เมื่อคนใกล้ชิด 'เสียชีวิต' จะรู้ได้อย่างไรว่า ทำ 'ประกัน' อะไรไว้บ้าง?
เคยสงสัยหรือไม่ว่า ถ้าคนใกล้ชิดของเราเสียชีวิตลง แต่ไม่ได้บอกกล่าวให้ใครได้รับรู้ว่า ตนเองทำประกันอะไรไว้บ้าง แล้วญาติจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้เสียชีวิตทำประกันไว้หรือไม่ ทำอะไรไว้บ้าง และหากรู้แล้ว ต้องการเคลมประกันจะทำอย่างไร.. ตามไปหาคำตอบกัน!
เมื่อมีคนใกล้ชิดเสียชีวิต เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาได้ทำประกันอะไรไว้บ้างหรือไม่ ?
คำถามที่บางคนอาจไม่เคยนึกสงสัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความรอบคอบของผู้เสียชีวิตเองที่ชี้แจงให้ครอบครัวทราบไว้หมดแล้ว หรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม แต่เคยลองนึกเล่นๆ ไหมว่า ถ้าเกิดเหตุความสูญเสียกับคนใกล้ตัวของเราจริง ถัดจากความวุ่นวายในเรื่องพิธีกรรมแล้ว เรื่องต่อมาก็จะเป็นการจัดการเรื่องหนี้สิน ทรัพย์สมบัติ มรดก รวมถึงดำเนินการเรื่องการรับผลประโยชน์ของผู้เสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ผลประโยชน์จากการทำประกัน ที่ถ้าทราบดีอยู่แล้วก็สบายหน่อย เพียงแค่เดินเรื่องเอกสารตามระบบก็เป็นอันเรียบร้อย
แต่.. ถ้าเราไม่ทราบเลย แม้กระทั่งว่า ผู้เสียชีวิตทำประกันไว้หรือไม่? เราควรทำอย่างไร เพราะถ้าไม่ได้ไปยื่นเรื่อง ก็มีโอกาสที่จะเสียสิทธิ์ หากว่า ทางบริษัทประกันไม่ได้รับแจ้งการเสียชีวิตของผู้ทำประกัน
"ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามกับสำนักคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสรุปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ และขั้นตอนการยื่นเรื่องเพื่อขอรับผลประโยชน์ เพื่อมาตอบคำถามดังกล่าว
สำหรับคนที่สนิทสนมกับผู้ที่เสียชีวิต อาจจะรู้ว่าเขาทำประกันไว้หรือไม่ ที่ไหนบ้าง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่ก็มีอีกรูปแบบหนึ่งที่เราจะรู้ ก็คือ จากบริษัทประกันนั่นเอง
โดยเมื่อบริษัทประกันได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล หรือสถานีตำรวจ ว่าผู้ที่เสียชีวิตหรือผู้เอาประกัน เสียชีวิตแล้ว บริษัทจะทำการเช็กกรมธรรม์ และติดต่อผู้รับผลประโยชน์ที่ถูกระบุชื่อ ซึ่งชื่อผู้รับผลประโยชน์จะเป็นใครก็ได้ที่ผู้เสียชีวิตระบุไว้ในกรมธรรม์นั้นๆ
หรือหากเป็นกรณีที่ญาติๆ รู้ทีหลังว่าผู้ที่เสียชีวิตมีการทำประกันชีวิตไว้ด้วย ญาติๆ จะต้องหาบัตรประจำตัวผู้เอาประกัน และกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ได้ก่อน แล้วถึงจะติดต่อบริษัทประกันได้ เพื่อที่จะได้เช็คสถานะของประกันว่ายังอยู่ในสถานะปกติหรือไม่
- ขั้นตอนหลังจากนั้นคือการเตรียม "เอกสารเพื่อขอเคลมประกัน" ซึ่ง เอกสารเหล่านั้นประกอบด้วย
1.ใบมรณบัตรต้นฉบับ
2.ทะเบียนบ้านต้นฉบับของผู้เอาประกัน ซึ่งต้องมีการประทับตรา "ตาย" เรียบร้อยแล้ว
3.บัตรประชาชนต้นฉบับของผู้เอาประกัน
4.ทะเบียนบ้านต้นฉบับของผู้รับประโยชน์
5.บัตรประชาชนต้นฉบับของผู้รับประโยชน์
6.กรมธรรม์ประกันชีวิต
7.สำเนาบันทึกประจำวันที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ (กรณีที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น)
8.แบบฟอร์มเรียกร้องสินไหมมรณกรรม
แต่ถ้าใครที่ต้องพบกับสถานการณ์คนใกล้ตัวหายสาบสูญไป หรือคนนั้นเสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่พบศพ ลำดับขั้นตอนจะต้องเริ่มจากการแจ้งความสูญหายก่อน และรอจนกว่าจะพบศพ แต่หากเวลาล่วงเลยนานไปกว่า 3 ปี ยังไม่มีวี่แววว่าจะพบศพเลย ญาติสามารถทำเรื่องขอเคลมประกันกับบริษัทประกันได้
หากผู้ที่เสียชีวิตไม่เคยบอกอะไรญาติๆ ไว้เลย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาได้ทำประกันอะไรไว้บ้างหรือไม่ จริงๆ สามารถรู้ได้ โดยผู้ที่ส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เสียชีวิต สามารถยื่นคำร้อง ขอให้ตรวจสอบการทำประกันที่สำนักคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งต้องต้องมีเอกสารประกอบคำร้องนี้ด้วย ได้แก่ ใบมรณบัตร สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีส่วนได้เสีย และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีส่วนได้เสีย
เมื่อยื่นคำร้องเรียบร้อบแล้ว คปภ.จะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 2-3 สัปดาห์ และจะแจ้งกลับมาว่าผู้ที่เสียชีวิตนั้นได้ทำประกันไว้หรือไม่ ถ้ามีประกันจริง เป็นประกันของบริษัทประกันใด ซึ่ง คปภ.จะแจ้งเลขกรมธรรม์ให้กับผู้ร้อง
ส่วนขั้นตอนหลังจากนั้น ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถนำเลขกรมธรรม์ไปดำเนินการกับบริษัทประกันต่อไป
แต่ต้องย้ำอีกสักครั้งว่า ผู้รับประโยชน์จะเป็นใครก็ได้ อาจจะไม่ใช่ภรรยา สามี หรือลูกของผู้ที่เสียชีวิตก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ผู้เสียชีวิตระบุไว้ว่าอยากจะให้ "ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์" ในกรมธรรม์นั้น ส่วนรายละเอียดต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกรมธรรม์แต่ละประเภท
นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจต้องศึกษาเพิ่มเติม