7 วิธีรับมือการ 'บูลลี่' ในโลกออนไลน์ เอาชนะ 'Cyberbullying'
ทำไม "Cyberbullying" จึงกลายเป็นเรื่องน่ากังวลในสังคมไทยปัจจุบัน ชวนไขข้อสงสัยในประเด็นนี้ รวมทั้งรู้จัก 7 วิธีรับมือการ 'บูลลี่' ในโลกออนไลน์ เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกคุกคาม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้เราทุกคนต่างก็เคยพบเจอการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า "Cyberbullying" กันมากขึ้น เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถเข้าใช้งานได้ตลอดเวลา อีกทั้งผู้ใช้งานก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อหรือหน้าตา ยิ่งทำให้กลุ่มคนที่ชอบ "บูลลี่" คนอื่น รู้สึกสนุกไปกับการกลั่นแกล้งมากขึ้น เพราะตามตัวได้ยาก
แต่เดี๋ยวก่อน.. คนที่ถูก "บูลลี่" (เหยื่อ) อย่าเพิ่งคิดว่าพวกนิสัยเสียเหล่านั้น จะรอดตัวหรือลอยนวลไปได้ง่ายๆ เพราะวันนี้เรามีวิธีรับมือกับการถูกบูลลี่ในโลกออนไลน์มาฝากกัน รู้แล้วจำ และนำไปทำตาม!
มีข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ระบุว่า การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การต่อว่า หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมโซเชียลต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยสาเหตุอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการแกล้งกันเล็กๆ น้อยๆ แล้วบานปลายไปด้วยความไม่ตั้งใจ หรือเกิดจากความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล แล้วใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์โจมตีกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทั้งหมดนี้ อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น กรมสุขภาพจิต จึงมีคำแนะนำวิธีการจัดการหากถูกบูลลี่ ดังนี้
1. อย่าตอบโต้
อย่าตอบโต้หรือพูดอะไรไปในทำนองเดียวกัน เพราะการตอบกลับในรูปแบบเดียวกัน หรือคุกคามอีกฝ่ายเพื่อแก้แค้น มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
2. เก็บหลักฐานเมื่อถูก "บูลลี่"
หากคุณพบเจอการ "ไซเบอร์บูลลี่" ในลักษณะที่คุกคามและไม่สบายใจ แนะนำให้แคปภาพหน้าจอ และทำบันทึกเอาไว้ในคอมพ์หรือมือถือ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความหรือดำเนินคดีได้
3. "กดรีพอร์ท" แล้วบล็อกบัญชี
สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่จะมีฟังก์ชั่นให้บล็อกบัญชีผู้ใช้นั้นๆ และสามารถกดรีพอร์ทผู้ใช้คนที่เป็นไซเบอร์บูลลี่ได้
4. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
หากกดรีพอร์ทหรือบล็อกไปแล้ว แต่ตัวคนบูลลี่ยังไม่หยุดอีก! เช่น สมัครบัญชีใหม่เพื่อมาบูลลี่คุณต่อเนื่อง แบบนี้แนะนำให้ไปตั้งค่าความเป็นส่วนตัวแบบไม่เปิดสาธารณะ และไม่ควรคอนเน็คกับคนที่คุณไม่รู้จักตัวตนจริง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเจอพวกชอบบูลลี่คนอื่นแบบนี้อีก
5. แจ้งตำรวจ
ถ้าคุณถูกคุกคามหรือทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัย คุณควรแจ้งตำรวจ ถ้าคุณถูกไซเบอร์บูลลี่จากคนที่ทำงานหรือคนที่เรียนที่เดียวกัน ควรรายงานกับหัวหน้าหรืออาจารย์
6. นัดคุยกับอีกฝ่ายแบบเจอหน้ากัน
หากต้องการจบปัญหาความขัดแย้งที่เป็นต้นเหตุของการ "บูลลี่" ในเรื่องนั้นๆ บางครั้งการนัดเจอเพื่อพูดคุยกันดีๆ อย่างสันติ ก็เป็นทางออกที่ดี แต่ต้องให้มั่นใจว่าควรมีคนกลางอยู่ด้วย และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้
7. คุยเรื่องนี้กับใครสักคน
การถูกไซเบอร์บูลลี่มีผลกระทบต่อผู้ถูกบูลลี่หลายด้าน เช่น ทางอารมณ์และสภาพจิตใจ การคุยกับคนอื่นไม่ใช่แค่ช่วยหาคนสนับสนุน หรือเพื่อช่วยผ่อนคลายความทุกข์เท่านั้น แต่เป็นการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานด้วย
--------------------------
ที่มา : springnews