สายงานดูแลสัตว์เลี้ยง-สัตวแพทย์ในจีน สุดบูม! ตำแหน่งรอเยอะ ไม่มีตกงาน!

สายงานดูแลสัตว์เลี้ยง-สัตวแพทย์ในจีน สุดบูม! ตำแหน่งรอเยอะ ไม่มีตกงาน!

ยุคทองอาชีพสัตวแพทย์-งานดูแลสัตว์เลี้ยงในจีน ตลาดงานต้องการสูง เหตุหนุ่มสาวชาวจีนไม่นิยมมีลูก ขณะที่ประชากรหมา-แมวพุ่งแซงหน้าเด็กเกิดใหม่ 

KEY

POINTS

  • คนจีนรุ่นใหม่หันมานิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูก ส่งผลให้เศรษฐกิจสัตว

สังคมจีนอาจพลิกโฉมครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ เมื่ออัตราการแต่งงานของหนุ่มสาวชาวจีนรุ่นใหม่และประชากรเด็กเกิดใหม่ลดลง ขณะที่กลุ่มคนโสดหันมานิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูก ส่งผลให้เศรษฐกิจสัตว์เลี้ยง (Pet Economy) ในจีนยิ่งโตแรง ดันให้สายงานดูแลสัตว์เลี้ยง-สัตวแพทย์ในจีนสุดบูม ไม่มีตกงาน!

ข้อมูลฐานประชากรในจีนไตรมาสล่าสุดคาดว่า ปี 2025 จะมีการจดทะเบียนสมรสในประเทศจีนราว 6 ล้านคู่ ซึ่งถือเป็นจำนวนต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1980 หรือต่ำสุดในรอบ 45 ปี ขณะเดียวกันอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศจีนก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก รายงานล่าสุดของ Goldman Sachs ระบุว่า ปัจจุบันจำนวนสัตว์เลี้ยงในจีนน่าจะเยอะแซงหน้าประชากรทารกและเด็กวัยเตาะแตะของจีนด้วยซ้ำ โดยในปี 2023 ประมาณการว่าจีนมีสุนัขและแมวเลี้ยงมากกว่า 120 ล้านตัว โดยมีแมวเลี้ยงเพิ่มขึ้น 1.1%  และสุนัขเลี้ยงเพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ปรากฏการณ์นี้ผลักดันให้กลุ่มอาชีพด้านดูแลสัตว์เลี้ยงและรักษาสัตว์เลี้ยงมาแรง เป็นที่ต้องการสูงของตลาดงานในจีน หนึ่งในผู้ประกอบการที่ผลักดัน Pet Economy ในจีนคือ “หยาง จง” (Yang Zhong) ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ ชื่อ Joy Pet Hospital 

เขาเปิดโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงแห่งแรกในหางโจวเมื่อต้นปี 2019 ซึ่งธุรกิจเติบโตรวดเร็วมาก ทำให้ภายในปี 2021 เขาได้เปิดโรงพยาบาลสอนการรักษาสัตว์แห่งแรก และขยายสาขาโรงพยาบาลสัตว์แห่งใหม่ 5 แห่งในเซี่ยงไฮ้และหนิงปัว ปัจจุบันเขาบริหารโรงพยาบาลมากกว่า 30 แห่ง โดยมีพนักงานรวมประมาณ 400 คน ที่ได้รักษาสุนัขและแมวเลี้ยงไปแล้วมากกว่า 100,000 ตัว

ธุรกิจการดูแล-รักษาสัตว์เลี้ยง สร้างอาชีพให้หนุ่มสาวชาวจีนมากขึ้น

รายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัย Beike ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยในเครือของ Beike Zhaofang ซึ่งเป็นเอเจนซี่ด้านอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ระบุตัวเลขคาดการณ์ว่า จำนวนคนที่อาศัยอยู่คนเดียวในจีนจะสูงถึง 150 ถึง 200 ล้านคนภายในปี 2030 ในขณะเดียวกัน การสำรวจของ Zhenai.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหาคู่ของจีน พบว่า 70% ของคนโสดที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1990 มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเอง

เมื่อพิจารณามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในจีนจากรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของจีนและตลาดผู้บริโภคประจำปี 2023-2024 โดย iiMedia Research ระบุว่า แม้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงจะลดลงจากจุดสูงสุดกว่า 33.5% ในปี 2020 แต่คาดว่ายังคงมีมูลค่าสูงถึง 811,400 ล้านหยวน (ประมาณ 3.77 ล้านล้านบาท) ในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 592,800 ล้านหยวน (ราวๆ 2.75 ล้านล้านบาท) ในปี 2023

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยจำนวนมากในจีนกำลังดิ้นรนหางาน แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตอนนี้กลับเต็มไปด้วยโพสต์ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ “อาชีพและตำแหน่งงานในแวดวงธุรกิจสัตว์เลี้ยง” พูดได้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยง เป็นแรงผลักดันให้ตลาดงานต้องการบุคลากรในสายงานนี้สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง 

“ในประเทศจีนมีคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์อยู่หลายหมื่นแห่ง แต่ยังคงขาดแคลนแพทย์อยู่มาก คนหนุ่มสาวที่ต้องการเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัตวแพทย์, สัตวแพทย์แพทย์ฝึกหัด, ผู้ช่วยสัตวแพทย์ ฯลฯ ก็สามารถหางานทำได้อย่างง่ายดาย” หยาง อธิบาย 

หยางกล่าวว่าในช่วงแรก สัตวแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลของเขาจะมีรายได้ประมาณ 2,500 หยวนต่อเดือน (11,600 บาทต่อเดือน) ในขณะที่บัณฑิตสาขาสัตว์แพทย์ที่เพิ่งจบใหม่จะมีรายได้ 6,000 หยวนต่อเดือน (27,800 บาทต่อเดือน) พร้อมอาหารและที่พักฟรี ส่วนสัตวแพทย์อาวุโสที่มีประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไปจะมีรายได้ 20,000-30,000 หยวนต่อเดือนหรือมากกว่านั้น (ราวๆ 139,000 บาทต่อเดือน)

คลินิกสัตว์-โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงในจีน โตแรงแซงหน้าสหรัฐและญี่ปุ่น

ตามข้อมูลของ Euromonitor ที่อ้างอิงในรายงานของนักวิเคราะห์ของ China International Capital Corporation (CICC) ระบุว่า ปี 2023 มีโรงพยาบาลและคลินิกสัตว์มากกว่า 27,000 แห่งในจีน เมื่อเทียบกับ 32,690 แห่งในสหรัฐอเมริกาและ 12,706 แห่งในญี่ปุ่น โดยเฉลี่ยแล้ว โรงพยาบาลสัตว์แต่ละแห่งในจีนให้บริการสัตว์เลี้ยง 6,862 ตัว ซึ่งมากกว่าในสหรัฐอเมริกา 1.25 เท่า และมากกว่าในญี่ปุ่น 5.5 เท่า

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ประจำปีโดยเฉลี่ยสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมากกว่า 6 ปีในประเทศจีนจะสูงถึง 3,400 หยวน ซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันถึง 10 เท่า จึงจะเท่ากับในสหรัฐอเมริกา ตามตัวเลขของสมาคมโรงพยาบาลสัตว์แห่งอเมริกา

ความต้องการทางการแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยงสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งผลักดันให้โรงพยาบาลสัตว์ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว และเพิ่มผลกำไรในอุตสากรรมนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ ที่ค่อนข้างซบเซา ตามรายงานของ CICC พบอีกว่า โรงพยาบาลสัตว์ในจีนมากกว่า 80% มีรายได้ประจำปีอยู่ที่ไม่เกิน 2.4 ล้านหยวนในปี 2023 ซึ่งเกือบ 75% เป็นโรงพยาบาลที่ได้กำไร โรงพยาบาลสัตว์ที่เพิ่งเปิดใหม่คาดว่าจะเริ่มทำกำไรได้หลังจากดำเนินกิจการได้ 3-6 เดือน

ตง ซิน (Dong Xin) ผู้ก่อตั้งร่วมโรงพยาบาลสัตว์ FLC ในเมืองหางโจว เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการหันมาลงทุนในคลินิกสัตว์มากขึ้น และปัจจุบันมีโรงพยาบาลสัตว์ 2-3 แห่งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่

“สัตวแพทย์คลินิกรุ่นใหม่จำนวนมาก มีแผนที่จะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเพื่อขยายไปสู่เมืองระดับล่าง ในขณะที่ผู้ที่มีประสบการณ์ในสาขานี้มากกว่า 10 ปียังมีไม่มากนัก ปัจจุบันสังคมจีนให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทำให้ตลาดการแพทย์สัตว์เลี้ยงทำกำไรได้อย่างเติบโตต่อไป และผู้ประกอบวิชาชีพรุ่นใหม่สามารถค้นพบโอกาสที่ดีกว่าสำหรับการเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพนี้” เธอ อธิบาย

การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้

จากรายงานของ CICC ระบุว่าในปี 2023 จีนมีสัตวแพทย์ที่ปฏิบัติงานเพียง 165,000 คน ทำให้ขาดแคลนถึง 300,000 คน โดยระบุว่าสัตวแพทย์ 1 คนในจีนดูแลสัตว์เลี้ยงโดยเฉลี่ย 3,577 ตัว ซึ่งมากกว่าในสหรัฐฯ ถึง 1.5 เท่า และมากกว่าในญี่ปุ่นถึง 3.7 เท่า

เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง เมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรอายุน้อยที่สุดในประเทศจีน โดยมีอายุเฉลี่ยเพียง 32.5 ปี ได้นำนโยบายสนับสนุนสายอาชีพนี้มาใช้ในเดือนสิงหาคม 2023

รวมถึงการจัดตั้งฐานการฝึกงานในมหาวิทยาลัยและให้เงินอุดหนุนแก่นักศึกษาตั้งแต่เดือนละ 1,500 หยวน (6,900 บาท) สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี, เดือนละ 2,500 หยวน (11,600 บาท) สำหรับนักศึกษาปริญญาโท, เดือนละ 4,500 หยวน (20,900 บาท) สำหรับนักศึกษาปริญญาเอก เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ภาคส่วนการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเมืองมากขึ้น

ค่ายาค่ารักษาน้องสี่ขาค่อนข้างสูง แต่ทาสก็ยอมจ่ายเพราะรักเหมือนลูก

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Daily Sunshine ของเมือง คาดว่าเมืองเซินเจิ้นเป็นที่อยู่อาศัยของสุนัขและแมวเลี้ยงประมาณ 500,000 ตัวในปีที่แล้ว และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงมากกว่า 88,000 แห่งที่ทำรายได้รวมต่อปีเกิน 10,000 ล้านหยวน (46,500 ล้านบาท) และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงใหม่ 1,525 แห่งที่จดทะเบียนในเซินเจิ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“หลี่ อวิ๋น” (Li Yun) ครูวัย 30 ปีในเซินเจิ้น เล่าว่าเธอเองเลี้ยงแมวสองตัว ครั้งหนึ่งแมวป่วยหนักจนเธอต้องใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายค่ารักษาไปถถึง 30,000 หยวนภายในเวลาหนึ่งเดือน แต่สุดท้ายเธอก็สูญเสียแมวไปหนึ่งตัว เธอเล่าว่า ในเซินเจิ้น ค่าใช้จ่ายรายวันในการเลี้ยงแมวหรือสุนัขอยู่ที่ประมาณ 1,000 หยวนต่อเดือน แต่หากสัตว์เลี้ยงป่วย ค่ารักษาอาจพุ่งสูงขึ้นไปอีก อีกหนึ่งเคสคือเพื่อนของเธอที่เลี้ยงสุนัข เมื่อมันป่วยเพื่อนของเธอต้องจ่ายค่ารักษาหลายพันหยวนต่อครั้ง 

“ฉันมีเพื่อนที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์เอ็กโซติกขนสั้น และต้องเข้าโรงพยาบาลทุก ๆ สองเดือน การรักษาแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายหลายพันหยวน โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นอาการตาอักเสบและโรคประจำตัวบางชนิด เพื่อนของฉันเป็นเพียงพนักงานออฟฟิศธรรมดา ๆ แต่เธอทุ่มเทอย่างมากในการดูแลสัตว์เลี้ยงของเธอ

“ฉันและเพื่อนๆ ทุกคนใส่ใจเรื่องสุขภาพของสัตว์เลี้ยงมาก ฉันคิดว่าสำหรับคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงรุ่นใหม่ เรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ไปแล้ว เราต้องการให้สัตว์เลี้ยงของเราแข็งแรงและมีความสุข และความรู้สึกของเราก็เหมือนกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นของตัวเอง สัตวแพทย์ดีๆ มีฝีมือ ถือเป็นอาชีพที่ต้องการสูงในทุกเมืองของจีนไปแล้ว” เธอย้ำในท้ายที่สุด
 

 

อ้างอิง : South China Morning Post