5 นิสัยการเงินพังๆ ของมนุษย์ ‘แรงงาน’ เลิกได้ มีสิทธิ์รวย!
ส่อง 5 พฤติกรรม และนิสัย ที่ทำให้ "การเงิน" ของมนุษย์ "แรงงาน" พัง พร้อมแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะทำให้สุขภาพการเงินดีขึ้น และเข้าใกล้ความรวยได้
รายได้ของ "แรงงาน" กลุ่มอาชีพที่มีรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำเริ่มต้น 305 บาท รายได้ต่อเดือนเฉลี่ยต่อเดือนราว 9,200 บาท หรือมากกว่านั้น แม้อาจจะเป็นจำนวนเงินที่น้อยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพต่างๆ โดยเฉพาะค่าครองชีพในเมืองกรุง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าจำนวนรายได้เหล่านี้คือ "วิธีบริหารจัดการเงิน" ที่ช่วยให้สามารถจัดการรายได้ สอดคล้องกับรายจ่าย และไม่ตกอยู่ในวังวนหนี้ที่ไม่จำเป็น
กรุงเทพธุรกิจ หยิบเอา "5 นิสัยการเงินพังๆ" จากหนังสือ 25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย/ 25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย โดยทีมงานเงินติดล้อ พร้อมมุมมองใหม่ๆ ที่จะทำให้สุขภาพการเงินของคุณดีขึ้น
โดยนิสัยการเงินพังๆ ที่มักจะเจอในกลุ่มแรงงาน ที่ควรหลีกเลี่ยง และเลิกทำ มีดังนี้
1. เงินในอนาคต ก็คือเงินเรา
เหตุผลความเชื่อแบบนี้ทำให้การเงินพังเพราะ “เงินอนาคตไม่มีจริง” การมองหาเงินเดือนหน้า เดือนถัดๆ ๆ ๆ ไป หรือโบนัส (ที่ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า) เงินที่จะถูกหวย เงินที่เพื่อนเคยยืม ซึ่งล้วนแล้วแต่เงินที่ไม่ได้อยู่ในกระเป๋าหรือบัญชีของเรา ณ เวลานี้ มาเป็นเหตุผลสนับสนุนการใช้จ่าย โดยเฉพาะการรูดบัตรเครดิต วิธีการแบบนี้นำไปสู่หายนะใหญ่ได้ง่ายมาก เพราะถ้าเราใช้เงินจำนวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้ พออนาคตมาถึง ก็ไม่เหลือเงินไว้ใช้ แล้ววังวนนี้จะเกิดขึ้นวนเวียนไม่รู้จบ
วิธีเดินทางออกสู่หนทางนี้ คือเลิกมองหาเงินในอนาคต และระลึกอยู่เสมอว่าการอยากใช้เงินไม่ใช่เรื่องผิด แต่การที่ผิดคือใช้เงินที่ไม่มีอยู่จริงโครมๆ บนความเชื่อว่านั่นคือเงินของเรา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'วันแรงงาน' ก็มั่งคั่งได้! ชวนทำ 3 ขั้นสร้างตัวจาก 'ค่าแรงขั้นต่ำ'
2. จ่ายบัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำก็พอ
“บัตรเครดิตมีไว้ผ่อน ถ้าจ่ายหมดก็ไม่ต่างอะไรกับใช้เงินสดสิ” ความเชื่อที่พาหลายคนเข้าสู่วงจรทาสบัตรเครดิตที่ทั้งเหนียวทั้งแน่นเหมือนกาวดักหนูเพราะการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ หรือ 10% ของวงเงินทั้งหมดที่ใช้เป็นจำนวนที่น้อยมาก ยิ่งนานวัน ยิ่งวงเงินใหญ่ ดอกก็ยิ่งพอกพูนไปตามเวลา กลายเป็นการผ่อนดอกเบี้ยไม่รู้หมด คนที่ใช้บัตรเครดิตจึงควรปรับความคิดใหม่ โดยกฎเหล็กหลังจากการรูดอย่างเคร่งครัด นั่นคือ รูดเท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น! ไม่มีจ่ายไม่รูด!
แล้วถ้ามีหนี้ค้างอยู่จะให้ทำยังไง?
1. หยุดใช้บัตรเครดิตนั้นทันที หยุดรูดเพิ่ม เลิกเห็นแก่ของลดราคาที่ไม่จำเป็น
2. หากอยากออกจากวังวนทาสบัตรเครดิตไวๆ ให้จ่ายอย่างน้อย 30% ของยอดหนี้ เช่น หารายได้เสริมควบคู่ไปด้วย เพราะการหารายได้เพิ่มจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินคนอื่นในระยะยาว
3. หมุน! คือการบริหารรายได้อย่างชาญฉลาด
“หมุนเงินคือทางสว่าง หมุนไปเรื่อยๆ เอาโน่นไปโปะนี่ เอานี่ไปโปะนั่นสบายตัวไปทุกเดือน”
ทักษะการหมุนที่หลายคนใช้เป็นประจำเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ไม่ใช่การบริหารการเงินอย่างที่ควรจะเป็น เพราะหากขาดรายได้ไปสักเดือนหรือมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินแบบกะทันหัน วงล้อเงินหมุนจะฝืดจนต้องหยิบยืม หรือใช้วิธีอื่นๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อไปอีกเรื่อยๆ
ความเป็นจริงแล้วทุกคนสามารถบริหารรายได้ที่เหมาะสมได้ แต่ต้องอาศัยวินัยและเป้าหมายที่ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องมีวิธีที่ตายตัว
หนึ่งวิธีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้คือวิธี “แบ่งรายได้เป็น 3 กอง”
1. แบ่งเงินออมก่อนใช้ให้ได้ 5-30% ของรายได้ทั้งหมด โดยนำเงินส่วนนี้ไปแบ่งสัดส่วนในการออมระยะสั้นเผื่อฉุกเฉิน เช่น เงินฝาก หรือออมเพื่อการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคต
2. รายจ่ายประจำเดือน 45% คือค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ (ย้ำว่า ไม่รวมค่าช้อปปิงทั้งหลายแหล่)
3. ค่าใช้จ่ายประจำวัน 25% มีเท่าไหร่เอามาหารด้วยจำนวนวัน อยากช้อปปิงอะไรก็จัดสรรในกองเงินนี้
เคล็ดไม่ลับ
- เงินเดือนมากขึ้นก็ออมมากขึ้น
- ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจะได้รู้ว่าเงินหายไปไหนแน่
- พยายามลดรายจ่ายนอกบ้าน ทำเองให้มาก สร้างโอกาสเก็บเงินที่มากขึ้น
- มีสติให้มาก อดทนและอดกลั้น ต่อความอยากที่มากเกินความจำเป็นให้ได้
4. เงินกู้นอกระบบ คือทางออก
สาเหตุที่ไม่ควรเข้าใกล้ "เงินกู้นอกระบบ" เพราะความเป็นจริงแล้วนั่นไม่ใช่ "ทางออก" ที่ดีเมื่อขาดสภาพคล่อง และในบางครั้งมันจะกลายเป็น "ทางเข้า" วังวนหนี้ไม่รู้จบ เพราะเงินกู้นอกระบบ (ส่วนใหญ่) ปล่อยกู้ง่ายๆ ภายใต้ดอกเบี้ยสูงลิบ และพอกเป็นเงินต้นยอดใหญ่ที่ผ่อนเท่าไหร่ก็ผ่อนไม่หมด เมื่อเงินขาดมือ "เงินกู้นอกระบบ" จึงควรเป็นทางเลือกสุดท้ายหรือไม่อยู่ในตัวเลือกเลย
โดยทางเลือกแรกเมื่อขาดสภาพคล่อง อาจเริ่มต้นจากการมองหาทรัพย์สินอื่นๆ มาเพิ่มสภาพคล่องเท่าที่จะทำได้ หรือพยายามหารายได้เพิ่มในช่องทางอื่นๆ ที่ทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น หรือทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเอง โดยการไม่สร้างหนี้ (ที่ไม่จำเป็น) ไม่สร้างภาระให้ตัวเองจนเกินกำลัง เป็นช่องทางที่ดีที่สุดที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบ ที่คุณอาจต้องจ่ายมากกว่าแค่ดอกเบี้ย
5. ออมเงินไปเพื่อ?
“ออมเงินก็คือไม่ได้ใช้เงิน แล้วจะหาเงินไปเพื่ออะไร” แนวคิดที่เปิดประตูสู่หุบเหวแห่งความว่างเปล่า ที่อาจจะไม่เห็นผลทันทีทันใด แต่จะสำแดงเดชช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือบั้นปลายชีวิตที่ไม่มีแรงหาแล้ว
ไม่ว่าเงินจะมากหรือน้อยอยากมีต้องรู้จักเก็บ ควบคู่ไปกับการหารายได้ การหักเงินเพื่อเก็บอย่างน้อยที่สุด 5-10% ของรายได้ก่อนนำไปใช้จ่าย คือทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ไม่เคยเก็บเงินอยู่
เมื่อครบปี ลองหยิบสมุดบัญชีมาดู หรือแคะกระปุกมานับ คุณจะพบว่าการออมเงินทำได้ และเริ่มต้นได้ไม่ยาก สิ่งที่สำคัญคือการพยายามออมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเห็นเลข ยิ่งเกิดกำลังใจในการออม และอยากออมต่อเรื่อยๆ
คำตอบของคำถามที่ว่า แล้วจะออมเงินไปเพื่ออะไร? คือชีวิตที่มีเบาะนุ่มๆ รองรับเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน เมื่ออยากลงทุนอะไรบางอย่างก็สามารถทำได้เพราะมีทุนสำรองในเหตุการณ์ฉุกเฉิน นอนหลับสบาย ไม่ต้องพะวงกับอนาคตแบบไร้จุดหมาย ที่สำคัญชีวิตคุณจะมีทางเลือกมากกว่า เพราะทุนทรัพย์
ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี เจ้าสัว เจ้าของกิจการ หรือมนุษย์เงินเดือน ลูกจ้างรายวัน สิ่งที่ทำให้การเงินของแต่ละคน “พัง” หรือ “ปัง” ขึ้นอยู่กับ "แนวคิดในการใช้เงิน" หากบริหารจัดการเงินได้ดี ถึงแม้จะยัง "ไม่รวย" ในตอนนี้ แต่ก็ "ไม่จน" ในภายภาคหน้า
ที่มา: หนังสือ 25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย/ 25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย โดยทีมบรรณาธิการเงินติดล้อ