อำนาจต่อรอง พลังคนวัยเกษียณ | บวร ปภัสราทร

อำนาจต่อรอง พลังคนวัยเกษียณ | บวร ปภัสราทร

ภาพคนแก่ดีใจที่ได้รับแจกเงินอาจเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับบ้านเรา แต่ชุมชนของคนเกษียณในสหรัฐอเมริกา กลับมีพลังมหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง จากการรวมตัวกันเป็นสมาคมที่มีสมาชิกกว่า 38 ล้านคน

สมาคมนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปในการซื้อหาสินค้าและบริการต่างๆ แต่ยังมีอิทธิพลในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อประโยชน์ของคนสูงอายุ โดยไม่ขึ้นกับพรรคการเมืองใดๆ เป็นคนกลางทางการเมืองที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงยิ่ง

American Association of Retired Persons (AARP) ก่อตั้งขึ้นขึ้นเมื่อปี 2501 โดยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่ง ที่เชื่อมั่นว่า สูงอายุอย่างมีผลิตภาพได้ จึงมุ่งเน้นกิจกรรมไปในเรื่องสุขภาพ ความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิต ตลอดช่วงกว่า 60 กว่าปีที่ผ่านมา 

 ในปัจจุบันกิจการเติบโตไปอย่างก้าวกระโดด เฉพาะค่าสมาชิกก็มีมูลค่ากว่าปีละ 690 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 หมื่นล้านบาทไปแล้ว AARP ยังเป็นองค์กรหนึ่งที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยยืนยันคุณภาพของการดำเนินการว่าอยู่ในระดับดีเลิศ

ความสำเร็จที่สำคัญในระยะเริ่มต้น คือรวมตัวกันซื้อประกันในเรื่องต่างๆ ที่คนสูงอายุต้องการ จากเดิมที่ต่างคนต่างไปเจรจากับบริษัทประกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ดั่งใจ พอรวมตัวกันได้มากถึงระดับหนึ่ง บริษัทก็ยอมตามที่ขอมา 

AARP ในยุคก่อนหน้านั้นเริ่มรับสมาชิกตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่พอมาพบว่าอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นตามจำนวนสมาชิก เลยลดอายุเริ่มเข้ามาเป็น 50 ปีขึ้นไปแทน จนกลายเป็นสมาคมที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศ

วารสารของสมาคม กลายเป็นที่สนใจลงโฆษณาของสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าและบริการสำหรับคนสูงอายุ บทความในวารสารมีอิทธิพลในการสร้างความเชื่อกลุ่มที่นำไปสู่การสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่งทางการเมือง

การรวมกลุ่มต่อรองการซื้อบริการต่างๆ ครอบคลุมแทบทุกเรื่องในชีวิต เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะการใช้จ่ายในสหรัฐเกือบ 60% มาจากกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี คนกลุ่มนี้ในบ้านเขาไม่ใช่คนแก่ที่ดีใจเวลามีใครมาแจกเงิน แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อรวมแล้วเทียบได้เป็นความมั่งคั่งมูลค่ากว่า 35 ล้านล้านดอลลาร์ การรวมตัวกันต่อรองจึงได้ผลดี 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริการทางการเงิน ที่ต่อรองให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าต่างคนต่างซื้อ การท่องเที่ยวและสันทนาการ ที่ได้รับส่วนลดหรือบริการเพิ่มเติมที่มากกว่า บริการด้านสุขภาพและเภสัชกรรมที่ทั้งถูกกว่า สะดวกกว่า แล้วยังมีบริการที่พิเศษกว่า

ที่น่าสนใจมากคือ AARP ทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์บริการดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การใช้งาน Mobile Banking ไปจนถึงการใช้แอป และ Internet of Things เพื่อการดูแลสุขภาพ และความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ โดยมีการทำวิจัยร่วมกันจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นสมาชิกของ AARP

การผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ เน้นการส่งเสริมให้รัฐมีมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ รวมถึงการป้องกันการฉ้อโกงออนไลน์

นักกฎหมายของ AARP ทำงานอย่างใกล้ชิดเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐบาลในการกำหนดมาตรการที่จำเป็นต่างๆ โดยใช้ข้อมูลจากการวิจัยในกลุ่มสมาชิก AARP การมีสมาชิกเกือบ 40 ล้านคนทำให้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากรัฐ ทั้งๆที่ AARP ไม่ได้เข้าข้างพรรคการเมืองใดๆ

AARP ยังเป็นแหล่งความรู้สารพัดเรื่อง ตั้งแต่เรื่องโภชนาการไปจนกระทั่งทักษะดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน จะไปซื้อของอะไรควรไปที่ไหน ร้านอาหารไหนบ้างที่เหมาะกับคนสูงอายุ จะออกกำลังกายต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย จะมาเที่ยวเมืองไทยต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง 

AARP กลายเป็นที่พึ่งพาด้านความรู้และสารสนเทศสำหรับคนวัยเกษียณแบบ one stop services  โดยมีความน่าเชื่อถือมากกว่าไปถามจากกูเกิล หรือใช้ Generative AI ช่วยตอบคำถาม เพราะมีผู้รู้จริงช่วยคัดกรองให้อย่างรอบคอบ

ถ้ามีใครในบ้านเราเลียนแบบ AARP แล้วความสำเร็จทั้งปวงของ AARP จะเกิดขึ้นในบ้านเราได้หรือไม่ คงเดาได้ยาก เพราะบ้านเราต่างไปจากบ้านเขาในหลายเรื่อง “แก่ก่อนรวย-รวยก่อนแก่” “บ้านใหญ่-ชุมชน” “มโนนำ-สาระนำ” ทำให้คนเกษียณบ้านเราบางกลุ่มรวมกันแล้วมีพลังมหาศาล บางกลุ่มรวมแล้วกลับไร้พลังใดๆ