JPMorgan และ Bank of America จำกัดเวลางาน หลังพบลูกจ้างทำงาน 100 ชม./สัปดาห์
JPMorgan และ Bank of America เร่งออกกฎใหม่ จำกัดเวลาทำงานน้อยลง หลังโดนกล่าวหาว่าให้พนักงานทำงานหนัก 100 ชม./สัปดาห์
KEY
POINTS
- อุตสาหกรรมธนาคารเพื่อการลงทุนมีชื่อเสียงมายาวนาน ในด้านการมีศักยภาพที่จะสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมหาศาล แต่ก็มีชื่อเสียงเรื่องานทำงานหนักเช่นกัน
- องค์กรด้านนี้หลายแห่งมีวัฒนธรรมการทำงานที่เครียด เคร่งครัด และแสวงหาความสำเร็จอย่างไม่ลดละ ซึ่งต้องแลกมากับชีวิตส่วนตัวและสุขภาพของพนักงาน
- หลังจากมีพนักงานแบงก์เสียชีวิตกะทันหัน ประกอบกับลูกจ้างถูกบังคับให้รายงานชั่วโมงการทำงานที่ผิดจากความจริง ทำให้ JPMorgan และ Bank of America ใช้มาตรการใหม่เพื่อดูแลพนักงานมากขึ้น
คนในแวดวงการเงินการลงทุนและการธนาคารต่างรู้ดีว่าสายอาชีพนี้ต้องทำงานหนักมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพพนักงานอย่างหนัก โดยเมื่อหลายเดือนก่อนมีข่าวน่าเศร้าเกิดขึ้น พบพนักงานแบงก์วัย 35 ปีเสียชีวิตจากลิ่มเลือดหัวใจเฉียบพลัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเกิดจากการทำงานหนักจนไม่ได้พักผ่อน
นี่ยังไม่นับรวมข้อกล่าวหาที่มีการเผยแพร่ออกมาว่า พนักงานแบงก์ระดับจูเนียร์ที่เข้าทำงานใน Bank of America นั้น ต้องทำงานหนักถึง 100 ชม./สัปดาห์ หรือประมาณ 14 ชม./วัน ทุกวัน แต่พวกเขากลับได้รับคำสั่งให้ปลอมเวลาทำงานในจำนวนชั่วโมงน้อยกว่าความเป็นจริง
อาชีพงานธนาคาร-การลงทุน มาพร้อมวัฒนธรรมการทำงานหนักสุดโต่ง
ความแตกต่างระหว่าง “เสน่ห์ของอาชีพสายงานธนาคารเพื่อการลงทุน” และ “ความจริงอันเลวร้ายของอาชีพนี้” ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน หลังจากเกิดกรณีการเสียชีวิตของพนักงานธนาคารคนหนึ่งเมื่อต้นต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดย “ลีโอ ลูเคนาส” (Leo Lukenas) พนักงานวัย 35 ปีของ Bank of America ซึ่งทำงานด้านธุรกรรมให้กับบริษัทด้านบริการทางการเงิน เสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ตามรายงานของสำนักงานแพทย์นิติเวชแห่งนิวยอร์ก
รายงานของเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพไม่ได้ระบุชั่วโมงการทำงานของลูเคนาส กับการเสียชีวิตของเขาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รับสมัครผู้บริหารได้แจ้งต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารรายนี้ทำงานเกิน100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
อีกทั้งก่อนหน้านี้ ดักลาส วอลเตอร์ส (Douglas Walters) หุ้นส่วนผู้จัดการของ GrayFox Recruitment เคยได้ติดต่อกับ ลูเคนาส เขาบอกว่าตอนนั้นผู้เสียชีวิตกำลังมองหางานใหม่ที่มีปริมาณงานน้อยลง และยังได้สอบถามวอลเตอร์สว่า การทำงาน 110 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถือเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมการเงินหรือไม่ นั่นอาจบ่งชี้ถึงภาวะงานหนักที่เขาเผชิญอยู่ในช่วงนั้น
ในเวลานั้น Bank of America มีระบบตรวจสอบภาวะหมดไฟในการทำงานของพนักงาน ซึ่งภายในองค์กรเรียกว่า “ไดอารี่ของเจ้าหน้าที่ธนาคาร” โดยมีข้อกำหนดว่าพนักงานที่ทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะได้รับการตรวจสอบสุขภาพจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นของ Wall Street Journal พบว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวมักถูกละเลย และในบางกรณี หัวหน้างานสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานชั่วโมงการทำงานที่บิดเบือนจากความจริง
พนักงานธนาคารรุ่นจูเนียร์ ถูกผลักให้ทำงานหนักกว่าพนักงานระดับสูง
อุตสาหกรรมธนาคารเพื่อการลงทุนมีชื่อเสียงมายาวนาน ในด้านการมีศักยภาพที่จะสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมหาศาล แต่ก็มีชื่อเสียงเรื่องานทำงานหนักเช่นกัน ตอนนี้หลายบริษัทกำลังตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวด เนื่องจากมีวัฒนธรรมการทำงานที่เครียด เคร่งครัด และแสวงหาความสำเร็จอย่างไม่ลดละ ซึ่งมันต้องแลกชีวิตส่วนตัวและสุขภาพ ไม่ต้องพูดถึงความสมดุลชีวิตเพราะไม่เคยมีอยู่แล้ว
โดยเฉพาะนายธนาคารระดับจูเนียร์ พวกเขามักพบว่าตัวเองติดอยู่ในวังวนของ “เวลาทำงานที่มากเกินไป” และไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานแม้แต่น้อย พวกเขาใช้เวลาทำงานมากถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อพยายามสร้างผลงานให้ผู้บริหารมองเห็น ด้วยหวังก้าวหน้าในตำแหน่งสูงขึ้น ในขณะที่พนักงานระดับสูงมีตารางงานที่ยืดหยุ่นกว่า ส่วนพนักงานอายุน้อยกว่ามักต้องแบกรับงานที่น่าเบื่อ และต้องทำงานที่ใช้เวลานานๆ ต้องนั่งติดแหง็กอยู่ที่โต๊ะทำงานจนดึกดื่น
หลังจากเกิดกรณีที่มีพนักงานแบงก์เสียชีวิตกะทันหัน ประกอบกับกรณีที่ลูกจ้างถูกบังคับให้รายงานชั่วโมงการทำงานที่ผิดจากความจริง นั่นทำให้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง JPMorgan และ Bank of America กำลังเร่งดำเนินการใช้มาตรการใหม่ในการดูแลพนักงานมากขึ้น โดยควบคุมชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปสำหรับพนักงานธนาคารระดับจูเนียร์
ตามรายงานของ Wall Street Journal พบว่าตอนนี้ JPMorgan กำลังออกมาตรการใหม่ในการกำหนดเพดานเวลาทำงานไว้ที่ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับนายธนาคารระดับจูเนียร์ส่วนใหญ่ ส่วน Bank of America กำลังเปิดตัวเครื่องมือบันทึกเวลางานใหม่ เพื่อใช้ติดตามชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น (ไม่ให้ทำงานล่วงเวลา)
ระบบบันทึกเวลางานเพื่อไม่ให้ทำงานล่วงเวลา ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น
เครื่องมือบันทึกเวลางานแบบใหม่นี้ Bank of America กำหนดให้พนักงานระดับจูเนียร์ที่ประจำอยู่ในสหรัฐอเมริกา ต้องบันทึกเวลาทำงานรายวันแทนระบบรายสัปดาห์แบบเดิม ซึ่งเริ่มใช้งานไปในช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 โดยลูกจ้างจะต้องกรอกข้อมูลโดยละเอียดลงในระบบ เช่น ข้อตกลงในเนื้องานที่กำลังดำเนินการอยู่, การมอบหมายงาน, การดูแลงานร่วมกับพนักงานระดับซีเนียร์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังช่วยให้พนักงานระดับจูเนียร์สามารถระบุปริมาณงานของตนเองได้ในระดับ 1 - 4 ทำให้สามารถดูภาระงานของตนได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น
โฆษกของ Bank of America เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ทดลองใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ได้รับการปรับปรุงนี้สำเร็จในช่วงต้นปีนี้ เพื่อที่พนักงานทุกคนสามารถให้บริการลูกค้าด้านธนาคารเพื่อการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังจากการเสียชีวิตของลูกจ้าง Bank of America ด้าน เจนนิเฟอร์ เพียปซัค (Jennifer Piepszak) ซีอีโอร่วมของ JPMorgan กล่าวกับนักลงทุนว่า “ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานของเรา” เพียปซัคยอมรับว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของพนักงานธนาคารคนดังกล่าว เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าสลดใจอย่างยิ่ง
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจมี ไดมอน (Jamie Dimon) ซีอีโอของ JPMorgan และเหล่าคณะผู้บริหารระดับสูง ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว โดยพวกเขาได้ประชุมด่วนร่วมกับหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหานี้ โดยเน้นพิจารณาถึงแผนงานด้านความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของพนักงานในองค์กร
JPMorgan, Goldman Sachs พิจารณาปรับชั่วโมงการทำงานใหม่
ทั้งนี้ มีข้อมูลออกมาว่าหลักการหารือดังกล่าว JPMorgan มีข้อกำหนดใหม่ในการทำงาน โดยจำกัดเวลาทำงานของลูกจ้างให้ไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางสถานการณ์ที่สำคัญที่จำเป็นจะต้องทำงานล่วงเวลาอยู่ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเรื่องชั่วโมงการทำงานครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตการดูแลพนักงานมากขึ้นกว่าเดิม
กล่าวคือ บริษัทกำหนดให้พนักงานจะต้อง “หยุดงานตั้งแต่เย็นวันศุกร์ไปจนถึงเที่ยงวันเสาร์” และหยุดเต็มหนึ่งวันในช่วงสุดสัปดาห์ในแต่ละไตรมาส อีกทั้งมีการติดตามชั่วโมงการทำงานผ่านตารางเวลาที่รายงานด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปในอุตสาหกรรมการธนาคาร
ด้าน Goldman Sachs อีกหนึ่งธนาคารเพื่อการลงทุนชื่อดังระดับโลก ก็ประสบปัญหาเดียวกัน โดยมีรายงานว่า พนักงานธนาคารและนักวิเคราะห์ของที่นี่ ต่างต้องทำงานหนักเกินสัปดาห์ละ 95 ชั่วโมง พวกเขาได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตารางงานที่เต็มแน่น และแสดงออกถึงความหงุดหงิดที่ได้นอนหลับเพียงห้าชั่วโมงต่อวัน ซึ่งกว่าจะได้เข้านอนก็ประมาณตีสาม ทั้งนี้นักวิเคราะห์รุ่นจูเนียร์รายงานว่าประสบกับ “การละเมิดในสถานที่ทำงาน” หลายอย่าง ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ เดวิด โซโลมอน (David Solomon) ซีอีโอของ Goldman Sachs ได้ออกประกาศว่าทางองค์กรจะบังคับใช้ “กฎวันเสาร์” เพื่อกำหนดให้พนักงานต้องหยุดทำงานตั้งแต่เวลา 21.00 น. ของวันศุกร์ ไปจนถึง 09.00 น. ของวันอาทิตย์ ยกเว้นในบางสถานการณ์ที่จำเป็นอาจต้องเข้างานช่วงวันหยุดเป็นกรณีๆ ไป โดยทางซีอีโอย้ำว่า “นี่เป็นสิ่งที่ตนเองและทีมบริหารให้ความสำคัญอย่างมาก”