ปู แบล็คเฮด “ป่วยก็รักษา” วาทะสลายทุกข์ในใจแฟนสาวเผชิญภาวะป่วยโรคมะเร็ง
"ปู แบล็คเฮด" ประคองแฟนสาว “นุกซี่” นั่งวีลแชร์จากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง ให้กำลังใจพร้อมเปิดใจการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัว “สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง" ของ ออย-ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการ Art for Cancer
ศิลปินนักร้อง-นักแสดง “ปู แบล็คเฮด” หรือนาย อานนท์ สายแสงจันทร์ พาแฟนสาว “นุกซี่-อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์” ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม เข้าร่วมงานแถลงข่าวการเปิดตัว สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง ใน “โครงการบันทึกพิชิตมะเร็ง” เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ก.พ.2565 ณ อาคาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ
ในโอกาสนี้ร็อกเกอร์หนุ่ม “ปู แบล็คเฮด” และแฟนสาว “นุกซี่” ได้ร่วมกันให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งอัพเดทการรักษาและอาการป่วยจากมะเร็งล่าสุดของแฟนสาวนุกซี่ที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล
แฟนสาวนุกซี่กับการรักษาล่าสุด
“ย้อนไปประมาณสองอาทิตย์ที่แล้ว มีอาการปวดหัวจากการรักษาด้วยคีโม(ฉายแสง)มาแล้ว 18 ครั้ง แล้วพักมาประมาณสองเดือน เมื่อประมาณสองอาทิตย์ที่แล้วปวดหัว ก็เลยกลับเข้าไปหาคุณหมอ ก็พบว่าเหมือนมีจุดที่สมอง...เล็กๆ นะคะ ก็เลยฉายแสงไป 10 ครั้ง ก็นอนที่โรงพยาบาลไปสิบวันเลย เพราะว่าจะได้อยู่ใกล้ๆ คุณหมอ” คุณนุกซี่ กล่าว
การนอนพักรักษาตัวอยู่บนเตียงโรงพยาบาลนานติดต่อกันเป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ครั้งนี้ ทำให้คุณนุกซี่มีอาการข้างเคียง “กล้ามเนื้อขาลีบลง” ขาอ่อนแรง เดินไม่ถนัด แต่ยืนทรงตัวได้ เมื่อออกจากโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องนั่งวีลแชร์ช่วย
นุกซี่-อัญพัชญ์ เล่าอาการป่วยโรคมะเร็งของตนเอง
การค้นพบอาการป่วยโรคมะเร็ง
คุณนุกซี่เล่าว่า “ประมาณปี 2564 มีอาการเหมือนเจ็บหน้าอกด้านขวา เป็นช่วงโควิดพอดี ก็ไม่กล้าไปหาหมอ เอาจริงๆ เวลามีก้อนในหน้าอก นุกก็เสิร์ชเน็ตก่อน เป็นเรื่องเริ่มต้นเลย หาคำตอบเพื่อเลี่ยงว่าเราไม่เป็น
พอทนมาสามเดือน ก็รู้สึกว่ามันกำเริบ มันเจ็บมากแล้ว ประมาณเดือนสาม(มีนาคม)นุกก็ได้รับการผ่าตัด
จริงๆ พอเรารู้ว่าเราเป็น สิ่งแรกเลยคือมันสับสนมาก จากที่เราก็ทำงาน อายุยังน้อย พอเป็นปุ๊บก็เหมือนโลกถล่มทลายเลย
แต่หลังจากนั้น พี่ปูเป็นคนให้กำลังใจนุกว่า ‘ป่วยก็รักษา’ คำนี้มันง่ายและมัน touch ใจมาก คือจากการที่เราจะตายแล้วเหรอ เราจะอยู่ได้นานแค่ไหน ทำไมต้องเป็นเรา ป่วยก็รักษา..คือจบเลย หลังจากนั้นเดือนสามรักษามาจนกระทั่งธันวาคมที่ผ่านมาก็คีโมไป 18 ครั้ง”
ปู แบล็คเฮด เล่าประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ปู แบล็คเฮด “เรารู้ได้ทางสีหน้า”
“ปกติเป็นศิลปินก็อยู่ในงานบริการอยู่แล้ว พอดูแลคนป่วยก็เป็นงานบริการที่เพิ่มขึ้นมาอีก เพราะว่าทำหลายอย่าง ไม่ได้ร้องเพลงบริการอย่างเดียว คล้ายๆ คนใช้นิดหนึ่ง แต่เต็มใจทำครับ
โดยปกติแล้วคนดูแลคนไข้ จะเป็นคนที่สนิทและใกล้ชิดคนไข้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะเห็นอาการทางสีหน้าได้ชัดเจนที่สุด เพราะเราใกล้ชชิดเขามาก ไม่ว่าจะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัวหรืออะไรพวกนี้ เราจะใกล้ชิดที่สุด และเรารู้ได้ทางสีหน้า เพราะฉะนั้นต้องสังเกตอาการ และทำตามอาการ” ปู แบล็คเฮด กล่าวจากประสบการณ์ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
"อยากให้เขาได้สบายในการดูแลรักษาตัวเอง" จากใจผู้ดูแล
ให้กำลังใจผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ในการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง บางครั้ง “ผู้ดูแล” อาจไม่พร้อม หลายคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดบ้าง ในเรื่องนี้ “ปู แบล็คเฮด” ให้กำลังใจเพื่อนๆ ที่กำลังเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งด้วยว่า
“จริงๆ ส่วนใหญ่ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งจะเป็นคนสนิทและใกล้ชิดกับเขาอยู่แล้ว เวลาเราทำอะไรเพื่อบริการเขา ต้องทำด้วยใจมาก่อน แต่ถ้าเราทำในกรณีที่เขาเป็นผู้ป่วย แต่เราไม่ได้ใส่ใจ มันจะมีอารมณ์อยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำด้วยใจ อยากให้เขาจากที่เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ ณ วันนี้ อยากให้เขาได้สบายในการดูแลรักษาตัวเองก็เพียงพอ จะทำให้เราลดขั้นตอนในกระบวนการความคิด ว่าทำไมเอาอีกแล้วเหรอ ทำไมต้องมีปัญหายุ่งยาก ทำไมชีวิตประจำวันในแต่ละวันที่เราต้องไปทำงานอย่างเดียว กลับเข้าบ้านต้องมามาดูแลอะไรอีกเหรอ จะได้ลดขั้นตอนนี้ไป ถ้าเราทำด้วยใจนะครับ”
นุกซี่, ออย-ไอรีล, ปู แบล็คเฮด ในงานแถลงข่าวฯ
โครงการบันทึกพิชิตมะเร็ง
สำหรับ “โครงการบันทึกพิชิตมะเร็ง” เกิดจากแรงบันดาลใจและความตั้งใจของ ออย-ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการ Art for Cancer by Ireal ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4
ด้วยวัตถุประสงค์และความมุ่งมั่นที่จะส่งต่อแนวทางการรับมือกับโรคมะเร็ง ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ครอบครัว และผู้ดูแลใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโรคมะเร็ง โดยมี สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง ฉบับปรับปรุง ปี 2565 เป็นเพื่อนร่วมทาง
"สมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง ฉบับปรับปรุง ปี 2565" ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐและเอกชน มีเป้าหมายส่งมอบให้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง จำนวน 20,000 คนในเบื้องต้น ผ่าน 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ