ซีรีส์ยูริ (LGBTQ) ทางเลือกใหม่ที่คนดูขานรับ แต่บทยังวนเวียนอยู่กับ...?

ซีรีส์ยูริ (LGBTQ) ทางเลือกใหม่ที่คนดูขานรับ แต่บทยังวนเวียนอยู่กับ...?

ซีรีส์ยูริ แนวหญิงรักหญิง ในกลุ่มLGBTQ เปิดตัวมาหลายเรื่อง ไม่ว่าใจซ่อนรัก,BLANK :เติมคำว่ารักลงในช่องว่าง ฯลฯ กับเรื่องรักๆ ความหึงหวงและการยอมรับ

ไม่ได้ตั้งธงที่จะมาอธิบายเรื่อง LGBTQ : L-Lesbian, G-Gay, B-Bisexual, T-Transgender/Trans (คนข้ามเพศ) และ Q-Queer (คนที่ไม่อยู่ในกรอบเพศใดๆ สามารถรักเพศใดก็ได้ และไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นเพศใด)

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายเพื่อลงรายละเอียดอัตลักษณ์ทางเพศมากกว่านี้เพราะยังมีคำย่อ LGBTQIA2S+ แต่แค่คำย่อ 5  ตัว (LGBTQ) ก็น่าจะเวียนหัวแล้ว

เดือนมิถุนายน (Pride Month) เป็นเดือนที่เปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายทางเพศ ทั้งเรื่องกิจกรรม ขบวนพาเหรดให้แสดงออกเต็มที่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ายังมีคนกลุ่มนี้ที่อยากอยู่ร่วมกับชาวโลกอย่างเท่าเทียม เหมือนมนุษย์เพศหญิงและชาย

ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสังคมเปิดใจและเปิดกว้างเรื่อง LGBTQ มากขึ้น แม้จะไม่เต็มร้อย ซึ่งพวกเขาก็ต้องสู้อีกหลายประเด็น ทั้งเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งพวกเขาไม่ได้ขออะไรมากไปกว่าความเท่าเทียมเหมือนหญิงและชาย

ซีรีส์ยูริ (LGBTQ) ทางเลือกใหม่ที่คนดูขานรับ แต่บทยังวนเวียนอยู่กับ...?

ทั้งเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบราชการ มรดกตกทอด และการตัดสินใจเซ็นเอกสารยินยอมการรักษาพยาบาลให้คู่สมรส ซึ่งสำคัญมาก

ก็น่ายินดีที่สังคมเปิดกว้าง เห็นได้จากสื่อในซีรีส์และหนังที่เปลี่ยนไป จากกะเทยถูกเหยียดศักดิ์ศรีให้เป็นแค่ตัวตลกหรือถูกบูลลี่เสมือนคนนอกสังคม ซึ่งเรื่องนี้เริ่มมีให้เห็นในปริมาณน้อยลง แต่พยายามโฟกัสไปที่คุณค่าและตัวอย่างดีๆ ในการใช้ชีวิต

ยกตัวอย่างบทกะเทยในมาตาลดา ชาย-ชาตโยดม รับบทนี้ได้น่ารัก และบทก็ดีซะด้วย จนได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากเวทีนาฏราช ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 นั่นเป็นเพราะ จ๋า-ยศสินี ณ นคร ผู้จัดละครกล้าที่จะหยิบเรื่องแบบนี้มาทำเป็นละคร

 

นอกจากนี้ยังมี รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น LGBTQ คนแรกที่สามารถคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากละครผู้ใหญ่ลี ศรีบานเย็น กับฝีมือการแสดงล้วนๆ ในเวทีเดียวกัน 

ในปี 2567 เห็นได้ว่าผู้จัดละครหลายช่อง หลายค่าย และช่องยูทูบนำเสนอละครแนวนี้มากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งซีรีส์ยูริ หรือเกิลส์เลิฟ ออกมาแข่งขันทางการตลาด 

แม้กระทั่งช่อง 3 ที่ไม่เคยทำละครแนวนี้ ก็ขอร่วมวงด้วยกับซีรีส์แซฟฟิก (หญิงรักหญิง) เรื่องแรก ใจซ่อนรัก นำแสดงโดย ออม กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์ (เคยรับบทรีรี่ เพื่อนรักของมาตาลดา) และหลินหลิน ศิริลักษณ์ คอง แม้ยังไม่ฉายอย่างเป็นทางการ ก็โด่งดังกับโปรดักชันหวานละมุนแบบหญิงรักหญิง (ออกอากาศวันที่ 24 มิถุนายนนี้)

แล้วยังมีซีรีส์ Blank เติมคำว่า (รัก) ลงในช่องว่าง กับเรื่องราวคู่รักต่างวัย ฝ้าย พีรญา และโยโกะ อาภัสรา ผลงานค่ายน้องใหม่ 9 สตาร์ สตูดิโอ จำกัด ออกอากาศทางแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบท หรือเรื่อง GAP ทฤษฎีสีชมพู

ทั้งสองเรื่องถูกพูดถึงเรื่องฉากเลิฟซีนเยอะมาก รวมถึงความไม่สมเหตุสมผลในหลายประเด็น แต่ต้องยอมรับว่า นักแสดงนำเล่นได้ดี 

รวมถึงเรื่อง รักให้ร้าย Love Bully คลับฟลายเดย์ เดอะซีรีส์ ทางช่องวัน แสดงโดย อิงฟ้า วราหะ และ ชาล็อต ออสติน เพิ่งเริ่มออกอากาศ 

ดูเหมือนซีรีส์ยูริที่ไม่เคยมีปรากฎในสังคมไทยมากนัก จะเป็นที่ถูกอกถูกใจแฟนๆ หลายกลุ่ม และเริ่มมีให้เห็นหลายเรื่อง 

ซีรีส์ยูริ (LGBTQ) ทางเลือกใหม่ที่คนดูขานรับ แต่บทยังวนเวียนอยู่กับ...?

และถ้าจะติหรือติ่ง คงน่าจะพล็อตเรื่อง เท่าที่เห็นยังวนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆ หึงหวง และฉากเลิฟซีน โดยมีเส้นเรื่องว่า ถ้าจะเปิดเผยเรื่องความรักเพศเดียวกัน ครอบครัวและเพื่อนๆ จะยอมรับหรือไม่

ซึ่งในอนาคตว่า การพัฒนาบทในละครซีรีส์แนวนี้จะไปไกลแค่ไหน คงต้องให้โอกาส เพราะเท่าที่ผ่านมาละครผัวๆ เมียๆ ก็วนเวียนอยู่กับการตบจูบ แย่งผู้ชาย เพิ่งหลุดจากวงจรเดิมๆ มาบ้าง ไม่ว่าเรื่องมาตาลดา สงครามสมรส ฯลฯ 

และล่าสุดกับกระแสที่ดีเกินคาด ตั้งแต่ยังไม่ออกอากาศของซีรีส์ใจซ่อนรัก จะให้แง่คิดในเรื่องความรักและชีวิตแบบไหน ต้องรอดูเพราะได้นักแสดงมากฝีมืออย่างเช่น ออม กรณ์นภัส และหลินหลิน ศิริลักษณ์

เหล่านี้คือซีรีส์แซฟฟิกที่เข้ามามีส่วนแบ่งการตลาด อีกพื้นที่ของความหลากหลายทางเพศ