ทำบุญออนไลน์ เรื่องง่ายที่ปลายนิ้ว

ทำบุญออนไลน์ เรื่องง่ายที่ปลายนิ้ว

เมื่อพฤติกรรมแปรผันไปตามเทคโนโลยี ทำบุญแบบนี้จึงมาแรงกว่าวิธีไหน

ถ้าคุณเคยพบข้อความในทำนองต่อไปนี้....

สั่งสมบุญได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยระบบบริจาคออนไลน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ท สมัครสมาชิกเพื่อใช้งานเข้าไปที่เว็บไซต์…

ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญกับมูลนิธิ xxxเพียงแค่คลิ๊กแบนเนอร์โฆษณา ทุกบาท ทุกสตางค์จะได้รับการสมทบทุนจากผู้ร่วมสนับสนุนอีก1เท่า

โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ xxxธนาคารxxxทุกเงินบริจาค ต่อชีวิตคนยากไร้ได้

ท่านสามารถบริจาคได้ในรูปของเงินสด บัตรเครดิต หรือเช็ค ขีดคร่อม A/C PAYEE ONLYสั่งจ่ายชื่อบัญชี…xxxพร้อมดาวน์โหลดแบบฟอร์มขอรับการลดหย่อนภาษีได้ที่….

ไม่ต้องแปลกใจเพราะนี่คือยุคสมัยใหม่ของการทำบุญ

 

บุญแรง บนออนไลน์

จะด้วยเทคโนโลยีที่ครอบคลุมผู้ใช้มากขึ้น หรือจะเป็นพฤติกรรมใหม่ในโลกปัจจุบันก็ตามที…หากไม่ได้มองในแง่ลบอย่างเดียว ดูเหมือนพฤติกรรมการทำบุญออนไลน์ ซึ่งหมายถึงการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารปลายทาง การบริจาคสิ่งของผ่านโซเชียลมีเดีย กระทั่งการคลิกไลค์ กดแชร์เนื้อหาที่ว่าด้วยการร่วมสมทบทุนทำบุญกำลังเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยมากขึ้น

แน่นอนว่า ในแง่หนึ่งนี่คือการเปิดช่องให้มิจฉาชีพหรือขบวนแสวงหาผลประโยชน์จากความศรัทธาของผู้คน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ช่องทางการทำบุญออนไลน์ลดน้อยลง กลับกันด้วยซ้ำที่เมื่อครั้งเกิดปัญหาเร่งด่วน เช่น ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ โอกาสสำคัญ ช่องทางที่ว่ามีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าช่องทางไหน

“บางทีการทำบุญอาจไม่ได้มาในรูปของการบริจาคเงินเสมอไป ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างลอยกระทง เข้าพรรษา บางเว็บมีตักบาตร เวียนเทียน หรือลอยกระทงออนไลน์ เราก็ร่วมด้วย มันไม่แน่ใจหรอกว่า จะได้บุญจริงหรือไม่ แต่ก็พร้อมจะกดร่วมกิจกรรมด้วยเพราะความอยากทำ มันสบายใจกว่าไม่ทำอะไรเลย” หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ทำบุญและร่วมกิจกรรมทางศาสนาออนไลน์ให้ความเห็น

ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(ระดับอุดมศึกษา) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการทำบุญออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ทำการสำรวจ จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,173 คน ว่า ในวาระโอกาสสำคัญ เช่น วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ คนไทยได้เปลี่ยนพฤติกรรมทำบุญให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักวิจัยฯ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.71 เคยทำบุญบริจาคเงิน โดยใช้วิธีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร มีเพียงร้อยละ 35.29 ที่ยังไม่เคย 

ขณะที่เมื่อจำแนกวิธีการทำบุญจะพบว่ามีร้อยละ 47.57ทำธุรกรรมการเงินโดยใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตส่งไปยังที่หมาย โดยคนกลุ่มนี้มักหาข้อมูลและโอนเงินไปยังรายละเอียดที่ระบุจากเว็ปไซต์องค์กรหรือหน่วยงานที่รับบริจาคนั้นๆ โดยตรง

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.84 ยังระบุว่า ตัวเองเคยได้รับหลักฐานยืนยันการทำบุญบริจาคเงินทางออนไลน์ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบอนุโมทนาบัตร ที่ตนเองทำบุญบริจาคเงินทุกครั้ง ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งที่พอจะเชื่อได้ว่า เงินที่ตัวเองบริจาคไปถึงมือผู้รับจริงๆ

“เมื่อพฤติกรรมสังคมมันเปลี่ยน ระบบการบริจาคเงินจึงเปลี่ยน จริงอยู่ว่า แม้จะมีความกังวลกับเรื่องมิจฉาชีพที่แอบแฝงมากับการรับบริจาค แต่หลายคนก็ยังเห็นว่า ช่องทางออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมอื่นๆ แบบไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้มากกว่าจริงๆ และความสะดวกสบายนี้ยังอธิบายได้ถึงการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น การการระดมทุนเพื่อกิจกรรมทางสังคมแบบ คราวด์ฟันดิง (Crowd funding)ซึ่งเติบโตมาจากการความนิยมของฟินเทค (Financial Technology)”ที่ใช้เทคโนโลยีจัดการแทนมนุษย์ แม้กระทั่งเรื่องการเงินที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือสูง” ดร.ศรีศักดิ์ บอก

 

 อินไซด์ ของผู้ให้

อธิมนต์ คูทอง พนักงานบริษัทเอกชน ถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวว่า ในโอกาสสำคัญเช่น วันเกิด วันสำคัญทางศาสนา เขาและครอบครัวจะทำบุญออนไลน์โดยการโอนเงินไปให้กับองค์กรที่รับบริจาคโดยตรงเป็นประจำ เพราะเห็นว่า สะดวกกว่า รวดเร็วกว่า และคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับค่าเดินทางที่จะไปยังที่หมาย เช่น วัด มูลนิธิ จริงๆ 

นอกจากนี้เขายังเห็นว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่รับบริจาคเงินมีความรัดกุมเรื่องการโอนเงิน การให้ข้อมูลการบริจาคที่รัดกุมกว่าในอดีตมาก จึงเป็นเรื่องยากขึ้นที่มิจฉาชีพจะแสวงหาผลประโยชน์ได้

“ผมแยกการทำบุญเป็น 2 ส่วนก่อนนะ อย่างแรกถ้าเป็นการทำบุญในเชิงพระพุทธศาสนาที่ต้องไปเวียนเทียน ไปตักบาตร โอเค..เรายังเดินทางไปวัดอยู่ เพราะเชื่อว่า คงไม่มีวิธีไหนทดแทนได้ แต่ถ้าเป็นการบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของ ผมจะใช้วิธีการโอนเงิน อาจจะรวมเงินกับเพื่อน กับครอบครัว และโอนเงินไปเลยทีเดียว ซึ่งการจะโอนไปให้ใครเราก็จะมีวิธีการตรวจสอบของเราอยู่แล้ว อาจจะเลือกโอนให้เฉพาะมูลนิธิที่เรารู้จักเขาจริงๆ เคยไปดูสถานที่จริงมาแล้ว หรือเป็นหน่วยงานที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่านำเงินไปใช้ตรงกับวัตถุประสงค์ นอกจากนี้การขอใบลดหย่อนภาษีก็ยังช่วยตรวจสอบได้อีกทางหนึ่ง เพราะถ้าเป็นองค์กรหรือมูลนิธิปลอม ตัวเลขจะใช้หักภาษีไม่ได้”

ส่วน ดีเจอ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ซึ่งชื่นชอบการทำบุญ และมีส่วนร่วมกับการระดมทุนผ่านการจัดรายการวิทยุบ่อยครั้ง มองว่า เทคโนโลยีที่สะดวกขึ้นส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้คน แม้กระทั่งการทำบุญออนไลน์ซึ่งสอดคล้องกับคนทำงานที่ไม่มีเวลา หรือมีเวลาว่างไม่สอดคล้องกับการเปิดของวัด หรือองค์กรรับบริจาค ดังนั้นจึงไม่แปลกหากตัวเลขสถิติจะบอกว่าคนไทยนิยมทำบุญออนไลน์มากขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องความกังวลว่า การโอนเงินจะถึงที่หมายจริงๆ หรือไม่นั้น แน่ว่า ในบางช่วง-บางขณะมันต้องมีกังวลเป็นธรรมดา แต่เชื่อว่า คนที่ชื่นชอบทำบุญก็จะมีวิธีตรวจสอบเหมือนกัน และองค์กร หน่วยงานไหนที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสได้ ก็จะมีโอกาสที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเท่านั้น

“เราตรวจสอบพิจารณาอย่างมีสติแล้ว แต่ถ้าปลายทางที่เราให้ไป เขาจะไปทำตรงตามวัตถุประสงค์รึเปล่า คงเป็นเรื่องที่เกินความสามารถเรา แต่นั่นคงไม่สำคัญเพราะจิตที่เราอยากให้ อยากเสียสละ ลดความตระหนี่ของตัวเองมันสำเร็จไปแล้ว” ดีเจพี่อ้อย บอก

 

 บุญสมบูรณ์ในตัวเอง

ในเรื่องการทำบุญกับคนไทยนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เคยทำวิจัยเรื่อง “ความเชื่อเรื่องกรรมในวิถีชีวิตของสังคมไทย” ซึ่งสำรวจความเห็นชาวไทยพุทธทั่วประเทศ 1,110 คนโดยผลการวิจัยตอนหนึ่งระบุว่า คนไทยกว่าร้อยละ 90 ยังเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว โดยพฤติกรรมที่คนทั่วไปนิยมปฏิบัติเพื่อลดกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่การสนทนาธรรมกับพระสงฆ์ การถวายสังฆทาน การให้ทานแก่คนขอทาน การถืออุโบสถศีลในวันพระ และการบวชเนกขัมมะ บวชชีพราหมณ์

 คนไทยกับการทำบุญจึงยังเป็นของคู่กัน และสำหรับบางคนยังเชื่อว่า การทำบุญจะช่วยลดทอนกรรมที่ตัวเองทำไม่ดีได้ด้วยซ้ำ เช่น ทำกรรมไม่ดีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรรมดีที่ทำวันนี้จะลดทอนได้

“เรื่องของการทำบุญจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางดั้งเดิม หรือช่องทางออนไลน์ที่ช่วยลดระยะเวลา และอำนวยความสะดวก ผมมองว่า ช่องทางนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะมีระบบ สร้างกติกาให้การบริจาคโปร่งใสมากขึ้น” ผศ.ดร.วุฒินันท์ กันทะเตียน อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในคณะวิจัยให้ความเห็น

สอบถามหลักคิดกับ พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านอธิบายว่า การทำบุญจะเป็นช่องทางไหนมีหลักเดียวกัน คือการให้ การลดละ ความตระหนี่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ด้วยทรัพย์ สิ่งของ หรือการลงแรงก็ตาม

ส่วนจะเป็นบุญหรือไม่นั้น มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.ก่อนให้ที่ต้องมีความปรารถนาที่ดี 2.ขณะให้ที่ต้องมีจิตตั้งมั่น และ 3.หลังการให้ที่ยังมีจิตใจที่แนวแน่อยู่ ซึ่งหากทำบุญและรักษาองค์ประกอบนี้ไว้ได้แล้ว ถือว่า มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งความดีที่เราทำทั้ง 3 ส่วนมีรางวัลในตัวเองอยู่แล้ว นั่นก็คือความสุขที่ผู้ทำได้รับ

“ส่วนจะเป็นวิธีไหน ปลายทางของเงินที่ได้ ผู้รับจะไปทำอะไรเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม พะวงไป คงทำให้ใจเราไขว้เขว หากเราพิจารณาแล้วว่า เราสมควรทำบุญกับผู้ใด คือใช้เหตุผลพิจารณาแล้ว มีสติตั่งมั่นทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังการให้ เมื่อทำไปแล้วถือว่าได้บุญในตัวเอง สมบูรณ์ในตัวเองแล้ว หัวใจสำคัญจึงเป็นเรื่องการตั้งจิต การมีสติ ไม่ใช่เรื่องวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย” พระสุธีธรรมานุวัตร อธิบาย

“ทุกเงินบริจาค ต่อชีวิตคนยากไร้ได้....สนใจร่วมทำบุญ โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ เลขที่xxxธนาคารxxx“

หากท่านพบข้อความนี้บนหน้าเฟซบุ๊คอีกครั้ง..

อย่าได้แปลกใจ มันก็แค่ทัศนียภาพใหม่ๆ บนถนนเส้นเดิม