‘Window Café’ เปิดหน้าต่างบานเล็กสู่โลกธุรกิจกาแฟ
ตามรอย 'วินโดว์ คาเฟ่' จากร้านเล็ก ๆ ขายกาแฟผ่านหน้าต่างบ้านเป็นอาชีพเสริมในสิงคโปร์ สู่รูปแบบครอบครัวในเมลเบิร์น ก่อนพัฒนาเป็นธุรกิจเต็มตัวในฟลอริด้า
ระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยเราเริ่มเห็นมีคนริเริ่มเปิดบ้านเป็นร้านกาแฟกันมากขึ้น บางคนก็ต่อเติมเสริมโต๊ะ-เก้าอี้เข้าไป สำหรับต้อนรับบรรดานักดื่มมานั่งจิบกาแฟ โดยไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินเสียทองให้กับค่าก่อสร้างจำนวนมหาศาลที่อาจจะมีเรื่องงบบานปลายมาให้ชวนปวดหัวและปวดใจเล่น
ไอเดียนี้ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจมาก ๆ คิดแล้วอยากลองทำดูบ้างเหมือนกัน เพราะมั่นใจว่าอัตราการบริโภคเครื่องดื่มยอดนิยมประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ที่สิงคโปร์ มีชายหนุ่มอยู่ผู้หนึ่ง ไม่ได้เปิดบ้านเป็นร้านกาแฟเหมือนทั่ว ๆ ไป เขาดัดแปลง 'หน้าต่างบ้าน' มาเป็น 'คาเฟ่เล็ก ๆ' ส่งออเดอร์ผ่านทางช่องหน้าต่างนั่นแหละ ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจกำลังไปได้สวยทีเดียว
เพื่อนของผู้เขียนที่เพิ่งเดินทางกลับจากสิงคโปร์เล่าให้ฟังว่า เรื่องการแปลงสภาพหน้าต่างบ้านให้เป็นร้านกาแฟแบบเทค-เอ้าท์นั้น เป็นข่าวดังมากในแดนลอดช่อง เพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้กันมาก่อน แค่หน้าต่างบ้านบานเดียวก็สามารถทำธุรกิจได้แล้ว สื่อออนไลน์แทบทุกค่ายสำนักจึงนำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม มาสัมภาษณ์เจ้าของกันถึงร้านเลยก็มี เพราะเห็นว่าเป็นเรื่อง 'แปลกใหม่' แต่ 'สร้างสรรค์' ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกหลาย ๆ คนที่ต้องการมีอาชีพเสริมหรือยึดเป็นงานหลัก พร้อมตั้งชื่อร้านสไตล์นี้ให้อย่างเท่ว่า 'วินโดว์ คาเฟ่' (window cafe)
'กราวด์ ฟลอร์ คอฟฟี่' วินโดว์ คาเฟ่เล็กๆ จากสิงคโปร์ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากทีเดียว (ภาพ : instagram.com/ground_floor_coffee)
วินโดว์ คาเฟ่ ที่ขายเครื่องดื่มกาแฟผ่านช่องหน้าต่างบ้านแห่งนี้ ชื่อว่า 'กราวด์ ฟลอร์ คอฟฟี่' (Ground Floor Coffee) แปลเป็นไทยก็ประมาณว่าร้านกาแฟชั้นล่าง ซึ่งชื่อนี้ก็เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงเพราะบ้านหลังนี้จริง ๆ ก็คือแฟลตที่อยู่ชั้น 1 ของตึกอยู่อาศัยที่จัดสรรโดยรัฐบาล เรียกกันทั่วๆไปว่าแฟลต HDB มี 'อัดห์วา ฮาชิฟ' ช่างภาพฟรีแลนซ์เป็นเจ้าของร้าน
อัดห์วา ฮาชิฟ เปิดร้านมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ใช้แฟลตฟอร์ม 'อินสตาแกรม' และ 'ติ๊กต๊อก' เป็นช่องทางโปรโมทร้าน ตามกลยุทธ์การทำการตลาดที่ใช้ทุนน้อยแต่ได้ผลโดนใจคนรุ่นใหม่ กลายเป็นไวรัลดังบนโลกโซเชี่ยลมีเดียของสิงคโปร์มาระยะหนึ่ง จนวินโดว์ คาเฟ่ เล็ก ๆ เริ่มเป็นที่รู้จักทั่วทั้งเกาะ มีลูกค้าแวะเวียนมาอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด ท่านผู้เขียนอาจจะเคยผ่านตามาบ้างแล้วก็ได้
ยุคสมัยนี้ใคร ๆ ก็สามารถใช้อินเตอร์เน็ตมาทำประโยชน์ทางธุรกิจได้ ถ้าคิดจะทำจริงจัง อย่างอัดห์วา ฮาชิฟ ที่นอกจากจะมีสื่อโซเชี่ยลเป็นช่องทางโฆษณาร้านแล้ว เขายังเปิดเว็บไซต์ร้านอย่างเป็นทางการ ฟังก์ชั่นไม่ได้มีอะไรมากมาย เพียง 'โฟกัส' ไปที่การสร้างระบบที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มได้ง่าย ๆ เช่น การสั่งซื้อ, เมนูเครื่องดื่ม, สินค้าโปรโมชั่น, ช่องทางติดต่อ และการปักหมุดที่อยู่ร้านผ่านทางกูเกิ้ลแมพ
ตากล้องฟรีแลนซ์สายกาแฟรายนี้ เคยให้สัมภาษณ์เอเชียวัน สื่อยักษ์ใหญ่สิงคโปร์ว่า ไม่เคยไปเข้าคอร์สอบรมชงกาแฟที่ไหนมาก่อน เรียนรู้เองทั้งหมด ใช้งบลงทุนเปิดร้านประมาณ 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนใหญ่เป็นค่าเครื่องชงกาแฟกับเครื่องบดเมล็ดกาแฟ นอกจากนั้นก็มีค่าใช้จ่ายด้านแก้วเครื่องดื่ม, สติกเกอร์โลโก้ติดข้างแก้ว, บัตรสะสมคะแนน และเก้าอี้สนามหลายตัวที่เตรียมไว้ให้ลูกค้านั่งลงตรงหน้าต่างนั่นเอง
เครื่องชงกาแฟและนมทางเลือกที่ใช้กับเมนูลาเต้ ของร้านกราวด์ ฟลอร์ คอฟฟี่ (ภาพ : instagram.com/ground_floor_coffee)
แม้ว่าจะเป็นธุรกิจทำที่บ้าน แต่ราคากาแฟของกราวด์ ฟลอร์ คอฟฟี่ ไม่ต่างไปจากร้านกาแฟทั่ว ๆ ไปเลย ก็เพราะว่าอัดห์วา ยึด 'คุณภาพ' เป็นหัวใจของแบรนด์ เขาเลือกใช้เมล็ดกาแฟระดับพรีเมียมที่คัดสรรมาเป็นการเฉพาะ และใช้นมข้าวโอ๊ต เป็นนมทางเลือก
สำหรับเมนูทั้งร้านที่มีรวมกันเพียง 6 เมนู คือ ลาเต้,ลาเวนเดอร์ ลาเต้, วานิลลา ลาเต้, คาราเมล ลาเต้, ดาร์ก ม็อคค่า และ เพียว ช็อกโกแลต ราคาขายอยู่ระหว่าง 4-6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อแก้ว ถ้าเพิ่มช็อตเอสเพรสโซ่ ราคาก็จะบวกไปอีก 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ยอดขายตกวันละ 40-50 แก้วต่อ บางวันก็ต้องขอปิดร้านก่อนเวลา เพราะกาแฟหรือนมหมดเสียแล้ว
เมนูขายดีที่สุดคือ 'ลาเวนเดอร์ ลาเต้' ที่ใช้ลาเวนเดอร์แท้ ๆ กับ 'ดาร์ก ม็อคค่า' ที่ใช้เอสเพรสโซกับช็อกโกแลตนมและดาร์กช็อกโกแลต แล้วในร้านมีอาหารขายอยู่เพียงอย่างเดียว คือ บัตเตอร์เค้กที่มารดาของอัดห์วาลงมือทำเอง เป็นเค้กที่อบสดใหม่ในทุกวัน
คาเฟ่ วินโดว์ร้านนี้ ไม่ได้เปิดทุกวันนะครับ จะเปิดก็เฉพาะวันที่เจ้าของร้านไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้านเท่านั้น ทั้งเวลาเปิดทำการร้านก็ไม่แน่นอน ลูกค้าที่ต้องการไปยังร้าน ต้องคอยติดตามข้อมูลเปิด-ปิดร้านรายสัปดาห์ทางอินสตาแกรมของร้านให้ดี เพื่อการันตีว่าเมื่อเดินทางไปถึงแล้วจะไม่ผิดหวัง และออเดอร์นั้น ต้อง 'สั่งล่วงหน้า' ผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีบริการเดลิเวอรี่แต่อย่างใด
คาปูลัส แอนด์ โค. ในเมลเบิร์น อีกสไตล์ของร้านวินโดว์ คาเฟ่ รูปแบบครอบครัว (ภาพ : facebook.com/capulusandco)
บางคนอาจสงสัยว่าเปิดทำธุรกิจกาแฟที่บ้านในสิงคโปร์ได้ด้วยหรือ ตรงนี้ตากล้องฟรีแลนซ์ให้ข้อมูลว่า เขาได้จดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลด้านบัญชีและการทำธุรกิจ นอกจากนั้น ยังมีใบรับรองสุขอนามัยด้านอาหารอีกด้วย
อีกตัวอย่างของการขายกาแฟเป็นอาชีพเสริมในรูปแบบวินโดว์ คาเฟ่ คราวนี้ไม่ใช่แค่คนเดียวแต่มากันเป็นครอบครัว คือ 'คาปูลัส แอนด์ โค.' (Capulus & Co) ในเมลเบิร์น เมืองหลวงรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ร้านกาแฟที่ขายเครื่องดื่มและเบเกอรี่จากหน้าต่างห้องรับแขกแห่งนี้ มีครอบครัวซุลลิแวนเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ทุกคนในครอบครัวมีหน้าที่ประจำเป็นของตนเอง เช่น ชงเครื่องดื่ม, อบขนมปัง-คุ้กกี้, ทำแซนด์วิช-ชีสเค้ก-ครัวซองต์ และแคชเชียร์เก็บเงิน
คาปูลัส แอนด์ โค. เปิดร้านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ได้รับความนิยมในหมู่คนท้องถิ่น และผู้สัญจรผ่านไปมาในจำนวนไม่น้อยทีเดียว ไม่เช่นนั้นคงไม่เปิดมาได้ถึง 5 ปี รูปแบบร้านเปิดขายทางหน้าต่างของบ้าน 2 ชั้นที่ทาสีขาวสะอาดตา สวยมากทีเดียว หน้าบ้านมีชุดโต๊ะ-เก้าอี้จัดไว้สำหรับให้ลูกค้ามานั่ง ไม่มีบริการเดลิเวอรี่ แต่สามารถติดตามตรวจเช็คว่าร้านจะเปิดวันไหนบ้างจากอินสตาแกรมของร้าน
เป็นร้านเล็ก ๆ ที่สื่อแดนจิงโจ้นำเสนอเป็นข่าวแทบทุกแขนง แถมบางรายยังบอกประมาณว่า ร้านสไตล์นี้ทำให้ 'วัฒนธรรมกาแฟ' ของเมืองเมลเบิร์นสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
บ้านเรือนในกรุงฮาวานา เมืองหลวงคิวบา เปิดวินโดว์ คาเฟ่ กันมานานแล้ว (ภาพ : Alexander Kunze on Unsplash)
และเนื่องจากประสบความสำเร็จดีเกินคาด ครอบครัวซุลลิแวนจึงทำเรื่องไปยังสภาเทศบาลมือง ขออนุญาตเพิ่มพื้นที่ขายกาแฟและเบเกอรี่เป็นขนาด 34 ที่นั่ง โดยจะปรับห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารให้เป็นคาเฟ่ภายในบ้าน มีกำหนดเปิดตัวกลางปีนี้นี่เอง
ร้านกาแฟแนวคิด 'วินโดว์ คาเฟ่' ที่ใช้หน้าต่างบ้านเป็นหน้าร้านนั้น ไม่ใช่สไตล์ร้านรูปแบบใหม่แต่อย่างใด ในความทรงจำของผู้เขียนนั้นพอเห็นร้านแนวนี้ปุ๊บ ก็ให้นึกถึงประเทศคิวบาปั๊บ เพราะมีคนขายกาแฟผ่านทางหน้าต่างบ้านเป็นธุรกิจมาตั้งแต่เมื่อ 50-60 ปีก่อนโน่น
ปี ค.ศ. 1962 สหรัฐอเมริกาประกาศแบนสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าจากคิวบา สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมกาแฟคิวบายิ่งนัก ผู้ผลิตล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก จนเกิดภาวะขาดแคลนขึ้น นำไปสู่การลดปันส่วนกาแฟจากภาครัฐเหลือเดือนละ 110 กรัม ชาวคิวบาจึงเริ่มปรับตัว หันไปใช้วิธีชงกาแฟให้เข้มข้นขึ้นโดยใช้ปริมาณกาแฟแต่น้อย เป็นกาแฟดำรสชาติคล้าย ๆ เอสเพรสโซ่ ก่อนเติมน้ำตาลทรายจากอ้อยลงไประหว่างการต้ม แล้วรินใส่ถ้วยขนาดเล็ก เกิดวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟในสไตล์ที่เรียกว่ากัน 'คิวบา คอฟฟี่' หรือบางทีก็เรียกกันว่า 'คิวบา เอสเพรสโซ่' และ 'คาเฟ่ซิโต้' มาจนถึงทุกวันนี้
ไม่นานนัก การชงกาแฟดื่มเองตามบ้านเริ่มลดน้อยลงไป แต่ก็เป็นจุดกำเนิดของอาชีพขายกาแฟแนวใหม่ที่เรียกว่า 'เวนตานิญ่า' (Ventanilla) ที่ภาษาสเปนแปลว่าหน้าต่าง สำหรับชนชาวคิวบาที่มักออกไปจิบกาแฟนอกบ้านหรือเข้าร้านกาแฟก่อนไปทำงาน นิยมแวะไปซื้อเอสเพรสโซสไตล์คิวบาที่ชงผ่านหม้อต้มมอคค่า พ็อท จากหน้าต่างบ้านของผู้ขายที่อยู่ติดถนน ซึ่งผู้ขายส่วนใหญ่ก็เป็นแม่บ้าน
กาแฟคิวบา หนึ่งในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศ (ภาพ : commons.wikimedia.org/wiki/Ivan2010)
การขายกาแฟนอกหน้าต่างบ้าน เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิถีทางที่ชาวคิวบาใช้ทำธุรกิจในยามอัตคัดขัดสน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริโภคกาแฟราคาต่ำมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมา พอชาวคิวบาทั้งประชาชนและนักธุรกิจเริ่มอพยพไปอยู่ยังสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเมืองไมอามี่ มลรัฐฟลอริด้า ก็นำรูปแบบการขายกาแฟผ่านทางช่องหน้าต่างเข้าไปด้วย ส่วนใหญ่ทำกันตามชุมชนชาวคิวบาในมลรัฐนี้และมลรัฐใกล้เคียง แต่มีการปรับชื่อเสียใหม่ให้ต่างไปจากเดิมเป็น 'เวนตานิตัส' (ventanitas) แปลตรงตัวว่าหน้าต่างบ้านน้อย พอได้ความนิยมมาก ๆ เข้า ก็เปลี่ยนรูปแบบเสียใหม่หันไปทำเป็นธุรกิจเต็มตัว
จากขายตรงหน้าต่างบ้านก็มาเป็นแบบเคาน์เตอร์ ตามด้วยร้านที่ขายทั้งเครื่องดื่มกาแฟและอาหาร มีชุดโต๊ะ-เก้าอี้ ให้ลูกค้าเสร็จสรรพ พัฒนาไปเป็นภัตตาคารเต็มตัว แต่บางร้านยังคงเอกลักษณ์ความเป็นเวนตานิตัสเอาไว้ ตรงที่มีช่องขายเครื่องดื่มแบบเทค-เอ้าท์ ที่เห็นแล้วพอจะอุปมาอุปมัยว่าเป็นหน้าต่างบ้านได้บ้างเหมือนกัน เพียงแต่เมนูกาแฟที่ขายแม้เป็นสไตล์คิวบา แต่เมล็ดกาแฟมาจากแหล่งปลูกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คิวบา เพราะยังติดขัดในแง่กฎหมายการค้ากันอยู่
ร้านสไตล์เวนตานิตัสที่มีชื่อเสียงในรัฐฟลอริด้ามีอยู่ด้วยกันหลายร้าน แต่ที่โด่งดังมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นร้าน 'แวร์ซายเลส' (Versailles) หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของลิตเติ้ล ฮาวาน่า ในเมืองไมอามี่ ว่ากันว่าเจ้าของร้าน(ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง) เป็นชาวคิวบาคนแรกที่มาเปิดร้านแนววินโดว์ คาเฟ่ ขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
แวร์ซายเลส ร้านดังสไตล์เวนตานิตัส ของย่านลิตเติ้ล ฮาวาน่า เมืองไมอามี่ (ภาพ : facebook.com/VersaillesMiami)
ปัจจุบัน ร้านกาแฟเวนตานิตัสในไมอามี่ มีอยู่เป็นจำนวนมาก ผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของผู้คนที่นี่ไป เป็นที่นิยมชมชอบของนักท่องเที่ยวทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ มีการ 'รีวิว' หรือแนะนำผ่านทางออนไลน์เยอะจริง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจใคร่อยากชิมกาแฟและอาหารคิวบา
จากวินโดว์ คาเฟ่ เล็ก ๆ แบบทำคนเดียวเป็นอาชีพเสริมในสิงคโปร์ สู่รูปแบบธุรกิจครอบครัวในเมลเบิร์น ตามด้วยการพัฒนาเป็นธุรกิจร้านเต็มตัวในฟลอริด้า หน้าต่างเล็ก ๆ บานนี้อาจนำพาคุณไปสู่โลกธุรกิจกาแฟที่กว้างใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่าตัวก็ได้ ใครจะรู้...
สำหรับผู้แสวงหาแล้ว โอกาสมีให้อยู่เสมอ ถ้าคุณรู้ว่าจะมองหาจากตรงไหน!