ระยะแห่งการให้เกียรติ

ระยะแห่งการให้เกียรติ

เวลาที่เราเข้าใกล้สัตว์แต่ละชนิด ระยะห่างแค่ไหนที่มันสบายใจและอนุญาตให้เข้าใกล้

"""""""""""""""""""""""""""""" 

เมื่อการคืนดีกับธรรมชาติเป็นวาระสำคัญของสังคมโลก ฉันจึงเริ่มจัดคอร์ส NatureConnection 101 เป็นคอร์สพื้นฐานสั้นๆ สองวันครึ่งของมูลนิธิโลกสีเขียวให้ผู้คนได้พัฒนาแนวทางที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสรรพชีวิตร่วมโลกรอบตัว

 

ครั้งล่าสุดที่จัดไปคือ เมื่อสองอาทิตย์ก่อนช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ไม่ได้จะเล่าเรื่องคอร์สทั้งหมด เพราะมันมีรายละเอียดมากมาย แต่อยากจะเล่าเรื่องน้องเพชร (นามสมมติ)

 

เธอเป็นเด็กสาวหน้าใสอายุ 15 ที่บอกว่า ตลอดชีวิตของเธอ เธอเห็นแต่สัตว์หนีเรา พวกมันตีห่างจากมนุษย์เสมอ

 

เด็กรุ่นเธอเติบโตมาในภาวะที่มนุษย์เป็นตัวน่ากลัวน่ารังเกียจแก่ปวงสัตว์ มันเป็นภาวะที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว โดยไม่รู้ตัวเพชรไม่ได้บอกว่าเธอเหงาหรือเศร้า แต่มันน่าสนใจว่าเธอสังเกตและพูดถึงปรากฎการณ์นี้ขึ้นมาเอง

 

อย่างไรก็ตาม ฉันออกจะดีใจที่เพชรพูดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะกิจกรรมสุดท้ายในคอร์สเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอดี

 

สัตว์ไม่เหมือนกับต้นไม้ที่เราปฏิสัมพันธ์กันในวันแรกของคอร์ส มันวิ่ง มันบินหนีเราได้ ถ้าเราอยากจะเข้าใกล้สัตว์ เราต้องทำให้มันรู้สึกสบายใจกับเรา

 

ถ้าถามช่างภาพสัตว์ป่าอย่างคุณเต สมิทธิ์ สุติบุตร์ เขาจะบอกว่า เราต้องทำตัว “ต่ำช้า” คือ ย่อตัวเรี่ยเตี้ยติดดินและเคลื่อนไหวให้ช้าที่สุด ค่อยๆ คืบค่อยๆ เถิบ บางทีช่างภาพสัตว์ป่าเหล่านี้ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อคืบเพียง 10 เมตร

 

แต่ไม่ว่าเราจะขยับช้าอย่างไร เมื่อสัตว์เห็นเราแล้ว เราจะต้องสังเกตว่า มันสบายใจกับเราในระยะไหน และเราต้องเคารพมัน ไม่พยายามล้ำเกินเส้นนั้น

 

อินเดียนแดงเรียกว่า “ระยะที่ให้เกียรติกัน”

 

พี่เชน ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เรียกว่า “ระยะที่ได้รับอนุญาต” เป็นคำเรียกที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตรงสุดๆ เมื่อพี่เชนประจันหน้ากับเสือ มันครางคำราญเตือน แต่พี่เชนก็ค่อยๆ ก้าวเข้าไปอีกหนึ่งก้าวพร้อมกล้องในมือ มันเป็นก้าวที่ยังไม่ได้รับอนุญาต เสือจึงกระโจนเข้าใส่

 
เรื่องราวต่อมาเป็นอย่างไร ไปหาหนังสือพี่เชนอ่านต่อได้เอาเอง

 

ฉันเคยทดลองกับนกกระเรียน (ซึ่งปลอดภัยกว่าเสือมากนัก) ฉันลองเดินช้าๆ ตัวโด่ๆ ไม่ต่ำเตี้ยเข้าหามัน มันก็รู้ และปล่อยให้เดินเข้าไปจนถึงระยะสิบกว่าเมตร จากนั้นทุกก้าวที่ฉันก้าว มันจะก้าวออก รักษาระยะสิบกว่าเมตรนั้นไว้ นั่นคือระยะที่มันอนุญาตให้ในขณะนั้น

 

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าถึงระยะที่ให้เกียรติ นอกจากจะเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ แล้ว พลังงานที่เราส่งออกไปก็สำคัญ เราจะต้องไม่ล็อกเป้าพุ่งตรงเข้าหามัน เพราะจะเป็นแรงปรารถนาน่าตกใจ

 

รุ่นพี่คนหนึ่งที่ถูกส่งไปเรียนฟินนิชชิ่ง สกูลขัดเกลากุลสตรีที่สวิสเซอร์แลนด์ เคยเล่าให้ฟังถึงการเรียนจับผู้ชายโรงเรียน เขาสอนว่าถ้าเห็นชายหนุ่มที่อยากได้ในงานปาร์ตี้ เธอจงอย่าแสดงความสนใจเขา แต่ให้ใส่ใจโปรยเสน่ห์กับทุกๆ คนในห้อง ยกเว้นชายหนุ่มคนนั้น แล้วเขาจะสนใจเธอเอง

 

ก็ไม่แน่ใจว่า เกมจับผู้ชายใช้ได้ดีแค่ไหน แต่ทั้งสัตว์และผู้ชาย ก็คงคล้ายๆ กันที่พร้อมจะเผ่นเมื่อสัมผัสกับแรงพุ่งที่เข้มข้นเกินไป

 

การเข้าหาต้องช้าอย่างผ่อนคลาย และนิ่มนวล อ้อมค้อมบ้าง ไรบ้าง

 

ในแบบฝึกหัดนี้ ผู้เรียนต้องหัดใช้หลายเทคนิคที่ฝึกมาตลอดคอร์สเพื่อเข้าหาสัตว์ ให้ดีควรเป็นสัตว์ที่หนีเก่งอย่างนกและแมลงปอ เริ่มตั้งแต่เปิดใจรับสารจากธรรมชาติ เปิดเรดาร์รับรู้ทิศทางที่ควรไป เดินเบาอย่างหมาจิ้งจอก มองกว้างด้วยหางตาอย่างนกฮูก จนเมื่อเจอสัตว์ที่อยากเจอ ก็ให้ประสานใจต่อกัน ทักทายและแนะนำตัวในใจ พร้อมกับสังเกตและเคารพระยะที่ต้องให้เกียรติกัน เพื่อสร้างมิตรภาพ

 

หลายคนพบว่า เมื่อต่อใจกันได้ ระยะที่อนุญาตจะค่อยๆ ลดลง แมลงปอบางตัวลงมาเกาะมือ บางตัวมาบินมองหน้าตาต่อตา บางคนได้รับประสบการณ์พิเศษในความสัมพันธ์กับสัตว์ที่วิเศษจนฉันไม่สามารถเล่าตรงนี้อย่างสั้นๆ ให้เชื่อได้

 

สำหรับน้องเพชรจริงๆ แล้วเธอค่อยๆ สะสมประสบการณ์เข้าใกล้สัตว์มาตลอดสองวันในคอร์ส เป็นที่มาของการเอ่ยประโยคในต้นเรื่อง เพื่อบอกว่า ที่นี่เป็นที่แรกที่เธอพบสัตว์อยู่ใกล้ๆ คน เมื่อให้ทำแบบฝึกหัดนี้ เธอจึงเดินไปยังต้นไม้ที่เห็นมีนกอยู่หลายตัว พอเธอไปถึง พวกมันก็ถอยกันไปอยู่ในพุ่มด้านใน น้องเพชรจึงนั่งลงอยู่เงียบๆ ตรงนั้น แล้วนกก็ค่อยๆ ขยับออกมา จนมาอยู่ตามกิ่งริมนอกรอบๆ ตัวเธอ รักษาระยะแต่ไว้วางใจ

 

มันทำให้เธอปิติสุข

 

มันเป็นภาวะที่ต่างจากอาการสโนว์ไวท์ของคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์แสนดีของสรรพสัตว์ ตระเวนป้อนอาหารกระรอกตามสวนสาธารณะจนสัตว์เชื่อง เสียนิสัย บางทีก็เสียสุขภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เพชรได้การยอมรับจากสัตว์ในโลกของมัน ภายใต้กติกาของมันเอง ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เลี้ยงที่ผู้ให้อาหารคุมอำนาจศูนย์กลาง

 

ไม่มีใครเป็นชีวิตอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เราล้วนพึงพาโยงใยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเราซับซ้อนกว่า แค่การถ่ายทอดพลังงานผ่านอาหารและลมหายใจอย่างที่เราเรียนในชั่วโมงวิทยาศาสตร์ แต่เรายังโยงใยกันด้วยพลังงานละเอียดของจิตใจ เมื่อเราเป็นที่ยอมรับจากชีวิตอื่น เราได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของสังคมวิเศษมหัศจรรย์ที่เรียกกันอย่างแห้งแล้งว่าระบบนิเวศ เราจึงเติมเต็ม

 

ฉันตั้งใจเก็บแบบฝึกหัดนี้ไว้เป็นกิจกรรมท้ายสุดของคอร์ส เพราะมองว่า ถ้าชีวิตที่สามารถเผ่นหนีเราได้ยอมรับการปรากฎตัวของเรา เราโอเคแล้ว ได้บัตรสมาชิกโลกแล้ว

 

สมาชิกมนุษย์ไม่กี่คนส่งต่อถ่ายทอดกันในสังคมมนุษย์ กลายเป็นฐานรากของวัฒนธรรม มหาตมะคานธี พูดไว้โดนใจเหลือหลายว่า “ความยิ่งใหญ่ของชาติประเมินได้จากวิธีที่คนปฏิบัติต่อสัตว์”ความไว้วางใจที่สัตว์มีต่อเราเป็นตัวบ่งชี้ความเจริญของมนุษยชาติที่สำคัญตัวหนึ่ง (อีกตัวหนึ่ง คือความไว้วางใจในหมู่มนุษย์เอง อินเดียอาจดีงามในการอยู่ร่วมกับสัตว์ แต่ยังต้องปรับปรุงมากมายในมิติระหว่างคนที่เหลื่อมล้ำมหาศาลในการแบ่งปันทรัพยากร)

 

ระยะห่างระหว่างคนและสัตว์หนีได้ อย่างนกจึงเป็นไม้วัดที่น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมของคนในสังคมประทับความทรงจำในหมู่สัตว์ ที่ไทเปเราถ่ายภาพนกได้ด้วยมือถือห่างกันแค่เมตรเดียว ที่ลาวระยะห่างถ่างออกไปหลายสิบเมตร มันบอกอะไร?

 

ลองสังเกตกันดูว่าในเมืองไทยระยะนั้นห่างแค่ไหน ทำไมเด็กรุ่นน้องเพชรจึงไม่มีประสบการณ์เข้าใกล้สัตว์ในธรรมชาติจนอายุ 15 ปี?

 

เริ่มต้นด้วยสังเกตและเคารพระยะให้เกียรติกัน เมื่อมิตรภาพพัฒนาขึ้น มันจะกระเถิบใกล้ขึ้นมาเอง

....................

จากคอลัมน์โลกในมือคุณ เซคชั่นจุดประกาย ฉบับวันพฤ 5 ธันวาคม 2562