จิตติมา ผลเสวก นักรบแห่งตัวอักษร คู่ชุมชนจากภูสูงสุดจรดผืนสมุทรไทย
อาลัย ‘จิตติมา ผลเสวก’ นักเขียนและศิลปิน performance art ผู้ใช้ตัวอักษรและการศิลปะการแสดงสดเป็นปากเสียงต่อสู้เพื่อชุมชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยความอยุติธรรม จากยอดเขาสู่ท้องทะเล
เรื่องราวของขุนเขาบนภูสูงจรดท้องทะเลของผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นความสุขใจหรือทุกข์ระทม จิตติมา ผลเสวก เดินทางไปค้นหาความจริง และนำมาถ่ายทอดผ่านตัวอักษร เรียบเรียงเป็นบทความ เรื่องสั้น สารคดี รวมทั้งภาพถ่าย
คอปือ ฮักก้า เรื่องเล่าจากขุนเขา (พ.ศ.2534), หนทางที่ผ่าน ของขวัญจากมรสุม (พ.ศ.2543), นครราชสีมา (พ.ศ.2545), ข้าวพื้นบ้าน เชื้อพันธุ์แผ่นดินอีสาน (พ.ศ.2546), แผ่นดิน/เมืองใหม่ (พ.ศ.2549), พันธุ์ไม้พื้นบ้าน, อูรักลาโว้ย รอยเท้าแรกของเกาะลันตา, บนแผ่นดินร้องไห้ ใฮ ขันจันทา (พ.ศ.2548), พม่าคราหนึ่ง (พ.ศ.2548), เผ่าชน คน ทะเล, โศกนาฏกรรม คนชายขอบ (พ.ศ.2550), เรื่องรักนักเขียนหญิง (พ.ศ.2539), มิเพียงแค่ค่ายวันแรก (พ.ศ.2549) ฯลฯ
ผลงานเขียนบางส่วนของ ‘จิตติมา ผลเสวก’
คือชื่อผลงานเขียนของ ‘จิตติมา ผลเสวก’ บางเล่มเป็นงานรวมบทบันทึกประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ชะตากรรมของชนเผ่าพื้นเมืองจากการทำลายล้างของรัฐและทุนในกระแสการพัฒนา บางเล่มเป็นงานรวมเรื่องสั้นสร้างสรรค์ร่วมกับนักเขียนท่านอื่นๆ ร่วมยุคสมัย
นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสำคัญในนามของ ‘เครือข่ายศิลปินและประชาคมศิลปวัฒนธรรม’ ที่เคยร่วมรณรงค์เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่ง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รวมถึงกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง
การแสดงสดในเทศกาล Asiatopia International Performance Art Festival ม.ค.2023
ในระยะหลัง ‘จิตติมา ผลเสวก’ เป็นที่รู้จักในนามศิลปินผู้ทำงาน ศิลปะแสดงสด (Performance Art) อาทิ Lay down Project ซึ่งทำร่วมกับศิลปินคู่ขวัญ 'ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง' เป็นโครงการศิลปะแสดงสดทั้งในและต่างประเทศ พูดถึง ‘ความรักและสันติภาพ’
แผ่นดินร้องไห้ (Performance Art)จ.สงขลา มี.ค.2565
พ.ศ. 2547 จิตติมาได้ก่อตั้ง โครงการศิลปะชุมชน (Community Art Project : CAP) ร่วมกับ ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง และเพื่อนศิลปินอีกหลายคน ดำเนินงานต่อเนื่อง
CAP เน้นการทำงานศิลปะในพื้นที่ชุมชนต่างๆ เพื่อนำเสนอเรื่องราวด้านสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวและเสียงต่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ
เช่น พื้นที่แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขง, หมู่บ้านทวาย ชายแดนพม่า, หมู่บ้านชาวอูรักลาโว้ย เกาะลันตา จังหวัดกระบี่, เทพา จังหวัดสงขลา
จิตติมา ผลเสวก ในเทศกาลดนตรี ต่อล้อต่อเสียง#2 หยุดสงคราม (มี.ค.2022)
จิตติมาและกลุ่มศิลปินโครงการศิลปะชุมชน ได้ร่วมกันทำงานศิลปะแสดงสดในพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น จากการพบปะและทำงานกับชาวบ้าน และชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ
พร้อมๆ กับ นำภาพถ่าย วิดีโอ บันทึกความเคลื่อนไหวเหล่านั้น มาถ่ายทอดเป็นนิทรรศการ หรือร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะแสดงสดต่างๆ ให้กับคนในเมืองหลวงได้รับรู้เป็นระยะ
เรือแห่งความหวัง ในเทศกาล BAB2018
ต้นปี 2561จิตติมาจัดการแสดงเดี่ยวในชื่อ ปล่อยให้ฉันร่ายรำ (Let Me Dance) ที่ พีเพิ่ลส์ แกลเลอรี่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีคำโปรยนิทรรศการว่า “ฉันจะร่ายรำได้อย่างไร ในนครแปลกหน้า เราต่างอยากฆ่ากัน” เป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม โดยผ่านสัญลักษณ์การร่ายรำมโนราห์ของทางใต้
รวมทั้งได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงผลงานใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติกรุงเทพฯ หรือ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale - BAB) ในปี 2561 (ต.ค.61-ก.พ.62) โดยเธอสร้างสรรค์ผลงานชื่อ เรือแห่งความหวัง (Boat of Hope)
'เรือแห่งความหวัง' เป็นศิลปะจัดวาง โดยเธอจัดวางเรือของชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลไว้ด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วัสดุของเรือประกอบด้วยไม้, เหล็ก, ผ้าร่ม, ไม้ไผ่, แผงโซลาเซลล์
นำเสนอแนวคิด ‘สายลม แสงแดด พลังงานที่ยุติธรรม’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้พลังงานที่รบกวนโลกและก่อมลพิษต่อมนุษย์น้อยที่สุด
หลังจากป่วยมาระยะหนึ่ง จิตติมา ผลเสวก หรือคุณ ‘เลน’ เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 15.48 น. สร้างความเศร้าเสียใจให้กับเพื่อนพี่น้องในวงการวรรณกรรมและศิลปะ
คุณ สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนสตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความอาลัย ขณะเดียวกันก็เผยความเด็ดเดี่ยวในศักดิ์ศรีและการเป็นนักสู้เพื่อความชอบธรรมให้กับชุมชนไว้โดยไม่รู้ตัว ความว่า
“ถึงพี่เลน --- จิตติมา ผลเสวก Len Jittima
พี่เป็นศิลปิน นักเขียน นักเขียนสารคดีและผลิตวิดีโอสารคดีที่เรานับถือและชื่นชมมาก
ตอนเราเด็กๆ เราอ่านบทสัมภาษณ์หนึ่งที่พี่ให้สัมภาษณ์ เล่าเรื่องหนังสือฉบับหนึ่งที่พี่ส่งงานไป แต่เขาไม่ให้เกียรตินักเขียน พี่ปฏิเสธเงินค่าตอบแทน และเดินจากมา -- เรื่องนั้นเราประทับใจในตัวพี่มาก
แต่วันที่เราโตขึ้น เรายิ่งพบว่าพี่เป็นคนที่น่านับถือมากจริงๆ พี่ปฏิเสธรางวัลบางรางวัลที่เขามอบให้ พี่ยืนหยัดในหลักการของพี่
เมื่อเราเข้าสู่แวดวงนักเขียน มีหลายที่หลายแห่งที่เขาเชิญนักเขียนไปร่วมกิจกรรม (ในช่วงเราอายุยี่สิบกว่า-สามสิบกว่า) เราได้เดินทางร่วมกับพี่บ่อยครั้ง ไม่ว่าบ่อนอกหินกรูด ที่ประจวบฯ (ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน) บนดอยสะเมิง (สานใจคนรักป่า) เชียงใหม่ หรือที่จ.สุรินทร์ เราไปเขียนหนังสือ คนลุ่มน้ำสุรินทร์ ด้วยกัน นั่งเรือพาย (ชาวบ้านพายให้) ด้วยกัน ชาวบ้านได้ปลามาก็ย่างให้เรากินในป่าทามด้วยกัน ตอนเย็นนอนบ้านชาวบ้าน นอนมุ้งเดียวกัน
จนวันวัยผ่านไป เราไม่ได้ไปทำกิจกรรมอย่างแต่ก่อน เราเข้าสู่ระบบงานประจำ ค่อยห่างเพื่อนพี่น้องนักเขียนออกไปๆ --
จิตใจที่มีสำนึกต่อส่วนรวม ทำงานเอื้อประโยชน์ให้กับมวลชนผู้ด้อยโอกาส เสียเปรียบในสังคม การทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เป็นความแน่วแน่มั่นคงของพี่มาอย่างยาวนาน
เราดีใจมากที่ได้เติบโตมาในยุคที่คนรุ่นพี่เป็นแบบอย่างของการไม่ตักตวง กอบโกยให้ตัวเอง เป็นแบบอย่างของนักเขียน ศิลปินที่คิดถึงผู้อื่นเสมอ
ขอพี่เดินทางไกลอย่างปลอดภัย สู่ดินแดนสันติสุขนิรันดร์นะคะ --ที่นั่น พี่ไพศาล อ้ายแสงดาว และหลายๆ คนคงรอพี่อยู่
ด้วยรักและอาลัยยิ่ง”
จิตติมา ผลเสวก กลางเล อ่าวทองคำ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช
จิตติมา ผลเสวก เกิดพ.ศ.2502 ที่จังหวัดสงขลา จบการศึกษาจาก วิทยาลัยช่างศิลป์ กรุงเทพฯ เริ่มต้นเส้นทางการทำงานจากการเป็นนักเขียนสารคดี เรื่องสั้น บทกวี และเริ่มสร้างงานศิลปะหลากรูปแบบทั้งภาพถ่าย สื่อผสม และ ศิลปะสื่อการแสดงสดอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534
เลน-จิตติมา เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม นิทรรศการศิลปะ ผู้หญิงประเวณี- ประเพณี (TradiSextion) ที่ศูนย์ศิลปะบ้านตึก (Concrete House) กรุงเทพฯ ก่อนจะพัฒนามาเป็นเทศกาลศิลปะผู้หญิงนานาชาติ วูแมนนิเฟสโต้ และมีสมาชิกศิลปินหญิงสำคัญหลายคนเข้าร่วมในเวลาต่อมา
ผลงานศิลปะและงานเขียนของจิตติมา มักจะมีเนื้อหาที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือสะท้อนความไม่เท่าเทียมของมนุษยชาติ การเอารัดเอาเปรียบ การครอบงำทางวัฒนธรรม และการล่าอาณานิคมทางทรัพยากรธรรมชาติ เธอได้เข้าร่วมเทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติ Asiatopia ที่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2541
ปีพ.ศ.2560 จิตติมาได้รับ รางวัลมนัส เศียรสิงห์ "แดง" จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติ มุ่งเชิดชูเกียติแด่ศิลปินผู้ทำงานเพื่อ 'สันติประชาธรรม' อย่างต่อเนื่องเกินสิบปี
credit photo :ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง
กำหนด ส่ง..เพื่อการเดินทางครั้งใหม่
เลน จิตติมา ผลเสวก พ.ศ.2502-2566
ศาลา 15 วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี
12 มีนาคม เวลา 16.00 น. รดน้ำ
12-16 มีนาคม เวลา 19.00 น. ร่วมสวดบำเพ็ญกุศล
17 มีนาคม เวลา 14.00 น. ฌาปนกิจ
งดพวงหรีด
ข้อมูลอ้างอิงและภาพ
- พิพิธภัณฑ์นักอ่าน นักเขียน นักแปล
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
- เฟซบุ๊ก Len Jittima