ตามรอย ลิซ่า BLACKPINK ไปวัดมหาธาตุ ชมเครื่องทองโบราณกรุใต้ฐานพระปรางค์
นุ่งผ้าไทยตามรอย ลิซ่า BLACKPINK ถ่ายรูปที่วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา เดินทางชมต่อความสวยงามเครื่องทองโบราณกรุวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ ในนิทรรศการพิเศษ ‘ทองคำในงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา’ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ปลุกกระแสท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจาก ลิซ่า BLACKPINK หรือ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ศิลปินไทยหนึ่งในสมาชิกวง BLACKPINK โพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรมไหว้พระและเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยการสวมใส่ ‘ผ้าไทย’ สวยงามน่ารักเรียบง่าย
หนึ่งในวัดที่ ลิซ่า BLACKPINK โพสต์ผ่านอินสตาแกรมครั้งนี้คือ วัดมหาธาตุ โดยโพสต์ภาพที่ถ่ายรูปคู่กับพระปรางค์ วัดมหาธาตุ และถ่ายภาพเศียรพระพุทธรูปหินทรายซึ่งมีรากไม้ปกคลุม
พระปรางค์ของวัดมหาธาตุแห่งนี้ เป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยา กรมศิลปากร ได้ขุดแต่งและพบของโบราณหลายชิ้นที่สำคัญ โดยเฉพาะ ‘เครื่องทอง’ ซึ่งถือเป็นงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา
ปลาหินเขียนลายทอง
หนึ่งใน เครื่องทองโบราณ ที่พบ คือ ปลาหินเขียนลายทอง ซึ่งไม่ค่อยเห็นบ่อยนัก เป็นผอบหินที่ทำเป็นรูปปลา ลงรักปิดทอง จำแนกว่าเป็นศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 20 พบในกรุใต้พื้นห้องพระปรางค์ วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณใต้ฐานเจดีย์หรือฐานมณฑป
ผอบหินรูปตัวปลาชิ้นนี้แยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน ภายในบรรจุสิ่งของมีค่าต่างๆ อาทิ แหวน ชิ้นส่วนเครื่องประดับ รวมถึงเครื่องถ้วยขนาดเล็ก สิ่งของเหล่านี้สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องใช้ของเจ้านายชั้นสูง นำถวายเป็นพุทธบูชา
ใส่ชุดไทยตามรอย 'ลิซ่า' ไปถ่ายรูปที่วัดมหาธาตุแล้ว ผู้สนใจสามารถไปเดินทางไปชม ปลาหินเขียนลายทอง ของจริงชิ้นนี้ได้ที่ อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดง รวมทั้งกำลังจัดแสดงนิทรรศการพิเศษชุด “ทองคำในงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา”
ชิ้นส่วนฉัตรทองคำ
ภายใน อาคารเครื่องทองอยุธยา ยังมีเครื่องทองของโบราณให้ชมอีกหลายชิ้น อาทิ ชิ้นส่วนฉัตรทองคำ มีลักษณะเป็นแผ่นทองรูปทรงวงกลม แผ่ออกเหมือนดอกบัวบาน
บนแผ่นทองตกแต่งลวดลายเป็นรูปช่อดอกไม้ด้วยงานฝีมือช่างสลักดุน กึ่งกลางเกสรกลางแผ่นทองเป็นช่องสำหรับยึดต่อระหว่างคันฉัตรกับยอดฉัตร ขอบวงกลมทำเป็นสันขอบสำหรับต่อกับระบายฉัตร
ในตำราทางพุทธศาสนากำหนดให้ ‘ฉัตร’ เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งในสมัยอยุธยาตอนต้นยึดตามตำราอย่างเคร่งครัด
ต่อมามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดองค์ประกอบเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตามสมัยนิยม แต่ฉัตรก็ยังถือเป็นเครื่องสูงและเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศของกษัตริย์มาโดยตลอด
ชิ้นส่วนฉัตรทองคำชิ้นนี้พบภายใน กรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แหวนทองคำ ลายกินนรและกินรี
เครื่องทองอีกชิ้นหนึ่งที่มีความสวยงามแปลกตา แหวนทองคำ ลายกินนรและกินรี หัวแหวนมีลักษณะทรงกลม สลักดุนเป็นลวดลายกินนรคู่กินรี ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ ร่างท่อนบนเป็นมนุษย์ ร่างท่อนล่างเป็นนก เมื่อปรากฏอยู่คู่กันมักแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความรักอมตะ ความรักที่เหนียวแน่น
สันนิษฐานว่าอาจได้รับแนวคิดการออกแบบมาจากเรื่อง จันทกินรีชาดก ตอนพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากินนรและมีคู่เป็นกินรี
แหวนทองคำลายกินนรและกินรี พบในกรุประธานชั้นที่ 2 พระปรางค์ประธานของ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แหวนทองคำรูปแม่โคและลูก
เครื่องทองอีกชิ้นที่พบในกรุทั้งที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ คือ แหวนตรารูปแม่โคและลูก หัวแหวนสลักดุนเป็นลายโคแม่ลูกอ่อนในท่าให้นมลูก สัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และสื่อว่ามนุษย์ได้รับการบำรุงหล่อเลี้ยงจากโลก
โดยแม่โคเปรียบเสมือนโลก ลูกโคเปรียบเสมือนมนุษย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลความเชื่อจากอินเดีย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร คือ การเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับมรดกศิลปวัฒนธรรมให้ประชาชนได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่หรือนิทรรศการชั่วคราว
ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ ได้จัดนิทรรศการชั่วคราวขึ้นในพิพิธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี ซึ่งปรากฏว่าประชาชนได้ให้ความสนใจเข้าชมอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องในโอกาส วันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2566 ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จึงจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่าง ๆ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ อาคารเครื่องทองอยุธยา
โดยได้จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ทองคำในงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ทองคำในงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระพิมพ์ แผ่นทองคำรูปสัตว์ พระพุทธรูป ตู้พระธรรม และหีบพระธรรม
วัตถุโบราณในนิทรรศการพิเศษ “ทองคำในงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา”
นิทรรศการพิเศษ “ทองคำในงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา” แสดงเนื้อหาในด้านการผลิตชิ้นงาน และจัดแสดงโบราณวัตถุให้เห็นถึงรูปแบบ อายุสมัย และเทคนิคการสร้าง ให้แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจได้รับทราบ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ทองคำในงานประณีตศิลป์ได้ดียิ่งขึ้น
กรมศิลปากรขอเชิญชวนทุกท่านที่มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ไปร่วมชื่นชมความงามของโบราณวัตถุที่บรรพบุรุษได้ใช้องค์ความรู้สรรค์สร้างไว้มาจนจวบถึงปัจจุบัน ในนิทรรศการพิเศษเรื่อง “ทองคำในงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยา”
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 - 16.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ชั้นที่ 1 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3524 1587
credit photo: กรมศิลปากร