Heartprint พิสูจน์ตัวตน
เหนือกว่า biometrics ก็คือ การใช้ลักษณะการเต้นของหัวใจซึ่งอยู่ใต้เสื้อผ้าและห่างออกไปไกลถึง200 เมตร เป็นเครื่องมือพิสูจน์ตัวตนล่าสุด!!
เมื่อเห็นข่าวหนึ่งในนิตยสาร The Economist เมื่อเร็วๆ นี้แล้วบอกตัวเองทันทีว่าไม่เขียนถึงไม่ได้ เพราะมันแปลกราวนวนิยายวิทยาศาสตร์และมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างมากในอนาคต
เรารู้จักคำว่า biometrics ว่าหมายถึงวิธีการพิสูจน์ตัวตน เช่น ลายนิ้วมือ retinaในดวงตา ลายเส้นเลือดบนฝ่ามือ ลักษณะทางกายภาพของมือ ม่านตา กลิ่น ลักษณะของหน้าตา ฯลฯ โดยมีต้นฉบับของสิ่งเหล่านี้อยู่และเอาข้อมูลที่ได้มาเทียบเคียงเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลนั้นจริง
ในด้านวิชาการ biometrics เป็นศัพท์ทางเทคนิค ที่หมายถึงการวัดขนาดของร่างกายมนุษย์และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยมิได้ขีดวงเฉพาะลักษณะทางกายภาพเท่านั้น หากรวมไปถึงพฤติกรรมและบุคลิกภาพของบุคคลด้วย อย่างลักษณะการเดิน เสียง หรือพฤติกรรมเฉพาะตัว เช่น ขโมยแล้วต้องถ่าย ชอบใช้ปืนบางขนาด เสพยาก่อนเข้าปล้น ฯลฯ
Biometrics ที่ใช้กันง่ายๆ ก็คือรูปถ่ายเพื่อการอนุญาตเข้าบริเวณสถานที่ใบอนุญาต เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ตหรือใช้พาสเวิร์ด หมายเลขประจำตัว ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งเฉพาะตัวเพื่อใช้การพิสูจน์ตัวตน
Biometrics ที่รู้จักกันแรกๆ นั้นผู้ริเริ่มคือ Alphonse Bertillon (ค.ศ. 1854-1914) นักวิจัย biometrics และตำรวจฝรั่งเศส ผู้ใช้การวัดสัดส่วนต่างๆ ของร่างกายประกอบรูปถ่ายและชื่อ เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยจับผู้กระทำความผิด
และต่อมา Francis Galton (ค.ศ. 1822-1911)นักวิชาการสหสาขา ชาวอังกฤษ พัฒนาการใช้ลายนิ้วมือพร้อมกับโมเดิลทางคณิตศาสตร์โดยใช้ข้อมูลจากสัดส่วนของร่างกาย หน้าตา ฯลฯ มาคำนวณประกอบเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ตัวตน
โลกมีการพัฒนาในเรื่อง biometrics ที่ก้าวหน้ามากขึ้นทุกที เพียงเอาตาเข้าไปเล็งในช่องหรือชะโงกหน้ากับจอ ก็สามารถทำให้ประตูเปิดหรือเบิกเงินจาก ATM ได้ทันที ที่กล่าวขวัญกันมากที่สุดก็คือ การใช้ Facial Recognition Program เพื่อพิสูจน์ตัวตนของรัฐบาลจีน ซึ่งก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกปัจจุบัน
ในบางเมืองเช่น เซินเจิ้น คนที่ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลายก็จะถูกกล้องบันทึกภาพและระบุชื่อพร้อมภาพบุคคลนั้นบนจอขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมถนน ที่น่าหวาดหวั่นกว่านั้นก็คือ ระบบคะแนนทางสังคมที่รัฐบาลจีนเริ่มใช้เพื่อหักแต้มของคนที่ทำผิดกฎ โดยแต่ละคนทั้งประเทศจะได้รับแต้มเต็มจำนวนหนึ่ง หากกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม กล้องจับภาพ พิสูจน์ตัวตนของบุคคลนั้นได้ผ่าน Facial Recognition Program ก็จะถูกหักแต้มโดยอัตโนมัติและหากถูกหักแต้มจนต่ำถึงระดับหนึ่ง ก็จะหมดสิทธิ์หลายประการ เช่น จองตั๋วรถไฟออนไลน์ไม่ได้ ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนมีชื่อไม่ได้ สมัครงานบางที่ไม่ได้ ฯลฯ การจะได้รับแต้มคืนมาก็ต้องทำงานให้สังคม บริจาคเงิน ฯลฯ
ในบริเวณที่อ่อนไหวทางการเมือง เช่น เขตซินเจียง ทางการจีนมีกล้องตรวจสอบการเคลื่อนไหวของพลเมืองผ่านโปรแกรมดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
เหตุที่ผู้ประท้วงรัฐบาลจีนในฮ่องกงเมื่อหลายเดือนก่อนใส่หน้ากากเสมอ มิใช่เพราะกลัวฝุ่น PM 2.5 หรือ Covid 19 (ซึ่งยังไม่เกิด) หากกลัวโปรแกรมนี้ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ biometrics ซึ่งอาศัยข้อมูลบนใบหน้าจำนวนมาก(ระยะห่างของอวัยวะต่างๆ บนใบหน้า ลักษณะของตา คิ้ว หู ริมฝีปาก ฯลฯ) ประกอบการคำนวณตามโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความเป็นตัวตน
เหนือกว่า biometrics ดังกล่าวก็คือ การใช้ลักษณะการเต้นของหัวใจซึ่งอยู่ใต้เสื้อผ้าและห่างออกไปไกลถึง200 เมตร เป็นเครื่องมือพิสูจน์ตัวตนล่าสุด
เรื่องเริ่มจากงานแอบลอบยิงฝ่ายตรงข้ามที่รู้จักกันในนาม sniping โดยก่อนจะตัดสินใจยิงนั้น มือปืนหรือ sniper ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เป็นบุคคลที่ตั้งใจจะยิง ผ่าน biometrics เช่น ลักษณะของหน้าตา ท่าทางเดินเหิน แต่การปิดบังหน้าในบางครั้ง ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจยิงได้เพราะไม่แน่ใจจนทำให้เสียโอกาสไปหลายครั้ง
America’s Special Operations Command (SOC) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานลักษณะนี้ที่กระจายอยู่ในหลายส่วนของกองทัพจึงต้องการหาวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันให้ถูกตัว The Combating Terrorism Technical Support Office (CTTSO)หน่วยงานของกระทรวงกลาโหม สหรัฐ จึงพัฒนาเครื่องมือใหม่ขึ้นมา
ระบบใหม่นี้เรียกชื่อย่อว่า Jetson ซึ่งสามารถวัดการสั่นสะเทือนอย่างละเอียดบนเสื้อผ้า อันเนื่องมาจากการเต้นของหัวใจที่อยู่ใต้เสื้อโดยอยู่ห่างไกลออกไปถึง 200 เมตร
หัวใจของแต่ละคนแตกต่างในรายละเอียดออกไป ทั้งขนาดรูปร่าง แบบแผนการหดตัว และการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ดังนั้นจึงเป็นลักษณะเฉพาะตัวโดยเรียกว่า "heartprint” การสั่นไหวของผ้าที่คลุมอยู่จึงมีลักษณะพิเศษไปด้วยการพิสูจน์ตัวตนของเป้าหมาย จึงมีความแม่นยำยิ่งขึ้น
พูดง่ายๆ ก็คือ “heartprint” ได้กลายเป็น biometrics อีกอย่างหนึ่งไปแล้ว ในลักษณะเดียวกับที่ “fingerprint” หรือลายนิ้วมือเป็น
ในการวัด “heartprint” จากระยะทางไกล Jetson ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า laser vibrometers ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงแม้แต่เล็กน้อยมากๆ ของแสง laser ที่สะท้อนกลับมาจากการเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของผ้า ที่คลุมหัวใจอยู่
การใช้แสง laser ในทำนองนี้เพื่อตรวจหารอยแตกหรือจุดอันตรายของวัสดุที่ตามองไม่เห็นของสะพาน ลำตัวเครื่องบินปืนใหญ่ ฯลฯ กระทำกันมานานนับทศวรรษแล้ว
ใน 5 ปีที่ผ่านมา laser vibrometers ได้รับการพัฒนาขึ้นมากจนนำมาใช้ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของผ้าที่คลุมหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันตรวจได้ในรายละเอียดของการเคลื่อนไหวของระยะทาง 10 picometres ( 1 ใน 1 ล้านล้านของเมตรหรือ 1 ใน 10 ยกกำลัง 12 ) ลำแสงที่ส่งออกไปนั้นเป็น infrared มนุษย์จึงมองไม่เห็น ถ้าเป้าหมายนั่งนิ่งๆ ภายใต้ลำแสงที่ส่องไปโดยไม่เคลื่อนไหวประมาณ 30 วินาที เครื่องจะอ่าน “heartprint” ได้อย่างชัดเจน และ biometrics นี้จะเป็นเครื่องมือในการฆาตกรรมได้ถูกตัวอย่างยิ่ง (คำแนะนำคืออย่านั่งนิ่งๆ ถึง 30 วินาที เขาจะยิงได้ถูกตัว แต่ถ้าขยับตัวไปมาไม่นิ่งก็อาจถูกยิงผิดตัวได้ดีที่สุดก็คือ อย่าพยายามให้ใครต้องการยิงเรา)
เรื่องมิได้จบแค่เป็น biometrics เพื่อช่วยงาน snipers หากสามารถนำไปประยุกต์ได้หลายเรื่องเช่น (ก) ความเครียดจากการพูดโกหกมีผลทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้นแม้น้อยนิด laser vibrometers ก็สามารถตรวจจับได้จึงอาจช่วยพัฒนาเครื่องจับเท็จให้แม่นยำขึ้น อีกงานสืบสวนสอบสวนทำได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนลดลง (ข) การตรวจความผิดปกติของการทำงานของหัวใจในลักษณะต่างๆ ก็จะมีเครื่องมือเพิ่มขึ้นและสามารถต่อยอดไปสู่การตรวจโรคที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น (ค) มีงานวิจัยที่เลียนแบบการสะท้อนกลับของลำแสง laser โดยใช้คลื่นวิทยุแทนลำแสงเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวในช่องปอดได้อย่างดี เพราะคลื่นสามารถทะลุผ่านกำแพงและเสื้อผ้าได้ต่อไปอาจมี “chest print” ก็เป็นได้
“Heartprint” เป็น biometrics ใหม่ล่าสุดของเหล่าผู้ควบคุม snipers ถ้าสามารถดัดแปลงเทคโนโลยีนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ได้มากกว่าการฆ่าทำลายกันก็จะเป็นข่าวดี อย่างไรก็ดี มันอาจเป็นข่าวร้ายของพวก “ลวงโลก” และ “ลวงรัก” ได้ เพราะต่อไปอาจพัฒนาเป็นอุปกรณ์ติดตัวเพื่อบอกว่าข้อความใดเป็นเท็จ
“รักลวง” จะถูกทำลายลงเหมือน sniper ยิงเป้าหมายด้วยการใช้ “heartprint” เป็น biometrics