ศิลปะและโยคะหลังกำแพงเรือนจำ : ทางเลือกเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
ศิลปะและโยคะ ทางเลือกสำหรับผู้ต้องขัง ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็น ผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษสามารถเอาวิชาความรู้ไปเปิดสตูดิโอสอนโยคะในสวิสเซอร์แลนด์
ไม่ต้องแปลกใจที่มีคนบอกว่า ผู้ต้องขังเกือบครึ่ง (ร้อยละ 45) แม้จะถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ก็ยังกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง
เหตุผลดังกล่าวทำให้มีการสร้างกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนาผู้ต้องขัง เพราะเมื่อใดที่พวกเขาพ้นโทษก็สามารถนำไปประกอบอาชีพ ไม่เดินกลับสู่เส้นทางเดิม
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการนำศิลปะและโยคะเข้าไปสอนคนในเรือนจำ เพื่อเป็นทางเลือกให้คนไร้อิสรภาพได้เรียนรู้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จึงมีการจัดนิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ ในพื้นที่สาธารณชนครั้งแรก
เพื่อนำเสนอผลงานผู้ต้องขังในเรือนจำ 7 แห่งรวมๆ กว่า 400 คน จัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
แม้ผลงานศิลปะที่นำเสนอจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนศิลปินทั่วไป แต่มีความปราณีต ใส่ใจและตั้งใจในการทำ ไม่ว่าการเขียนภาพบนหิน การปักผ้า การแกะหนังตะลุง การดัดลวด ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้ต้องขังรู้สึกว่า ชีวิตไม่ว่างเปล่าเกินไป
การนำศิลปะเข้าสู่เรือนจำเป็นอีกแนวทางที่ควรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่อยู่ที่ว่า ใครจะให้ความสำคัญ เพราะช่วยได้ทั้งเรื่องการเยียวยาจิตใจ สร้างความผ่อนคลาย และสร้างอาชีพ
โยคะ : ทางเลือกพัฒนาจิต
ใครจะนึกว่า ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ เมื่อพ้นโทษแล้วจะใช้วิชาความรู้ในเรือนจำไปเปิดสตูดิโอโยคะเล็กๆ ในสวิสเซอร์แลนด์ และนี่คือผลพวงจากความตั้งใจในการฝึกโยคะ จนกลายเป็นครูโยคะ
นักเรียนโยคะที่กล่าวถึง เมื่อออกจากเรือนจำได้ติดตามสามีไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ มีอาชีพเป็นครูสอนโยคะที่เริ่มจากไม่มีใครรู้จักเลยจนมีผู้เรียนโยคะกว่า 50 คน
“ช่วงที่อยู่ในเรือนจำ ก็ได้เล่นโยคะ ทำให้ชีวิตเปลี่ยน มีเพื่อน และช่วยเรื่องสมาธิ ได้อยู่กับตัวเอง ทำให้รู้สึกว่า วันเวลาผ่านไปเร็วมาก "ผู้ต้องขัง เล่าผ่านคลิปวิดีโอ
โครงการโยคะในเรือนจำมาจากแนวคิดอาจารย์ธีรวัลย์ วรรธโนทัย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) เริ่มต้นเข้าไปสอนโยคะพร้อมทีมงานตั้งแต่ปี 2554 และทำมาอย่างต่อเนื่อง จนพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกครูโยคะให้เรือนจำอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่า ผู้ต้องขังที่ฝึกฝนจริงจังสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
“จากชีวิตที่ถูกลืม แทบไม่มีตัวตนในสังคม ท้อแท้ สิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย เราก็ใช้โยคะเพื่อช่วยลดความเครียดให้ผู้ต้องขัง “ อาจารย์ธีรวัลย์ กล่าวกับผู้เขียนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ปัจจุบันเธอก็ยังมีทีมสอนโยคะในเรือนจำ และไม่เน้นสอนโยคะที่มีรูปแบบเรียบๆ เนิบๆ แต่สอนระดับแอดวานซ์ เพราะผู้ต้องขังบางคนเคยติดยามาก่อน ถ้าเล่นโยคะสไตล์เรียบๆ เธอบอกว่า หลับหมด จึงต้องนำโยคะท่าผาดโผนไปสอน
แต่คนเรียนต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ เพราะเด็กสาวในเรือนจำมักมีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย และได้ประจักษ์ต่อสายตา เมื่อนำโยคะมาแสดงในงาน จึงไม่ใช่โยคะนิ่งๆ เนิบๆ เหมือนเช่นที่ผู้สอนโยคะได้กล่าวไว้
“การสอนโยคะในเรือนจำทำมานานกว่า 10 ปี เพิ่งได้ออกมาโชว์ให้เห็น และเป็นครั้งแรกที่ศิลปะหลังกำแพงเรือนจำได้มาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
คนสร้างงานศิลปะกลุ่มนี้ ต่างมีความฝัน อยากบอกเล่าเรื่องราว เห็นได้จากการเลือกรูปภาพของผู้ต้องขังในงานนิทรรศการส่วนใหญ่เป็นภาพความอบอุ่นที่เคยได้รับจากครอบครัว เพราะชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ศิลปะในเรือนจำที่ทำกัน เราไม่ต้องการงานระดับมาสเตอร์พีช แต่พวกเขาทำออกมาได้ปราณีตสวยงาม และผู้ต้องขังก็อยากมีรายได้ จึงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วัสดุราคาไม่แพง อยู่ในข่ายที่เรือนจำดูแลค่าใช้จ่ายได้ อยากให้คนในสังคมลดความอคติ
เพราะนี่คือโอกาสอันนิดเดียวในการเปลี่ยนชีวิตพวกเขา เพราะงานศิลปะเป็นเสมือนแรงบันดาลใจ” รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้รับผิดชอบโครงการเรือนจำสุขภาวะ เล่า
ศิลปะเพื่อผู้ต้องขัง
แม้งานศิลปะหลังกำแพงจะเป็นแค่ผลผลิตของคนไร้ตัวตนในสังคม แต่พวกเขาก็มีความสุขที่มีคนชื่นชมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นกำลังใจในดำเนินชีวิตต่อไป
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสสส. (รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ) แสดงทัศนะว่า ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นที่ถ่ายทอดออกมามาจากความสิ้นหวัง ความเศร้า ความกดดัน ผสมผสานกับความปรารถนา ความเข้าใจ และการให้อภัย เพราะพวกเขาต้องการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก
ใช้ศิลปะเยียวยาจิตใจเป็นอีกแนวทางที่เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์พยายามให้ความสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจิตใจผู้ต้องขัง จึงมีกระบวนการที่หลากหลาย มีระบบการจำแนกและพัฒนาผู้ต้องขังแต่ละส่วน
ไพรัตน์ ขมินทกูล หัวหน้าผู้ตรวจกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การทำงานในเรือนจำ ถ้าคิดจะพัฒนาผู้ต้องขังให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ก็มีอุปสรรคพอสมควร
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เรามีความรู้ความสามารถไม่หลากหลายมากพอ แต่ผู้ต้องขังมีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่คนไม่รู้หนังสือจนถึงคนเรียนจบปริญญาเอก
"ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงศักยภาพพวกเขาออกมา นอกจากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ฟุ้งซ่าน ยังเป็นการฝึกสมาธิ
และหลายคนอาจไม่รู้ว่า ผู้ต้องขังชายปักผ้าออกมาสวยมาก ผลงานที่เรือนจำในภาคเหนือ เป็นผู้ต้องขังชายที่มีรอยสักเต็มตัว วิทยากรที่สอนก็ต้องกล้าพอ
บางคนอาจไม่รู้ว่า ผู้ต้องขังคดียาเสพติดจะมีอารมณ์ศิลป์อยู่ในตัว บางคนเป็นช่างสัก บางคนเป็นช่างวาดภาพ เมื่อมีผลงานออกมาแล้ว เราก็ดึงคนเหล่านี้มาเป็นแกนหลัก ขยายงานต่อไป" หัวหน้าผู้ตรวจกรมราชทัณฑ์ เล่าสิ่งที่พบเห็นในเรือนจำ
“กลุ่มคนที่สร้างงานศิลปะแบบนี้ไม่เหมือนศิลปินอื่นๆ เพราะผู้ต้องขังอยู่ในพื้นที่เฉพาะ มีความฝันอยากออกจากพื้นที่ตรงนี้ แต่เมื่อออกไปสู่สังคม ก็กลัวว่าจะมีคนยอมรับหรือไม่
ศิลปะหลังกำแพงจึงมีลักษณะพิเศษ มีเรื่องราวที่เขาอยากบอกเล่าต่อสังคม อย่างงานปักผ้าของผู้ต้องขังหญิง พวกเขามักเลือกรูปที่แสดงถึงความรักความอบอุ่น เพราะอยากกอดลูก กอดแฟน ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพความใฝ่ฝัน "
เหล่านี้คือ คือเรื่องราวและโอกาสอันน้อยนิดของผู้ต้องขังกับงานศิลปะและเรื่องดีๆ ที่คนมีอิสรภาพหยิบยื่นให้คนไร้อิสรภาพที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง
ซึ่งการเปิดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังในตอนกลางวันได้ทำงานผ่านงานศิลปะ ปล่อยพลังสร้างสรรค์ เสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อไปสู่เส้นทางที่ทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับจากสังคม