10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก 2024 เน้นย้ำ 'สุขภาพจิตในที่ทำงาน' ต้องเร่งดูแล

10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก 2024 เน้นย้ำ 'สุขภาพจิตในที่ทำงาน' ต้องเร่งดูแล

10 ตุลาคม "วันสุขภาพจิตโลก 2024" ธีมรณรงค์สำคัญในปีนี้ที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกคือ "สุขภาพจิตในที่ทำงาน" สหพันธ์สุขภาพจิตโลก เน้นย้ำ องค์กรต่างๆ ต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

KEY

POINTS

  • วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกๆ ปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” หรือ World Mental Health Day สำหรับปี 2024 สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (WFMH) ใช้ธีม รณรงค์ “สุขภาพจิตในที่ทำงาน” 
  • สหพันธ์สุขภาพจิต เน้นย้ำให้องค์กรต่างๆ ต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน 
  • วันสุขภาพจิตโลกเป็นการเตือนใจให้องค์กรต่างๆ ตระหนัก และให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงาน

วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกๆ ปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสุขภาพจิตโลก” หรือ World Mental Health Day สำหรับปี 2024 สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health: WFMH) เสนอธีม รณรงค์สำคัญที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกนั่นคือ “สุขภาพจิตในที่ทำงาน” เน้นย้ำให้องค์กรต่างๆ ต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน 

เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกเผชิญกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง การระบาดของโรค และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะ “สุขภาพจิตของวัยทำงาน” ที่นอกจากได้รับความเครียดทางภาวะเศรษฐกิจ และสังคม การดูแลคนรุ่นพ่อแม่วัยชรา และรุ่นลูกไปพร้อมๆ กัน ซ้ำยังต้องเผชิญความเครียดจากการทำงานไปพร้อมกัน

ดังนั้น ปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานจึงกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน เป็นที่มาของธีมของวันสุขภาพจิตโลกในปี 2024 นั่นคือ “Mental Health at Work” ซึ่งเป็นสิ่งเตือนใจที่สำคัญสำหรับองค์กรต่างๆ ในการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพื่อให้สอดคล้องกับธีมนี้ International SOS บริษัทผู้ให้บริการความเสี่ยงด้านสุขภาพ และความปลอดภัยชั้นนำของโลก ขอสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งของความเป็นอยู่ที่ดี และส่งเสริมความยืดหยุ่นในการทำงานให้แก่พนักงานในองค์กร 

วัยทำงานยุคนี้มีภาวะ “ความวิตกกังวล” เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ในปัจจุบันพบว่า วัยทำงานเผชิญกับความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้ใหญ่วัยทำงานประมาณ 15% ประสบปัญหาสุขภาพจิตในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์ความช่วยเหลือ SOS ระหว่างประเทศเผยให้เห็นว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คำขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต 5 อันดับแรกที่องค์กรได้รับ ได้แก่

1. ความวิตกกังวล
2. ภาวะซึมเศร้า
3. โรคตื่นตระหนก
4. โรคสมาธิสั้น (ADHD)
5. ความเครียดเฉียบพลัน

ไม่เพียงเท่านั้น “ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout)” ยังกลายเป็นปัญหาสำคัญในหมู่พนักงานออฟฟิศทั่วโลก โดยพนักงาน 1 ใน 4 คนทั่วโลก ต่างรายงานว่าตนเองมีอาการหมดไฟในการทำงาน ประกอบกับรายงานของ International SOS Risk Outlook 2024 ก็ได้เน้นย้ำถึงภาวะหมดไฟในการทำงานของพนักงาน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร

ด้านกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขของไทย ก็ตอบรับธีม รณรงค์ของปีนี้ โดยนายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต ให้ข้อมูลผ่านเพจ "กรมสุขภาพจิต" ว่า  ปีนี้ทางสหพันธ์ฯ กำหนดธีมหลักให้สุขภาพจิตในวัยทำงานเป็น "สิ่งสำคัญอันดับแรก (Prioritize Mental Health at Work)" เพื่อให้องค์กรมีชีวิต คนมีจิตใจ ส่งเสริมสุขภาวะทางใจ ก้าวไปพร้อมกัน

สุขภาพจิตในวัยทำงานเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ทุกองค์กรสามารถสร้างความปลอดภัย ความสงบ ความผ่อนคลาย สร้างความหวัง และกำลังใจ เพื่อให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานที่ดีขึ้น และให้คนทุกคนที่ทำงานด้วยกันดูแลสุขภาพจิตซึ่งกันและกันในที่ทำงาน ในปีนี้อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญสุขภาพจิตในที่ทำงานร่วมกัน

ภาวะหมดไฟสร้างความสูญเสียมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาสุขภาพจิตก็ไม่สามารถละเลยได้ องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ทั่วโลกมีการสูญเสียวันทำงานประมาณ 12,000 ล้านวันต่อปีจากภาวะซึมเศร้า และวิตกกังวล ส่งผลให้สูญเสียผลผลิตมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราวๆ 33.5 ล้านล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ “นายจ้าง” ต้องสร้างสถานที่ทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเพราะหากองค์กรละเลยเรื่องนี้อาจกระทบต่อต้นทุนมหาศาล อีกทั้งองค์กรต่างๆ ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์ด้านสุขภาพจิตโดยการนำนโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีมาใช้

ดร.แคทเธอรีน โอไรลลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ระดับภูมิภาคของ International SOS กล่าวว่า วันสุขภาพจิตโลกเป็นการเตือนใจให้องค์กรต่างๆ ตระหนัก และให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพนักงาน องค์กรควรส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจให้แก่พนักงาน เพื่อลดความเครียดและความวิตกกังวล สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญของสุขภาพโดยรวม 

“องค์กรควรส่งเสริมให้พนักงานสามารถรับมือกับความท้าทาย เติบโต และมีส่วนสนับสนุนให้สถานที่ทำงานมีทัศนคติเชิงบวก และมีประสิทธิผลมากขึ้นได้ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้าง ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ ให้การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต บริการให้คำปรึกษา และโปรแกรมช่วยเหลือพนักงานถือเป็นสิ่งสำคัญ”

เปิดแนวทาง "ดูแลสุขภาพจิตพนักงาน" ที่องค์กรต้องรู้!

เมื่อปัญหาสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ International SOS จึงได้มีคำแนะนำแก่องค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ดังนี้

1.) ปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานที่ผู้นำสนับสนุนการดูแลสุขภาพจิต สร้างวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ที่ให้ความสำคัญ และส่งเสริมการสื่อสารอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสุขภาพจิต องค์กรต้องทำให้แน่ใจว่าโครงการด้านสุขภาพจิตบูรณาการอย่างราบรื่น และมีการบรรจุเรื่องนี้ในนโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การสนับสนุนที่มั่นคง

2.) จัดเตรียมทรัพยากรที่เข้าถึงได้ องค์กรควรสนับสนุนให้พนักงานมีชุดเครื่องมือทรัพยากรด้านสุขภาพจิต ที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตั้งแต่การมอบบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ไปจนถึงการสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพจิตของพวกเขา

3.) ส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิต และการทำงาน (Work Life Balance) เสนอรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและให้ตัวเลือกการทำงานจากระยะไกล เพื่อช่วยให้พนักงานจัดการชีวิตส่วนตัว และอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพักเป็นระยะๆ และส่งเสริมให้พนักงานจัดลำดับความสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง

4.) การฝึกอบรม และให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิต ดำเนินการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตอย่างครอบคลุม เพื่อลดการตีตรา เผยแพร่การฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตเพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถ เข้าใจ และช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่ป่วยทางใจหรือมีภาวะทางสุขภาพจิต เพื่อช่วยให้ก้าวข้ามความท้าทายด้านสุขภาพจิตไปได้

5.) ติดตามและประเมินผล ขอคำติชม และตรวจสอบสุขภาพจิตของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านแบบสำรวจและการประเมิน และปรับโปรแกรมตามความจำเป็น

6.) ลงทุนในความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ จัดให้มีการเข้าถึงกิจกรรมหรือการอบรมด้านการฝึกสติเพื่อการจัดการความเครียด ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ผ่านการรับรองเพื่อเสนอบริการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนที่เป็นความลับแก่คนไข้

7.) โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (EAP) จัดทำ EAP ที่ให้บริการให้คำปรึกษา และการสนับสนุนที่เป็นความลับแก่พนักงาน การส่งเสริมการจัดตั้งโปรแกรมนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อพนักงาน สามารถกระตุ้นให้พนักงานแสวงหาความช่วยเหลือโดยไม่ต้องกลัวการตีตรา และควรส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความเปิดกว้างและการสนับสนุนพนักงานที่มีภาวะทางสุขภาพจิตให้เขามีที่พึ่ง ไม่ใช่เมินเฉย และมองว่าขี้เกียจ นั่นเป็นการผลักให้เขาโดดเดี่ยวจากสังคม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์