8 วิธี 'ทำงานที่บ้าน' ให้ได้ 'งาน' ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
รวบรวมเคล็ดลับ "ทำงานที่บ้าน" ให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพเหมือนนั่งอยู่ออฟฟิศ แถมเหลือเวลาดูแลตัวเองช่วยบาลานซ์งาน และชีวิตให้ลงตัวในช่วงวิกฤติ "โควิด-19"
“โควิด-19” ดูเหมือนจะใกล้ตัวเข้ามาทุกที ทำให้หลายหน่วยงานมีนโยบายให้พนักงาน "work from home" หรือ "ทำงานที่บ้าน" เพื่อพยายามลดการพบปะซึ่งกันและกัน ช่วยลดความเสี่ยงการกระจายของ "ไวรัสโคโรน่า"
การทำงานที่บ้าน ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องแสนสบาย แต่พอลองทำจริงๆ อาจไม่ได้เป็นแบบนั้น ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ต้องประสบเมื่อทำงานที่บ้านคือ “ไม่ได้งาน” หรือเผลอพักผ่อนจน “งานเข้า”
ใครที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ หรือไม่อยากมีปัญหางานไม่เดินเมื่อถึงเวลาต้องทำงานที่บ้าน ลองทำตาม 8 วิธี ทำงานที่บ้านให้ได้งาน จากคำแนะนำของ Lifehack และ WIRED เคล็ดลับที่จะช่วยให้งานของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุดแม้จะไม่ได้นั่งอยู่ในออฟฟิศ
- แต่งตัวเหมือนไปทำงาน
ได้ทำงานอยู่บ้านทั้งที ทำไมต้องแต่งตัวเหมือนไปทำงานด้วย?
เหตุผลที่เราควรลุกขึ้นมาแต่งตัวเหมือนไปทำงาน หรือคล้ายการออกไปทำงานมากที่สุด ช่วยลดความรู้สึกเป็นส่วนตัวเกินไปเมื่อต้องทำงานที่บ้าน การสวมเสื้อผ้าที่พร้อมสำหรับการทำงาน จะช่วยดึงเราไม่ให้กลับไปเกลือกกลิ้งบนที่นอนได้ง่ายๆ แถมช่วยสร้างพลังความพร้อมสำหรับการทำงานในแบบที่คุ้นชินทุกครั้งที่ต้องออกไปทำงาน
ในทางตรงกันข้ามการพยายามทำงานบนเตียงนอน โซฟา ทั้งๆ ที่ยังสวมชุดนอนสุดชิล จะทำให้สมองของเราสร้างสรรค์ได้ยาก เพราะยังอยู่ในโหมดของการพักผ่อน
ฉะนั้น จงลุกขึ้นมาอาบน้ำแปรงฟัน แต่งตัวเสมือนไปทำงานอย่างตรงเวลา จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการทำงานที่บ้าน ที่จะช่วยให้การทำงานทั้งวันของคุณดำเนินไปได้อย่างดี
- จัดพื้นที่ทำงานเฉพาะ
“บรรยากาศ” เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้การทำงานที่ออฟฟิศ และการทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพต่างกัน การจัดพื้นที่ทำงานเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน ให้รู้สึกจดจ่อกับการทำงานเป็นอันดับแรก และเอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดงานได้มากกว่าทำงานอยู่ในบรรยากาศของบ้าน ที่ทำให้เราคุ้นชินกับการพักผ่อนมากกว่าการทำงาน
แน่นอนว่า พื้นที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องหน้าตาเหมือนออฟฟิศ เราอาจจะประยุกต์ใช้โต๊ะกินข้าว เคาท์เตอร์ในครัว ตู้หัวเตียง หรือมุมใดๆ ก็ได้ในบ้าน เพียงแต่กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าเป็น “พื้นที่ทำงาน” เพื่อตัดบริบทความสบายที่แสนดึงดูดจากรอบข้างออกไป
- ใช้เวลาทำงาน เหมือนตอนไปออฟฟิศ
“ความยืดหยุ่น” ข้อดีของการทำงานที่บ้าน ที่อาจกลายเป็นข้อเสียหากนำมาใช้จนหละหลวม ดังนั้น การกำหนดเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน ใกล้เคียงกับเวลาทำงานที่เคยทำในออฟฟิศจะช่วยให้จัดการทุกอย่างได้ง่ายขึ้น เช่น สมมติเวลาทำงานปกติคือ 09.00 น. - 17.00 น. ก็จะต้องใช้เวลาในการทำงานในกรอบเวลาที่ใกล้เคียงกัน และทำอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้เวลาสูญเปล่าไปกับสิ่งเร้าอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น สัตว์เลี้ยง การพูดคุยกับคนในบ้าน หรือการพักผ่อน
การตั้งค่าชั่วโมงทำงานที่สอดคล้องกันทำให้คุณต้องรับผิดชอบต่อตัวคุณเอง จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะทำงานให้เสร็จ ทันเวลา และทำให้ผู้ที่ต้องการติดต่อเรื่องงานทำได้ง่าย เพราะมีห้วงเวลาการทำงานเดียวกัน เพื่อให้งานสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพแม้จะต้องสื่อสารทางไกล
- แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกัน
ไม่ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศ ที่บ้าน หรือที่ไหน ใครๆ ก็รู้ว่าควร “แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกัน” แต่! นี่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อต้องปฏิบัติจริง แต่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะตอนทำงานที่บ้าน
เพราะการแบ่งเวลาส่วนตัวที่ดี จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่ทำงาน ลดความเครียดหลังเวลางาน และไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญในการแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัว คือการสื่อสารกับทีม ชี้แจงให้ชัดเจนว่าทำงานเวลาไหน หยุดพักเวลาไหนบ้าง เช่น หากคุณต้องการใช้เวลาตอนเย็นกับครอบครัวต้องแน่ใจว่าไม่กระทบกับงาน และทีมรับรู้ว่าคุณไม่สามารถทำงานได้ในช่วงเวลานั้น เพื่อทำให้กระบวนการทำงานดำเนินไปอย่างราบรื่น
- วางแผน ลำดับความสำคัญของงาน
หัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานคือ “วางแผนเรื่องงานให้ดี ก่อนที่จะเริ่มทำงาน” การวางแผนให้เห็นภาพรวมของการทำงานทั้งหมดจะช่วยให้แน่ใจว่า อะไรควรทำก่อนหลัง ระยะเวลาที่คิดว่าจะใช้ ในการทำทุกอย่างให้เสร็จตามแผน และสิ่งที่คุณจะทำถ้าคุณมีเวลาเพิ่มคืออะไร
เคล็ดไม่ลับในการวางแผน คือ อาจใช้เวลา 2-3 นาทีก่อนที่จะเข้านอนเพื่อวางแผนสำหรับวันถัดไป เพื่อให้ไม่ต้องเครียดจากการวางแผนในใจอยู่ตลอดเวลา การวางแผนที่ดี เป็นระบบ อาจช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยให้ตื่นตัวทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้มีเวลาส่วนตัวมากขึ้นสำหรับการออกกำลังกายก่อนทำงาน หรือดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ด้วย
สำหรับการวางแผนควรพิจารณาสิ่งสำคัญดังต่อไปนี้
- ทำภารกิจที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดก่อน
- วางแผนวันตามวิถีชีวิตธรรมชาติของคุณ เช่น เลือกทำงานหนักที่สุด หรือยากที่สุด ในเวลาที่คุณมีพลังงานมากที่สุดของวัน (แต่ละคนไม่เหมือนกัน)
- วางแผนรางวัลของตัวเอง และการหยุดพักระหว่างวัน
- ตัดสิ่งรบกวน เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์
นอกเหนือจากการติดต่อสื่อสารกับทีมงานแล้ว โทรศัพท์ แชท หรือสื่ออื่นๆ ล้วนไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับการทำงานที่บ้าน เพราะสื่อจะเป็นสิ่งเร้าที่เสียสมาธิ หรือดึงดูดให้หลุดออกไปจากการทำงานที่ควรจดจ่อ ทำให้งานเสร็จช้าลง ต้องเผางานในวินาทีสุดท้าย งานตกหล่นบกพร่อง หรือแย่ที่สุดคืองานไม่เสร็จตามที่ควรจะเป็น
นอกจากสิ่งรบกวนจากสื่อต่างๆ แล้ว ยังหมายความรวมถึงการกำหนดขอบเขตสำหรับเด็ก สัตว์เลี้ยง คู่สมรส หรือเพื่อนร่วมห้อง พยายามกระตุ้นให้พวกเขาทิ้งคุณไว้คนเดียวในขณะที่คุณกำลังทำงานเพื่อที่คุณจะได้จดจ่อกับงานอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม พยายามสร้างขอบเขตเป็นมิตร ไม่ใช่การไล่ โดยไอเดียที่อาจนำไปใช้ได้ คือการสร้างสัญญาณบางอย่างตรงประตูห้อง เช่น ป้าย "กำลังทำงาน" "ไว้คุยกันนะ" เพื่อบ่งบอกว่าคุณกำลังทำงานอยู่
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการทำงานที่บ้านจะต้องตึงเครียดอย่างหนัก แต่การตัดสิ่งรบกวนต่างๆ ออกไปเพื่อปล่อยให้การพบปะกับสิ่งเร้าเหล่านี้ กลายเป็นรางวัลของตัวเองหลังจากที่ทำงานเสร็จสมบูรณ์แล้วแทน
- หยุดพักบ้าง
ไม่ว่างานจะเร่งหรือกดดันแค่ไหน สิ่งที่ลืมไม่ได้คือการ “หยุดพัก” จากงาน ตามเวลาที่สมควร เพื่อบาลานซ์งานกับชีวิตให้สอดคล้องกันมากที่สุด
การหยุดพัก ณ ที่นี้ มี 2 รูปแบบ คือ การพักรับประทานอาหารให้ตรงตามมื้ออาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น และการหยุดพักสายตาจากหน้าจอ พักสมองจากความเครียด รวมถึงได้พักอุปกรณ์ในการทำงาน
การหยุดพักอาจต้องสร้างกรอบจางๆ ให้แน่ใจว่าจะใช้เวลาพักนานแค่ไหน ดังนั้น เพื่อให้ไม่ฟุ้งซ่านเกินไป ควรใช้เวลาระหว่าง 10-30 นาที ซึ่งเป็นเวลาเหมาะสำหรับการหยุดพักระยะสั้น และใช้เวลา 1 ชั่วโมงไม่เกิน 2 ชั่วโมง สำหรับมื้อกลางวัน
โดยหลังลุกขึ้นจากโต๊ะทำงานระหว่างพัก อาจจะเป็นการเดินไปรับอากาศรอบบ้านบ้าง คว้าขนมมารับประทาน หรือพูดคุยกับคนอื่นบ้าง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายได้รีเซ็ตตัวเองใหม่ ช่วยทำให้เลือดไหลเวียน และทำให้แน่ใจว่าเราพร้อมที่จะรับมือกับภาระงานต่อไปแล้ว
- หาแรงบันดาลใจ
การทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน อาจทำให้มีระยะเวลาของการเดินทาง ไม่ค่อยได้เจอโลกภายนอกซึ่งอาจเป็นข้อเสียเล็กๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่ต้องทำงานสายครีเอทีฟ หรือต้องการแรงบันดาลใจเพื่อขับเคลื่อนงาน
ฉะนั้น แบ่งเวลาพักส่วนหนึ่งมาเพิ่มแรงบันดาลใจในการทำงาน ก็มีส่วนช่วยให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เช่น เปิดเพลงที่ช่วยในการผ่อนคลาย อย่างเสียงธรรมชาติ ดนตรีบรรเลง หรือแม้กระทั่งเปิดหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อให้เสียงจากภายนอกเข้ามาบ้าง อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ ฯลฯ หรือทำสิ่งที่ชอบ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง