที่จะโยนความผิดให้คนอื่น ถ้าเราทำผิดเราก็แค่ขอโทษและพยายามแก้ไขมันให้ถูกต้อง
พนักงานที่บอกว่า ‘ได้’ ไปกับคำพูดทุกอย่างของเจ้านาย
พนักงานบางคนไม่อยากพูดปฏิเสธ และมักจะตอบว่า ‘ได้’ เสมอกับทุกสิ่งที่เจ้านายพูด แม้ว่าในใจของพวกเขาจะไม่เห็นด้วยเลยแต่ก็บอกว่าทำได้ไว้ก่อน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมของพนักงานเป็นพิษ ซึ่งกรณีนี้ มาร์ก คิวบัน (Mark Cuban) มหาเศรษฐีที่เป็นผู้ประกอบการและนักลงทุนชื่อดังในสหรัฐ ได้สะท้อนความเห็นว่า การตอบรับว่า ได้ แบบส่งๆ ไปกับทุกเรื่อง จะทำให้กลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ
ทุกครั้งที่มาร์กมองหาหุ้นส่วนใหม่หรือพนักงานใหม่ในบริษัท เขาจะมองหาสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิง เขามักจะเลือกคนที่มา “เสริม” ชุดทักษะของเขา และเป็นคนที่ไม่กลัวการพูดโต้แย้งออกมาตรงๆ เมื่อไม่เห็นด้วยกับเขา
การที่พนักงานปิดกั้นข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของตนเอง อาจทำให้พนักงานดูไม่จริงใจและไม่น่าเชื่อถือ ในทางตรงกันข้าม หากพนักงานตั้งใจแสดงความเห็นต่อเรื่องนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมา จะทำให้เจ้านายเคารพคุณมากขึ้นเพราะกล้าพูดเกี่ยวกับแนวคิดของคุณ โดยใช้หลักฐานและการวิจัยเพื่อสนับสนุนเมื่อจำเป็น เพราะเจ้านายที่มีหัวก้าวหน้ามักจะชอบคนที่ท้าทายความคิดแบบเดิมๆ เมื่อคิดว่าเจ้านายทำอะไรผิด ก็กล้าที่จะพูดตักเตือน สิ่งนี้จะช่วยให้ก่อเกิดงานที่ดีและมีประสิทธิภาพร่วมกัน
โดยสรุปคือพฤติกรรมของ Toxic Employee ทั้งสามรูปแบบข้างต้น ถือเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและความก้าวหน้าของทีม หรือแม้แต่อาจทำลายวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรได้ หากเจอเพื่อนร่วมงานหรือพนักงานที่เข้าข่ายพฤติกรรมเหล่านี้ควรเร่งตรวจสอบและส่งเสริมให้เกิดการแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้ผลเสียเกิดกับพนักงานคนอื่นๆ ในวงกว้าง