ส่อง "ความกตัญญู" ในแง่มุม "จิตวิทยา" ที่อาจไม่ใช่การให้เงินพ่อแม่เสมอไป

ส่อง "ความกตัญญู" ในแง่มุม "จิตวิทยา" ที่อาจไม่ใช่การให้เงินพ่อแม่เสมอไป

"ความกตัญญู" อาจไม่เท่ากับการเอาเงิน 5 ล้านบาทมากองให้พ่อแม่เสมอไป เมื่อลูกๆ ยุคนี้ ต้องเอาชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด ภาวะเงินเฟ้อ ค่าแรงต่ำ จนแบกความกตัญญูในแบบที่พ่อแม่บางคนคาดหวังไม่ไหว

จากดราม่าร้อนแรงในโลกโซเชียลกับประเด็น "เอาเงิน 5 ล้านไปกองให้พ่อแม่ คือ ความกตัญญู" ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะลูกๆ หลายคนที่ดูแลพ่อแม่มาตลอด แต่ก็ไม่ได้มีเงินมากองให้บุพการีได้มากมายขนาดนั้น

แม้เจ้าของวลีดังกล่าวจะออกมาขอโทษชาวเน็ต พร้อมยอมรับว่าตนเองไม่สนใจเรื่องโครงสร้างสังคมที่ไม่น่าสนับสนุน และต่อไปจะคิดให้รอบด้านกว่านี้ แต่กระนั้น ชาวโซเชียลก็ยังคงแสดงความเห็นต่อกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า.. พ่อแม่บางคนก็ตัดสินความกตัญญูของลูกจากการส่งเงินไปให้ทุกเดือนจริงๆ

แล้วแบบนี้ พ่อแม่ - ลูก ควรปรับทัศนคติเรื่อง “ความกตัญญู” ให้เข้าใจตรงกันโดยอย่างไร? โดยไม่ต้องทะเลาะให้ใจเจ็บทั้งสองฝ่าย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาเจาะลึกคำว่า "กตัญญู" ในทางปรัชญาและจิตวิทยาให้มากขึ้น

  • ความกตัญญูคืออะไร? มีครั้งแรกเมื่อไหร่?

ก่อนอื่นชวนรู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ความกตัญญู” กันหน่อย รู้หรือไม่? คำนี้มาจากภาษาละติน คือ “Gratus” แปลว่า “ที่ชื่นชอบ, ขอบคุณ” เป็นความรู้สึกหรือการตอบสนองในเชิงบวก โดยผู้รับจะสนองตอบต่อความเมตตา, ของขวัญ, ความช่วยเหลือ หรือความเอื้ออาทรอื่นๆ ไปยังผู้ให้ 

ความกตัญญูถูกพูดถึงทั้งในแง่สังคมวิทยา ปรัชญา และหลักจริยธรรมในหลายๆ ศาสนาทั่วโลก โดยเป็นหัวข้อที่นักปรัชญายุคโบราณ ยุคกลาง และยุคใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นคุณธรรมที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ดี

  • ความกตัญญู ไม่เท่ากับ การเป็นหนี้

ทั้งนี้ การแสดงออกถึงความกตัญญู ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะถือว่าเป็นหนี้บุญคุณต่อผู้ให้ ยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง “หนี้แห่งความกตัญญู : การแยกแยะความกตัญญูและการเป็นหนี้” จากทีมนักวิจัย (Watkins, Scheer, Ovnicek & Kolts) ของหลักสูตรปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (The Chinese University of Hong Kong) 

พวกเขาได้เผยแพร่ผลการศึกษาไว้ว่า แม้การเป็น “หนี้” และ “ความกตัญญู” ทั้งสองอย่างนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีฝ่ายหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอีกฝ่าย แต่ก็มีความแตกต่างกันในความรู้สึกและพฤติกรรมโต้ตอบ  

กล่าวคือ.. การเป็น “หนี้” เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ลูกหนี้จะรับรู้และตระหนักว่าพวกเขามีภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้กับเจ้าหนี้ และการเป็นหนี้จะกระตุ้นให้ลูกหนี้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเจ้าหนี้เสมอ  

ขณะที่ “ความกตัญญู” ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีอารมณ์และความรู้สึกที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ดีในเชิงบวก คือ ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ มักอยากจะค้นหาผู้มีพระคุณเพื่อตอบแทนบุญคุณ และช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีให้ทั้งสองฝ่าย พร้อมส่งต่อพฤติกรรมการเกื้อกูลนี้สู่อนาคตต่อๆ ไปด้วย 

  • ประโยชน์ของ "ความกตัญญู" ในเชิงจิตวิทยา

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความกตัญญูในเชิงจิตวิทยา พบว่ามันมีประโยชน์ในแง่ช่วยปรับปรุงสุขภาพจิตใจ ภาวะทางอารมณ์ให้ดีขึ้น และส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกัน 

โดย Robert Emmons จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย และ Michael McCullough จากมหาวิทยาลัยไมอามี พวกเขาได้ศึกษาและทดลองในประเด็น “จิตวิทยาเชิงบวกของความกตัญญู” พวกเขาทำการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง

โดยให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งเขียนขอบคุณสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เจอมาในชีวิตประจำวันลงในไดอารีเป็นเวลา 13 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่เขียนเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธ

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่เขียนขอบคุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ โดยพบว่าเมื่อเกิดความรู้สึกขอบคุณ (หรือกตัญญูต่อสิ่งรอบตัว - ตามบริบทของงานวิจัยชิ้นนี้) ร่างกายของคนเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่ลึกซึ้ง เช่น

ความเครียดลดลง, กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน, การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น, อัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติ,  หายใจลึกขึ้น, ปริมาณออกซิเจนในเส้นเลือดและเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ 

เหล่านี้ส่งผลให้อารมณ์ดี การตัดสินใจมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างการคิดในแง่บวกแม้ขณะที่เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ ซึ่งเป็นกลไกของจิตใต้สำนึกที่ช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ดีขึ้น

  • บทสรุป "ความกตัญญู" แบบไหนที่เรียกว่าพอดี?

จากงานวิจัยทั้งสองชิ้นพอจะสรุปได้ว่า ความกตัญญูนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนควรมี เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ในเชิงบวกทั้งในแง่จิตใจและอารมณ์แล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในทางอ้อมด้วย 

ส่วนการแสดงออกถึงความกตัญญูนั้น ไม่ใช่การจ่ายหนี้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจใหม่ว่า ลูกไม่จำเป็นต้องนำเงินจำนวนมากๆ มาให้พ่อแม่เพื่อแสดงถึงความกตัญญู ทั้งนี้การที่ลูกให้เงินพ่อแม่ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรให้ตามกำลังของตนเอง

นอกจากนี้ ลูกๆ ยังสามารถแสดงออกถึงความกตัญญูต่อพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณด้วยวิธีอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่แทบไม่ต้องใช้เงินด้วยซ้ำ เช่น

กล่าวขอบคุณพ่อแม่เมื่อท่านช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน, แสดงความรักด้วยการกอด, ช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน, ช่วยเหลือจุนเจือตามกำลังที่ทำได้, หาเวลาไปเยี่ยมหรือพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น 
------------------------------------

อ้างอิง : Gratitude and indebtednesssainte-anastasie.orgyestherapyhelpshmong