ชีวิตดีมี “ไหม”

ชีวิตดีมี “ไหม”

ใยไหมมีคุณสมบัติมากกว่าที่หลายคนคิด ใช้ในวงการแพทย์ก็ได้ เพิ่มความสวยความงามก็ดี

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเลี้ยงหม่อนไหม ถือเป็นภูมิปัญญาไทยมาช้านาน ที่ผ่านมายังคงยึดติดอยู่กับการใช้ประโยชน์แบบเดิมๆ คือ การทอผ้า ทำผลิตภัณฑ์ผ้าไหม เป็นต้น ล่าสุดมีการนำองค์ความรู้เรื่องไหม มาคิดค้นจนก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ผลิตแผ่นใยไหมร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมไม่ทำลายวงจรชีวิตหนอนไหม เพิ่มพูนรายได้ให้กับเกษตรกร

ไหมดีเพราะมีหม่อน

อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีมากในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ต้นหม่อนผลิดอกออกใบให้หนอนไหมได้อิ่มหนำสำราญ เนื่องจากใบหม่อนมีปริมาณโปรตีน 22.60% คาร์โบไฮเดรต 42.25% และไขมัน 4.57% ใบหม่อนจึงเป็นอาหารแสนวิเศษสำหรับหนอนไหม และหนอนไหมเองก็มีความสามารถในการเปลี่ยนโปรตีนจากใบหม่อนให้กลายเป็นเส้นใยไหมได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ เรียกได้ว่าใบหม่อน 108-120 กิโลกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นรังไหมได้ประมาณ 6-7 กิโลกรัม เมื่อเราทำการสาวเส้นไหมก็จะได้เส้นใหม่ประมาณ 1 กิโลกรัม 

ช่วงหลังๆ นี้ มนุษย์เราคิดค้นผลิตภัณฑ์โปรตีน ที่ผลิตมาจากรังไหมและเส้นไหม เช่น ผงไหมจากกาวไหม เรียกว่า ผงไหมซิริซิน (Siricin) ซึ่งมีมอยส์เจอไรเซอร์สูง ให้ความชุ่มชื้นถึง 300 เท่า ส่วนผงไหมจากเส้นไหม เรียกว่า ผงไหมไฟโบรอิน (Fibroin) ในผงไหมมีกรดอะมิโน 18 ชนิด คล้ายกับที่พบในร่างกายของมนุษย์ จึงมีการนำโปรตีนจากรังไหมไปใช้ในด้านอาหารและการแพทย์ด้วย 

นอกจากนี้ยังพบว่า ผงไหมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกำจัดจุลินทรีย์บางชนิด จึงช่วยลดอาการอักเสบ และปัญหาผิวหนังต่าง ๆ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ที่ซึมซาบสู่ผิวมนุษย์ ช่วยบำรุงรักษา และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ดังนั้นใยไหมจึงมีคุณสมบัติมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะใช้ในวงการแพทย์ก็ได้ เพิ่มความสวยความงามก็ดี

ไหมกับมูลค่าเพิ่ม

จากการคิดค้นผลงานทางด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งเข้าประกวด นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จึงไปปรึกษากับ จินนาลักษณ์ มิราเคิล ออฟสา ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษจากใยพืช ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปางห้า ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยผลิตกระดาษสาทำมือส่งออกมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดเปิดโรงงานให้เป็นศูนย์ศึกษาการเรียนรู้และผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนจนได้รับรางวัล "วิสาหกิจชุมชนยอดเยี่ยม" ของจังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2558

จินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล กับอีกตำแหน่งคือ ผู้บริหารฝ่ายผลิต บริษัท ซิลค์แบรนด์ จำกัด เป็นผู้ริเริ่มในการนำองค์ความรู้ในการเลี้ยงไหมด้วยวิธีใหม่ นำไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงไหมของวิสาหกิจชุมชนจินนาลักษณ์ เพื่อผลิตเส้นใยไหมทองคำ เล่าว่า

“เราลงพื้นที่ไปกับนักศึกษา ใช้เวลาอยู่หลายปี กว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้จะจะออกมา พอเราทำแผ่นไหมได้ก็ต้องทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อสร้างแบรนด์ ช่วยให้น้องๆ ส่งผลงานเข้าประกวด เพราะผลงานวิจัยนี้จะต้องมีประโยชน์จริงๆ ต้องนำเสนอว่ามีประโยชน์ยังไง มีคนซื้อจริงไหม เป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ “ซิลค์” ก็เลยไปเป็นนอร์มินีในการรับซื้อน้องๆ พอผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สุดยอดนวัตกรรมในปี 2556 รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ก็คิดว่าจะหยุดแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในวงการเครื่องสำอาง และไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าไหมคืออะไร ก่อนที่น้องๆ จะมาปรึกษา

หลังจากลงพื้นที่เริ่มรู้จัก เริ่มศึกษาภูมิปัญญาของไหมคืออะไร จึงรู้ว่ากว่าจะได้รังไหมมานี่มันยาก จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากคุณตา คุณยาย ปีหนึ่งเลี้ยงไหม ในการสาวเส้นชาวบ้านต้องไปตัดฟืนในป่า ซึ่งใช้ฟืนเยอะมาก ดังนั้นข้อดีก็คือกระบวนการผลิตแผ่นไหมเราไม่ต้องต้มรังไหม ในการสาวเส้น 5 วัน 5 คืนอีกแล้ว

ชาวบ้านเล่าว่าตอนนั้นร้อนก็จำเป็นต้องอยู่ เพราะมันจำเป็นต้องสาวเส้นตลอดเวลา ถ้าใครจะหยุดก็ต้องมีคนมาเปลี่ยนมือ ไม่งั้นเส้นขาดขายไม่ได้ พอเปลี่ยนวิธีผลิตชาวบ้านไม่ต้องไปหาฟืนจำนวนเยอะๆ ไม่ต้องอยู่หน้าเตาฟืน 5 วัน รายได้จากการขายรังไหม ขายเป็นเส้นทั้งปีได้เงินไม่เกิน 3 พันบาท ทอผ้าหลายเดือนกว่าจะได้ 1 ผืน และภูมิปัญญานี้ก็มีแต่คนอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ยังทำอยู่ และเหลืออยู่ไม่กี่ครัวเรือนที่ยังคงรักษาไว้ เพราะเขายังอยากมีรายได้เสริมอยู่”

พวกเขาสามารถคิดค้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของหนอนไหม เพราะตามธรรมชาติหนอนไหมตัวน้อยหลังจากกินใบหม่อนอิ่มแล้ว ก็จะนอนหลับจนเจริญเติบโตในวัยประมาณ 28 วัน ลำตัวเริ่มใส มองเห็นเส้นไหมทองคำอยู่ภายใน แสดงว่าเขาพร้อมที่จะเจริญเติบโตกลายเป็นดักแด้ก็จะเริ่มปล่อยใยไหมออกมาเพื่อสร้างรัง

แต่แทนที่จะให้หนอนไหมสร้างรังใหม่พันรอบตัวในแบบเดิมๆ เหล่าบรรดานักเลี้ยงใหม่เจ้าเก่าผู้มีความชำนาญการเลี้ยงไหมมาทั้งชีวิต ทำการคัดเลือกหนอนไหมที่สมบูรณ์ ทำความสะอาดเจ้าหนอนไหมประมาณ 300-500 ตัว แล้วนำไปวางบนเฟรมไม้ขึงตาข่ายผิวเรียบ เพื่อให้หนอนไหมมีอิสระในการเคลื่อนที่ และเริ่มต้น “ถักทอ” แผ่นใยไหมขึ้นมาตามธรรมชาติ จึงได้แผ่นใยไหมออกมาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับผลงานกระดาษสา

ทว่าผู้เลี้ยงไหมต้องดูแลควบคุมการถักทอนั้นอย่างใกล้ชิด คอยดูดซับของเสียที่ตัวหนอนไหมขับถ่ายออกมาเพื่อให้ได้แผ่นใยไหมที่สะอาด เฝ้าเลี้ยงดูกันตลอดระยะเวลา 72 ชั่วโมง เพื่อจะให้ได้แผ่นใยไหมทองคำธรรมชาติที่สมบูรณ์

จากนั้นหนอนไหมทั้งหมดถูกนำเข้าสู่รังอนุบาลเพื่อให้ความอบอุ่น รอเวลาให้ตัวหนอนเจริญเติบโตจนกลายเป็นผีเสื้อที่แสนสวย โบยบินสู่โลกกว้างต่อไป วิธีการแบบนี้ไม่ผ่านการต้ม ดังนั้นโปรตีนธรรมชาติจากตัวไหมจะยังติดแน่นอยู่กับใยไหมทุกเส้น ซึ่งเส้นไหมที่ได้จากการทอแบบอื่นไม่สามารถทำได้ และที่สำคัญวิธีนี้ยังได้ผีเสื้อตัวน้อยๆอีกหลายพันหลายหมื่นตัว

จินนาลักษณ์ สรุปว่าจากที่ต้องการช่วยเหลือน้องๆ ราชภัฏเชียงรายทำงานวิจัย กลายเป็นแรงบันดาลใจที่จะช่วยเหลือคุณตาคุณยายผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตแผ่นไหมจินนาลักษณ์เรียบร้อยแล้ว มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 อำเภอ คืออำเภอเมืองเวียงเชียงรุ้ง อำเภอป่าแดด อำเภอเวียงชัย อำเภอเชียงแสน และอำเภอดอกคำใต้ (จังหวัดพะเยา) สมาชิกทั้งหมด 100 กว่าครัวเรือน เธอจึงจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับคุณตาคุณยาย

อาจารย์อรวรรณ สุวรรณทอง อาจารย์และนักวิจัย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวเสริมว่า เธอเองทำวิจัยเกี่ยวกับวัสดุปิดแผล ที่ทำจากโพลิเมอร์ที่มาจากธรรมชาติ ตัวไหมก็เป็นโพลิเมอร์ที่มาจากธรรมชาติอย่างหนึ่ง เราก็นำมาประยุกต์เป็นวัสดุปิดแผล เพราะตัวไหมเองมีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง อย่างแรกไม่เป็นพิษแน่นอนเพราะเป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีฤทธิ์ในเรื่องต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบพอเอาไปใช้ในด้านเครื่องสำอางก็จะมีคุณสมบัติช่วยลดสิวอักเสบได้ ทำให้ผิวกระจ่างใสลดริ้วรอย คุณสมบัติของรังไหมจะมีงานวิจัยจากต่างประเทศออกมาเยอะมาก รวมทั้งสนับสนุนในการเจริญเติบโตของเซลล์ในกรณีนำมาทำเป็นวัสดุปิดแผล ทำให้แผลสมานได้เร็ว

“โปรตีนไหมมีโมเลกุลใกล้เคียงกับเซลล์ผิวมนุษย์ เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง มีกรดอะมิโน 18 ชนิด มีคุณสมบัติคล้ายกาวเชื่อมเซลล์ผิว เคลือบใบหน้าให้ปลอดภัยจากรังสี UVA และ UVB ในทางการแพทย์มีการใช้แผ่นใยไหมช่วยในการสมานแผล สร้างเนื้อเยื่อให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นประโยชน์มากในการนำมาใช้ช่วยฟื้นฟู และเพิ่มเซลล์ผิวให้แข็งแรง” อาจารย์นักวิจัยยืนยันว่า ใยไหมทองคำนั้นมีคุณประโยชน์ต่อผิวพรรณด้านความงามอย่างแท้จริง

ลดา อดุลตระกูล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทซิลแบรนด์ อีกคนหนึ่งที่มั่นใจในผลิตภัณฑ์จากใยไหมทองคำ เล่าว่าประทับใจทั้งสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ และเรื่องราวของไหม แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับคุณตาคุณยายอีกด้วย

ลดาเล่าถึงมาร์กหน้าที่ทำจากแผ่นใยไหมทองคำว่า การมาร์กหน้าช่วยบำรุงผิวพรรณล้ำลึกกว่าทาครีมบำรุงทั่วไป แผ่นมาร์กทั่วไปเป็นกระดาษสังเคราะห์ชุบเซรั่ม มาร์กเสร็จแล้วก็ทิ้งไป แต่แผ่นมาร์กจากใยไหมเวลาใช้ต้องชุบน้ำร้อนก่อน เพื่อให้เซริซินในไหมละลายออกมาสู่ผิวหน้า มาร์กเสร็จเก็บแผ่นใยไหมไว้มาร์กครั้งต่อๆ ไป ท้ายสุดก็ไม่ต้องทิ้ง นำมาขัดตัวเพื่อให้ผิวพรรณขาวเนียนได้อีก

เธอเองลองใช้แล้วรู้สึกว่ารูขุมขนปิด กระชับ เล็กลง ผิวกระจ่างใส โพสต์ลงเฟสบุ๊คกับไอจีสองเดือน ขายไป 3 พันชิ้น ผลตอบรับดีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เธอว่าเพื่อนคุณแม่มีปานดำที่ติดมาตั้งแต่กำเนิด ใช้ได้ 2 แผ่น ปานดำจางลง สิวอักเสบก็หาย ทางการแพทย์นำไปสมานแผล รักษาผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีกรดอามิโน 18 ชนิด มีเมือกช่วยเคลือบผิวป้องกันแสงยูวี ผู้ชายตีกอล์ฟหน้าไม่ไหม้แน่นอน อัตราการแพ้ 0-1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับใครที่แพ้โปรตีน 

ปัจจุบันแผ่นมาร์กนี้ขายในเฟสบุค ไอจี และมีขายในโรงงานจินนาลักษณ์ สนามบินเชียงราย และสนามบินเชียงใหม่ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอธิบายว่า แบรนด์ CEILK มาจากคำว่า CEI เป็นโค้ดของจังหวัดเชียงราย ต้องการบอกให้ทราบที่มาว่า เป็นแบรนด์จากจังหวัดเชียงราย

“เราอยากให้เป็นโปรดักท์ของคนไทย เป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวของโลก ที่น้องๆ ชาวเชียงรายนำไปแข่งขันในงานนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สุดยอดนวัตกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์โลก ปี 2558 กลับมา ซึ่งเป็นผลงานที่เราภูมิใจ ชาวต่างชาติติดต่อเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ แต่ทางบริษัทซิลค์ แบรนด์ จำกัด เล็งเห็นว่าการผลิตเส้นใยไหมนี้เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรไทยในการผลิตแผ่นใยไหมเพื่อคุณประโยชน์ด้านความงาม แทนการนำรังไหมไปต้มเพื่อสาวไหม และทอผ้าสวมใส่เป็นเครื่องนุ่งห่มเพียงอย่างเดียวแบบในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งยังช่วยกระจายรายได้ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากเดิมที่ชาวบ้านเคยมีรายได้จากการทำเกษตร หรือการสาวไหมทอผ้าประมาณเดือนละ 1,500 บาท ต่อคน เมื่อเปลี่ยนมาผลิตเส้นใยไหม ทำให้มีรายได้มากขึ้นเป็นคนละกว่า 10,000 บาท ด้วยการผลิตแบบแฮนด์เมด ไม่ใช้เครื่องจักรและสารเคมี”

เพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตใยไหมไทยให้เติบโตในตลาดเครื่องสำอางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาทำสัญญากับบริษัทเอกชนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว แอฟริกาใต้ เพื่อรับซื้อผลิตภัณฑ์จากใยไหมออกไปสู่ตลาดโลก

ชีวิตดีเพราะมีไหม

“ยายเกิดที่เมืองอุบลฯ แต่มาโตที่เมืองอุดรฯ เรียนถึงชั้นป.4 พ่อแม่ก็พาอพยพหนีความแห้งแล้งนั่งรถไฟจากอุดรฯมาลงที่ลำปาง แล้วนั่งรถต่อมาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดเชียงราย แล้วก็มาโตที่เชียงราย ยายบุกบั่นมาด้วยลำแข้งแท้ๆ รับจ้างทำไร่ ทำนา ถางที่ปลูกพริก ปลูกมะเขือเอาไปแลกข้าว คิดอยู่ตลอดเวลาเลยเลยว่า ทำไมเราถึงอดอยาก ทำไมเราถึงจนอย่างนี้....” เสียงเล่ามีจังหวะคล้ายกำลังมองย้อนถึงภาพอดีตที่ผ่านมาอย่างช้าๆ

พันธ์ บุญสิงห์ วันนี้อายุ 64 ปี กลายเป็นสมาชิกชาวอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย เธอได้เล่าต่อไปว่า ขณะยังเป็นสาวรุ่นได้พบรักและแต่งงานกับหนุ่มอุดรฯ คนบ้านเดียวกัน ทว่าอพยพมาอยู่ต่างหมู่บ้านในจังหวัดเชียงราย ช่วยกันทำมาหากิน สำหรับชาวอีสานแม้จะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไหน ยังคงดำเนินวิถีชีวิตที่คุ้นเคย อย่างเช่นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หมู่บ้านนี้จึงปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม อาชีพหลักคือทำนาทำไร่ ยายพันธ์เคยเก็บใบหม่อนเลี้ยงไหมเมื่อสมัยเป็นเด็กอยู่ที่อุดรฯ ก่อนหน้านี้ทอผ้าไหมเก็บไว้นุ่งห่มเอง และทอผ้าไหมเป็นจีวรนำไปถวายพระบ้าง ขายไหมเส้นบ้าง ถือว่ารายได้ไม่มากเท่าไหร่

จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบเดิมๆ พอมีการทดลองเลี้ยงไหมแบบใหม่ ต้องดูแลหนอนไหมอย่างดี วิธีการผลิตยากลำบากกว่าเก่าเพราะต้องอดหลับอดนอน สมาชิกในกลุ่มหลายคนท้อแท้ออกจากกลุ่มไป สุดท้ายก็ต้องกลับเข้ามาใหม่เพราะรายได้นั้นดีกว่าที่เคยเป็น

ยายพันธ์เล่าว่า ฤดูร้อนไหมจะทอออกมาเป็นสีทองสุกปลั่งสวยงาม หากเป็นฤดูหนาวหนอนไหมจะไม่ค่อยถักทอเส้นใย ธรรมชาติของหนอนไหมเวลากลางวันกินอาหารจนอิ่มและถักทอเส้นใยในเวลากลางคืน ห้ามเปิดไฟ ถ้าเปิดหนอนไหมก็จะไม่ทำงาน เวลาดูแลหนอนไหมต้องใช้ไฟฉายส่องดูว่าหนอนเดินตกเฟรมหรือไม่ หนอนอุจจาระออกมาก็ต้องใช้กระดาษทิชชูเช็ดออก เป็นต้น

“ทำตอนแรกๆ ง่วงนอนก็หลับไปเลยทั้งยายทั้งหลาน หนอนเดินตกเฟรมเดินยั้วเยี้ยเต็มบ้านไปหมด ตอนหลังก็เลยบอกหลานว่าช่วยกันดูหน่อยห้ามหลับ ถ้ายายขายได้ตังค์จะซื้อโน๊ตบุ๊คให้ เป็นกุศโลบายให้หลานมาช่วยงานเพราะหนอนไหมจะทอเส้น 3 วัน 3 คืน เราก็ไม่ได้หลับ 3 วัน 3 คืน จากนั้นหนอนก็จะกลายเป็นดักแด้ เริ่มมีปีกกลายเป็นผีเสื้อ”

วิธีเลี้ยงหนอนไหมของยายก็คือ นำตัวหนอนใส่ไว้ในเฟรม 3-4 โมง(200-300 ตัว) 2-3 ทุ่มตัวหนอนจะวิ่งไปมาถ่ายมูลออกมา ยายต้องคอยเอาทิชชูเช็ดออก คืนหนึ่งได้มูลเต็มกระป๋องสีใบใหญ่ เพราะยายทำครั้งละ 100 เฟรมวางไว้เรียงรายเต็มบ้าน ลงทุนซื้อตัวอ่อนของหนอนไหม 300 บาท ได้เงิน 1,200 บาท ต่อเฟรม (กิโลกรัมละ 100 บาท ) ครั้งแรกได้เฟรมละ 80 บาท เยอะสุดหน้าร้อน คืนเดียวก็ได้เต็มเฟรมแล้วประมาณ 200-300 เฟรม ได้เงิน 2-3 หมื่น หน้าหนาวทอได้น้อยสุด ส่งไหมล็อตหนึ่งอย่างน้อยได้ 5,000-6,000 บาท

วันนี้ยายทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้คำปรึกษาผู้ที่สนใจปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเฟรมแบบนี้ที่ ตำบลป่าแดด ตำบลดอกคำใต้ หนอนกินใบหม่อน 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น หากได้แผ่นไหมตามที่ต้องการแล้วก็เปลี่ยนเฟรมแผ่นใหม่ลงไป ขายตัว ขายแผ่นไหม ถึงเวลาหนอนจะปล่อยใยก็ต้องปล่อย ต้องทำความสะอาดบ้าน เวลาไหมเดินตกเฟรมเท้าจะได้มีเปื้อนฝุ่น ของในบ้านทุกอย่างเก็บไปให้หมดเกลี้ยง ห้ามทานอาหารในบ้าน กินเหล้า สูบบุหรี่ห้ามเข้ามาบริเวณนี้

จากการเลี้ยงไหมเป็นงานอดิเรกจนกลายเป็นรายได้หลัก มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30 เท่า ยายพันธ์ว่าก็ไม่เห็นมีอะไรยาก เก็บใบหม่อนสะอาด ตอนหมอกจางไปเพราะไอแดด ถ้าใบหม่อนเปียกชื้นหนอนกินแล้วท้องอืด ถ่ายมูลเต็มไปหมด โปรดสังเกตเวลาฝนตกหนอนไหมจะไม่กินใบหม่อน ชีวิตทุกวันนี้ไม่เป็นหนี้แถมยังมีที่นา 20 ไร่ ยายว่าชีวิตขยันไม่เกี่ยงงานไม่มีวันอดตาย

ด้าน จวง เวียงบาน นักเลี้ยงไหมวัย 61 ปี จากจังหวัดกาฬสินธุ์มาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ยึดอาชีพทำไร่ทำนา แม่พาเลี้ยงไหมตั้งแต่ 12 ขวบ ทอผ้าไหม ตัดเสื้อ ขายบ้างใส่เองบ้าง เวลามีงานจังหวัดก็เอาสินค้าออกไปขาย บางทีก็ขายไม่ออกจึงยึดเป็นอาชีพหลักไม่ได้

“เราทำนาทำสวนเป็นรายได้หลักแต่ตอนนี้เรามาจับกลุ่มกันทำไหม ตอนแรกชวนๆ กันก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง ทำแล้วใครจะมารับซื้อ พอเขาให้อุปกรณ์มาก็เลยลองทำดู ถือว่าชีวิตเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันนะ แต่ก่อนได้เงิน 5 -6 พัน ตอนนี้ได้เงินเป็นหมื่น พูดเล่นๆ กันว่าไม่ต้องทำนาแล้วมาทำอันนี้ดีกว่า แต่ก็พูดเล่นๆ ยังไงเรายังต้องทำนา ก็ทำมาได้ 4 ปีกว่าแล้ว ตราบใดที่ยังมีใบหม่อน เราก็จะมีรายได้ ช่วงนี้แล้งมากๆ ใบหม่อนไม่ค่อยมี เลี้ยงหนอนไหมลำบากหน่อย”

ยายจวงว่าคนที่อยู่ในอาชีพนี้ต้องมีคุณสมบัติ ใจเย็น ใจร้อนทำไม่ได้ และต้องมีใจรัก ทำด้วยความสุข ทะนุถนอม เธอเปิดเพลงให้หนอนฟัง หนอนจะได้มีความสุขผลิตเส้นใยเยอะๆ เพราะได้ประสบการณ์จากการเลี้ยงจิ้งหรีด เวลาเปิดเพลงจิ้งหรีดกินอาหารได้เยอะกว่าปกติ ก็เลยเอามาเปิดเพลงให้น้องหนอนฟังบ้าง

ถามคุณตาคุณยายว่าไหนๆ ก็ผลิตไหมเพื่อความงามของคนอื่นแล้ว แบ่งเก็บไว้เพื่อบำรุงผิวหน้าของตัวเองบ้างไหม? คุณยายยิ้มจนหน้าย่น พลางตอบว่า ไม่ขายไปให้หมด เพราะยายอยากได้เงินมากกว่า ตอบเสร็จพลันแย้มยิ้มด้วยใบหน้าเปี่ยมไปด้วยความสุข