เรื่องเล่าชาวนา(1)

เรื่องเล่าชาวนา(1)

ชาวนาทุกคนต่างบอกตรงกันว่า สมัยโบราณ การไหว้แม่โพสพจะใช้ปลาตะเพียนย่างมาเป็นอาหารหลักในเครื่องเซ่นไหว้

 ในช่วงวันพืชมงคลของทุกปี ทางมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมี อาจารย์เดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิทำงานทางด้านเกษตรอินทรีย์-เปิดโรงเรียนชาวนาให้ความรู้กับชาวนาไทย, ได้จัดพิธีไหว้บูชาแม่โพสพขึ้นที่มูลนิธิ ดิฉันไปร่วมพิธีด้วยเป็นประจำ และในครั้งหนึ่งดิฉันได้นำภาพพิมพ์แม่โพสพขี่ปลาตะเพียน ไปแจกชาวนาที่มาร่วมในงานพิธีนี้ให้นำกลับไปเคารพบูชา

 

ภาพแม่โพสพที่ดิฉันมอบให้ชาวนาครั้งนั้น เขียนขึ้นบนแผ่นกระจกเมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อน ศิลปินคนเขียนเป็นคนทำไร่นาภาคใต้ชื่อ อาจรูญ สารีบุตร(1 สิงหาคม พ.ศ.2492-10 มกราคม พ.ศ.2555) เกี่ยวดองเป็นเครือญาติห่างๆ ของดิฉัน 

 

อาจรูญเป็นคน อ.ระโนด จ.สงขลา พ่อ-แม่ชื่อนายฉีด นางแอบ สารีบุตร อาจรูญเป็นชาวนามาตั้งแต่เกิด ชอบวาดรูปมาก ภาพเขียนแม่โพสพของอาจรูญสีสดแจ่มงดงาม ที่พิเศษยิ่งก็คือ อาเขียนภาพแม่โพสพเป็นหน้านางหนังตะลุง หวานแฉล้มแปลกตากว่าแม่โพสพรูปใดๆ ที่ดิฉันเคยได้เห็นมา

 

แต่ที่ยังคงเอกลักษณ์แม่โพสพอย่างเด่นชัดก็เห็นจะเป็นมือถือรวงข้าว และขี่ปลาตะเพียนนั้นเอง

สำหรับเรื่องราวของแม่โพสพนี้ชาวบ้าน ชาวนาไทย ได้มีวัฒนธรรมการบูชาแม่โพสพในลักษณะรูปเคารพแบบต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก มีงานวิจัยที่ลูกศิษย์อ.แสนประเสริฐ ปานเนียม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ศึกษาไว้เกี่ยวกับชาวนา ต.นาพันสาม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่จัดพิธีไหว้แม่โพสพช่วงข้าวตั้งท้อง

 

ชาวนาทุกคนต่างบอกตรงกันว่า สมัยโบราณ การไหว้แม่โพสพจะใช้ปลาตะเพียนย่างมาเป็นอาหารหลักในเครื่องเซ่นไหว้ เพิ่งไม่ถึงยี่สิบปีนี้ ที่มีการใช้ปลาอะไรก็ได้เพราะปลาตะเพียนหายากแล้ว เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง จนปลาต่างๆ ในท้องนาตายเรียบ ชาวบ้านนาพันสามจึงต้องไปหาซื้อปลาทู ปลาช่อนเลี้ยง จากในตลาดเมืองเพชรมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้แม่โพสพตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

เมื่อดิฉันได้พบข้อมูลนี้ ก็ทำให้สงสัยอย่างยิ่งว่า ทำไมแต่เดิมการไหว้แม่โพสพจึงต้องใช้ปลาตะเพียน และทำไมยันต์แม่โพสพในหลายๆแห่ง และรูปเขียนแม่โพสพของจิตรกรทุกท่าน หากจะให้แม่โพสพขี่ปลา จะต้องเป็นปลาตะเพียนเสมอ แล้วยันต์แม่โพสพในหลายๆ สำนัก ที่ปรากฏในหนังสือตำหรับคัมภีร์เพ็ชร์รัตน์มหายันต์ สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร กรุงเทพฯ พ.ศ.2525 ก็มักเป็นรูปปลาตะเพียน

 

 ปลาตะเพียนกับทุ่งข้าว และแม่โพสพ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

เมื่อสงสัยยิ่งๆ ดิฉันหันซ้ายขวา...ก็แน่นอน ต้องถามพ่อเป็นคนแรก เพราะถามทุกเรื่องเป็นประจำอยู่แล้ว อ.ล้อม เพ็งแก้ว ให้คำตอบลูกสาวว่าเท่าที่พ่อเคยเห็นเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ในท้องนาบ้านควนขนุน จ.พัทลุง ช่วงข้าวออกดอก เกสรดอกข้าวจะร่วงลงน้ำที่แช่ขังอยู่ในบิ้งนา(กะทงนา)ตอนนั้นปลาตะเพียนจะเฮละโลมากินเกสรดอกข้าวอย่างคึกคัก เป็นช่วงข้าวใหม่ปลามัน ชาวบ้านลงจับปลาตะเพียนโดยถ้วนทั่ว กินปลาทุกบ้าน เอร็ดอร่อยกันมาก

 

ยังมีพี่ชายที่รักคือ พี่ป่อง คุณรังสิต จงฌานสิทโธ นักร้องวงต้นกล้า อายุ 60 กว่าปี ผู้มีพื้นเพเป็นคนปักษ์ใต้ก็เล่าให้ฟังในเนื้อหาใกล้เคียงกันว่า สมัยพี่ป่องเป็นเด็กนั้น ช่วงข้าวออกรวง เม็ดข้าวเป็นน้ำนมประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม น้ำยังเอ่อเต็มบิ้งนา จะเป็นช่วงปลาตะเพียนไข่เต็มท้อง ชาวนามักเด็ดเม็ดข้าวมัดกับเบ็ดพวงโยนลงน้ำ รอไม่นาน ปลาตะเพียนตัวเป้งๆเนื้อมันอ้วน กำลังหาที่ไข่ จะพากันว่ายน้ำกรูเข้ามากินเม็ดข้าว มาติดเบ็ดพวงให้จับไปกินเป็นจำนวนมาก ข้าวใหม่ปลามันจึงเป็นเรื่องของข้าวคู่กับปลาตะเพียน

  1 (1)

 

ส่วนยันต์ปลาตะเพียนนั้น ที่พี่ป่องจำได้แม่นยำก็คือ ยันต์ปลาตะเพียนเงินตะเพียนทองคู่กันของหลวงพ่อจง(พระภิกษุรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 ) วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นยันต์ที่มีชื่อเสียงมาก ทั้งชาวนา คนค้าขาย และผู้คนทั่วไปต่างพากันเสาะหามาไว้บูชา คนนับถือยันต์ปลาตะเพียนหลวงพ่อจงเพราะเป็นตัวแทนของความสำเร็จ ความอุดมสมบูรณ์ และยันต์ปลาตะเพียนก็จะนำความอุดมสมบูรณ์มาให้ผู้นับถือบูชา

 

คำบอกเล่าจากพ่อและพี่ป่องเห็นได้ชัดว่า คติการนับถือแม่โพสพเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของข้าวและชีวิตมีความผูกพันยิ่งกับปลาตะเพียน และความสมบูรณ์ของข้าวกับปลาในลักษณะ“ข้าวใหม่ปลามัน” ก็เป็นเรื่องของข้าวกับปลาตะเพียน ยันต์แม่โพสพก็เป็นรูปปลาตะเพียนบ้าง เป็นรูปเทวนารีขี่ปลาตะเพียนบ้าง

 

เมื่ออาจรูญ สารีบุตร มาเขียนภาพบนกระจกใส่กรอบขายตอนเริ่มตั้งครอบครัวเมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อน อาจรูญก็ได้เขียนไว้ทั้งภาพแม่โพสพ ภาพนางกวัก รวมทั้งรับจ้างเขียนภาพเหมือนของบุคคลต่างๆ จากภาพถ่ายในบัตรประชาชนของเขาเหล่านั้นไว้ด้วย แต่ภาพจับตายิ่งนักที่อาจรูญวาดไว้ ก็คือภาพแม่โพสพหน้านางหนังตะลุงขี่ปลาตะเพียนนี้เอง

 

 ดิฉันได้ขอให้ “อาดำ” ครูลำไย เพ็งแก้ว น้องสาวคนเล็กของพ่อ ไปสอบถามเรื่องราวของอาจรูญ ผู้เขียนภาพแม่โพสพที่งดงามยิ่งนี้ มาจากภรรยาของอาจรูญคืออาสุคนธ์ สารีบุตร อายุ 66 ปี และน้องเสาวลักษณ์ สารีบุตร ลูกสาวอาจรูญอายุ. 45 ปี ได้ความว่า อาจรูญหัดวาดรูปมาจากบรรพบุรุษชาวใต้ คนใต้จะใกล้ชิดยิ่งกับวัฒนธรรมหนังตะลุงตั้งแต่ยังเล็กมาแล้ว อาจรูญได้วาดภาพ รูปเหมือนตัวหนังทั้งฤษี ยักษ์ ลิง พระ นาง ทั้งยังได้หัดแกะตัวหนังตะลุงคล่องมือมาตั้งแต่เด็ก

 

 สำหรับการวาดภาพแม่โพสพขายนั้น น่าจะเป็นเพราะแถวบ้านอ.ควนขนุน จ.พัทลุง และทาง อ.ระโนด จ.สงขลา ทำนาเป็นหลัก แม่โพสพเป็นที่เคารพของชาวนา ภาพวาดแม่โพสพจึงสามารถขายได้ มีคนซื้อไปบูชา นอกจากนี้อาจรูญยังวาดภาพนางกวักไว้บนกระจก ภาพนางกวักมีไว้ขายคนทำร้านค้า ซึ่งตลาดระโนด ตลาดควนขนุน ตลาดทุกถิ่นทุกที่ ไม่กี่สิบปีมานี้ต่างก็นิยมมีรูปนางกวักไว้เป็นเคล็ดเรียกลูกค้าเข้าร้านมาจนยุคปัจจุบัน

 

 อาจรูญเดินทางรับจ้างวาดภาพเหมือนตามต่างจังหวัด ทั้งฟากอ่าวไทยและอันดามัน ไปไกลถึง จ.กระบี่ และประเทศมาเลเซียโดยเอารูปที่วาดเสร็จแล้วไปโชว์เป็นตัวอย่าง ถ้าลูกค้าชอบใจตกลงจ้างให้วาด อาจรูญก็จะเอาบัตรประชาชนของลูกค้ากลับมาเป็นต้นแบบวาดภาพที่บ้านเมืองพัทลุง มีเงินมัดจำแล้วแต่ตกลงกัน ใช้เวลาวาดเป็นเดือนๆ กว่าจะเสร็จ อาสุคนธ์ภรรยาอาจรูญเล่าว่า สมัยก่อนบางทีได้ราคาดีถึงรูปละ 1,200 บาทก็มี

 

 อาจรูญเคยวาดภาพอาประเสริฐ เพ็งแก้ว น้องชายของพ่อดิฉัน แต่บัดนี้ภาพเลือนชำรุดไปหมดแล้ว ภายหลังอาจรูญมาทำงานก่อสร้างบ้าง และได้ทำงานปูนปั้นไว้ที่ฐานพระกับซุ้มประตูวัดราษฎร์นุกูล อ.ควนขนุน จ.พัทลุง แต่ในที่สุดศิลปินชาวบ้านผู้นี้ก็ต้องเลิกอาชีพทำงานศิลปะไป เพราะรายได้ไม่พอใช้ เป็นชาวนายังมีกินมากกว่า อีกทั้งอายุมากขึ้น เดินทางไปไกลๆเพื่อทำงานวาดภาพไม่ไหวอีกแล้ว

 

 ภาพวาดแม่โพสพที่งามจับตายิ่งภาพนี้ อาประเสริฐ เพ็งแก้ว ซื้อจากอาจรูญมาในราคาไม่ถึง 100 บาท และยังได้ซื้อภาพนางกวักฝีมืออาจรูญมาไว้อีกภาพหนึ่งด้วย

 

 ได้เห็นภาพแม่โพสพหน้านางหนังตะลุงของอาจรูญแล้ว ดิฉันก็ซาบซึ้งใจนัก ยิ่งได้เห็นดวงตาของอาจรูญที่มองลึกออกมาจากภาพถ่าย ดิฉันก็ตั้งใจยิ่งๆที่จะเก็บงำ-บอกเล่า-เรื่องราวของอาจรูญไว้ ด้วยเห็นว่าผลงานของจิตรกรชาวบ้านผู้นี้เป็นอมตะ ชาวนาจับพู่กันวาดภาพแม่โพสพด้วยนิ้วและมือเดียวกับที่ได้เคยปักดำต้นกล้า เกี่ยวข้าว นวดข้าวมาด้วยตนเอง และด้วยความหวังที่ว่า ต่อไปชาวนาไทย ลูกศิษย์โรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ที่มีอ.เดชา ศิริภัทรเป็นประธานมูลนิธิ จะต้องรู้จักผลงานของอาจรูญ ดิฉันจึงได้พิมพ์ภาพแม่โพสพหน้านางหนังตะลุงนี้ เป็นภาพโปสเตอร์ขนาดเล็ก ไว้แจกชาวนาไทยเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศให้ไปใส่กรอบไว้เคารพบูชา