“สานพัด” กระเป๋าสานจากเศษผ้า
'สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์' ดีไซเนอร์แนวสร้างสรรค์หยิบผลงานการออกแบบของ 'ทรงวุฒิ ทองทั่ว' จากบริษัทบางกอกแอพพาเรล มาถ่ายทอดถึงแนวคิดการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว ในรูปแบบกระเป๋าคอลเลคชั่น “สานพัด”
ทุกวันนี้ งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งหัวข้อใหญ่ที่ผู้ประกอบการรวมถึงนักออกแบบให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยะที่เคยไร้ค่าถูกนำมาสร้างคุณค่าให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่ในการผลิต นอกจากนี้ การนำทักษะภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อแนวคิดปรับกระบวนการผลิต ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางการสร้างเรื่องราวที่ดีให้กับแบรนด์
กระเป๋าคอลเลคชั่น “สานพัด” แบรนด์ Renim Project โดย ทรงวุฒิ ทองทั่ว จากบริษัทบางกอกแอพพาเรล อีกหนึ่งตัวอย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำแนวคิดการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว เริ่มจากการนำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน “การสานพัดไม้ไผ่” ที่ใช้โบกเตาไฟของคนไทยสมัยก่อน หรือใช้โบกพัดร่างกายให้คลายร้อนมาเป็นต้นตอแรงบันดาลใจ
จากนั้นนำกางเกงยีนส์มือสองที่ไม่ได้ใช้แล้วมาตัดให้เป็นสายเหมือนกับไม้ไผ่ (ที่ใช้สานพัด) มาเย็บเป็นเส้นโดยใช้เทคนิคการเย็บเหมือนหูกางเกงยีนส์เพื่อให้เกิดเป็นเส้นผ้าที่แข็งแรง แล้วนำผ้ายืดมือสองที่มีสีต่างกันมาตัดเป็นเส้นแล้วนำไปเย็บเหมือนหูกางเกงยีนส์เช่นกัน มาสานสร้างลวดลายสีสันที่คล้ายกับพัดไม้ไผ่ ในส่วนของกระเป๋าด้านในก็นำกางเกงยีนส์มาทำเป็นผ้าซับในของกระเป๋าเพื่อให้การใช้งานมีความสะดวก และป้องกันของในกระเป๋าตกหล่น ส่วนงานตกแต่ง ทรงวุฒิเลือกใช้เศษหนังแท้ที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมมาเพิ่มเสน่ห์ให้กับชิ้นงาน จากเศษผ้าธรรมดาที่พร้อมจบชีวิตในถังขยะถูกแปรสภาพให้กลายเป็นกระเป๋าแฟชั่นสร้างบุคลิกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์
อีกหนึ่งแนวคิดดีๆ ของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่นำคุณค่าของเศษวัสดุ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกันไว้อย่างลงตัว ตามเป้าหมายที่ตั้งใจออกแบบกระเป๋าใบนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนตระหนักเห็นคุณค่าจากสิ่งของที่เหลือใช้ โดยการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า พร้อมๆ กับการลดปริมาณขยะให้กับโลกใบนี้