กฤษณ์ รุยาพร : การพัฒนาผู้นำ แค่เก่งและดียังไม่พอ ความสุขต้องไม่หล่นหายไป
ถ้าคุณเป็น'ผู้บริหาร'หรือ'ผู้นำ' ไม่อยากเครียด จน'เส้นเลือดในสมองแตก' ต้องปรับความคิดแล้วละ...ลองอ่านบทสัมภาษณ์กฤษณ์ รุยาพร อาจารย์ที่ทำคอร์สพัฒนาผู้นำและองค์กร...
มีคนไม่มากนักที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตยังมีความสุขอยู่หรือเปล่า...
หนึ่งในนั้น ก็คือ กฤษณ์ รุยาพร กรรมการผู้จัดการบริษัทบริษัทเอเซีย แปซิฟิก อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ปรึกษาการพัฒนาผู้นำและองค์กร ทำมาอย่างต่อเนื่อง 25 ปี นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของไร่ใจยิ้ม จ.กาญจนบุรี แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและศูนย์เพาะบ่มผู้นำ
เรื่องมากมาย หลากมิติ ที่เขาทำและสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้เขากลับมาตั้งคำถามว่า การพัฒนาองค์กรและผู้นำ ต้องมีความยั่งยืนอย่างไร
แม้จะร่ำเรียนมามากมาย...จบปริญญาตรีด้านวิศวะ และปริญญาโทสองใบ ด้านComputer Science ,เศรษฐศาสตร์และการเงิน จากอเมริกา รวมถึงหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นผู้นำ( Executive Leadership Program) ที่โรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) จากนั้นขยับอีกก้าวไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมถึงคอร์สสั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องชีวิต ผู้คน โลกและธรรมชาติ
แต่คำถามในชีวิตก็ไม่เคยจบสิ้น ...
จึงเป็นที่มาของบทสนทนากับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ เรื่อง ความสุขที่หล่นหายไปของผู้บริหาร ไม่ว่าองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ รวมถึงทักษะการพัฒนาผู้นำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่เสมอไป การเปลี่ยนแปลงขอแค่มีแรงกระเพื่อมในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนต้องการความรัก และความสุข
กฤษณ์ รุยาพร กรรมการผู้จัดการบริษัทบริษัทเอเซีย แปซิฟิก อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด
“มีวันหนึ่งผู้บริหารองค์กรที่ผมไปให้คำปรึกษาเส้นเลือดในสมองแตกในห้องประชุมต่อหน้าประธานบริษัท และเสียชีวิต มีคำถามจากประธานบริษัทว่าเกิดอะไรขึ้น...” อาจารย์กฤษณ์ เล่าระหว่างการสนทนา
และตอนที่เขาและผู้บริหารกลุ่มเล็กๆ ไปปีนเขาที่เทือกเขาหิมาลัย เนปาล กว่าจะปีนไปถึงยอด เหตุใดความสุขได้หล่นหายไป แม้จะมีทิวทัศน์อันงดงาม และธรรมชาติสองข้าง...
- อะไรทำให้ตั้งคำถามกับคำว่า ความสุข
ตอนเรียนปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินและการบริหารที่อเมริกา ผมกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมเวลาผมได้เรียนเรื่องประสาท หรือเรื่องคน รู้สึกชีวิตมีรสชาติ ตอนนั้นก็เลยคิดว่า จะเอากระบวนการทางวิศวะมาค้นหาความสุข
- ที่ผ่านมาได้ใช้ชีวิตแบบมนุษย์ทำงาน เฮฮา สนุกสนานบ้างไหม
ตอนทำงานที่ไอบีเอ็ม มีรายได้ดี เดินทางบ่อย มีโอกาสเรียนรู้เยอะ ผมเชื่อว่า คนเรามีทั้งความสุขและความมั่งคั่งได้ในเวลาเดียวกัน
การทำงานที่นั่นผมมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ได้คุยกับผู้บริหารองค์กรในหลายประเทศ อย่างไมเคิล พอร์เตอร์ (ผู้พัฒนาทฤษฎีในเรื่องกลยุทธ์การแข่งขัน) หรือผู้บริหารธนาคาร ทำให้ได้เครือข่ายผู้บริหาร นายธนาคาร องค์กรต่างๆ เป็นกระบวนการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว
ช่วงที่ไอบีเอ็มกำลังจะเปลี่ยนแปลงองค์กร ผมก็มาช่วยเรื่องพัฒนาคน ตอนนั้นผู้บริหารอยากลดคนทำงานจากสี่แสนเหลือสามแสน สิ่งแรกที่ผมถามคนทำงานก็คือ ความสุขของคุณอยู่ตรงไหน เพราะบางทีความสุข ความเก่ง และโอกาส ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน
พนักงานคนไหนจะอยู่ไอบีเอ็มต่อ หรือจะออกไปเป็นเครือข่ายไอบีเอ็ม เป็นกระบวนการทำให้คนทำงานมีโอกาสกลับมาค้นหาตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ คุณได้ค้นพบความสุขจากการทำงานไหม
เวลาเดินบนสะพานวัดใจ หากใจไม่นิ่ง กายสั่นไหว อาจไปไม่ถึงฝั่ง
- ตอนทำงานที่นั่น เพื่อนร่วมงานชอบมาปรึกษาไหม
เมื่อไรที่เขามีปัญหา เขาก็นึกถึงเรา ผมอาจเป็นผู้รับฟังที่ดี เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ตัวตนของเขาคืออะไร ส่วนใหญ่คนจะลืมมองเรื่องต่อมความสุข เมื่อไรที่เขาค้นหาเจอ เขาจะมีความสุข ถ้าตั้งสูตรผิด ความเครียดวิ่งตลอด
- ทำไมคุณชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
เวลาเจอเรื่องใหม่ๆ ผมก็นำมาผสมผสานกับการทำงาน ทดลองทำ ถ้าเห็นว่าดีแล้ว ก็พัฒนาเป็นหลักสูตร ง่ายๆ เลย ผมคิดเรื่อง วิศวกรรมความสุขบนรากแก้วที่แข็งแรง (Happineering)
ลองนึกถึงคำว่า ยิ้ม ซึ่งเป็นจุดเด่นของคนไทย ตรงนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ เราเป็นดินแดนแห่งการยิ้มอยู่แล้ว ถ้าเราให้คนได้เรียนรู้เรื่องนี้ สร้างแรงบันดาลใจได้
ตอนผมเรียนโปรแกรมการพัฒนาผู้นำในต่างประเทศ คนที่นั่นจะทำเป็นศูนย์วิจัย เพื่อพัฒนาผู้บริหารไปอีกขั้น ทำให้เราได้แนวคิดบางอย่าง และผมมีโอกาสรู้จักกับสตีเฟน โควีย์ คนเขียนหนังสือ 7 Habits ผมชอบหนังสือเล่มนี้มาก
ผมช่วยคนค้นหาแรงบันดาลใจของพวกเขา สตีเฟนถามผมว่า จะมาเปิดหนังสือที่เขียนในเมืองไทยได้ไหม จนตั้งบริษัท Covey Leadership Center (Thailand) และเปิดคอร์สเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ ทำอยู่พักหนึ่ง ก็เอาแนวนวัตกรรมมาผนวก เพื่อช่วยผู้บริหารนำทางค้นหาความสุข
- เห็นบอกว่า เคยพาผู้บริหารกลุ่มเล็กๆ ไปปีนเทือกเขาหิมาลัย
ตอนผมเป็นเจ้าของบริษัทฝึกอบรมด้านการพัฒนาผู้นำ ผมไม่ได้นำเรื่องธรรมชาติมาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน เป็นเรื่องความคิดล้วนๆ ประมาณว่า หลักสูตรดี ออกมาตื่นเต้น แต่พอลงมือทำ มีอะไรบางอย่างหายไป
แต่มีจุดหักเหในชีวิต 12 ปีที่แล้วผมไปปีนเขาเอเวอเรสต์ เทือกเขาหิมาลัยที่เนปาลกับ หนึ่ง วิทิตนันท์ โรจนพานิช (คนไทยคนแรกที่ปีนเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จ) มีซีอีโอกลุ่มเล็กๆ ไปด้วย
ผมได้ค้นพบว่า สิ่งที่สอนผู้บริหารที่ดีที่สุดคือธรรมชาติ เวลาเดินขึ้นเขา มีหลายคนหงุดหงิด ประมาณว่า ทำไมไม่ทำตามที่ฉันบอก บางคนขึ้นไปถึงยอดเขาบางลูกแล้ว แต่เดินต่อไม่ไหว
การเดินบนเทือกเขาหิมาลัยเหมือนการวัดใจ ผมถามพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้น เราคุยกันในเวลาต่อมา
พวกเขาสรุปว่า ผมพยายามเปลี่ยนทุกอย่าง ยกเว้นตัวผม เพื่อจะเดินขึ้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เวลาเหนื่อยมากๆ ก็จะเครียด แต่พวกเขาลืมเปลี่ยนแปลงตัวเองระหว่างทาง พอย้อนกลับไปเรื่องการทำงาน ความพยายามเปลี่ยนลูกน้องให้ดีขึ้น แต่ไม่หันมาเปลี่ยนตัวเอง ฮอร์โมนความสุขไม่หลั่ง
เหมือนการปีนเขา ถ้าเกิดอาการแพ้ความสูง ใจกับกายไม่สัมพันธ์กัน ใจไปถึงยอดเขาแล้ว แต่ร่างกายมีความเครียด
"ส่วนใหญ่ผู้บริหารเป็นพวกน้ำชาเต็มแก้ว เราสอนเขาไม่ได้ แต่ธรรมชาติสอน พวกเขาฟัง" กฤษณ์ รุยาพร กล่าว
- ทำให้เกิดอาการแพ้ ?
ตอนนั้นผู้บริหารบางคนถ่ายรูปออกมา ยังจำไม่ได้เลยว่าถ่ายที่ไหน มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถเดินไปถึงยอดอย่างที่เขาคิด ธรรมชาติช่วยสะท้อนบางอย่าง เพราะส่วนใหญ่ผู้บริหารเป็นพวกน้ำชาเต็มแก้ว เราสอนเขาไม่ได้ แต่ธรรมชาติสอน พวกเขาฟัง
- แล้วธรรมชาติได้สอนคุณอย่างไร
ตอนนั้นผมก็เอาทฤษฎีมาหลอมรวมเป็นการปฎิบัติ บางอย่างเราบอกให้คนอื่นเปลี่ยน เพราะมีทฤษฎีดี แต่บางทีเราก็ลืม ผมคิดว่า ธรรมชาติสอนคนได้ตลอด
- บทเรียนที่ได้จากธรรมชาติในครั้งนั้น ทำให้คุณมองหาพื้นที่ เพื่อทำไร่ใจยิ้ม ?
10 ปีที่แล้วหลังจากกลับจากปีนเขาที่เนปาล เราลองหาหลายสถานที่ ไปดูตามรีสอร์ทหลายแห่ง เพื่อนำมาประกอบภาพที่เราไปปีนเขา
หลายสถานที่ไม่สามารถทำได้เต็มร้อย จนมาที่ จ.กาญจนบุรี เราซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่ มีหน้าผา บึ่งน้ำ แวดล้อมด้วยธรรมชาติ เพื่อใช้ทำกิจกรรม
คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจการปีนหน้าผา การขึ้นสู่ที่สูงต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายอย่าง ทั้งร่างกาย จิตใจและอารมณ์ บางทีใจขึ้นถึงยอดแล้ว แต่ร่างกายไม่ไหว หรือสะพานวัดใจก็มีการจำลองไว้ในไร่
เรามองว่าที่นี่พร้อมเพื่อให้คนลองทำทุกสถานการณ์ และมีทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ให้เราทำเรื่องการพัฒนาผู้นำในองค์กรเขา เราให้ผจญภัยหลายเรื่อง ให้ต่อเรือกระดาษข้ามทะเลสาป ปีนหน้าผา ฯลฯ
อย่างกรณี นักกีฬาฟุตบอลหญิง ทีมชาติไทยของคุณแป้ง ก่อนไปแข่งที่ต่างประเทศ ก็มาเก็บตัวที่นี่ สร้างมุมมองความพร้อม ภาษาฟุตบอลคือ เอาความเป็นเทพในตัวออกมา ทุกคนมีความสามารถ พอถูกกดดัน บางทีลูกเตะง่ายๆ ก็เตะออกหมด อันนี้คือการเพาะบ่มความพร้อมในการก้าวต่อไป
อีกหนึ่งโมเดลในการวัดใจง่ายๆ และสนุก ที่ไร่ใจยิ้ม กาญจนบุรี
- ตอนนี้ไร่ใจยิ้ม เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนและสถานที่บ่มเพาะพัฒนาผู้นำ ?
มีคำถามว่า ทำไมพาผู้บริหารมาที่นี่ ราคาคอร์สก็แพง แถมยังเป็นไร่ธรรมดาๆ ถ้าเป็นคอร์สธรรมดาๆ คงราคาไม่แพง แต่เราใส่ความรู้ ความเข้าใจการผจญภัยที่ได้เรียนรู้ เพื่อสร้างภาวะผู้นำ
ผมทำเรื่องการพัฒนาผู้นำมานาน เปลี่ยนจากความรู้ในห้องเป็นการลงมือทำอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อให้เผชิญสมรภูมิ สร้างฮีโร่หรือวีรบุรุษในตัวเขา
- ยกตัวอย่างสักนิด ?
หลายองค์กรอยากส่งผู้นำไปบุกโลก เปิดธุรกิจในต่างประเทศ การสร้างผู้นำสำคัญมาก จึงต้องออกแบบสถานการณ์ในช่วงสามวันที่เข้าคอร์ส ถ้าจะบุกไปอเมริกาใต้ พวกเขาต้องลองปีนเขาด้านหลัง ตั้งแคมป์
เราก็ตั้งโจทย์ว่า ถ้าแบกเป้ใบเดียวการผจญภัยจะตัดสินใจอย่างไร เขามีความกล้าที่จะสร้างเส้นทางใหม่ของตัวเองไหม หรือมีทีมไปด้วยจะสติแตกก่อนไปถึงยอดเขาหรือเปล่า
ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
พวกผู้บริหารเหล่านี้จะมีบอร์ดมารีวิว ให้ทุกคนมาพรีเซนต์ตัวเองว่า ที่เรียนไปเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงองค์กร
ผมเคยไปประชุมในบอร์ดร่วมกับซีอีโอ มีผู้บริหารด้านบริหารทรัพยากรบุคคลคนหนึ่งมาที่นี่บ่อย อยู่มาวันหนึ่งเส้นเลือดในสมองแตกในที่ประชุมและเสียชีวิต
ซีอีโอก็มาถามผมว่า เขาทำอะไรผิดหรือ เพราะเขาให้ไปเรียนเรื่องความคิดใหม่ๆ ที่โน้นที่นี่ ผมคิดว่า ชีวิตการทำงานคงไม่ใช่เรื่องความคิดอย่างเดียว จิกซอว์ที่ขาดอยู่ ต้องดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์
ถ้าคนเราใช้ความคิดอย่างเดียว จะไปไม่ถึงดวงดาว และทำให้ร่างกายบอบช้ำ อารมณ์ก็ขุ่นมัว คนรอบข้างก็แปรปรวนไปด้วย เราก็เลยใช้การเพาะบ่มแบบองค์รวม การสร้างผู้นำไม่จำเป็นต้องอยู่สูงสุดเสมอ คนที่อยู่อีกระดับก็เป็นผู้นำได้
- ช่วงหลัง จึงมีโอกาสทำคอร์สให้ผู้ป่วยมะเร็ง ?
อย่างคนไข้มะเร็ง มีการระดมทุนจากบริษัทหรือผู้นำช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย กลุ่มที่อาการนิ่งระดับหนึ่ง เราพาไปปีนหน้าผา พอปีนได้ แนวคิดก็เปลี่ยน ฉันแข็งแรงสู้กับมะเร็งได้ เพราะแก๊งมะเร็งที่เดินทางไปด้วยกัน ก็ช่วยกันประคับประคองยกระดับซึ่งกันและกัน
พอเราให้เดินรอบไร่สองกิโลเมตร ตอนแรกพวกเขาบอกว่า ไม่น่าไหว แต่เดินไป คุยไป ก็ไหว
การเข้าคอร์สแค่ 3 วัน เหมือนการสะกิดพวกเขาให้รู้จักสภาพร่างกายและจิตใจมากขึ้น เมื่อเริ่มอยากรู้แล้ว กลับไปก็จะมีคลิป วิดีโอ และการบ้านออนไลน์ เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาไปอีกขึ้น
ปล่อยร่างกายและจิตใจให้อยู่กับธรรมชาติแบบผ่อนคลาย
มาตรฐานการปรับรูปแบบชีวิตใหม่ ถ้าทำภายใน 21 วันเปลี่ยนนิสัยได้ ถ้าจะเปลี่ยนไลฟสไตล์ในชีวิตต้อง 90 วัน
นี่คือโครงสร้างที่เรานำมาใช้ และต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่เติมเต็มให้ชีวิต อาจไม่ใช่ครอบครัวก็ได้ บางทีอาจเป็นเพื่อนที่ทำงานหรือคนที่อยู่รอบข้าง เพื่อทำให้เราหมุนชีวิตให้ดีขึ้น
สมัยก่อนผมอาจคุ้นเคยกับการสร้างผู้นำระดับบน จนเมื่ออบรมคนไข้มะเร็งกลุ่มนี้ ทำให้เรารู้ว่า แม้กระทั่งคนธรรมดาก็ยกระดับเป็นผู้นำได้
เมื่อเขาแข็งแรงและเปลี่ยนแปลงตัวเองก็จะเป็นผู้นำแห่งแสงสว่าง เป็นแรงบันดาลใจเปลี่ยนคุณหมอในโรงพยาบาลและคนในองค์กร หันมาวิ่งออกกำลังกาย
คนไข้มะเร็งกลุ่มนี้ไปเปลี่ยนคนในหลายองค์กรให้มาร่วมกันออกกำลังกาย ซึ่งตอบโจทย์เรื่องผู้บริหารที่ผมเล่าให้ฟัง เส้นเลือดในสมองแตกระหว่างการทำงาน ผมจึงอยากบอกว่า ฮอร์โมนแห่งความสุขสำคัญมาก