‘Last Photo’ ภาพถ่ายระลึกชีวิต รอยยิ้มที่มีเรื่องเล่าของช่างภาพธำรงรัตน์
ช่างภาพมืออาชีพกับเรื่องราว Last Photo การถ่ายภาพคนกลุ่มต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขอแค่รอยยิ้มและความสุขเล็กๆ
วิธีการถ่ายภาพของช่างภาพคนนี้ พี่ตุ่ย-ธำรงรัตน์ บุญประยูร แม้ไม่แปลก แต่แตกต่าง ก่อนจะถ่ายภาพ(ขาวดำ) เขาจะชวนคุยมากกว่าสั่งให้แอ็คชั่น และเมื่อเห็นว่า ภาพตรงหน้าสื่ออารมณ์ความรู้สึกดีแล้ว ก็กดชัตเตอร์
นี่คือเรื่องราวในโครงการ Last Photo ที่หลายคนอาจเคยได้ยิน หรือเคยร่วมกิจกรรม รวมถึงเคยชมนิทรรศการ ...
- ก่อนจะเป็น Last Photo
ในช่วงวัย 30 กว่าๆ ธำรงรัตน์ ยอมรับว่าถูกเพื่อนรอบข้างเรียกว่า ลุง แต่ปัจจุบันวัย 64 เขาใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า พี่ตุ่ย เพราะเวลาถ่ายภาพให้คนทุกช่วงอายุ ทุกอาชีพ หรือไม่มีอาชีพ ทำให้รู้สึกกลมกลืน
โครงการ Last Photo ของช่างภาพธำรงรัตน์ บุญประยูร
นั่นเป็นวิธีการทำงานของพี่ตุ่ย ช่างภาพมืออาชีพที่เป็นมิตรกับทุกคน จนเป็นที่มาของโครงการ Last Photo นิทรรศการภาพถ่ายที่ชวนผู้คนมาถ่ายภาพสำหรับงานสุดท้ายของชีวิต โดยได้รับการสนับสนุนทุนจาก สสส.
พี่ตุ่ย บอกว่า เวลาถ่ายภาพต้องสร้างความไว้วางใจ ชวนคุย ถ้าโมเมนต์นั้นได้แล้ว ก็กดชัตเตอร์รัวๆ
"ผมจะไม่บอกว่าหันซ้าย หันขวา แค่หลอกล่อให้สบายใจ รู้สึกดีแล้วก็กดชัตเตอร์ ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว โครงการ Last Photo จัดนิทรรศการไปสองครั้ง ใช้เวลา 15 เดือนถ่ายภาพระลึกชีวิตคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจเลย เริ่มจาก กลุ่มแรกๆ ผู้ป่วยระยะท้าย แพทย์พยาบาล ล่าสุดกลุ่มคนไร้บ้าน
“พวกเขาก็อยากได้รูปภาพดีๆ เก็บไว้ในงานสุดท้ายของชีวิต เวลาเราพูดถึง Last Photo คงไม่ได้พูดถึงความตาย แต่พูดถึงคุณค่าและความหมายในการมีชีวิตอยู่
ความตายเป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ ไม่รู้เวลาไหน อดีตแก้ไขไม่ได้ อนาคตไม่แน่นอน พรุ่งนี้จะมีไหม...ไม่รู้ สิ่งที่มีก็คือ เดี๋ยวนี้ การถ่ายภาพนิ่งก็คือ การเก็บความทรงจำ ตัวตน ความรู้สึกในช่วงอายุนั้นๆ เอาไว้”
- ความทรงจำบนภาพถ่าย
เวลาหยิบภาพถ่ายขึ้นมาดู คุณจำสถานที่ ความรู้สึก ห้วงเวลาตอนนั้นได้ไหม...และรู้ไหมใครถ่ายภาพนั้น
พี่ตุ่ย เล่าว่า ช่วงเวลาสั้นๆ ในการถ่ายภาพ 10-15 นาที เราจะชวนคุยเรื่องงาน ชีวิต เราสร้างความไว้วางใจ และเมื่อเห็นว่า ภาพนั้นสื่อความรู้สึกในแบบที่ใช่แล้ว ก็จะกดชัตเตอร์ 10-25 รูป
“ระหว่างเขากับเราไม่มีอะไรเลย นอกจากความไว้วางใจ เหมือนเพื่อนที่กำลังเล่าทุกข์สุขกัน จะบอกให้เขายิ้มก็ไม่ได้ มันต้องเกิดจากความรู้สึกภายใน ”
ช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา พี่ตุ่ยถ่ายภาพคนกว่า 700 คน ตั้งแต่อายุ 18-83 ปี และถ่ายเป็นกลุ่มเล็กๆ มีเพื่อนรออยู่ด้านหลัง
“ระหว่างถ่ายภาพ มีน้องคนหนึ่งเล่าว่า ชอบทำกับข้าวให้แม่และพ่อกิน ดูเขามีความสุขมาก คนที่นั่งฟังอยู่ด้านหลังได้ยินก็ร้องไห้ เพราะเขาไม่เคยทำแบบนี้ให้พ่อแม่เลย แม้พวกเขาจะไม่รู้จักกัน แต่พูดคุยกันได้”
กลุ่มเล็กๆ ที่พี่ตุ่ยเล่าให้ฟัง ถ้ามา 20 คนจะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 5 คน บางทีก็ทำกิจกรรมร่วมกัน เปิดพื้นที่รับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ต้องตั้งคำถาม ไม่ต้องตัดสิน และไม่ต้องให้คำปรึกษา
และนีี่คือส่วนหนึ่งของ Last Photo ที่กิจกรรมเป็นไปตามครรลองของธรรมชาติ เหมือนเพื่อนกำลังนั่งคุยกัน พี่ตุ่ย บอกว่า กิจกรรมของเราทำอย่างเดียวคือ สร้างความไว้วางใจ เรื่องไหนทำแล้วไม่สบายใจ ไม่ทำ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ธำรงรัตน์ บุญประยูร ช่างภาพมืออาชีพ เจ้าของโครงการ Last Photo
- ภาพถ่ายในโลกดิจิทัล
ในช่วงวัยหนึ่งพี่ตุ่ยยอมรับว่า ถ้าไม่ได้เงิน ไม่กดชัตเตอร์ แต่ตอนนี้ถ้านางแบบนายแบบไม่สื่ออารมณ์ความรู้สึก ไม่กดชัตเตอร์ เรื่องนี้อดีตช่างภาพโฆษณา เล่าว่า สิ่งที่ระบบดิจิทัลทำไม่ได้ ก็คือ ภาพที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกของคนๆ นั้นออกมา
"7-8 ปีที่แล้ว ตอนที่งานโฆษณาน้อยลง ก็หันมาเป็นช่างภาพให้นิตยสารเครือรักลูก เวลาถ่ายสัมภาษณ์คน เขาก็เอาเรื่องที่สัมภาษณ์เสร็จให้อ่านแล้วตามไปถ่ายภาพ แต่เราคิดว่า ช่างภาพควรไปนั่งฟังด้วย จะได้เห็นเรื่องราว หน้าตา และความรู้สึกคนที่เราจะถ่ายภาพให้
หลังจากนั้นผมหันมาถ่ายภาพงานการกุศลคนในโรงพยาบาล เด็กกำพร้า ทำไปทำมา มีหลายคนอยากถ่ายแบบนี้บ้าง ก็คิดคนละ 500 บาท ถ้าวันเสาร์อาทิตย์ ผมถ่ายสัก 20 คนก็ได้หมื่นหนึ่ง
จนมาทำพิพิธภัณฑ์แม่ เพื่อนอยากให้ช่วยเป็นแอดมิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่กลับมาดูแลความรู้สึกภายใน ตอนนั้นก็ขอทุนสสส.ทำนิทรรศการ
จนมาทำเรื่อง Last Photo ได้ทุนไม่เยอะ ปีนี้ตั้งใจว่าขยายไปสู่กลุ่มเปราะบาง ทั้งกลุ่มคนพิการ คนไร้บ้าน กลุ่มคนตาบอด กลุ่มหลากหลายทางเพศ
และทุกคนที่ถ่ายให้จะได้ไฟล์รูปถ่ายกลับบ้าน อย่างกลุ่มคนไร้บ้าน ทำงานร่วมกับมูลนิธิอิสรชนเข้าไปที่ชุมชนตรอกสาเก คนกลุ่มนี้ถ่ายในสตูดิโอไม่ได้
“กลุ่มคนไร้บ้านจะเรียกตัวเองว่า ผี เขารู้สึกเหมือนตายไปแล้ว ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี ไม่รู้สึกว่าเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่เราคิดว่า เขามีสิทธิที่จะมีรูปภาพของตัวเอง”
- Last Photo ภาพถ่ายระลึกชีวิต
ก่อนหน้านี้เคยมีคนทักพี่ตุ่ยว่า Last Photo มีความหมายเชิงลบ แต่พี่ตุ่ย บอกว่า ใครสงสัยก็เดินเข้ามา คำตอบที่ได้อาจไม่เหมือนกัน
“ภาพระลึกชีวิตมีสองเรื่องคือ ความตายกับงานศพ ความตายเป็นเรื่องของเรา งานศพไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ว่าเราจะถ่ายรูปออกมายังไง ถ้าคนจัดงานศพไม่ใช้รูปที่ถ่ายไว้...เราก็ไม่มีสิทธิ
เท่าที่เห็นในงานนิทรรศการภาพถ่าย 300-400 รูป ไม่มีใครหน้าตาไม่มีความสุขเลย ก็ยิ้มทุกคน ทั้งๆ ที่เป็นงาน Last Photo ”
คุณลุงพิชัยกับการถ่ายภาพ Last Photo
เมื่อถามว่า กลุ่มที่ถ่ายยากที่สุดกลุ่มไหน... พี่ตุ่ย บอกว่า พวกหมอ
"เคยมีหมอคนหนึ่งเพิ่งออกจากห้องผ่าตัด มาถ่ายรูปกับเรา เราก็บอกไปว่า ให้ทิ้งอาชีพไปก่อน คุยกันแบบพี่น้อง 5 นาที อยู่กับผมแบบมีความสุขได้ไหม เขาก็ผ่อนคลาย หรือเจอลุงพิชัย คนป่วยระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลในขอนแก่น รอเพื่อนที่เหมารถมาด้วยกันกลับบ้าน หมอก็เลยชวนมาถ่ายภาพ
ตอนถ่ายภาพแกยิ้ม หน้าตามีความหวัง ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า มีชีวิตอยู่อีกไม่นาน ลูกที่มาด้วยเห็นภาพพ่อในจอยิ้มก็เดินมาบอกว่า ขอถ่ายรูปกับพ่อได้ไหม ภาพลุงพิชัยจะเป็น 1 ใน 12 ภาพใหญ่ที่ผมเลือกไว้ ในงานศพลุงพิชัยก็ไม่ได้ใช้รูปนี้ "
ตั้งแต่เดือนมีนาคม-ธันวาคม ปี 2567 พี่ตุ่ยวางเป้าหมายไว้ว่า จะถ่ายรูปให้คนกลุ่มเปราะบางอีกหลายกลุ่ม ล่าสุดเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน และวันที่ 3 มีนาคม ชวนเพื่อนๆ หลากหลายทางเพศ LGBTQ ถ่ายภาพที่ร้านบ้านเพื่ิอน Cafe&Space ปากซอยจรัญ 36 ปิ่นเกล้า
“มีคนบอกว่า ถ้าจะทำความดีไม่ต้องขออนุญาตใคร แค่ขอความร่วมมือ เจ้าของร้านวัย 24 ปีที่เราติดต่อไป ไม่คิดค่าเช่าสถานที่ในการถ่ายภาพกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่ผมก็อยากช่วยอุดหนุน ”
นี่คือเรื่องเล่าจากพี่ตุ่ย ซึ่งชีวิตตอนนี้ เขาบอกว่า อยู่ก็ได้ ตายก็ไม่เสียใจ ถ้าตื่นมายังหายใจ ก็ออกไปทำงาน...