ปลูกเก๊กฮวยก็รวยได้...ด้วยงานวิจัย
ทุ่งสีเหลืองอร่ามของ 'ดอกเก๊กฮวย' ตัดกับเส้นขอบฟ้าและปุยเมฆขาว บนพื้นที่สูงของ 'ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ' ไม่เพียงเป็นภาพจำให้ถ่ายรูปเช็คอินเหมือนแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป หากเป็นรายได้หลักของชาวเขาและเกษตรกรบนพื้นที่สูง
“ตอนนี้รายได้จากการปลูกดอกเก๊กฮวยและดอกคาโมมายล์ กำลังมาที่สองรองจากผลผลิตกาแฟแล้ว”
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เล่าพร้อมอธิบายถึงความเป็นมาของโครงการ การวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกเก๊กฮวยดอกคาโมมายล์ อบแห้ง ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้แก่เกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืน
ทำไมต้องมีงานวิจัยการแปรรูปดอกเก๊กฮวยและคาโมมายล์
“เมื่อก่อนนี้เกษตรกรในพื้นที่ หมู่บ้านสะโงะ อ.เชียงแสน จว.เชียงราย ก็ปลูก เก๊กฮวย (เบญจมาศ หรือ Chrysanthemum) และ คาโมมายล์ (Chamomile พืชวงศ์เดียวกับดาวเรือง, ดาวกระจาย กลีบดอกสีขาว ตรงกลางสีเหลือง ใช้ทำเครื่องดื่ม ยา อาหาร น้ำหอม เครื่องสำอาง) แล้วแปรรูปโดยอบแห้งเพื่อจำหน่ายให้ฝ่ายการตลาดและโรงงานแปรรูปของโครงการหลวงเพื่อเพิ่มมูลค่า เนื่องจากศูนย์ฯ อยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 500 เมตร จึงไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเมืองหนาว อีกทั้งดินยังมีความเป็นกรด จึงทำให้เกษตรกรมีพืชทางเลือกน้อย จนมีการทดลองส่งเสริมให้ปลูกชาดอกไม้ (คาโมมายล์) จนพบว่าผลผลิตมีคุณภาพดี มีการแปรรูปส่งให้มูลนิธิโครงการหลวงเป็นผู้จำหน่าย โดยโครงการหลวงสะโงะรับซื้อดอกคาโมมายล์สดจากเกษตรกร
ในการปลูกมีวิถีชีวิต มีภูมิปัญญาอยู่เดิม อย่างไรก็ตามปลูกแล้วก็ต้องเอาไปแปรรูปโดยการอบแห้ง แรก ๆ ศูนย์สะโงะ พยายามขนส่งไปที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่เหียะ เชียงใหม่ ซึ่งไกล นอกจากเรื่องต้นทุนยังมีเรื่องวัตถุดิบที่อบแห้งแล้ว เกิดความเสียหายระหว่างทางด้วย เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติจึงค่อนข้างยากที่จะส่งเสริมให้ชุมชนหรือเกษตรกรปลูกคาโมมายล์ให้ได้คุณภาพ ประกอบกับในรูปแบบเดิมของชุมชนที่นั่น ศูนย์สะโงะ ใช้เครื่องอบเป็นเครื่องอบแบบรุ่นธรรมดา ใช้ความร้อนใส่เข้าไปและให้วัตถุดิบค่อย ๆ ทยอยแห้งไป ความสม่ำเสมอของการแห้งจะไม่มี การควบคุมความชื้นทำไม่ได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพผลผลิต ส่วนที่เจอกับความร้อนสูง ๆ จะมีสีคล้ำไป ส่วนที่เจอความร้อนกลาง ๆ จะแปรปรวนเรื่องความชื้น ส่งผลให้เมื่อไปอยู่ในสภาพอากาศข้างนอก ตอนที่เก็บรวบรวม จุลินทรีย์ที่มีในธรรมชาติแต่เดิมก็จะเข้าไปทำลาย และปนเปื้อนอยู่ในวัตถุดิบที่อบแห้ง ข้อนี้เป็นประเด็นปัญหาหลัก ในช่วงก่อนที่เราจะเข้าไปทำวิจัยก็มีคนทำคาโมมายล์อยู่สักสิบกว่าครัวเรือน แต่ สวก.เห็นว่า บทบาทหน้าที่ของ สวก.เราพร้อมขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในทุกชุมชนด้วยการใช้งานวิจัย จึงเป็นที่มาที่เราให้ทุนกับอาจารย์ที่แม่โจ้ เพื่อไปวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้”
ที่มาของทุนวิจัยของ สวก. จึงเริ่มจากนักวิจัยก่อน
“เราทำงานร่วมกันครับ โดย ผศ.ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้รับผิดชอบงานวิจัย สวก. เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย ในโครงการ งานวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์ และดอกเบญจมาศ (เก๊กฮวย) อบแห้ง ของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ (Drying Process Development of Chamomile and Chrysanthemum for Sa-Ngo Royal Project Development Center) ที่พร้อมนำทางให้เกษตรกร สร้างอาชีพ มีรายได้ และให้ความมั่นคงแบบยั่งยืน โดยโจทย์หลักของงานวิจัยคือ การพัฒนากระบวนการแปรรูปชาดอกไม้อบแห้งที่มีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ของโครงการประมาณ 200 ไร่”
เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องอบเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
“ใช่ครับ เมื่อปี 2551 ได้เริ่มส่งเสริมให้ปลูกและแปรรูป ดอกเก๊กฮวย (เหลืองสะโงะ) อบแห้ง ทำให้เกิดโครงการพัฒนากระบวนการแปรรูป ดอกคาโมมายล์ และดอกเก๊กฮวยหรือดอกเบญจมาศอบแห้ง กลายเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูป มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้น ถือเป็นกุญแจสำคัญในการคงคุณค่าทางโภชนาการ ให้คงไว้ซึ่งกลิ่น รส และยืดอายุการเก็บรักษา
แต่จากการวิจัยของ ดร.ฤทธิชัย พบว่า ใน การแปรรูปชาดอกไม้อบแห้ง ของศูนย์ฯ สะโงะ พบว่าไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากประสิทธิภาพของ เตาอบแห้ง ของศูนย์ฯ จำนวน 3 เตามีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้การกระจายความร้อนในห้องอบแห้งไม่สม่ำเสมอ มีสภาพการใช้งานไม่ค่อยดีนัก และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการสร้างลมร้อนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการอบแห้ง ส่งผลให้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2556 จึงเริ่มทำวิจัยกัน ตั้งสมมุติฐานไว้ว่าแก้ไขปัญหาเรื่องของความร้อนในเตาอบไปไม่ทั่วถึงและไม่เท่ากัน โดยไปเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ ส่วนที่หนึ่งคือไปทำให้ความร้อนที่เราใส่เข้าไปในเตาอบมีการกระจายตัวและมีความร้อนที่ทั่วถึงเท่ากันในทุก ๆ ส่วนของห้องอบ ส่วนที่สองพยายามควบคุมเรื่องการเปิดปิดในแต่ละเฟสให้มากขึ้น ไม่ใช่ให้ความร้อนสม่ำเสมอตลอดเวลาตั้งแต่ต้นถึงจบ มีการเบาลงเพื่อให้ความร้อนเหมาะกับสภาพวัตถุดิบที่เราป้อนเข้าไป จากผลการวิจัยได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี
หลังทำแล้ววัตถุดิบที่แปรรูปหลังการอบ มีความสม่ำเสมอเรื่องความชื้นมากขึ้น มิติต่อไปคือเมื่อความชื้นได้ คุณสมบัติได้ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ลดลงทันที คุณภาพของวัตถุดิบสม่ำเสมอ ถ้าเราทำเกินไปก็จะได้ทั้งร้อย การควบคุมคุณภาพดีขึ้น ประเด็นหลักเลย เราไปดูโรงอบของเกษตรกร ตอนแรกไม่ได้มาตรฐานเลยไปแนะนำเกษตรกรให้เข้าใจระบบ GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานของการบรรจุ สุดท้ายเราปรับปรุงจนได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคและเป็น food safety”
ผลลัพธ์ที่ได้ตรงตามความมุ่งหมายแค่ไหน
“จากผลลัพธ์นี้เราสามารถขยายการผลิต จากสิบครัวเรือนเป็นร้อยครัวเรือน นอกจากนี้ยังทำให้สัดส่วนการเอาวัตถุดิบจากสดมาทำเป็นแห้งเพิ่มมากขึ้นด้วย เช่นก่อนหน้านี้ดอกเก๊กฮวย 10 กิโลกรัม มาอบแห้งได้ 1 กิโลกรัม เพราะเกิดการสูญเสีย พอมีเครื่องอบลมร้อนสามารถใช้ดอกเก๊กฮวย 7 กิโล สามารถอบแห้งได้ 1 กิโล ส่วนดอกคาโมมายล์สดอยู่ที่ 6 กิโล อบแห้งได้ 1 กิโล และลดอัตราการใช้พลังงานมากกว่า 120% เป็นการเพิ่มรายได้จากวัตถุดิบที่เราป้อนเข้าไปด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องเหมาะสม”
พอเกษตรกรมีรายได้เพิ่มก็ส่งผลให้ปลูกเพิ่มขึ้น
“เกษตรกรสนใจมาก กลับมาเพาะปลูกชาดอกไม้ทั้งสองชนิดเพิ่มขึ้น อัตราการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จากก่อนหน้านี้ตอนเริ่มต้นโครงการมี 10 ครัวเรือน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 250 ครัวเรือน ซึ่งปีที่แล้ว ศูนย์ฯ สามารถอบแห้งชาดอกไม้รวม 85 ตันสด และมีรายได้กลับสู่เกษตรกรมากกว่า 5.85 ล้านบาท
ทั้งนี้เราก็ขยับขึ้นไปอีกโดยไปออกแบบร่วมกับนักวิจัยว่า ถ้าเราทำถาด (อบ) ให้เกิดการหมุนเวียนเพื่อความแม่นยำในการจ่ายความร้อนในทุกส่วนของตู้อบ และจะช่วยประหยัดความร้อนไปเท่าตัวเลย ส่งผลดีเชิงต้นทุน ทำให้ใช้วัตถุดิบน้อยลง ดอกไม้ที่เก็บมาแล้วไม่กระจุกตัวมารอการอบ
เกษตรกรส่วนหนึ่งกลับถิ่นฐานด้วย จากสถานการณ์โควิด คนหนุ่มสาวที่ทำงานในเขตตัวเมืองอุตสาหกรรมเกิดตกงานก็กลับมาช่วยครอบครัวทำการเกษตร พอมีรายได้เลี้ยงชีพได้ก็ไม่คิดจะละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ทำให้ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงคือ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพทียั่งยืน นับว่าเป็นความสำเร็จของโครงการวิจัย”
ดอกไม้อบแห้งทั้งสองชนิดจะเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตลอดไปหรือไม่
“เนื่องจากมีตลาดอยู่แล้ว เราก็รู้ถึงสรรพคุณของน้ำเก๊กฮวยและชาคาโมมายล์ อีกทั้งกลุ่มคนรักษ์สุขภาพก็นิยมใช้มากขึ้นด้วย และคนกลุ่มรุ่นใหม่ที่กลับมาปลูกเก๊กฮวยเขาก็มีแนวคิดก้าวหน้าทันยุค New Normal อยากจะเอาเก๊กฮวยและคาโมมายล์แปรรูปที่อบแห้งแล้วไปขายผ่านออนไลน์ ซึ่งทำได้ดีพอสมควร ชุมชนก็ได้ประโยชน์ อีกทั้งสร้างมิติใหม่ ๆ เพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผู้บริโภคด้วย
ซึ่งตอนนี้ เก๊กฮวยและคาโมมายล์กลายเป็นพืชเศรษฐกิจเบอร์ 2. รองจากกาแฟ เพราะความมั่นใจในวัตถุดิบ ยิ่งเป็นผลผลิตที่เราใช้ในการชง การดื่ม หรือกิน เป็นการบริโภคโดยตรง ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราสามารถยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพได้ โดยเฉพาะไม่มีจุลินทรีย์ปนเปื้อน ราคาที่ได้ก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ดอกไม้อบแห้งทั้งสองชนิดสามารถทำรายได้สี่หมื่นถึงห้าหมื่นบาท (ต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว 6 เดือน) ถือว่าเป็นรายได้ที่ดี ปัจจุบันศูนย์สะโงะฯ ได้เพิ่มราคารับซื้อดอกเก๊กฮวยจากราคา 42.5 บาทต่อกิโลกรัม (ราคารับซื้อก่อนดำเนินโครงการวิจัย) เพิ่มเป็น 47 บาทต่อกิโลกรัมสด และเพิ่มราคารับซื้อดอกคาโมมายล์จาก 50-55 บาท เพิ่มเป็น 70 บาทต่อกิโลกรัม”
งานวิจัยช่วยเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ถ้าต้องการทุนวิจัย ทำอย่างไร
“สวก. ในฐานะหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยด้านการเกษตรและการบริหารจัดการทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขับเคลื่อนงานตามนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สวก.ก่อตั้งเมื่อปี 25346 ปัจจุบันย่างปีที่ 18 ภารกิจหลัก ๆ คือ 1. ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยด้านการเกษตร 2.ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านการเกษตร 3. เป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรของทั่วประเทศ
ภาพรวมของ สวก.17 ปีที่ผ่านมา เราสนับสนุนทุนวิจัยไปแล้วมากกว่า 5,000 ล้านบาท จำนวนโครงการที่เราให้ไปประมาณ 1,700-1,800 โครงการ การจะให้ทุนวิจัยนั้นขึ้นอยู่กับข้อเสนอของโครงการว่ามีความชัดเจน หรือตอบโจทย์ปัญหาของชุมชน ของ ประเทศในภาคส่วนนั้นมั้ย ดูจากประเด็นปัญหา เช่น ปลาไม่กินลูกน้ำเลย ปัญหาของใครไม่รู้ ไม่ใช่ปัญหาของภาคเกษตร แต่ถ้าบอกว่าเลี้ยงปลานิลแล้วเป็นโรค ฟาร์มกุ้งเลี้ยงแล้วตายหมด โรคตายด่วน เป็นปัญหาของกลุ่มเกษตรกร เป็นปัญหาของภาคการเกษตร เป็นปัญหาของผู้ประกอบการ ในการแปรรูป หรือเจอปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อรา แล้วนำไปสู่เรื่องการวิจัยได้ งานวิจัยจะเริ่มกระบวนการจากประเด็นปัญหาที่อยู่ในภาคการเกษตรก่อน”
งานวิจัยเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรมีอะไรบ้าง
“งานเร่งด่วนจริง ๆ เป็นเรื่อง food safety ซึ่งถือเป็นงานหลักของเราเลย อีกเรื่องคือโควิด-19 เป็นเรื่องของสมุนไพรที่ใช้ในเชิงรักษา แต่อาจไม่ไปทดแทนเรื่องยาแผนปัจจุบัน หากเน้นในเรื่องการรักษาให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี มีภูมิคุ้มกัน ประเภทสมุนไพรตัวมาตรฐานก็ใช่ แต่เป็นเรื่องของความคงตัวของสารสกัด เพราะสมุนไพรสมัยก่อนเช่น ฟ้าทะลายโจร เวลากินทีหลายเม็ด หรือกินกำมือหนึ่งสี่เม็ด หกเม็ด เพราะมีสารสำคัญน้อยเพราะไม่คงตัว สมัยใหม่มีวิธีการสกัดที่ดีขึ้น ทำให้ได้สารสกัดที่มีความคงตัวมากขึ้น โอกาสที่เราจะใช้ยาก็อยู่ในขนาดพอดี ๆ ไม่สูงมาก รวมถึงข้อกังวลในเรื่องของการบริโภคด้วย เช่น พลาสติก วัสดุห่อหุ้ม ใช่หมด ไปอยู่ในงานวิจัยของเราหมดเลย”
ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ
“งานวิจัยของ สวก. ที่สำเร็จแล้วเอาไปใช้ประโยชน์แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ กับในเชิงพาณิชย์ เช่น งานวิจัยพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาหาร เราทำงานวิจัยเรื่องอาหาร เครื่องสำอาง เรื่องที่นำไปสู่การทำยา เราขายให้กับภาคเอกชน ขายทรัพย์สินทางปัญญา อยู่ที่ว่าจดสิทธิบัตรหรือเปล่า เช่น ในอดีตเราขายเรื่องการเลี้ยงหอยมุก เราให้นักวิจัยไปทำ สุดท้ายผู้ประกอบการรายใหญ่มารับซื้อเทคโนโลยีของเราไปผลิตขายหอยมุก เรื่องอาหารอีกหลายตัว เช่น สารสกัดจากข้าว ไปทำเป็นยาแก้ผมร่วง อันนี้ขายสิทธิบัตรไป เรื่องของน้ำสกัดจากเป๋าฮื้อ มาทำอาหารสุขภาพ อันนี้เชิงพาณิชย์
ส่วน เชิงสาธารณะ เยอะมาก คือเราไม่หวังผลกำไร เป็นการนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกร จะเกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงกว่า เพราะเกษตรกรปลูกกันเยอะ เช่น พันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่มีลักษณะดี หรือเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตให้ลำไยในเขตภาคเหนือให้กลับมาสมบูรณ์ ด้วยวิธีการตัดแต่งผล การเปิดพุ่ม การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน จัดการน้ำเพื่อให้มีคุณภาพ ทำให้ผลใหญ่ขึ้น อย่างนี้เราให้เกษตรกรไปเลยฟรี ๆ เพราะจะได้ขยายไปใช้ในวงกว้าง เรียกว่าเป็นประโยชน์ในเชิงสาธารณะ และได้รับความสำเร็จค่อนข้างสูง
เชิงนโยบาย เราทำหลายเรื่อง เช่น ไขมันทรานส์ เราทำงานเชิงนโยบายให้ อย. ที่ใช้ข้อมูลของเราจากงานวิจัยเรื่อง ไขมันทรานส์ ไปเป็นเงื่อนไขในการกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ในอาหารต้องมีหรือไม่มีอะไรเท่าไหร่ ประกาศออกเป็นระเบียบของสาธารณสุข เรื่องไขมันทรานส์ส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยของ สวก.”
ประชาชน หรือเกษตรกรที่สนใจอยากชมผลงานการวิจัยช่วยเกษตรกรในเรื่องต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในงานเกษตร เข้าไปรับชมข้อมูลได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สวก. และที่เว็บไซต์ https://www.arda.or.th/