รวมร้านสินค้า Circular Lifestyle ในงาน Swap Up Festival Vol.2
เดอะ ปาร์ค (The PARQ) ร่วมกับ Swoop Buddy และเพจ Go Green Girls ต่อยอดไลฟ์สไตล์แบบหมุนเวียน Circular Lifestyle จัดงาน Swap Up Festival Vol.2 งานออกร้านแบรนด์ที่มีแนวคิดผลิตสินค้าจุดประกายความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม รายได้ส่วนหนึ่งมอบมูลนิธิ Teach For Thailand
เดอะ ปาร์ค (The PARQ) โครงการไลฟ์สไตล์มิกซ์ยูสที่มุ่งพัฒนาออฟฟิศและรีเทลอัจฉริยะภายใต้แนวคิด “Life Well Balanced” ร่วมกับ Swoop Buddy และเพจ Go Green Girls จัดงาน Swap Up Festival Vol.2 เปิดพื้นที่ให้ทุกคนนำเสื้อผ้า ของสะสม หนังสือ และของใช้สัตว์เลี้ยงชิ้น(เคย)โปรด มาแลกเปลี่ยนกัน
รวมถึงกิจกรรมรักษ์โลกอีกมากมายในบรรยากาศที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการส่งเสริม ไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืน หรือ Circular Lifestyle
ศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ ผลงานโดย วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ในงาน Swap Up Festival Vol.2
ภายในงานมีกิจกรรมส่งเสริม ไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืน มากมาย ที่ไม่เพียงสร้างความสนุกสนาน แต่ยังช่วย ลดปริมาณขยะ จากสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน
โซน Conscious Market
รวบรวมร้านค้ารักษ์โลกกว่า 50 ร้าน ซึ่งเป็นสินค้าจากการรีไซเคิล การอัพไซเคิล ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และงานคราฟต์ที่ไม่เหมือนใคร อาทิ Same Thang ที่เห็นคุณค่าบรรจุภัณฑ์เมล็ดกาแฟที่หมดประโยชน์แล้ว นำมาเย็บเป็นกระเป๋า ไอเดียนี้สร้างสรรค์โดย โป๊ป กิตฐนพงษ์ โรจนบวร
Same Thang กระเป๋าจากถุงใส่เมล็ดกาแฟ
โป๊ป กิตฐนพงษ์ โรจนบวร
โป๊ปให้สัมภาษณ์ว่าแนวคิดของเขาเกิดจากความจริงที่ว่า แต่ละปีคนไทยดื่มกาแฟเป็นจำนวนมาก ใช้เมล็ดกาแฟนับหมื่นตัน มีบรรจุภัณฑ์เมล็ดกาแฟเหลือทิ้งเป็นขยะที่ต้องกำจัดด้วยการเผาจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์
บรรจุภัณฑ์ของเมล็ดกาแฟเป็นวัสดุที่มีคุณภาพคงทน เพราะต้องกันน้ำและกันความชื้น เพื่อถนอมคุณภาพของเมล็ดกาแฟ
การนำมาเย็บเป็นกระเป๋า นอกจากช่วยลดขยะ บนซองกาแฟยังมี foot print ของเมล็ดกาแฟในซองว่าผลิตจากแหล่งใด อาจทำให้เกิดการตามรอยสำหรับผู้สนใจที่อยากไปชมไร่กาแฟ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน เช่น ร้านอาหาร วัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยว
One More Thing X Pom Chan
อีกหนึ่งไอเดีย ‘ไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืน’ One More Thing แบรนด์สินค้าที่ผลิตด้วยเส้นด้ายรีไซเคิล (คอตตอน, โพลิเมอร์) ผสมกับเส้นด้ายพิเศษ (คุณสมบัติกันไฟ กันน้ำ) ทอด้วยเทคนิค แจ็คการ์ด (Jacquard) เพื่อให้ได้ผืนผ้าที่ไม่รู้สึกว่ามีความเป็นพลาสติก
สินค้าของ One More Thing มีอาทิ หมวก กระเป๋าหลากหลายรูปทรง โดยคอลลาบอเรตกับนักออกแบบหลายสาขา อาทิ
- ปอม ชาน (Pom Chan) นักวาดภาพประกอบชื่อดัง
- โชน ปุยเปีย แฟชั่นดีไซเนอร์ บุตรชายของ ชาติชาย ปุยเปีย และ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ คนทำงานศิลปะทั้งคู่
- เต้ ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ Designer of the Year 2019 สาขา Textile and Fabric Design
- Karma sound studio เป็นสตูดิโอบันทึกเสียงชั้นนําของเอเชีย มีนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ชั้นนําของโลก
กระเป๋าหลากหลายรูปทรงของ One More Thing
ลวดลายสีสันที่เห็นบนตัวผลิตภัณฑ์ไม่ได้เกิดจากพิมพ์ลาย แต่เกิดจากการทอเส้นใยรีไซเคิลให้เกิดเป็นลวดลายตามต้นฉบับที่ศิลปินออกแบบเอาไว้
แบรนด์ One More Thing สร้างสรรค์โดย ณรงค์ศักดิ์ ทองวัฒนาวณิช ทายาทรุ่นที่สองของโรงงานทอผ้าและรับทำป้ายชื่อโลโก้เสื้อผ้ากีฬาแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์เสื้อผ้าทั่วไป
ปัจจุบัน One More Thing มีวางจำหน่ายที่ One Siam, ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์, ชิค รีพับลิก และร้านมัลติแบรนด์ที่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น
Marion Siam แบรนด์เสื้อผ้าจากวัสดุ Dead Stock
พามาชมร้านเสื้อ Marion Siam (มาริยง สยาม) ออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าจากวัสดุ Dead Stock คือผ้าที่เหลือจากสิ่งทออุตสาหกรรม
ทยิดา อุนบูรณะวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Marion Siam กล่าวว่า เธอนำผ้าเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าใหม่ โดยเขียนลายบาติกลงไปแล้วตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า เสื้อผ้าที่เห็นลวดลายเป็นสีสันทั้งหมดของแบรด์เป็นสีที่เกิดจากการเขียนสีบาติก
เนื่องจากผ้าที่ใช้เป็น Dead Stock ไม่ทราบว่าแต่ละโรงงานเคลือบสีเคลือบสารอะไรมาบ้าง ทยิดาเคยใช้สีจากธรรมชาติในการเขียนบาติก แต่เมื่อผู้บริโภคสวมใส่ได้ไม่นานเมื่อซักแล้วสีธรรมชาติจะหลุด จึงจำเป็นต้องใช้สีเคมี แต่เธอก็ได้เตรียมบ่อบำบัดน้ำจากการใช้สีเคมีและบ่อพักน้ำเตรียมไว้เรียบร้อยภายในบริเวณครัวเรือน
ทยิดา อุนบูรณะวรรณ
“ผ้า Dead Stock ส่วนใหญ่กระบวนสุดท้ายคือการนำไปทำลายทิ้ง ต้องใช้เชื้อเพลิง การผลิตผ้าใหม่แต่ละครั้งต้องใช้ทรัพยากรมากมาย การนำผ้า Dead Stock มาใช้น่าจะช่วยสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง” ทยิดา กล่าว
ทยิดา สำเร็จการศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งใจสร้างแบรนด์แฟชั่นของตัวเองโดยตัดสินใจขอเข้าฝึกงานด้านนี้ตั้งแต่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ทั้ง Fast Fashion และ Slow Fashion จนกระทั่งสร้างแบรนด์ Marion Siam ซึ่งพัฒนามาจากการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง UrbanCraft Batik
บูธ Keimen Kids
อีกหนึ่งทางเลือกแห่งความยั่งยืน Keimen Kids ร้านให้เช่าของเล่นและหนังสือเสริมพัฒนาการเด็กตั้งแต่อายุ 4 เดือน – 5 ขวบ คำว่า Keimen เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า ‘การเติบโต’
เกิดจากความต้องการแก้ปัญหา pain points ของ พิมพ์จุฑา จิระวัฒน์พงศา ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่พบว่ามีของเล่น ‘เหลือจากการเล่น’ เต็มบ้าน เพราะเมื่อลูกๆ โตแล้วก็ไม่เล่นของเล่นเหล่านั้นอีกแล้ว
ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือพ่อแม่อีกกลุ่มช่วยลดค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากการซื้อของเล่นใหม่ มาเป็นการเช่าของเล่น ประหยัดเงินจากการซื้อของเล่นใหม่มือหนึ่ง
Keimen Kids คิดค่าเช่าของเล่นเป็นรายเดือน มีด้วยกัน 2 ราคา คือ 700 บาท และ 1,180 บาท
สำหรับค่าเช่าเดือนละ 700 บาท ผู้เช่าจะได้รับเหรียญ 10 เหรียญ ไว้แลกเช่าของเล่นแต่ละชิ้นที่กำหนดว่าต้องใช้จำนวนเหรียญกี่เหรียญในการเช่า เมื่อนำของเล่นมาคืนก็ได้รับเหรียญ่คืนกลับไป ขณะที่ค่าเช่าเดือนละ 1,180 บาท ผู้เช่าได้รับเหรียญไว้ใช้ 18 เหรียญ
ขณะนี้ Keimen Kids มีสมาชิกซึ่งชื่นชอบแนวคิด Circular Lifestyle ลักษณะนี้แล้วจำนวน 300 ราย ใครสนใจแนวคิดนี้ไปสมัครสมาชิกในงาน Swap Up Festival Vol.2 ได้เช่นกัน
ธนิดา ดลธัญพรภคภพ
อีกหนึ่งแบรนด์รักษ์โลก Ira (ไอรา) ของ ธนิดา ดลธัญพรภคภพ สาวซึ่งเติบโตมากับตำรับสมุนไพรของคุณแม่ โดยเฉพาะแชมพูมะกรูด ทำให้ใครๆ เห็นก็อดชมไม่ได้ทำไมเด็กผู้หญิงคนนี้ผมดกดำสวยงาม
เป็นความทรงจำและแรงบันดาลใจให้วันนี้เธอผลิต ไอรา สไตล์ แอนด์ ชาย เนเชอรัล แฮร์ มิสท์ สเปรย์จัดแต่งทรงผมที่ทำด้วย มะกรูดออร์แกนิค นอกจากจัดแต่งทรงผมได้แล้วยังช่วยบำรุงหนังศีรษะและเส้นผม ลดการผมร่วงจากผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมที่เป็นสารเคมี
ไอรา สไตล์ แอนด์ ชาย เนเชอรัล แฮร์ มิสท์
ลิปบาล์มหลอดกระดาษ
จริงๆ ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แบรนด์ไอราเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือ ลิปบาล์มข้าวเหนียวมะม่วง หรือลิปมันกลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง เป็นกลิ่นสำหรับใช้ผสมอาหาร จึงปลอดภัยกับทุกสภาพผิว
ที่สำคัญบรรจุภัณฑ์หรือหลอดของลิปบาล์มยังทำด้วย ‘กระดาษ’ เมื่อใช้ลิปหมดแล้ว แค่ใช้กรรไกรตัดเป็นเส้นๆ ฝังดิน ก็กลายเป็นปุ๋ยให้พืชได้อีกด้วย
ลิปสติก Zentella Tintd Lip Treatment
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่กำลังมาแรงขณะนี้คือ ลิปสติก Zentella Tintd Lip Treatment พัฒนาสูตรร่วมกับ นักวิจัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เนื่องจากมีส่วนผสมของสารสกัดจาก ‘ใบบัวบก’ ของไทย กับ ‘เชียบัตเตอร์’ ไขมันสกัดจากผลต้นเชียนัท (Shea Nut) พืชพื้นเมืองของชาวแอฟริกา
เพราะมีเบสเป็นเชียบัตเตอร์ ทำให้ Zentella Tintd Lip Treatment นอกใช้เป็นลิปสติกแล้วยังสามารถใช้ตกแต่งแก้มเป็นบลัชออนและเปลือกตาเป็นอายแชโดว์ได้อีกด้วย
ขณะที่ตลับลิปสติกของ Zentella Tintd Lip Treatment ก็ยังไม่ทิ้งคอนเซปต์รักษ์โลก เพราะทำด้วย ‘ไม้ไผ่’ ซ่อนแม่เหล็กใช้ดูดตัวตลับสีลิปสติกที่ทำด้วยโลหะไม่ให้หลุดเลื่อน เมื่อใช้ลิปสติกหมดแล้ว แค่เปลี่ยนตัวตลับสี คุณก็สามารถเก็บตลับไม้ไผ่ไว้ใช้ได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องทิ้งเหมือนตลับพลาสติก
ภายในงานยังมีร้านรักษ์โลกอีกมากมาย เช่น Circular, Zayan, Hako and Co, และ Good Cha
โซน Workshop
เพิ่มทักษะงานคราฟต์จาก หยิบดินสตูดิโอ, Wamp Co. & Reviv และ Eventide and lilac
ดื่มด่ำกับผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ จากคุณเอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้ใช้ผลงานศิลปะปลูกจิตสํานึกให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาขยะ และสร้างแรงบันดาลใจด้านหมุนเวียนใช้ซ้ำ (Upcycle)
Community Talk
ภายในพิธีเปิดงาน Swap Up Festival Vol.2 ยังมีกิจกรรม Community Talk แบ่งปันความรู้ และทัศนคติดี ๆ ในหัวข้อ “SWAP for ALL” เปลี่ยนเพื่อโลก หมุนเวียนเพื่อเรา จากตัวจริงเรื่องรักษ์โลกโดยองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ขณะร่วมทอล์ค
พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า
“จากสถิติปี 2566 คนไทยสร้างขยะกว่า 26.95 ล้านตัน แต่ปริมาณที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้มีเพียง 30% เท่านั้น เนื่องจากวิธีการทิ้งขยะที่ไม่ถูกต้อง
กรุงเทพมหานครจึงพยายามลดปัญหาขยะล้นเมือง เพิ่มปริมาณการนำกลับมาใช้ซ้ำโดยแคมเปญรณรงค์แยกขยะจากต้นทาง ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับโครงการเดอะ ปาร์ค ที่มีระบบการจัดการขยะภายในโครงการที่ยอดเยี่ยม
รวมถึงมั่นสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่ และทันสมัย เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าของสิ่งของยิ่งขึ้น อย่างกิจกรรม Swap up ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจมาก ๆ
ถือเป็นการช่วยลดวงจรการสร้างขยะเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี และเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ในการช่วยส่งเสริมไลฟ์สไตล์หมุนเวียน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ทางกรุงเทพมหานครกำลังผลักดันอยู่”
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Community Talk
ณัฐนี วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาที่ยังยืน บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เมเนจเมนท์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า
“ขอขอบคุณทุกการตอบรับสำหรับงาน Swap Up Festival Vol.2 ครั้งนี้เป็นอย่างดี ปัญหาขยะจากชีวิตประจำวันที่รุนแรงขึ้นทุกปี เดอะ ปาร์ค จึงตั้งใจส่งต่อแนวคิดความยั่งยืนเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดการขยะอย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้ภายในโครงการมีจุดแยกประเภทขยะอย่างถูกต้อง
ช่วยลดปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) ด้วยการติดตั้งเครื่องย่อยขยะเศษอาหาร และหมุนเวียนเป็นปุ๋ยใช้ดูแลต้นไม้ในโครงการ
รวมทั้งสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันลดขยะอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นกิจกรรมครั้งนี้ที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการลดการผลิตขยะ
สร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถสนุกกับการช่วยลดขยะผ่านกิจกรรมของเรา เปลี่ยนมุมมองต่อไลฟ์สไตล์แบบยั่งยืน ตามแนวคิด Life Well Balanced”
งาน Swap Up Festival Vol.2
ทินา สุดเจียดี ผู้ร่วมก่อตั้ง สวู๊ปบัดดี้ กล่าวว่า “Swoop Buddy เกิดขึ้นจากความสนใจในแฟชั่นสิ่งทอ ผสานกับจิตสำนึกที่ดีต่อโลก ทำให้เห็นถึงผลกระทบจากวิถีของวงการแฟชั่นที่ผลัดเปลี่ยนไวขึ้น
เทคโนโลยีทันสมัยช่วยลดต้นทุนผลิตและราคาสินค้าที่เป็นมิตรกับเงินในกระเป๋า แต่กลับเป็นภัยกับโลก เส้นใยกว่า 53 ล้านตัน ถูกนำมาใช้ผลิตเสื้อผ้าให้ทุกคนทั่วโลก แต่ระยะเวลาการใช้งานเสื้อผ้ากลับสั้นลงเรื่อย ๆ
พวกเราจึงตั้งใจอย่างมากที่จะสร้างชุมชนเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดในการสนับสนุนการใช้สินค้าแฟชั่นมือสอง (Circular Fashion Ecosystem) เพื่อยืดวงจรชีวิตให้เสื้อผ้าด้วยการนำมาแลกเปลี่ยนกัน
ซึ่งเราอยากจะขอขอบคุณพันธมิตรใจดีอย่าง เดอะ ปาร์ค ที่สนับสนุนสถานที่เพื่อเป็นสื่อกลางให้ได้ใกล้ชิดผู้บริโภค เพิ่มความเข้าใจให้ทุกคนได้ดียิ่งขึ้นเพราะเราเชื่อว่า ใคร ๆ ก็เป็นสายแฟแบบไม่ทำร้ายโลกได้ แค่มาแลกกันวนไป”
อรวรรณ กิตติธนนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด กล่าวถึงแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า “เมื่อพูดถึงเรื่องการรักษ์โลก หลายคนอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยากและไม่รู้จะเริ่มยังไง แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือและสื่อต่าง ๆ ที่ให้ความรู้และนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลากหลาย
รวมถึงมีการสร้างพื้นที่ หรือคอมมูนิตี้ที่ตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้คน มีการนำเสนอทางเลือกที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนแต่ละช่วงวัยมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ทำให้การรักษ์โลกเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ซึ่งตรงกับความตั้งใจของ Go Green Girls ที่ต้องการเชื่อมโยงเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ที่บอกเล่าออกมาในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย และสามารถทำได้จากเรื่องใกล้ตัว เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงได้ในชีวิตประจำวัน จนนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว”
ทั้งนี้รายได้ส่วนหนึ่งจากกิจกรรมครั้งนี้ถูกนำไปสมทบทุนบริจาคให้กับ มูลนิธิ Teach For Thailand และสิ่งของที่ไม่ได้นำไปแลกเปลี่ยนจะถูกนำไปส่งต่อให้กับ มูลนิธิกระจกเงา และ ร้านปันกัน โดย มูลนิธิยุวพัฒน์ โดยมีตัวแทนจากทั้ง 3 มูลนิธิรับมอบเพื่อไปพัฒนากิจกรรมเสริมสร้างรายได้ ตลอดจนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
เชิญชวนผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนให้โลกใบนี้ไปด้วยกัน ในงาน Swap Up Festival Vol.2 ตั้งแต่วันที่ 12 – 15 กันยายน 2567 ที่ The PARQ Life, ชั้น 2, Q Rate Hall (MRT ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออก 2)