มช.พบสาหร่ายชนิดใหม่ของโลก5ชนิด

มช.พบสาหร่ายชนิดใหม่ของโลก5ชนิด

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พบสาหร่ายยูกลีนอยด์ชนิดใหม่ของโลก 5 ชนิด มีวิตามินบี12 สารต้านอนุมูลอิสระ

สร้างไขมันค่อนข้างมาก เร่งวิจัยต่อยอดนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านพลังงาน ทำยา เครื่องสำอางค์ อาหารเสริม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบสาหร่ายยูกลีนอยด์ชนิดใหม่ของโลก 5 ชนิด ซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยในระดับปริญญาเอกของ ดร.กฤษณา ดวงจันทร์ โดยมี รศ.ดร.ยุวดี พีรพรพิศาล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Prof. Dr. Konrad Wolowski แห่ง Institute of Botany, Polish Academy of Science เมือง Krakow สาธารณรัฐโปแลนด์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ซึ่งการค้นพบครั้งนี้สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างต่อไป

ดร.กฤษณา ดวงจันทร์ ระบุว่า งานวิจัยในครั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างน้ำในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพไม่ดีในเขตภาคเหนือตอนบน จำนวน 31 แหล่ง พบสาหร่ายยูกลีนอยด์ 402 ชนิด และพบว่าเป็นชนิดใหม่ที่ยังไม่มีที่ใดในโลกเคยพบมาก่อน 5 ชนิด คือ Strombomonas starmachii Duangjan & Wolowski, Strombomonas chiangmaiensis Duangjan, Trachelomonas peerapornpisalii Duangjan & Wolowski, Trachelomonas thailandicus Duangjan & Wolowski และ Trachelomonas reticulato-spinifera Duangjan ซึ่งสาหร่ายยูกลีนอยด์นี้ ถือเป็นสาหร่ายที่น่าสนใจ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ โดยมีรายงานว่าสาหร่ายหลายชนิดในกลุ่มนี้ สร้างไขมันค่อนข้างมาก มีวิตามินบี 12 มีรงควัตถุที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ขณะนี้ทีงานวิจัยจึงได้ทำการแยกและเพาะเลี้ยงสาหร่ายกลุ่มดังกล่าวจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อนำไปวิจัยถึงสารสำคัญต่างๆ ซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ทั้งทางด้านพลังงาน, ยา, เครื่องสำอาง และอาหารเสริมต่างๆต่อไป

สำหรับสาหร่ายยูกลีนอยด์เป็นสาหร่ายเซลล์เดียว มีแฟลกเจลลัม หรือ หนวด 1 เส้นใช้ในการเคลื่อนที่ บางชนิดมีเกราะที่เรียกว่า Lorica หุ้มอยู่ โดยทั่วไปพบในน้ำเสียหรือค่อนข้างเสีย เมื่อเจริญมากๆ จะเห็นผิวน้ำเป็นสีเขียวอ่อน บางครั้งเห็นเป็นสีส้ม หรือน้ำตาล ขึ้นอยู่กับชนิดที่เจริญ ปกติใช้เป็นดัชนีทางชีวภาพบ่งบอกคุณภาพน้ำไม่ดีในแต่ละระดับ