อนุสนธิ์ ชินวรรโณ - คนเวียดนามภาคภูมิในใจความเป็นชาติของเขา
เปิดใจนักการทูตไทย-เวียดนาม ต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันในมิติต่างๆ ตลอดจนถึงโอกาสการค้าการลงทุน เมื่อช่วงเวลาแห่ง AEC กำลังมาถึง
เวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ห่างไกลจากไทยเท่าใดนัก นอกจากการเดินทางไปเยือนอย่างสะดวกสบายด้วยอากาศยานเพียงชั่วโมงเศษๆ แล้ว เป็นที่คาดหมายกันว่า เส้นทางบกตามแนว 'East-West Economic Corridor' ที่ตัดผ่านภาคอีสานของไทย ไปยังประเทศลาว และทะลุออกยังพื้นที่ภาคกลางของเวียดนาม กำลังจะกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมของประชาชนทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้
ด้วยความสนใจที่มีต่อความสำคัญของ เวียดนาม ทั้งปูมหลังทางวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ความเกี่ยวโยงผูกพัน และความละม้ายคล้ายคลึงกันในเรื่องของวิถีชีวิตแบบเอเชีย ทำให้วันหนึ่ง เมื่อไทยเริ่มหันมาทำการค้าขายกับเพื่อนบ้าน จุดเริ่มต้นจึงหนีไม่พ้นการกลับไปหาพื้นฐานดั้งเดิม นั่นคือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกันและกัน เพื่อจับมือร่วมกันไปสู่อนาคตอันรุ่งโรจน์
นี่คือที่มาของการสนทนากับ อนุสนธิ์ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงฮานอย เวียดนาม ในโอกาสที่เดินทางมาร่วมงานสัมมนา ที่จัดโดยมหาวิทยานเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสำรวจมุมมองของนักการทูตว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
ทำไมคนไทยต้องไปลงทุนที่เวียดนาม
ที่จริงคนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามนานแล้ว กลุ่มที่เข้าไปแรกๆ ก็ร่วม 20 ปีเห็นจะได้ ซึ่งกลุ่มเหล่านั้นทุกวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กลุ่ม CP , ปูนซีเมนต์ไทย, กลุ่มอมตะ ซึ่งเข้าไปทำธุรกิจด้านที่เขาเชี่ยวชาญและอยู่มานานพอสมควร อย่าง CP ก็มีธุรกิจกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ถ้าเรามองอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศขนาดใหญ่สุดก็อินโดนีเซีย ถัดมาคือเวียดนาม ถ้าดูตัวเลขประชากรปีนี้ 90 ล้านคน มองว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าหลังสงคราม ประเทศเขาคงมีรายได้ไม่มากนัก แต่ปัจจุบัน 20 ปีผ่านมา หลังจากที่เวียดนามเปิดประเทศมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชากรของเวียดนามเองมีรายได้ มีกำลังซื้อสูงขึ้นมาก
ที่น่าสนใจคือ นอกจากตลาดขนาดใหญ่แล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งสำคัญในด้านวัตถุดิบ และการที่มีประชากร 90 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรที่อายุยังไม่เกิน 40 ทำให้เป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ มีบริษัทไม่น้อย ไม่ใช่เฉพาะไทย ทั้งบริษัทญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่เข้าไปลงทุน เพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานเวียดนาม โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตรองเท้า ซึ่งสินค้าเหล่านี้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกขนาดใหญ่ของเวียดนาม
เรื่องความน่าสนใจ นอกจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ ต่อไปเห็นจะเป็นเรื่องของความร่วมมือกันในกรอบของอาเซียน ซึ่งหนีไม่พ้นที่เราจะต้องเข้าไปลงทุนในเวียดนาม จริงๆ ตัวเลขการค้าเป็นตัวเลขอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระดับความน่าสนใจ ทุกวันนี้จนถึงปัจจุบัน ตัวเลขการค้าระหว่างเรากับเวียดนามสูงถึงเกือบ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเราเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสูงมาก แสดงให้เห็นถึงความนิยมของคนเวียดนามที่มีต่อสินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแน่นอนว่านี่เป็นตลาดที่น่าสนใจ
ปูมหลังด้านสังคมวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเวียดนาม ?
อย่างที่เรียนไปแล้ว ตัวเลขทางการค้าของเราถือว่าสูง เราเป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้นที่เป็นคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม ถ้าเราพูดถึงประชาชน ผมคิดว่านี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมที่จะให้คนของเราได้รู้จักกันให้มากขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนไทยเราก็ยังชอบถามนะครับว่า สมัยหนึ่งเราสนับสนุนเวียดนามใต้ เขายังถือสาหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่ผ่านไปแล้ว ก็มองไปข้างหน้าว่า ตอนนี้เราเป็นอาเซียนด้วยกัน เราจะร่วมมือกันได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะในเรื่องของการเมือง เรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ แล้วก็เรื่องสังคมวัฒนธรรม
เรื่องภาษา ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในอาเซียน เราอยากจะให้คนของเราพูดภาษาอังกฤษได้ ตอนนี้เมืองไทยเราตื่นเต้นกันมากในเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้ว คิดว่าภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่พอนะครับสำหรับการทำธุรกิจ หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเวียดนาม การรู้ภาษาเวียดนามเป็นสิ่งจำเป็น บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ต้องมีคนไทยที่รู้ภาษาเวียดนามทำงานด้วย ไม่งั้นจะมีปัญหาในการควบคุมดูแล หรือการจัดการสำนักงาน
การที่รู้ภาษาของกันและกันจะสื่อสารกันง่ายขึ้น มีความใกล้ชิด รู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นการเรียนการสอนภาษาเวียดนามในประเทศไทยมีความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ก็มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่สอนภาษาเวียดนาม ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็มีประมาณ 6 มหาวิทยาลัยที่สอนภาษาไทย ปีหนึ่งก็ผลิตบุคลากรพูดภาษาไทยได้หลายสิบคน
สิ่งที่นักลงทุนพึงรู้ ก่อนเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ?
ควรจะต้องรู้ที่มาที่ไปของประเทศเขาก่อน คือประวัติศาสตร์เขา คนเวียดนามเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเวียดนาม ซึ่งมาจากการที่เขาต้องต่อสู้เพื่อเอกราช และเขาจะพูดถึง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่ต่อสู้กับสหรัฐ เขาจะพูดถึงเรื่องที่เขาต่อสู้กับฝรั่งเศส ต่อสู้กับจีนเมื่อพันปีที่แล้ว ต่อสู้เพื่อการสร้างชาติ เป็นเรื่องที่คนเวียดนามให้ความสำคัญมาก เพราะฉะนั้น ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของเขา คือเรื่องใหญ่ ซึ่งเราต้องเข้าใจเขา
วัฒนธรรมของเขาแต่ละภาค จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งภาษาเวียดนามที่เราคิดว่า เขาน่าจะพูดเหมือนกันทั้งประเทศจริงๆ แล้วไม่เหมือนนะครับ คนภาคเหนือกับภาคใต้ก็พูดภาษาที่มีความแตกต่างกันพอสมควร มีภาษาถิ่น นอกจากนั้น หากจะเข้าไปทำธุรกิจก็ต้องศึกษาเศรษฐกิจของประเทศเขา พื้นฐานเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร เรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องแตกตางกัน
ฉะนั้นจะต้องพิจารณาดูว่า จำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ถัดจากนั้นก็ต้องไปศึกษาตลาดว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นที่นิยมไหม มีช่องทางที่จะจำหน่ายได้มากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปแล้ว ของอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ของไทยเราก็เป็นที่นิยม
เมืองใดที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม
การลงทุนของไทยส่วนใหญ่ขณะนี้ คือจังหวัดภาคใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครโฮจิมินห์และจังหวัดรอบๆ เราคงได้ยินบ่อยๆ จะมีจังหวัด 'บะเหรี่ย-หวุงเต่า บิ่งเซือง ด่งไน' หลักๆ 3-4 จังหวัดนี้ที่มีการลงทุนจากไทยค่อนข้างสูง อย่างที่ ด่งไน มีนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ มีโรงงานที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของซีพีอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น จังหวัดภาคใต้ถือว่ามีศักยภาพ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า มีการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะถนนหนทางและท่าเรือที่มีการลงทุนจากภาครัฐสูง
ในภาคเหนือ การลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ฮานอย ไฮฟอง และจังหวัดรอบๆ ตอนนี้รัฐบาลเวียดนามพยายามจะสนับสนุนให้มีการลงทุนให้มากขึ้น ในบริเวณภาคกลาง โดยศูนย์กลางอยู่ที่นครดานัง แต่ว่าปัจจุบันยังมีการลงทุนค่อนข้างน้อย แต่ว่าประเทศอย่างอาเซียนเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็เริ่มเข้าไปที่ดานังส่วนหนึ่ง จริงๆ แล้วถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์ของไทยเราควรเข้าไปที่นั่นให้มากขึ้น เพราะว่าการคมนาคมเราสามารถเดินทางได้ทางบก เป็นเรื่องที่ทางรัฐจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหากยังมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการผ่านแดน การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์
แต่ปัญหาของภาคกลางอาจจะอยู่ตรงที่ยังไม่ค่อยมีทรัพยากรที่จะใช้ในการผลิตมากนัก เป็นบริเวณที่ยังมีระดับการพัฒนาค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับทางภาคใต้ ฉะนั้น การลงทุนจากต่างประเทศอาจจะยังเข้าไปน้อย แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลเวียดนามพยายามส่งเสริม ภาคกลางคนไทยเราจะรู้จักดี เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีเมืองหลวงโบราณ มีเว้ เมืองฮอยอัน คนไทยรู้จัก แต่ถ้าในแง่ของการผลิตสินค้าหรือว่าการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะมีข้อจำกัด
รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายใดที่จะสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกให้ไทยเราบ้าง ?
คือเรื่องการลงทุนน่ะครับ ในแง่ของสิทธิพิเศษ สมมติว่ามีนักลงทุนจากต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทย เขาก็ไปติดต่อ BOI ก็จะได้สิทธิพิเศษตามกฎหมาย จริงๆ แล้วสิทธิพิเศษเหล่านี้ ทุกคนก็ได้เหมือนๆ กัน ข้อแตกต่างอาจจะมีอยู่ว่า บางอย่าง อย่างเช่น ที่ดิน ก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดที่เขาจะมีนโยบายของเขาเองในระดับหนึ่ง เขาจะได้รับการกระจายอำนาจมา อาจจะสามารถกำหนดมาตรการบางอย่างได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายใหญ่ กฎหมายส่งเสริมการลงทุน
การลงทุนจากต่างประเทศพอเข้าไปแล้ว แต่ละจังหวัดเขาจะมีชอปปิ้งลิสต์ว่า อยากจะได้ธุรกิจประเภทไหนมาลงทุน เขาจะพยายามโฆษณาว่า ขอให้ธุรกิจประเภทนั้นประเภทนี้มาลงทุนที่จังหวัดเขา เขาจะให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่สิทธิพิเศษเหล่านี้ มันก็ไม่ได้มากไปกว่ากฎหมายที่กฎหมายใหญ่กฎหมายกลางกำหนด ส่วนธุรกิจจากประเทศไทยตอนนี้ที่ทางเวียดนามอยากจะส่งเสริมให้เราเข้าไปลงทุน คือเรื่องของการเกษตรและการแปรรูปอาหาร เพราะเขามองว่าเรามีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างก้าวหน้าและมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเทคโนโลยีทางการเกษตรต่างๆ รวมไปถึงการตั้งโรงสี การตั้งไซโล การผลิตอาหารที่เป็นอาหารแปรรูปเหล่านี้
อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เรามีความชำนาญพอสมควร คือเรื่องของการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายบริษัทที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิต เช่น โรงงานอาหารกระป๋อง ผลิตยา เครื่องใช้พลาสติกเหล่านี้
อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายการเติบโตของเวียดนาม
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเวียดนามเองยอมรับ ท่านทูตเวียดนามท่านอธิบายให้ที่สัมมนาฟัง ปัญหาของเขาคือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล ในช่วงที่ผ่านมา เขามีปัญหาหลายอย่าง ที่เป็นปัญหาใหญ่ๆ จะมีอยู่ 3-4 เรื่องด้วยกัน ปัญหาทางเศรษฐกิจ ในเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะว่าเขาเป็นประเทศที่พัฒนาเปลี่ยนรูปแบบจากสังคมนิยมมาสู่การใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดมากขึ้น ฉะนั้นช่วงของการเปลี่ยนผ่านอาจจะยังไม่ครบวงจร ยังมีปัญหาในเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยังคงมีอยู่สูงมาก
ถัดจากนั้นก็เป็นปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการเงินการธนาคารที่ยังมีปัญหา เรื่องของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนามากเกินไปจนอาจเกิดฟองสบู่ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ที่ผ่านมา เขาพยายามแก้ปัญหาเพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2554 อัตราเงินเฟ้อเขา 18 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ปีที่ผ่านมา 2555 เขาก็ออกมาตรการจนฉุดเงินเฟ้อลงมาเหลือแค่ 6 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่ก็ทำให้ธุรกิจต่างๆ เป็นหมื่นๆ แห่งต้องปิดกิจการลงไป เนื่องจากขาดสินเชื่อเป็นมาตรการทางการเงินที่รัฐออกมา
นอกจากนั้น เขาเคยมีปัญหาของอัตราแลกเปลี่ยน เสถียรภาพของค่าเงิน ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็มีการลดค่าเงิน 2-3 ครั้ง แต่ช่วงหลังๆ มานี้ ค่าเงินค่อนข้างเสถียร อาจจะเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่มีมาตรการออกมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินไม่ผันผวนมากนัก จริงๆ แล้วปัญหาพื้นฐานทางการค้าของเขาอีกเรื่อง คือการขาดดุลการค้า 20 ปีติดต่อกัน ปีหนึ่งประมารหมื่นล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเวียดนาม เหตุที่เขาขาดดุลการค้าค่อนข้างสูงเป็นเพราะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งทำให้ปัญหาการขาดดุลการค้าค่อนข้างสูง
แต่ถือว่าที่ผ่านมาค่อนข้างโชคดี เพราะว่าบัญชีเดินสะพัดไม่ติดลบ เนื่องจากเขามีคนเวียดนามที่อยู่ต่างประเทศจำนวนมาก คนเหล่านี้ก็ส่งเงินกลับเข้าประเทศ ส่งเงินกลับมาให้ญาติพี่น้อง ทำให้มีเงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะดอลลาร์ไหลเข้าประเทศ นอกจากนั้น เขาก็มีแรงงานที่ส่งเข้าไปทำงานในต่างประเทศหลายหมื่นคน รายได้จากแรงงานที่ส่งเข้าประเทศ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้บัญชีเดินสะพัดไม่ติดลบ ถ้าอย่างนั้นเขาจะเจอปัญหาทางเศรษฐกิจสูงกว่านี้
ปัญหาเหล่านี้จะมีผลต่อเวียดนาม ในการก้าวเข้าสู่ AEC หรือไม่
คือในเรื่องของการเข้า AEC หรืออีกไม่กี่ปี AEC จะเกิดขึ้น ผมว่ามันไม่ได้มองเป็นอีเวนท์ ไม่เหมือนพวก Y2K ซึ่งถ้าติดเครื่องไม่ทัน วันนั้นแล้วจะมีปัญหา แต่ว่าการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ มันเป็นกระบวนการ เป็น process ซึ่งจริงๆ ก็เริ่มมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว โดยมีการกำหนดขั้นตอนทั้ง 3 เสาหลัก ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เรามีพิมพ์เขียวหรือบลูพรินท์อยู่ว่า จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง
ฉะนั้น ในแง่หนึ่งการต้องปรับแก้กฎหมาย หรือปรับเปลี่ยนกฎระเบียบอะไรต่างๆ ต้องให้สอดคล้องกับบลูพรินท์ เพื่อจะให้เป้าหมายของ AEC เกิดขึ้น เวียดนามทำไปค่อนข้างเยอะ เพราะเขาเป็นประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียว สภาสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในการออกกฎหมาย แก้กฎหมาย ในส่วนนี้เขาทำไปค่อนข้างมาก อาจจะมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ว่าการเตรียมตัวของคน การเตรียมคนเพื่อเข้าสู่ประชาคม ผมคิดว่าบ้านเราตื่นตัวมาก อาจจะมากกว่าเวียดนาม ผมสังเกตดู หลายที่ในไทยรู้สึกว่าเราทำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในโรงเรียน ซึ่งที่เวียดนามยังไม่ค่อยมี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเขาไม่ตื่นตัว แต่เขามองว่าในความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนหนึ่งก็คือการปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐบาลไปตกลงไว้นั่นเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐบาลตกลงว่าอย่างไร ดำเนินการอย่างไร เขา(ประชาชน)ก็ไม่มีข้อขัดข้องอะไร.
+++++++++++++++++
เปิดใจ โง ดึ๊ก ถัง
"ความสัมพันธ์ของเราดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา"
ในมุมมองของนักการทูต ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศอาเซียนในอีกไม่นาน นับเป็นบรรยากาศของการทำงานที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกันกับกรณีของ โง ดึ๊ก ถัง (Ngo Duc Thang) เอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย ที่ระบุว่าตอนนี้เวียดนาม พร้อมเปิดประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน
"สำหรับปัจจุบัน ผมพูดได้ว่า ความสัมพันธ์เราดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยครับ และผมก็หวังว่าเราจะขยายความสัมพันธ์นี้ต่อไปในอนาคต เพราะทั้งสองประเทศมีหลายสิ่งคล้ายๆ กัน... "
มิสเตอร์ถัง เริ่มต้นเล่าถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงนโยบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาว่า หลังจากการปฏิรูปในกลางทศวรรษที่ 1980s เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยพิจารณาได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในเวลา 10 ปี แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เวียดนามได้เผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งด้านหนึ่งมาจากภายในประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งก็มาจากวิกฤติในระดับภูมิภาคและระดับโลก
"แต่สำหรับปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามเริ่มทรงตัว และมีสัญญาณว่าจะดีขึ้นแล้ว โดยเรายังคงทิศทางและนโยบายของรัฐบาล นั่นคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประเทศกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ภายในปี 2020 และเราได้ใช้นโยบายเหล่านี้มาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา"
"ในมุมมองของเรา ทุกจังหวัดในเวียดนามต้องการการพัฒนาทั้งนั้น ส่วนเรื่องระดับการพัฒนา ภาคกลางของเวียดนามจัดว่าค่อนข้างด้อยพัฒนา เมื่อเทียบกับทางเหนือและทางใต้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องพัฒนาภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ เรายังมีเหตุผลทางยุทธศาสตร์ที่ต้องทำแบบนั้น นั่นเพราะภาคกลางของเวียดนาม เป็นจุดปลายของ East-West Economic Corridor (EWEC เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือเส้นทางหมายเลข 9) ซึ่งเชื่อมเวียดนาม ลาว ไทยและพม่าไว้ด้วยกัน"
เมื่อถามถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อตอนปลายปี 2015 ที่ AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเริ่มต้นขึ้น เวียดนามจะได้รับโอกาสอะไรบ้างจาก AEC ท่านทูตถัง อธิบายว่าในส่วนของเวียดนามนั้น มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายนี้เป็นอย่างยิ่ง และเมื่อประเทศสมาชิกรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจเดียวกันแล้ว นั่นย่อมทำให้ทุกๆ ฝ่ายล้วนได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เพราะจะมีตลาดและฐานรองรับการผลิตขนาดใหญ่สำหรับรองรับสินค้า บริการ และแรงงานนั่นเอง
"เรื่องการเปลี่ยนจากการแข่งขัน เป็นการร่วมมือได้อย่างไร ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามนั้น อันที่จริง ต้องมองว่า การแข่งขันเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องแย่นะ โดยเฉพาะการแข่งขันทางการตลาด ส่วนในเรื่องความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เรามีหลายสิ่งที่แบ่งปันกันและร่วมมือกันได้ อย่างแรกคือจะทำอย่างไรเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของการร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอาเซียน ในขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศก็เป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น เราจึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะนำพาประเทศเพื่อนบ้านของเราไปสู่จุดหมายด้วยกัน"
เมื่อพูดถึงนโยบายสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลเวียดนามให้สิทธิพิเศษกับนักลงทุนไทยอย่างไร
"ที่จริงแล้ว โอกาสมีอยู่มากมาย อย่างแรก ประเทศเวียดนามมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยกัน ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 90 ล้านคน ด้านภูมิศาสตร์ ที่ตั้งของประเทศก็ค่อนข้างดี อยู่กลางภูมิภาค มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวเหยียดที่เชื่อมต่อกับเส้นทางเดินเรือสากล ในด้านแรงงาน เราก็มีประชากรที่อายุน้อย ฉลาด และกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันที่รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศ ซึ่งในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายนี้ก็สร้างโอกาสการลงทุนให้แก่บริษัทต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะบริษัทไทย ณ ตอนนี้ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในสิบอันดับประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในเวียดนาม"
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย อธิบายว่า ในเรื่องรูปแบบการลงทุนจากต่างประเทศนั้น จัดว่ามีทุกรูปแบบเลยทีเดียว ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นระหว่างนักธุรกิจชาวเวียดนามกับชาวไทยในแต่ละบริษัทแตกต่างกันไป มีตั้งแต่การลงทุนของต่างชาติ 100 เปอร์เซนต์ เรื่อยไปจนถึงความร่วมมือทางธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์เปอร์เซนต์ กล่าวไม่มีการลงทุน นอกจากนี้ยังมีส่วนของกิจการร่วมค้า (joint venture) ซึ่งขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจนั้นๆว่า ตามกฏหมายจะมีการจำกัดสัดส่วนผู้ถือครองหุ้นเท่าไหร่
แม้ปัจจุบันจะเปิดรับการลงทุนทุกด้าน แต่สำหรับธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามอยากให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากเป็นพิเศษ คือการลงทุนที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ก่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการลงทุนที่ส่งเสริมภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งการลงทุนในแบบนี้จะได้รับมาตรการจูงใจมากกว่า
ในขณะเดียวกัน ท่านทูตยอมรับว่า การลงทุนของนักธุรกิจเวียดนามในไทยยังค่อนข้างน้อย จากสถิติอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่ามีมูลค่าอยู่ราวๆ 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนมากจะเป็นธุรกิจด้านการขนส่ง บริการจัดอาหาร ซึ่งเป็นขนาดธุรกิจไม่ใหญ่นัก ท่านจึงหวังว่าต่อไปรัฐบาลไทยจะหันมาสนใจเรื่องนี้ และเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนเวียดนามมากกว่านี้ พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า
"ความสัมพันธ์เราดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลย และผมก็หวังว่าเราจะขยายความสัมพันธ์นี้ต่อไป อย่างแรก ประชาคมอาเซียนไม่ใช่เรื่องการร่วมตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมไปถึงประชาคมด้านการเมือง ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรมด้วย ฉะนั้น เราจึงมีหลายสิ่งที่แบ่งปันกันได้ และมีหลายสิ่งที่จะต้องทำร่วมกัน เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของประชาคมอาเซียน ผู้นำประเทศของเราได้เห็นพ้องว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะเลื่อนระดับความสัมพันธระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้เซ็นเอกสารฉบับนั้น (การลงนามเลื่อนระดับความสัมพันธ์)"