มอบรางวัล ‘สุรินทราชา’ ปี 66 ใน 'วันนักแปลและล่าม' ครั้งที่ 16

'วันนักแปลและล่าม' ครั้งที่ 16 ประจำปี 2566 ได้จัดงานมอบรางวัล ‘สุรินทราชา’ เพื่อเชิดชูยกย่องนักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นประจำปี
สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย (TIAT) จัดงาน วันนักแปลและล่ามครั้งที่ 16 และพิธีมอบรางวัลสุรินทราชา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ณ สยามสมาคม
ปกรณ์ กฤษประจันต์ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานมีวัตถุประสงค์กระชับความสัมพันธ์ และมอบรางวัล สุรินทราชา แก่นักแปลและล่ามดีเด่นประจำปี
รางวัลสุรินทราชา เป็นอนุสรณ์แด่ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) มอบให้แก่นักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่มายาวนาน และสร้างคุณูปการแก่วงการวรรณกรรม สังคมและประเทศชาติ
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Translation as a Cultural Agent หรือ การแปลในฐานะทูตทางวัฒนธรรม ว่า
"...ในเรื่องรามายณะ มุมมองของการลงโทษนางสำมนักขาในอินเดียเหนือและอินเดียใต้จะแตกต่างกัน
ทางตอนเหนือ จมูก คือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ของสตรีและเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ชาวอินเดียเหนือจึงเชื่อว่าการตัดจมูกเป็นการลดทอนคุณค่าของสตรี
ในขณะที่ชาวทมิฬหรืออินเดียใต้มองว่า การตัด นม เป็นบทลงโทษที่รุนแรงกว่า เพราะนมแสดงความงามของสตรี นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าความหมายจะเปลี่ยนไปตามบริบทและพื้นที่
ในฐานะนักแปล เราต้องตีความต้นฉบับ พื้นผิวของความหมายอาจเปลี่ยนไป แต่เราต้องสะท้อนความคิดของผู้เขียนและส่งข้อความให้ถึงคนอื่นมากกว่าเดิม
ความยากของรามเกียรติ์คือ ‘ความกล้าเปลี่ยน’ เพราะเรื่องรามเกียรติ์เปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีแล้ว"
ในช่วงที่สอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปทมา อัตนโถ ที่คนรุ่นใหม่รู้จักในฐานะ ครูปุ้ม (#Krupum TikTok) ได้ปาฐกถาหัวข้อ ‘Translation: On Getting ‘More’ Global’ ว่า...การแปลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
"เป็นกระบวนการตัดสินใจว่าจะเลือกวัฒนธรรมหรืออะไร ยกตัวอย่าง ในต้นฉบับเรื่องหนึ่งมีฉากพระเอกกำลังขอนางเอกแต่งงานริมหาด
นักเขียนบรรยายว่ามีนก Sand Piper ส่งเสียงร้อง เราจะแปลเป็นภาษาไทยว่า นกอีก๋อย บรรยากาศจะโรแมนติกแบบต้นฉบับมั้ย หรือเราจะเลือกทับศัพท์ หรือเราจะเปลี่ยนเป็นนกนางนวล
นอกจากงานแปลจะเปลี่ยนไปแล้ว ภาษาไทยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน วรรณยุกต์เปลี่ยนไปมาก คนพูดเสียงสูงขึ้น ลำดับคำขยายภาษาไทยก็เปลี่ยนไป เช่น โคตรร้อน ก็เป็น ร้อนโคตร
ส่วนปัญญาประดิษฐ์ AI คือคนป้อนเข้าไป งานแปลธรรมดาอาจจะช่วยลดภาระได้ แต่ถ้าเป็นงานแปลสร้างสรรค์อาจจะยังไม่ได้เร็ว ๆ นี้ ภาษาและวัฒนธรรมยังคงต้องอยู่"
อาจารย์บุญญรัตน์ บุญญาทิษฐาน ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมฯ และนักแปลระดับตำนานผู้มีผลงานแปลมากกว่า 400 ชิ้น เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่นักแปลและล่ามทั้ง 12 คน ดังนี้
- นักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ปี 2566 ได้แก่
1. พระมหาอานนท์ อานนฺโท
2. ฉวีวงศ์ อัศวเสนา (ซากุไร)
3. เฉิดฉวี แสงจันทร์
4. โตมร ศุขปรีชา
5. ทิภาพร เยี่ยมวัฒนา
6. ธิดา จงนิรามัยสถิต
7. ประมวล โกมารทัต
8. มะลิวัลย์ ซีมอน (สีมน)
9. ผศ.รัศมี กฤษณมิษ (จันทร์ประภาพ)
10. ศ. ดร.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์
11. ผศ. ดร.สงหราน (Assistant Professor RAN XIONG, Ph.D)
- ล่ามดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ปี 2566 ได้แก่
พลเรือตรีหญิง ดร.อารยา อัมระปาล (เนียมลอย)