โลกการทำงาน 2021 ต้องการ 'เป็ด' ที่แข็งแรง และไม่หยุดเติบโต

โลกการทำงาน 2021 ต้องการ 'เป็ด' ที่แข็งแรง และไม่หยุดเติบโต

ก้าวเข้าสู่โลกการทำงานในปี 2021 ในวันที่ตลาดแรงงานต้องการคนทำงานที่มีทักษะหลายด้าน พร้อมปรับตัวและพัฒนาทักษะต่างๆ อยู่เสมอ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสของที่เคยถูกเรียกว่า “เป็ด” ในเวอร์ชั่นที่แข็งแรง และไม่หยุดเติบโต

“มาสมัครเป็นกราฟิก ทำโมชั่นและตัดต่อได้ด้วยหรือเปล่า”

“เป็นเซลล์ เข้าใจดิจิทัลมาร์เกตติ้งไหม”

“มาทำงานไอทีที่นี่ ต้องเข้าใจการเงินการลงทุนด้วยนะ”

คุณสมบัติครอบจักรวาล ที่ผู้สมัครงานหลายๆ คนบ่นอุบ และบางครั้งถึงกับช็อกเมื่อถูกถามหาทักษะเพิ่มเติม ที่บางครั้งก็ดูมากเกินค่าตอบแทน บางครั้งก็ดูไม่เกี่ยวข้องกับงานหลักที่อยากทำเท่าไร และเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัดสินใจ Say no!  เพราะดูจะเอาเปรียบกันเกินไปหน่อย หรือเพราะอีกหลายๆ เหตุผล 

แม้การทำงานในปัจจุบัน จะสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ และไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะพนักงานประจำขององค์กรเสมอไป แต่สิ่งที่สะท้อนจากคำถามหรือข้อเรียกร้องจากองค์กรที่รับสมัครงานเหล่านี้คือ เราต้องมีทักษะขนาดไหนกัน ถึงจะเป็นที่ต้องการในโลกการทำงานในยุคนี้ ?

แต่เมื่อลองถามในมุมผู้รับสมัคร รวมถึงกลุ่ม HR พวกเขาก็มีเหตุผลที่ถามหาทักษะที่มากกว่าแค่หน้าที่หลักที่ต้องการ

สิ่งที่น่าสนใจ คือคำตอบของผู้รับสมัครงานส่วนใหญ่ในเหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า “ทักษะที่หลากหลาย” คือปัจจัยสำคัญของคนทำงานในยุคนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะพนักงานประจำ ผู้บริหาร หรือฟรีแลนซ์

160935006259

พอพูดถึงคนที่มีทักษะหลากหลาย แต่ไม่ถึงขั้นเชี่ยวชาญ เจาะลึก ทำให้นึกถึง “เป็ด” คำเปรียบเปรยถึงคนที่ทำได้หลายๆ อย่าง แต่ไม่เก่ง หรือลงลึกเฉพาะด้านที่เคยถูกตราหน้าว่า ยากที่จะประสบความสำเร็จขั้นสูงสุด ได้เหมือนกับคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialist) 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เก่งลึกๆ เป็นจุดแข็งที่สำคัญที่ทำให้เป็นที่ต้องการในสายงาน และมีโอกาสเติบโตมากกว่าคนอื่น แต่เมื่อโลกเปลี่ยน การดิสรัปของเทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็ว สังคมการทำงานเปลี่ยน เจเนอเรชั่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ฯลฯ ทำให้ความ “เก่ง” หรือ “เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” ไม่เพียงพออีกต่อไป 

โดยนัยของคำว่า “ทักษะที่หลากหลาย” ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้นายจ้าง หรือหัวหน้างานสั่งงานแบบจับฉ่ายตามอำเภอใจ แต่หมายถึงการมีทักษะมากกว่า 1 ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในหน้าที่ของตัว ที่ช่วยให้เข้าใจกระบวนการทำงานของหน้าที่อื่นๆ ในองค์กร สามารถทำงานของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือในบางครั้งอาจจะสามารถจบกระบวนการทำงานด้วยตัวเองซึ่งช่วยให้ทีมสามารถขับเคลื่อนงานไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

  •  ทำไมเป็ดที่แข็งแรง และไม่หยุดเติบโต จึงมีโอกาสในโลกการทำงานในอนาคต 

วันหนึ่งทักษะของเราเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นตลอดไป...

จักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การดึงตัวเป็นเรื่องที่ในแวดวงการทำงานที่มีมาทุกยุค ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละช่วงเวลาองค์กรต้องการ ดึงคนประเภทไหน ทักษะไหน ฟังก์ชันไหน เช่น อุตสาหกรรมการผลิต จะต้องการคนที่เก่งเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องการค้าปลีก สินค้า ต้องการคนที่เข้าใจเรื่องการตลาดดิจิทัลมากขึ้น เพื่อขายสินค้าออนไลน์

"คนที่ทำงานได้หลากหลายก็จะได้เปรียบมากกว่า และได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น" จักรชัย กล่าว

ในโลกการทำงานในอนาคต คนที่มี “Multiple skills" หรือทำงานได้หลากหลายกว่า จะเป็นคนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าคนที่มีทักษะทางด้านเดียว นี่เป็นผลสำรวจที่ชัดเจน และเป็นแนวโน้มการจ้างงานจริงๆ ในอนาคต เพราะอัตราการเกิดของเด็กน้อยลง นั่นหมายความว่า ในอนาคตคนที่จะเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานน้อยลง เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานได้หลากหลายก็จะได้เปรียบมากกว่า และได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น

160934948862

ซ้าย: พิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา ขวา: จักรชัย บุญยะวัตร

ด้าน พิรทัต ศรีสัจจะเลิศวาจา Career Products Business Leader บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริม พร้อมยกตัวอย่างอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร เกี่ยวกับการดิสรัปของนอนแบงก์ (non-bank) ดึงพนักงานที่เป็นพนักงานประจำของธนาคารมาตั้งธุรกิจใหม่กลุ่มฟินเทค (Finance-Technology) ดึงคนจากกลุ่ม IT มาทำด้านการเงินการธนาคาร ซึ่งคนที่จะทำได้ต้องเป็น IT ที่มีความเข้าใจเรื่องการเงินการธนาคารด้วย

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ตามมา คือ กลุ่มยานยนต์ที่จะมีแนวโน้มของ Auto Motive มากขึ้น มีการใช้ AI (Artificial Intelligence) มากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการดึงตัวคน IT ที่เชี่ยวชาญมาตรงนี้มากขึ้น หรือแม้แต่ธุรกิจประกันที่นำ AI มาใช้ในการอนุมัติประกันมากขึ้นเช่นกัน

ทักษะสำคัญที่ต้องมาพร้อมๆ กันหลายทักษะ อาจเปรียบได้กับเป็ดที่รู้หลายเรื่องในอดีต ที่ต้องพัฒนาตัวเองให้ดีดตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่รู้มากกว่า 1 เรื่อง มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่หลากหลายมากขึ้นในระดับที่เชี่ยวชาญ หรือใกล้เคียงคำว่าเชี่ยวชาญให้ได้มากที่สุด

มากกว่าการเป็น "เป็ดที่แข็งแรง" คือการเป็น "เป็ดที่ไม่หยุดเติบโต" หมายความว่าเมื่อมีความรู้ความเข้าใจในหลากหลายทักษะแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ แม้จะไม่ได้โดดเด่น ก้าวกระโดดแบบทันทีทันใด แต่อย่างน้อยที่สุดคือการ “กระหายความรู้” หรือ “เป็นน้ำค่อนแก้ว” อยู่ตลอดเวลา เพราะความเก่งในอดีต อาจใช้ไม่ได้ในวันนี้!

แน่นอนว่าคงจะไม่มีใครที่รู้รอบด้าน และเชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง เพียงแต่การทำงานในปัจจุบันและอนาคต ต้องการคนที่รู้ “กว้าง” มากขึ้น ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่ “รู้” แต่ต้องใช้ทักษะได้หลากหลาย ทั้งส่วนของทักษะความรู้ และทักษะการใช้ชีวิตหรือ Soft Skills ที่ดี ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้ “มนุษย์” แตกต่างจาก “AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์” ที่เริ่มพัฒนาให้ที่ทักษะการทำงานต่างๆ ได้ดีไม่แพ้คน หรือทำงานเก่งกว่าคนเข้ามาแทนที่คุณในอนาคต

  •  HOW TO เป็นเป็ดที่แข็งแรงขึ้น 

ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม group chief human resources officer, AIS กล่าวในงาน Brand Inside Forum 2020 เกี่ยวกับแนวโน้มที่คนทำงานจะต้องปรับตัว ไว้ว่า “จากนี้ไป การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ต้อง Short และ Sharp"

"นั่นคือต้องเร็วและใช้ไหวพริบ เพราะสิ่งที่หลายคนเรียกว่านิวนอร์มอลในทุกวันนี้ จะใช้ได้แค่ไม่กี่ปีข้างหน้า ใครที่เบื่อกับการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงยังไม่จบ ต้องให้กำลังใจกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและเร็วขึ้น ไม่มีใครคาดการณ์ได้”

160934970098

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม

"นรกสวรรค์จะแยกกันชัดเจนขึ้น โลกจะสลัดคนที่ตามไม่ทันไปอยู่ดี" กานติมา กล่าว

บนเวทีเดียวกัน อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ได้กล่าวถึง Future of work หรือการทำงานในโลกอนาคตไว้ว่า “ไม่ว่าจะทำงานที่ บริษัทไหน ตำแหน่งอะไร จะต้องรู้ว่ารูปแบบการทำงานนอกเหนือจากที่กำลังทำอยู่ เราจะสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง เราอยู่ในโลกที่ไม่มีความแน่นอน แต่เราทำตัวเองยังไงให้พร้อม เนื่องจากรูปแบบการว่าจ้างงานจะเป็นยังไงก็ได้ เช่น การจ้างงานแบบเป็นชิ้น การจ้างงานเป็นสัญญามากขึ้น”

อริญญา ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2021 และปีต่อๆ ไป หนึ่งในทักษะที่ยังสำคัญกับโลกการทำงาน คือการกลัวตัวเองเป็นคนตกยุค และมีความพยายามที่จะ Learning (การเรียนรู้) มากกว่า Study (การเรียน) จากห้องเรียนตามระบบการศึกษา เพราะการเรียนรู้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต การเปลี่ยนตัวเองจากเป็ดที่อาจเคยถูกมองว่าเป็จุดด้อยในอดีต มาเป็นเป็ดที่แข็งแรง จึงสามารถทำได้จากการเรียนรู้

เช่น ลองจัดเวลาให้ตัวเองในการเพิ่มความรู้อย่างน้อยวันละ 20 นาที ที่สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ที่ทำให้กลายเป็นคนที่ทำทักษะหลายด้านที่มีอยู่ได้ดีขึ้น หรือสำหรับคนที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งอยู่แล้วอาจได้ทักษะใหม่เพิ่มขึ้นมาเรียกค่าตอบแทนได้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

160935009645

  •  ความท้าทายของนายจ้าง และผู้บริหาร ในโลกการทำงาน 2021 

ไม่ใช่แค่ในมุมของคนทำงานเท่านั้น ด้านผู้บริหาร หรือผู้ว่าจ้างงานในยุคใหม่นับตั้งแต่นี้ ก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมการทำงานของคนทำงานยุคใหม่เช่นเดียวกัน โดย กานติมา เลอเลิศยุติธรรม ได้พูดถึงแนวโน้มของคนทำงานยุคใหม่ไว้ว่า 

- คนรุ่นใหม่ไม่นับถือผู้บริหารที่ระดับชั้นการบริหาร แต่จะนับถือคนที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับเขาได้ 

- “คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานประจำ” คนที่มีศักยภาพไม่อยากทำงานให้แค่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง 

- อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เข้าถึงการทำงานได้ตลอดเวลา work life integration กำลังสำคัญขององค์กรจึงไม่ใช่พนักงานประจำและไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ในองค์กร

- การลงทุนแต่เทคโนโลยี แต่ไม่มีคนที่สามารถใช้เทคนั้นได้จะเสียเปล่า

- เมื่อองค์กรไม่ต้องการงานประจำ จะเป็นการจ้างงานร่วมกัน outsource จะกลายเป็นเรื่องปกติ

- คนรุ่นก่อนว่าเวลาเราเจ็บป่วยองค์กรดูแลยังไง คนรุ่นใหม่ องค๋กรจะดูแลเรายังไงไม่ให้ป่วย

เมื่อคนเจน Z และคนเจน Y ตอนปลาย เข้าสู่ระบบแรงงานเต็มรูปแบบ พวกเขามีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อนๆ คือ ไม่ชอบการทำงานแบบผูกมัด ต้องการอิสระ ต้องการบรรยากาศการทำงานที่ดี อยากเติบโต ไม่ค่อยยึดติดกับองค์กรใหญ่และความมั่นคง ฯลฯ นั่นหมายความว่า ผู้จ้างงาน และผู้บริหาร ที่ต้องแบกรับโอกาสในการ “Turn over” หรือ “การเปลี่ยนงาน การลาออก” ที่เร็วขึ้น ทำให้การรักษาคนรุ่นใหม่ที่เก่ง มีทักษะที่หลากหลายและตรงกับความต้องการให้อยู่กับองค์กรเป็นเวลานานๆ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นเดียวกัน

คนรุ่นก่อนว่าเวลาเราเจ็บป่วยองค์กรดูแลยังไง คนรุ่นใหม่ องค๋กรจะดูแลเรายังไงไม่ให้ป่วย

พูดกันง่ายๆ ก็คือ ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งในการหมุนของโลกเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานในองค์กร ทำงานอิสระ ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการ หรือไม่ว่าจะเป็นใครตาม ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่เสมอจึงจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยากเย็นเกินไปเมื่อความไม่แน่นอนนั้นมาถึง!