เดินสาย ขอพร ศาลหลักเมือง ชะตาเมืองปี 2566 ใครกำหนด ? 

เดินสาย ขอพร ศาลหลักเมือง  ชะตาเมืองปี 2566 ใครกำหนด ? 

นักการเมืองพรรคเล็ก พรรคใหญ่แห่ไหว้'ศาลหลักเมือง' ขอความเป็นสิริมงคล ขอแลนด์สไลด์ ขอเป็นนายกฯ อีกสมัย และขอ...แล้วในปี 2566 ชะตาเมืองที่สร้างมากว่า 240 ปีจะเป็นเช่นไร

ย้อนไป 240 ปีที่แล้ว เมื่อครั้นรัชกาลที่ 1 โปรดฯให้โหรผูกชะตาเมือง (กรุงรัตนโกสินทร์)ที่จะสร้างขึ้นใหม่ และตั้งศาลหลักเมืองโหรหลวงได้ทูลเกล้าฯถวายดวงเมือง 2 แบบ คือ

  • แบบที่ 1 บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ต้องมีระยะหนึ่งที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ
  • แบบที่ 2 บ้านเมืองจะมีแต่เรื่องวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่รักษาเอกราชได้ตลอดไป

ปรากฏว่าพระองค์ทรงเลือกแบบที่ 2 ด้วยทรงเห็นว่า การตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น ต่อให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองแค่ไหน แต่ถ้าสูญสิ้นความเป็นไทย ก็ไม่มีความหมาย

 

และเป็นเรื่องแปลก ต่อมาในรัชกาลที่ 4-5 ทั้งๆ ที่บ้านเมืองโดยรอบไทยต่างกลายเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ไทยรอดมาได้ แม้จะมีเรื่องวุ่นวายตลอดเวลา จึงคล้ายเป็นเช่นคำทำนาย 

ว่ากันว่า นี่เป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาอีก และในช่วงประเทศไทยร้อนสุดขั้ว ต้นเดือนเมษายน ปี 2566 ความวุ่นวายของประเทศไทยก็ยังดำรงอยู่ นับตั้งแต่มีการทำพิธียกหลักเมือง ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.54 น. จากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 240 ปี

เดินสาย ขอพร ศาลหลักเมือง  ชะตาเมืองปี 2566 ใครกำหนด ?  บิ๊กตู่ตอนไปไหว้ขอพระศาลหลักเมือง จ.สงขลา"ขอแค่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย"

3 เมษายน 2566  รับสมัครเลือกตั้ง

วันแรก(3 เมษายน 66) ของการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ และเป็นวันเดินสายไหว้ศาลหลักเมืองของเหล่านักการเมืองพรรคน้อยพรรคใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคล และขอพร...

"ทุกครั้งที่มีการเลือกตัั้ง เราจะเดินทางมาสักการะองค์พระหลักเมืองที่ศาลหลักเมือง ถือเป็นธรรมเนียมประเพณีปฎิบัติ เพื่อเป็นสิริมงคล” องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังจากสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพ และไม่ต่างจากหลายพรรค เป็นธรรมเนียมที่ต้องเดินทางไปไหว้ศาลหลักเมือง เอาฤกษ์เอาชัย 

ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนากล้านำทีมโดยกรณ์ จาติกวณิช และพรรคเพื่อไทย ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค,พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคนำทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม. เพื่อไทย 33 เขต ไหว้ศาลหลักเมืองขอพรให้การเลือกตั้งราบรื่น

เดินสาย ขอพร ศาลหลักเมือง  ชะตาเมืองปี 2566 ใครกำหนด ? 

นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ผูกผ้าสามสีที่ศาลหลักเมือง

“ขอให้พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และขอพรให้การเลือกตั้งครั้งนี้ราบรื่น อย่ามีอุปสรรคเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้ กกต. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อย... ” พวงเพ็ชร กล่าวเช่นนั้น

ส่วนพรรคใหญ่เช่นเพื่อไทย ช่วงวันยุบสภา แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็ได้มาสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพ เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา

และก่อนหน้านี้บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วัย 69 ปี นายกรัฐมนตรี ก็ไปสักการะศาลหลักเมือง จ.สงขลา เพราะหมายมั่นปั้นมือว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย 

ศาลหลักเมืองกรุงเทพและชะตาเมือง

ย้อนไปเรื่องราวชะตาเมือง ตอนที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพิธีการยกเสาหลักเมือง ตามความเชื่อที่ปฎิบัติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยประเพณีการตั้งเสาหลักเมืองเป็นไปตามพิธีพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับผู้อยู่อาศัยในการตั้งเมืองใหม่

ในอดีตการฝังเสาหลักเมืองทำตามตำนานพระราชพิธีนครถาน โดยเอาไม้ชัยพฤกษ์มาทำเสาหลักเมือง และไม้แก่นประดับด้านนอก กำหนดความสูงเสาเมื่อพ้นดินแล้ว 108 นิ้ว ฝังลงไปใต้ดิน 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูมสวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง มีช่องสำหรับบรรจุดวงชาตาเมือง

เดินสาย ขอพร ศาลหลักเมือง  ชะตาเมืองปี 2566 ใครกำหนด ? 

เมื่อวันเวลาผ่านมาหลายยุคสมัย เสาหลักเมืองชำรุดลงมาก ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯให้ทำขึ้นใหม่อีกเสา โดยบรรจุดวงพระชาตาใหม่ เนื่องจากทรงชำนาญวิชาโหรศาสตร์ ทรงคิดที่จะแก้ดวงเมืองใหม่ และได้มีพิธีสมโภชฉลองในการบรรจุดวงพระชาตาในครั้งนั้น โดยโปรดฯให้สร้างศาลาขึ้นใหม่ สร้างยอดปรางค์ตามแบบศาลาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ว่ากันว่าศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2523 มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525 ศาลหลักเมืองจึงได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม ด้านทิศเหนือจัดสร้างซุ้มสำหรับประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง 5 คือเจ้าหอกลอง เจ้าเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี

เดินสาย ขอพร ศาลหลักเมือง  ชะตาเมืองปี 2566 ใครกำหนด ?  นักการเมืองที่เข้ามากำหนดชะตาเมือง ? 

นอกเหนือจาก 'ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ' แล้ว เวลาเราไปต่างจังหวัดหลายแห่ง มักจะพบว่ามี 'ศาลหลักเมือง' ของจังหวัดนั้นๆอยู่ด้วย เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น

ในสมัยโบราณ สถานที่เหล่านี้ต่างเป็นเมืองมาก่อน มิได้เป็นเพียงจังหวัดๆ หนึ่งดังเช่นปัจจุบัน จึงมี 'หลักเมือง' ที่บ่งบอกความเป็นเมืองสำคัญหรือเคยเป็นราชธานี

ความเชื่อเกี่ยวกับศาลหลักเมือง

มาโนช เสนพงศ์ เคยให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยความเชื่อเกี่ยวกับศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชที่มีต่อผู้ศรัทธา ผลงานปัทมาสน์ สุนทรโอวาท และมนตรี มีเนียม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี2020 ว่า 

“…ผมบอกได้เลยว่านักการเมืองไม่ว่าระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติสําหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ให้ความเคารพกับศาลหลักเมืองมาก เห็นได้ว่าแทบจะทุกคนต้องไปเคารพ กราบไหว้ขอพรที่ศาลหลักเมือง บนบาน ก็มีบางคนบนแล้วก็ได้ดั่งใจ…”

ว่ากันว่าทุกองค์ประกอบการเลือกตั้ง ล้วนสําคัญสําหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เว้นแม้แต่หมายเลขผู้สมัคร โดยเชื่อว่าหมายเลขมีอิทธิพลต่อชัยชนะ ซึ่งคนไทยส่วนหนึ่งถือเอาความเชื่อเรื่องเสียงพ้องของตัวเลขตามคติความเชื่อแบบคนจีน 

ดังนั้น หมายเลขของผู้สมัครจึงเป็นสิ่งสําคัญลําดับต้นๆก่อนการเลือกตั้ง หากได้เลขที่มีเสียงในลักษณะมงคลก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงสมัครมากยิ่งขึ้น

ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจึงมักจะขอพรให้หลักเมืองช่วยดลบันดาลให้จับหมายเลขที่ตนเองต้องการและเป็นสิริมงคลได้

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชในเรื่องของการขอตําแหน่งทางการเมืองถูกร่ำลือในวงกว้างว่าได้ตําแหน่งดั่งใจหวัง ทําให้นักการเมือง ระดับชาติหลายคนต่างเดินทางมากราบไหว้ศาลหลักเมือง นครศรีธรรมราช เพื่อขอตําแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะ ตําแหน่งใหญ่อย่างนายกรัฐมนตรี

........................

อ้างอิง :

-วิกีพีเดีย,สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง

-กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม 

(http://www.culture.go.th/)