ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนก็ยอม! พนักงาน UK สละค่าจ้าง 8.2% แลกกับทำงานจากที่บ้าน
ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนก็ยอม! วัยทำงานในลอนดอนยอมสละค่าจ้าง 8.2% แลกกับได้ทำงานจากที่บ้าน 2-3 วัน/สัปดาห์ ขณะที่กลุ่มพนักงานที่เข้าทำงานในออฟฟิศทุกวันได้เงินเดือนขึ้น เพื่อชดเชยที่ไม่ได้สิทธิทำงานที่บ้าน
KEY
POINTS
- การศึกษาใหม่ เผย พนักงานในสหราชอาณาจักร ที่ทำงานแบบยืดหยุ่น ต้องเสียสละการเติบโตของเงินเดือน (ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน) ในช่วงสองปีแรกหลังการระบาดของโควิด-19 แต่พนักงานที่เข้าออฟฟิศ ได้ขึ้นเงินเดือนตามปกติ
- วัยทำงานยอมเสียสละรายได้ 8.2% เพื่อให้ได้ทำงานที่บ้าน 2-3 วันต่อสัปดาห์ หรือแลกกับการไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
- กลุ่มวัยทำงานที่เลือกการทำงานแบบยืดหยุ่นส่วนใหญ่ คือ วัยทำงานผู้หญิง, คนรุ่นใหม่อายุน้อย, ผู้ที่ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่าปกติ (บ้านอยู่ไกลที่ทำงาน)
การทำงานยืดหยุ่นอย่างการทำงานแบบไฮบริด หรือการทำงานที่บ้านบางวันสลับกับเข้ามาทำงานออฟฟิศในแต่ละสัปดาห์ ยังคงเป็นสวัสดิการที่วัยทำงานส่วนใหญ่ต้องการ ด้วยมองว่ามีประโยชน์ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและช่วยลดภาวะหมดไฟ อีกทั้งพนักงานบางคนมีเงื่อนไขเรื่องดูแลพ่อแม่ชราหรือเลี้ยงลูกเล็ก จึงต้องการทำงานที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศ
จึงไม่น่าแปลกใจที่เร็วๆ นี้ จะมีการศึกษาใหม่ชี้ว่า พนักงานที่ทำงานระยะไกลในอังกฤษ ยอมสละค่าจ้างบางส่วนเพื่อแลกความยืดหยุ่นในการทำงานหรือการทำงานที่บ้าน ท่ามกลางสถานการณ์ที่บริษัทระดับโลกหลายแห่งต่างออกคำสั่งเรียกพนักงานกลับเข้าสำนักงานแบบเต็มเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ไว่าจะเป็น Amazon, Dell, Mckinsey & co ฯลฯ
วัยทำงานชาว UK ที่ทำงานแบบยืดหยุ่น ไม่ได้ขึ้นเดือน 2 ปี
การศึกษาวิจัยใหม่นำโดยนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ และคิงส์คอลเลจลอนดอน ได้สำรวจและวิเคราะห์ถึง “ผลกระทบร่วมกันของการทำงานจากที่บ้าน ต่อค่าจ้างของพนักงานที่ทำงานจากระยะไกลและไม่ได้ทำงานจากระยะไกล” ของผู้ใหญ่วัยทำงานจำนวน 1,800 คน (รวบรวมข้อมูลเงินเดือนตั้งแต่ปี 2018 - 2023)
ผลการศึกษาพบว่า พนักงานที่ทำงานทางไกลในสหราชอาณาจักรต้องเสียสละการเติบโตของเงินเดือน (ไม่ได้ขึ้นเงินเดือน) ในช่วงสองปีแรกหลังการระบาดของโควิด-19 ขณะที่พนักงานที่กลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ ได้รับการขึ้นเงินเดือนมากกว่า เพื่อชดเชยการขาดสิทธิประโยชน์จากการทำงานจากที่บ้าน
โดยผู้ที่เลือกกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศจะได้ขึ้นเงินเดือนหรือได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 2-7% ก่อนเป็นกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่ทำงานที่บ้านหรือไฮบริดเวิร์กจะถูกพิจารณาให้เลื่อนการขึ้นเงินเดือนออกไปก่อน หรือล่าช้ากว่า โดยบริษัทถือว่านี่เป็นเหมือนค่าปรับหรือค่าทดแทนที่แลกกับการไม่เข้าออฟฟิศทุกวัน
การศึกษาดังกล่าวยังวิเคราะห์ถึงรายจ่ายของชาวอังกฤษด้วยว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าใดในการไปทำงาน โดยคำนึงถึงค่าเดินทาง รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น อาหารกลางวัน กาแฟ หรือเสื้อผ้าทำงาน ผลการวิเคราะห์พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว วัยทำงานยอมเสียสละรายได้ 8.2% เพื่อให้ได้ทำงานอยู่ที่บ้าน 2-3 วันต่อสัปดาห์ โดยกลุ่มวัยทำงานที่เลือกการทำงานแบบยืดหยุ่นมากที่สุดคือ วัยทำงานผู้หญิง คนรุ่นใหม่อายุน้อย และผู้ที่ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่าปกติ พวกเขายินดีที่จะเสียสละเงินเดือนเพื่อทำงานจากที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศ
สายอาชีพที่เลือกทำงานที่บ้าน มักเป็นผู้มีรายได้สูงอย่าง ที่ปรึกษา-โปรแกรมเมอร์
โดยอาชีพที่มักจะขอทำงานที่บ้านมากกว่ากลับเข้าทำงานในออฟฟิศ คือ คนที่มีการศึกษาสูงและมีรายได้สูง เช่น สายงานด้านที่ปรึกษา, สายงานเขียนโปรแกรม, ซอฟต์แวร์เอนจิเนียร์, อาชีพสายเทคฯ อื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพบหน้ากันทุกวัน นอกจากนี้ การศึกษาพบด้วยว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านขนาดใหญ่ที่อยู่ไกลจากตัวเมือง จะเต็มใจในการทำงานจากที่บ้านมากกว่า
สำหรับพนักงานหลายๆ คน การทำงานจากที่บ้านถือเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาอย่างมาก เช่น การได้ดูแลลูก แม้จะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่กลุ่มวัยทำงานที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันพวกเขาก็คาดหวังว่าจะได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ย้ำว่า กลุ่มทำงานที่บ้านและกลุ่มทำงานที่ออฟฟิศไม่เกี่ยวกับเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน
พอล ไมเซน (Paul Mizen) รองคณบดี King's Business School แห่ง King's College ลอนดอน กล่าวว่า มีข้อเสนอว่าบริษัทต่างๆ ควรสนับสนุนหรือบังคับให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เพราะบางคนมองว่าการให้พนักงานบางส่วนทำงานจากที่บ้านได้ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้นในที่ทำงาน
แต่การวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า การทำงานจากที่บ้านไม่ได้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงไม่สามารถใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้
เมื่อพิจารณาค่าตอบแทนในภาพรวม โดยคำนึงถึงทั้งค่าจ้างและผลประโยชน์จากการทำงานจากที่บ้าน นักวิจัยพบว่า การทำงานแบบผสมผสานไม่ได้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศและพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid work) ไม่มีผลต่อช่องว่างดังกล่าวแต่อย่างใด
ชาวลอนดอน 40% เลือกทำงานที่บ้านมากกว่าเข้าออฟฟิศ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม สถถานการณ์การเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศในลอนดอน ยังตามหลังเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก เช่น ปารีส สิงคโปร์ หรือนิวยอร์ก โดยสาเหตุหลักคือ อุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง
จากการศึกษาของ Centre for Cities พบว่าพนักงานในลอนดอนกว่า 40% ใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิศเพียงครึ่งสัปดาห์ พวกเขาระบุว่า ที่เลือกทำงานที่บ้านมากกว่าเข้าออฟฟิศ เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงได้ นอกจากนี้ ชาวลอนดอนยังมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเวลาที่ประหยัดได้จากการไม่ต้องเดินทางฝ่ารถติดไปทำงานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยเมืองฯ ในลอนดอน มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์การกลับเข้าทำงานในสำนักงานอันแสนเข้มงวดเหล่านั้น โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่ทุกแห่งในโลก หากองค์กรอยากให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศมากขึ้นกว่านี้ ควรมีสวัสดิการที่ดึงดูดใจ เช่น การช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นต้น