‘Barbie' ควง 'Oppenheimer’ ทำเงินเปิดตัวสูงสุดของปี ต่อลมหายใจ 'โรงหนัง'
“Barbie” (บาร์บี้) และ “Oppenheimer” (ออพเพนไฮเมอร์) ผนึกกำลังโกยรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก ขึ้นแท่นหนังทำเงินในสุดสัปดาห์เปิดตัวสูงสุด จนเกิดเทรนด์ “Barbenheimer” ปลุกกระแสดูหนังควบในวันเดียว ฟื้นธุรกิจโรงหนังหลังซบเซาต่อเนื่อง
การเข้าฉายของภาพยนตร์ 2 เรื่อง 2 รส ทั้ง “Barbie” ภาพยนตร์จิกกัดสังคมที่เคลือบไว้ด้วยความสดใส และ “Oppenheimer” ภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ดรามาเข้มข้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้โรงภาพยนตร์กลับมาคึกคัก จนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศในสหรัฐเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำเงินสูงสุดในรอบปี
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องทำรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศเกินความคาดหมาย “Barbie” (บาร์บี้) ทำรายได้ 22.3 ล้านดอลลาร์ในรอบพิเศษคืนวันพฤหัสบดี (Preview) ขณะที่ “Oppenheimer” (ออพเพนไฮเมอร์) ทำรายได้ไป 10.5 ล้านดอลลาร์ นี่เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์สองเรื่องที่เข้าฉายในสัปดาห์เดียวกันทำรายได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ในการฉายรอบพิเศษ
เมื่อรวมรายได้ตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว Barbie สามารถกวาดรายได้สัปดาห์เปิดตัวในสหรัฐไป 155 ล้านดอลลาร์ และเก็บรายได้จากการเข้าฉายนอกสหรัฐอีก 182 ล้านดอลลาร์ รวมทั่วโลก Barbie ทำรายได้ทั่วโลกไป 337 ล้านดอลลาร์ และได้รับคำชมอย่างล้นหลาม
ขณะที่ Oppenheimer ก็ไม่น้อยหน้า นอกจากจะได้คำวิจารณ์ระดับดีเยี่ยมแล้ว ยังทำรายได้ในสุดสัปดาห์ที่สหรัฐไป 80.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนรายได้นอกสหรัฐอยู่ที่ 93.5 ล้านดอลลาร์ รวมได้รายได้ทั่วโลกไป 174 ล้านดอลลาร์
- “Barbenheimer” ปรากฏการณ์ดูหนังควบ
ด้วยความสำเร็จของภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง และความแตกต่างกันสุดขั้ว ทำให้ผู้ชมจับมาสร้าง “มีม” เกี่ยวกับภาพยนตร์ทั้งคู่ เช่น เอาบาร์บี้ไปอยู่ในฉากหลังที่เป็นระเบิดปรมาณู หรือการแต่งกายไปดูหนังด้วยชุดครึ่งหนึ่งเป็นสีชมพู และอีกครึ่งเป็นสีดำสนิท จนเป็นที่พูดถึงไปทั่วอินเทอร์เน็ต กลายเป็นปรากฏการณ์ “Barbenheimer” (บาร์เบนไฮเมอร์) ซึ่งนำชื่อของภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องมารวมกัน โดยนักแสดงนำของเรื่องทั้ง 2 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น มาร์โก ร็อบบี เจ้าของบทบาร์บี้ และ คิลเลียน เมอร์ฟี ผู้รับบท เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เองก็ร่วมสนับสนุนให้ผู้ชมดูหนัง 2 เรื่องภายในวันเดียวกันอีกด้วย
แม้แต่ “ทอม ครูซ” พระเอกตลอดกาลของฮอลลีวู้ดก็ร่วมเทรนด์นี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการไปชมภาพยนตร์ 2 เรื่องควบภายในวันเดียว (รวมถึง Indiana Jones ภาคล่าสุดด้วย) แม้ว่า Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One ภาพยนตร์ที่เขาเล่นยังคงเข้าฉายอยู่ก็ตาม
- ความคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ
ถึง Barbenheimer กลายเป็นเทรนด์เพราะความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของ “หน้าหนัง” ทั้ง 2 เรื่อง แต่แท้จริงแล้วภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องมีความคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ เริ่มต้นจากผู้กำกับทั้งคู่เคยได้ชิงรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมในปีเดียวกัน ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องใช้นักแสดงจำนวนมาก และหลายคนล้วนเคยเข้าชิงหรือได้รับรางวัลทางการแสดงจากออสการ์มาแล้ว อีกทั้งนักวิจารณ์ต่างเห็นตรงกันว่า Barbie และ Oppenheimer จะเป็นตัวเต็งเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองเรื่องยังเล่าถึงเรื่องราวตามทฤษฎี “แอนโทรโปซีน” (Anthropocene) ทางสังคมศาสตร์พูดถึงยุคที่มนุษย์เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมา สำหรับ Oppenheimer เป็นการเล่าอัตชีวประวัติของนักฟิสิกส์ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” แต่เขากลับใช้ชีวิตที่เหลือรณรงค์ให้คนทั่วโลกรู้ซึ้งถึงอันตรายและต่อต้านการใช้นิวเคลียร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์เป็นผู้ก่ออันตรายและผลกระทบให้แก่โลกใบนี้ตามทฤษฎีดังกล่าว
ส่วน Barbie เล่าถึงของตัวละครบาร์บี้สุดฮิตขวัญใจของเด็กสาวทั่วโลก ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าที่สร้างความฝัน ความหวัง เชิดชูความเป็นผู้หญิง ในยุคที่โลกไม่ได้ตระหนักถึงความเท่าเทียม และอยู่ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจิกกัดโลกปิตาธิปไตยออกมาได้แสน ๆ คัน ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ยังอัดแน่นไปด้วยการล้อเลียนวัฒนธรรมร่วมสมัย แม้แต่ตัวนักแสดง บาร์บี้ และบริษัทผู้ให้กำเนิดบาร์บี้ก็ไม่รอด
- ดูหนัง 2 เรื่องในวันเดียวแบบไม่ปวดหัว
ปรากฏการณ์ “Barbenheimer” ไม่ได้เป็นแค่มีม แต่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย AMC Theatres เครือโรงภาพยนตร์ในสหรัฐเปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้มีผู้จองตั๋วดู Barbie และ Oppenheimer ในวันเดียวกันมากกว่า 40,000 ที่นั่ง มากกว่าสัปดาห์ที่แล้วถึงเท่าตัว และในโซเชียลมีเดียยังมีอีกหลายคนที่อยากดูหนังทั้งสองเรื่องภายในวันเดียว แต่ปัญหา คือ หนังทั้ง 2 เรื่องมีความยาวรวมกันเกือบ 6 ชั่วโมง (Barbie 114 นาที ส่วน Oppenheimer 180 นาที) นั่นหมายความว่าคุณจะต้องมีเวลาว่าท้ังวัน หากต้องการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป ถึงขนาดสำนักข่าว CNN ต้องออกมาแนะนำวิธีดูหนัง 2 เรื่องที่ถูกต้อง
ก่อนอื่นควรจะต้องรู้ข้อมูลคร่าว ๆ ของหนังทั้ง 2 เรื่องก่อน เริ่มด้วย Barbie เป็นหนัง ตลก-ดรามา ของผู้กำกับหญิงแห่งยุค เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) นำแสดงโดย มาร์โก ร็อบบี และ ไรอัน กลอสลิง ที่เล่าเรื่องราวของตุ๊กตาบาร์บี้หลุดมาใช้ชีวิตในโลกมนุษย์ โดยได้รับเรตติ้งผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีควรได้รับคำแนะนำ (PG-13) ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่เหมาะสำหรับเด็กอย่างที่หลายคนคิด
อ่านต่อ:
ส่องความปัง ‘Barbie’ ผลงาน ‘Greta Gerwig’ ผู้กำกับตัวแม่แห่งยุค
‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาที่อยากให้เด็กผู้หญิงกล้าฝัน และโอบรับความหลากหลาย
ขณะที่ Oppenheimer เป็นงานกำกับเรื่องล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับชื่อดังของฮอลลีวู้ด โดยภาพยนตร์เล่าชีวประวัติของ เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามในโครงการแมนแฮตตันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รับบทโดย คิลเลียน เมอร์ฟี แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีความรุนแรง แต่ได้รับเรต R เนื่องจากมีฉากเปลือยและใช้ภาษาที่รุนแรง
สำหรับใครที่คิดจะดูทั้งสองเรื่องในวันเดียว CNN แนะนำว่า ควรชม Oppenheimer ก่อนเนื่องจากเนื้อหาของหนังค่อนข้างหนัก แล้วค่อยตบท้ายด้วย Barbie ซึ่งมีความสดใสมากกว่า (แม้ว่าจะแทรกประเด็นทางสังคมไว้มากก็ตาม) ที่สำคัญไม่ควรเลือกรอบฉายติดกัน ควรปล่อยให้สมองได้พักบ้าง เพราะหนังโนแลนไม่มีเรื่องไหนที่ไม่เครียด และจะได้มีเวลาเข้าห้องน้ำ หาอะไรกินรองท้อง และปล่อยใจให้สนุกรับความบันเทิงไปกับบาร์บี้และผองเพื่อน
- ความหวังของวงการหนัง
ในปีนี้มีหนังบล็อกบัสเตอร์คว่ำคาตารางหนังทำเงินไปหลายเรื่อง สตูดิโอไม่อาจคาดหวังกับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ได้อีกต่อไป ทั้ง Ant-Man and the Wasp: Quantumania, Shazam! Fury of the Gods, The Flash ต่างกอดคอกันขาดทุน ส่วนหนังฟอร์มยักษ์ก็เก็บเงินไม่ได้ตามเป้า ไม่ว่าจะเป็น The Little Mermaid, Transformers: Rise of the Beasts, Indiana Jones and the Dial of Destiny และ Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One ในปีนี้มีเพียง The Super Mario Bros. Movie เพียงเรื่องเดียวที่ทำรายได้เกินพันล้านดอลลาร์เท่านั้น
ขณะที่การประท้วงหยุดงานของนักแสดง คนเขียนบทและคนทำงานในวงการฮอลลีวู้ดนับแสนคนยังคงดำเนินต่อไปไม่หยุด ปรากฏการณ์ Barbenheimer จึงเป็นเหมือนความหวังของธุรกิจโรงภาพยนตร์ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะยังคงโตได้บ้างในสภาวะที่วงการบันเทิงไม่ปรกติและคนหันไปใช้บริการสตรีมมิงกันมากกว่าจะออกมาดูหนังโรง
นอกจากนี้ ทั้ง Barbie และ Oppenheimer ยังช่วยให้คนดูระลึกได้ว่าเราออกมาดูหนังกันทำไม ? ไม่เพียงแต่เป็นการไปเสพงานศิลปะ ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงหลุดลอยเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการที่ทีมผู้ผลิตได้สร้างสรรค์ออกมาจากจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ยังเป็นการหาโอกาสไปใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับคนรัก กลุ่มเพื่อน เหมือนในครั้งวันวาน และยังได้ต่อลมหายใจให้แก่โรงภาพยนตร์อีกด้วย
ที่มา: BBC, Buzzfeed, CNN, Deadline, East Idaho News, NBC News, Vanity Fair, Variety, Washington Post