ทรายขาว ตำบลวัดใจ ลดเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนได้จริง
ถอดบทเรียน "ทรายขาว" หนึ่งในตำบลที่เกิดอุบัติเหตุสูงมาก เผชิญภาพความสูญเสียซ้ำซากทั้งปี ของจังหวัดเชียงราย แต่วันนี้สามารถขับเคลื่อนสู่ตำบลขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
เพราะความสูญเสียจากอุบัติเหตุ เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาวและเครือข่าย 9 แห่ง ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้าง "ตำบลขับขี่ปลอดภัย" เพื่อลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรมและร่วมสนับสนุนเป้าหมายลดการเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุทางถนน ของชาติ ภายในปี 2570
ล่าสุด "ตำบลขับขี่ปลอดภัย" ได้นำร่องขับเคลื่อนทั่วไทย เพื่อหามาตรการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนในพื้นที่ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือ "ทรายขาว" ตำบลที่มีเส้นทางหลักในการเดินทางสู่สถานที่ท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย มียานพาหนะสัญจรจำนวนมาก ทั้งยังมีปัญหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด มีจุดเสี่ยง จุดอันตราย จนทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจราจรพื้นที่ ต.ทรายขาว ปี 2564 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 100 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 98 คน และเสียชีวิต 2 คน จากสาเหตุบริเวณจุดเสี่ยงทางแยก ขาดสัญญาณจราจร ถนนขรุขระ มียานพาหนะสัญจรจำนวนมาก และใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่ในปีที่ผ่านมา "ทรายขาว" สามารถลดอุบัติเหตุในพื้นที่ตนเอง นำมาสู่การลงพื้นที่ถอดบทเรียนว่า ทำไม "ทรายขาว" ถึงลดได้จริง
มุ่งสู่ Get to the zero
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. เปิดเผยว่า สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหา อุบัติเหตุทางถนน โดยความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจัดอยู่ใน 7 เป้าหมายการทำงานในทศวรรษหน้าของสสส. โดยเรื่องของอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องเวรกรรมอย่างที่คนไทยคิด เพราะเป็นปัจจัยที่ป้องกันได้ พิสูจน์ได้แล้วจากหลายประเทศในยุโรปเหนือที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิต หรือที่เรียกว่า Get to the zero โดยประชากรหนึ่งแสนคน เสียชีวิตเพียง 5 คน ในขณะที่ "ไทย" ติดอันดับอุบัติเหตุทางถนนมากสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีอัตราการสูญเสีย 22 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่ามากสุดในอาเซียน
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์จุดเสี่ยงทั่วประเทศ พบว่ามี 280 อำเภอ ที่มีจุดเสี่ยงอันตรายสูง โดยในจังหวัดเชียงรายเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีจุดเสี่ยงสูง มีอัตราเฉลี่ย 300 คนต่อปี โดยเฉพาะ อ.พาน ที่ใหญ่อันดับสองของจังหวัด พบผู้เสียชีวิตในแต่ละปีเฉลี่ย 30 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก รวมถึงมีผู้พิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งรวมถึงอบต.ทรายขาว ด้วย
"แต่เราเชื่อว่าที่นี่เป็นหนึ่งท้องถิ่น มีชุมชนเข้มแข็งที่จะทำให้งานสำเร็จได้ หากมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาควิชาการข้อมูล ภาคท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคชุมชน และเอ็นจีโอ ร่วมมือกัน จึงนำมาสู่การทำงานประเด็นปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้า บุหรี่ และการบาดเจ็บทางถนน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องจากเหล้าเป็นปัจจัยต้นทาง อีกทั้งภาคเหนือเป็นจังหวัดที่มีอัตราการดื่มสูงสุดของประเทศ" นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการจัดการความปลอดภัยทางถนน อาทิ การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีโครงสร้างการจัดการความปลอดภัยทางถนนที่เข้มแข็ง ปรับถนน ภูมิทัศน์ จุดเสี่ยง จุดอันตราย ติดตั้งป้ายเตือน ติดตั้งเครื่องหมายจราจร ตัดแต่งกิ่งไม้ริมทาง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในพื้นที่ มีการสำรวจพื้นที่หมู่บ้าน ทั้งถนน ไฟฟ้า ข้อมูลต่างๆ นำมาประกอบการพัฒนาและแก้ไขจุดเสี่ยง โดยมีกลไกระดับพื้นที่คือ ชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างการบูรณาการความร่วมมือกัน
"สำหรับการดำเนินงานใน อบต.ทรายขาว ที่เป็นรูปธรรม มีทั้งการติดตั้งป้ายเตือนความเร็ว ป้ายเตือนเมาไม่ขับ ป้ายจำกัดความเร็ว ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร สัญลักษณ์เตือนจุดเสี่ยงต่างๆ ในชุมชน อาทิ ตุงแดง เสาแดงขาว หุ่นฟาง ในจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในชุมชน ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ต.ทรายขาว ลดลง" นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
จากตำบลสุขภาวะสู่ขับขี่ปลอดภัย
ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า การทำงาน ตำบลขับขี่ปลอดภัย เป็นการสานพลังการทำงานในพื้นที่แบบบูรณาการความร่วมมือกับ 4 องค์กรหลัก ไม่ว่าจะเป็น ท้องถิ่น ท้องที่ กลุ่มองค์กรชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ สร้างความรู้ความเข้าใจในทุกกลุ่มวัย ร่วมกันหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ โดยการสำรวจพฤติกรรมการขับขี่ สภาพแวดล้อมทั้งถนนสายหลักและสายรองในชุมชน รวมถึงการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมาย สะท้อนให้เห็นรูปธรรมของการดำเนินงานที่ชัดเจนในระดับพื้นที่
"การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้อยู่ในสุขภาวะที่สามารถจัดการตนเองได้ คือการทำให้เขาได้เข้าใจว่ากำลังอยู่ในสภาพอย่างไรในตอนนี้ จึงต้องมีการสำรวจข้อมูล เพื่อหาจุดเด่นจุดด้อย หรือสำรวจว่าเรามีทุนอะไรบ้างที่มาดูแลสุขภาวะได้ ในส่วนตำบลขับขี่ปลอดภัยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของการทำงานตำบลสุขภาวะ นั่นก็คือ การจัดการปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยการใช้พลังชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ด้วยการกระตุ้นให้ตระหนัก วิธีการแก้ปัญหาต้องเอาพลังของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน จุดเด่นของทรายขาวคือ ความตั้งใจของผู้นำที่จะแก้ปัญหาท้องถิ่น ซึ่งมีแนวทางการทำงานเดียวกัน มัดรวมเป็นพลังที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่ทำให้พลังแผ่นดินเข้มแข็งได้" ธวัชชัย กล่าว
กว่าจะเป็นตำบลปลอดอุบัติเหตุ
การเป็นชุมชนที่มีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธินตัดผ่าน ซึ่งมีระยะทางห่างจาก จ.เชียงราย 29.5 กิโลเมตร อยู่ทิศเหนือ ห่างจากตัว อ.พาน ระยะทาง 15 กิโลเมตร โดยมีจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 10 จุด ทางโค้ง 3 จุด สะพาน 3 จุด และทางร่วมทางแยก 4 จุด ทำให้ในอดีต ทรายขาว ต้องเผชิญภาพความสูญเสียซ้ำซากทั้งปี
จีรพงษ์ ใจวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลเป็นช่วงเกิดอุบัติเหตุสูงมาก เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าช่วงละ 35 ราย โดยเฉพาะถนนสายหลักมากกว่าสายรอง ซึ่งครั้งหนึ่งมีรถยนต์ประสบอุบัติเหตุ สูญเสียค่อนข้างเยอะ รวมถึงมีรถทัวร์ท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุบนเส้นนี้ด้วย และถึงแม้จะมีการรณรงค์ทุกปี แต่พอเลยช่วงเทศกาลไปหรือหยุดทำก็จะกลับมาอีก
ดังนั้น เมื่อมองว่าแนวทางการรณรงค์ดังกล่าวไม่จีรัง จึงเริ่มหากลไกที่จะสร้างความยั่งยืนมากขึ้น จุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการที่ "ทรายขาว" ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีของตำบลสุขภาวะ ผลจากการได้เรียนรู้วิธีการทำ TCNAP และ RECAP ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชนด้วยตัวชุมชนเอง ทำให้ได้พบข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกในพื้นที่อีกหลายเรื่อง
"เราตกใจมากเมื่อพบว่า รถในชุมชนของเรามีถึง 9,000 คัน ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ร้อยละ 90 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการเมาแล้วขับ และไม่ใส่หมวกกันน็อค นอกจากนี้หลังจากมาวิเคราะห์ชุมชนตัวเอง พบทุนในชุมชนเยอะมาก โดยเฉพาะคน แต่ยังไม่ได้ดึงมาใช้เป็นประโยชน์เต็มที่ จึงไปคุยกับสสส. ซึ่งเห็นความตั้งใจของเรา จึงเกิดโครงการถนนพหลโยธินปลอดภัย ซึ่งเราทำแค่เฉพาะตำบลเราก็ได้ แค่นี้ก็ยุ่งยากแล้ว แต่มาคิดว่าถ้าทำเฉพาะตำบลเรา ยังมีคนที่ผ่านมาจากตำบลอื่นหรือที่อื่นด้วย สรุปคือควรทำทั้งหมดถึงจะได้ผล จึงขยายเครือข่ายกลายเป็นเพื่อนบ้านตำบล 9 แห่งที่ติดกับพื้นที่ถนนพหลโยธิน โดยเริ่มจากสกัดคนในพื้นที่ตัวเองก่อนว่าอย่าเมาแล้วขับ" จีรพงษ์ กล่าว
พลังสูงวัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุ
จีรพงษ์ กล่าวต่อไปด้วยว่า เมื่อถามถึงจุดที่มันระเบิดขึ้นมา เรามองว่านับวัน ผู้สูงอายุ จะเพิ่มขึ้น จึงเริ่มปรึกษา วิเคราะห์ข้อมูลหมู่บ้าน และลักษณะกายภาพว่าจะปรับปรุงอย่างไร เมื่อมีทุนน้อยก็ใช้วิธีหาวัสดุที่มีอยู่ หาของในหมู่บ้าน ชุมชน บริจาคยางรถยนต์เก่า ติดตั้งจุดสำรวจไว้ 132 เส้น ทำป้าย 32 ป้าย ตั้งไฟระวังขาวแดง จึงช่วยลดอันตรายลงได้
"การทำงานเดินไปด้วยการที่เจ้าหน้าที่และผู้สูงวัยแลกเปลี่ยนกัน ชาวบ้านได้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ปรับปรุง เช่น ทำสีป้ายให้เด่นขึ้น สีถนน มีกติกาชุมชนเกิดขึ้น กลายเป็นต้นแบบของการทำงานอุบัติเหตุที่ไม่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ยังมีผลพลอยได้คือ ทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำและภาคภูมิใจ โดยรูปธรรมความสำเร็จอย่างแรกที่เห็นได้คือ ความตื่นตัวของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อีกอันคือ เราสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ของชุมชน กระบวนการคิด กระบวนการจัดการ สสส. ช่วยให้เราได้เรียนรู้ วันนี้เรามีนักวิชาการ มันสามารถให้เราช่วยมองปัญหาของเราเองได้" จีรพงษ์ กล่าว
จีรพงษ์ กล่าวด้วยความภูมิใจว่า เราสามารถลดอุบัติเหตุจากปีก่อนๆ ได้เกือบ 100% ในปี 2564 ประมาณ 38 ราย ในช่วงปีใหม่ โดยในปี 2566 สามารถทำให้เหลือแค่ 2 ราย จนไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยสิ่งที่ต้องทำต่อคือ การสร้างสี่ผสาน ได้แก่ ท้องถิ่นท้องที่ พี่น้องประชาชน ภาครัฐและเอกชนที่ให้ความร่วมมือ นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องรักษาไว้
เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน
จีรพงษ์ ยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้านเป็นเรื่องที่ยาก แต่ต้องเริ่มจากพนักงานของเราก่อน ใครเกิดอุบัติเหตุมาจะไม่มีการช่วยเหลือ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือทุกเวลา 15.00 - 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มักมีอุบัติเหตุสูงก็จะปล่อยให้มีการวิ่งรถกู้ภัยในช่วงนี้ พอคนได้ยินเสียง คาดเดาว่ามีอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความกลัว และขับขี่ด้วยความเร็วที่ลดลง ในส่วนโรงเรียนเองก็สามารถช่วยควบคุมได้ด้วยการพัฒนาหลักสูตรแรลลี่ละอ่อน ซึ่งเกิดจากความต้องการปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในเรื่องการสร้างวินัยจราจร และสวมหมวกกันน็อค
"ตอนแรกเราคิดว่าจะเอาหนังสือ วิดีโอไปให้เด็กดู แต่ด้วยวัยอาจไม่สนใจ จึงสร้างเป็นกิจกรรมทำให้เด็กได้ซึมซับมากกว่า จากนั้นเรามองว่าเอาเด็กไปสอนผู้ใหญ่ การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ยังช่วยปลดล็อกในเรื่องปัญหางบประมาณที่จำกัด เพราะเมื่อชุมชนเองเกิดความตระหนักรับรู้ก็เลือกที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของพวกเขาด้วยตัวเอง โดยไม่คิดที่จะพึ่งพาแต่หน่วยงานรัฐหรืองบประมาณท้องถิ่นอย่างเดียว ซึ่งอบต. มีหน้าที่แค่ให้ข้อมูลความรู้และสนับสนุน สำหรับจุดเสี่ยงชาวบ้านเป็นคนบอกเราว่ามีจุดเสี่ยงตรงไหนบ้าง สมมติมีห้าจุด แต่เรามีงบแค่สามจุด เขาต้องเลือกจุดที่สำคัญสุด ที่เหลือก็ไปแก้ไขกันเอง ยกตัวอย่างจุดเสี่ยงทางโค้ง ชุมชนแต่ละหมู่บ้านจะเป็นฝ่ายหายางเก่ากันมาเอง อบต. สนับสนุนแค่สี เขาสามารถจัดการเองหมด คืองบประมาณที่เราให้มันไม่พอหรอก แต่เราส่งเสริมให้เขารู้จักเรียงลำดับความสำคัญว่าควรทำจุดไหนก่อน ให้เขามีส่วนร่วมช่วยคิดมา" จีรพงษ์ กล่าว
ก้าวต่อตำบลขับขี่ปลอดภัย
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. เอ่ยถึงจุดแข็งของตำบลทรายขาวว่า นอกจากการมีเครือข่ายภาคีระดับตำบลที่ยึดเส้นทางพหลโยธิน ทำให้เลือกเป็นศูนย์กลางแม่ข่ายกับภาคีใกล้เคียงแล้ว อีกจุดเด่นที่มองเห็นคือ อบต.ทรายขาว เข้มแข็งมาก มีคณะทำงานกับเรามานาน และมีบุคลากร ชุมชนมีทุนเดิมอยู่แล้ว สสส. แค่เพียงเติมความรู้ เสริมนโยบาย และชุดกิจกรรมหลักๆ ลงไป เพื่อพัฒนาศักยภาพ
ดร.ประกาศิต กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการทำงานขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะลดอุบัติเหตุร่วมกับท้องถิ่น 116 แห่ง มีแนวโน้มทางบวก โดยมี 7 พื้นที่ที่ยกระดับการขับเคลื่อนไปสู่ระดับอำเภอ ซึ่งสถิติเฉลี่ยยังพบว่า การขับเคลื่อนเรื่องอุบัติเหตุระดับอำเภอช่วยลดลงได้ดีกว่าระดับประเทศ โดยปีที่แล้วทั่วประเทศลด 9 - 10% แต่ระดับตำบลที่ทำโครงการคือลดถึง 45% เช่นเดียวกับการอัตราการบาดเจ็บที่ทั่วประเทศลดลง 8 - 9% แต่การนำร่องในระดับอำเภอสามารถลดการบาดเจ็บลดลงได้ 60% จึงคิดว่าอยากยกระดับงานระดับตำบลให้ขึ้นมาเป็นระดับอำเภอให้หมด เพราะเชื่อว่าจะมีอิมแพคในระดับพื้นที่มาก
"แม้ผลจากการสนับสนุนพบว่า เป็นไปได้ดี แต่ในระยะยาว หากจบโครงการไปแล้ว ยังมีความกังวลว่าปัญหาอุปสรรคอาจกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นประเด็นคือ หลังจาก สสส. ไม่อยู่แล้ว ชุมชนจะทำงานนี้อย่างไรให้ยั่งยืน เพราะสสส. ไม่สามารถให้งบประมาณได้ทุกปี ดังนั้นการลงพื้นที่ต้นแบบที่ทรายขาว คือการพัฒนากลไกต้นแบบ ในหนึ่งปีแรก เราได้ข้อมูลแล้วอะไรดีไม่ดี อะไรเป็นอุปสรรค เรานำมาเก็บข้อมูล ในปีที่สอง สสส. จะนำมาทำแผนปฏิบัติการใหม่เพื่อส่งต่อคืนเจ้าภาพเมื่อจบโครงการ และเมื่อถอดบทเรียนจะพบว่า ช่องว่างที่เกิดจะมีหน่วยงานไหนมาแทนเราได้" ดร.ประกาศิต กล่าว
สุดท้ายนี้ ดร.ประกาศิต เชื่อมั่นว่า ชุมชนสุขภาวะเข้มแข็ง คือชุมชนที่ปรับตัวได้ พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เขาก็พร้อมจะสู้เอง เราหวังว่าพอชุมชนเข้มแข็งแล้วเรื่องสุขภาพและสังคมจะดีขึ้นตามมา ประเทศไทยมี 8,000 กว่าตำบล เป็นเครือข่ายตำบลสุขภาวะกับสสส. ประมาณ 3,400 ตำบล มีเพียง 1,000 กว่าตำบล รับเงินสนับสนุนโครงการจากสสส. ส่วนที่เหลือเป็นเพียงเครือข่าย แม้เขาไม่ได้รับงบสนับสนุนจากเรา แต่วันนี้เขาสามารถเดินไปต่อได้