เมื่อคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทยกล้าจะฝัน

เมื่อคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทยกล้าจะฝัน

ดุสิต จรูญพงษ์ศักดิ์ เขียนถึงการแสดงประจำปีของคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย หรือ Thai Youth Choir - TYC

กาลเวลาผ่านไปรวดเร็วเหมือนฝัน ผู้เขียนคิดว่าเพิ่งไปชมไปฟังการแสดงประจำปีของ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย (Thai Youth Choir หรือ TYC) เมื่อเร็วๆ นี้เอง เผลอไปแพล็บเดียว คอนเสิร์ตครั้งใหม่ของวง ทีวายซี ภายใต้ชื่อ กล้าจะฝัน (Dare to Dream) ก็จะเปิดการแสดง (ครั้งใหญ่) อีกครั้ง ในวันอาทิตย์ 8 กันยายนนี้ เวลา 18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ที่ผู้เขียนวงเล็บว่า การแสดงครั้งนี้เป็น การแสดง (ครั้งใหญ่) เพราะนอกจากจะย้ายจากสถานที่เคยแสดงประจำ คือจากหอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมฯ มาแสดงที่ หอประชุมใหญ่แล้ว โปรแกรมเพลงและการแสดงต่างๆ ก็ ค่อนข้างจะ “ใหญ่” ตามไปด้วย แม้จำนวนนักร้องประสานเสียงในปีนี้ จะหดหายไปบ้าง ตามลักษณะกิจกรรมประเภท “เพราะรักสมัครเล่น”

ปีนี้ จะมีการแสดงครั้งแรกของโลก หรือ เวิลด์ พรีเมียร์ บทเพลง ASEAN Voice in Harmony เป็นการนำบทเพลง 10 ชาติอาเซียน มาเรียบเรียงเป็นบทเพลงร้องประสานโดยเฉพาะ และขับร้องพร้อมกันทั้ง 10 เพลง เป็นครั้งแรก

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแสดงของคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย นอกเหนือจากการสนับสนุนของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยังประกอบด้วย

ศรินทร์ จินตนเสรี - ผู้อำนวยเพลง / ชลัชนัย ซื่อเกียรติขจร - ผู้ช่วยผู้อำนวยเพลงและผู้เรียบเรียงเสียงประสาน / ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ - ผู้ช่วยผู้อำนวยเพลงและนักเปียโน / จินตนา พิสุทธิ์เสรีวงศ์ - นักเปียโนและผู้จัดการวง / ตันติกร เมืองหนองหว้า - ผู้ช่วยผู้อำนวยเพลงและผู้ฝึกสอนด้านเสียงร้อง / วิรุณพันธ์ บุญมี - ออกแบบลีลาประกอบการแสดง / กฤติยา มุสิกุล - ผู้ช่วยผู้อำนวยเพลงและผู้ฝึกสอนด้านเสียงร้อง

จุดเด่นของ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย ผู้เขียนคิดเป็นวงลักษณะ “ทีมชาติ” เพราะคัดเลือกมาจากผู้สนใจทั่วประเทศ นำมาซึ่งคุณภาพและความสามารถของนักร้องที่ได้ผ่านการคัดเลือกมาเป็นอย่างดีแล้วระดับหนึ่ง

ฝึกสอน ควบคุมวง ให้คำแนะนำ โดยนักร้อง นักดนตรี วาทยกร ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นกลุ่มศิลปินที่สนใจและทำงานด้านขับร้องประสานมาอย่างสม่ำเสมอและยาวนาน

บทเพลงที่นำมาขับร้องหลากหลาย ทั้งเพลงไทยและต่างประเทศ ล้วนผ่านการเรียบเรียงให้เหมาะสมกับการขับร้อง ก่อให้เกิดความน่าสนใจในการรับฟัง เป็นการเรียบเรียงออกมาเพื่อการขับร้องประสานเสียงโดยเฉพาะ

ถ้าจะมีประเด็นที่น่าจะ “พัฒนา” ต่อไปได้ของวงทีวายซี เท่าที่ผู้เขียนสดับรับฟังมา อาทิ นอกจากการที่ต้องมาทำกิจกรรมประจำ เหมือนๆ กันทุกปี คือรวมตัวกันประมาณ 5 - 6 เดือนเพื่อฝึกซ้อมและออกแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ประจำปี โดยที่หลายๆ ครั้ง นักร้องก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปทุกปี หรือ ทุกๆ 2-3 ปี ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาวง คล้ายๆ กับต้องมา “เริ่มต้น” กันใหม่เกือบจะทุกปี

หรือจะสร้าง “แรงจูงใจ” อย่างไร ให้นักร้องเข้าร่วมกิจกรรมทั้งการฝึกซ้อมในแต่ละอาทิตย์, การเข้าค่ายใหญ่หลายวันในต่างจังหวัด หรือค่ายรายวัน (Day Camp) ในกรุงเทพฯ อย่างสม่ำเสมอและพร้อมหน้าพร้อมตากันทุกคน

สำหรับผู้เขียนแล้ว “ความหฤหรรษ์” จากการชมและฟังการแสดงของ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย ประกอบด้วย ความสดใสเต็มไปด้วยพลังทางดนตรีของนักร้องหนุ่มสาว บทเพลงขับร้องประสานเสียงที่เรียบเรียงออกมาได้เหมาะสมน่าฟัง เมื่อเทียบกับเพลงร้องประสานเสียงในอดีตที่เคยฟังมา

มีการนำบทเพลงไทยมาเรียบเรียงให้ร้องประสานเสียง โดยนักเรียบเรียงรุ่นใหม่ๆ ที่เข้าใจแนวเพลงร้องประสานเสียง จัดทำได้น่าฟัง ทำให้เพลงไทยไม่สูญหายไปตามกาลเวลาและสมัยนิยม รวมถึงเพลงขับร้องประสานเสียงที่แต่งขึ้นมาใหม่ โดยคีตกวีไทย

แถมด้วยความสนุกสนานกับ “ลีลาท่าทาง” และ “การเต้น” ของนักร้องประสานเสียงประกอบการร้องเพลง ระยะหลังสร้างสรรค์ได้น่า “ชม” มาก ไม่เหมือนการขับร้องประสานเสียงในอดีต หรือในปัจจุบันของนักร้องประสานเสียงบางวง เน้นการขับร้องอย่างเดียว (ออกมายืนตรงร้องเพลงหมู่) ซึ่งดึงดูดเรียกร้องความสนใจผู้ชมผู้ฟังได้น้อยกว่า

คอนเสิร์ต คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย เกือบทุกครั้ง จะเลือกเพลงที่นำมาแสดงเป็นกลุ่ม ๆ ตามลักษณะ “ธีม” หลักของบทเพลง ที่สอดคล้องกับ “ธีม” ใหญ่ของการแสดง ทำให้แต่ละการแสดงมี สีสัน บรรยากาศเฉพาะ ที่น่าสนใจ

“กล้าจะฝัน” (Dare to Dream) เป็นธีมหลัก คอนเสิร์ตประจำปี 2556 คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย เป็นการผสมผสานบทเพลง, เนื้อร้อง, ความหมาย และวัฒนธรรมของนานาประเทศอาเซียน สำหรับการต้อนรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึง ประกอบด้วยบทเพลงในธีมย่อยๆ อีก 4 ธีม

ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมและฟังการแสดงรอบ “พรีวิว” เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยากเก็บมาบอกเล่าความน่าสนใจของคอนเสิร์ตนี้ ทั้งการร้องประสานเสียง, การเรียบเรียงเสียงประสาน, การบรรเลงดนตรีประกอบการขับร้อง, ลีลาประกอบการขับร้องประสานเสียง, การใช้ภาษามือที่นุ่มนวลชมดู และได้สัมผัสกลิ่นอายดนตรีอาเซียนครบทุกประเทศ

บทเพลงใน กลุ่ม Dare to Fly … West ประกอบด้วยเพลงที่เป็นรากเหง้าการขับร้องประสานเสียง เป็นวัฒนธรรมของซีกโลกตะวันตก ทั้งเพลงร้องศาสนา อาทิ Et Misericordie ผลงานของ จอห์น รัตเตอร์ นักแต่งเพลงที่รู้จักกันดีในวงการขับร้องประสานเสียง เพลงนี้ผู้ร้องเดี่ยวร้องสูงถึงตัวโน้ต ที่วงการดนตรีเรียกกันว่า “ไฮ ซี”, เพลงสปิริชัวของคนผิวสี, เพลงลาตินในลักษณะจังหวะแทงโก้, เพลงพื้นบ้านอเมริกันสำหรับเด็ก - Nelly Bly บางช่วงของเพลง เสียงร้องคลอด้วยเสียงอูคูเลเล่ สร้างเสียงเลียนแบบแบนโจ

ถ้าสนใจเสียงร้องของนักร้องชาย ที่มีพลังเสียงร้องอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง ต้องฟังการร้องเดี่ยว บทเพลงรักภาษาสเปน ชื่อ Eres Tu เป็นเพลงที่มีการแปลเนื้อร้องเป็นภาษามือด้วย

ไฮไลท์สำหรับผู้เขียน น่าจะอยู่ในเพลงกลุ่ม Dare to Resound … ASEAN เสน่ห์ของเพลงกลุ่มนี้ อยู่ที่ “สีสันดนตรีอาเซียน” หลายคนคุ้นเคย ยิ่งเมื่อนำมาเรียบเรียงให้ร้องประสานเสียงรูปแบบต่างๆ ทั้งการร้องประสานเสียงโดยไม่มีดนตรีคลอในเพลงของอินโดนิเชีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ มาถึงเพลง กุหลาบปากซัน ของลาว ร้องเดี่ยวชายและหญิง คลอด้วยเสียงคอรัส, บทเพลงจากพม่า ร้องเดี่ยวโดยนักร้องชาย มีเสียงฉิ่งแทรกเข้ามาบางตอน

เมื่อถึงคิวเพลงของไทย เพลงที่นำมาร้องประสานเสียงได้แก่ ลอยกระทง, เพลงรักหนุ่มลูกกรุง เป็นเมดเล่ย์เพลงลุกกรุงสามเพลง ได้แก่ นกขมิ้น, แสนแสบ และฝากรักเอาไว้ในเพลง ผู้ร้องเดี่ยวเสียงมีพลัง ลีลาประกอบเพลงสนุกสนาน

แต่ยิ่งสนุกไปใหญ่ คือ เพลงลำนำลูกทุ่ง เป็นเมดเล่ย์เพลงลูกทุ่ง ได้แก่ แม่แตงร่มใบ, สาวรำวง, หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ, กระแซะเข้ามาสิ, บ้านใกล้เรือนเคียง และชวนน้องแต่งงาน

ผู้เขียนชอบใจการเรียบเรียงเสียงร้องและดนตรีของ ชลัชนัย ซื่อเกียรติขจร โดยเฉพาะภาคดนตรี ที่ใช้เสียงหีบเพลงชักเอคคอร์เดียน สร้างสีสันและบรรยากาศเพลงลูกทุ่งได้ลงตัว นักร้องทั้งร้องเดี่ยวและร้องประสานเสียง ล้วนดูจะสนุกและมีความสุขกับบทเพลงนี้

รวมถึงกลุ่มผู้ชมผู้ฟังจำนวนมาก เมื่อครั้งที่คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย นำเพลงนี้ไปแสดงที่ โรงละครจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อหลายเดือนที่แล้ว

หลายครั้ง การแสดงดนตรี หรือ กิจกรรมด้านศิลปะการแสดงในบ้านเรา แม้จะใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย จนหมดหน้าตัก ด้วยการให้ “เข้าชมฟรี” ก็ยังมิอาจสัมฤทธิ์ผลในด้านการเพิ่มจำนวนผู้ชมผู้ฟังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

อาจด้วยการแสดงดนตรีบางอย่าง บางแนวดนตรี เป็นเรื่องที่สามัญชน รากหญ้า ชาวบ้านทั่วไปจะ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง ได้ไม่ง่ายนัก เพราะเมื่อไปชมไปฟังแล้ว แทนที่จะมีความสุขกับการแสดง อาจเป็นความทุกข์ หรือนั่งหลับได้

แต่สำหรับคอนเสิร์ต “กล้าจะฝัน” ของ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย มีหลายช่วง หลายตอนของการแสดง ที่ผู้ชมผู้ฟังทุกกลุ่ม ทุกเหล่า สามารถเปิดรับและมีความสุขกับเสียงเพลงได้อย่างง่ายดาย

ของ “ฟรี” และ “ดี” ก็ยัง (พอ) มีนะครับ.