ชีวิต 'คนข้ามเพศ' เส้นบางๆ ของการเข้าไม่ถึงโอกาสทางสุขภาพ
แม้ไทยจะอยู่ในยุคที่สังคมเปิดใจให้กับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ "คนข้ามเพศ" ก็ยังถูกเลือกปฏิบัติโดยการเข้าไม่ถึงโอกาสทางสุขภาพ จึงนำมาสู่คลินิกเพศหลากหลาย "Gen V Clinic" เพื่อเปิดโอกาสให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ
เมื่อทุกคนอยากมีชีวิตที่พึงพอใจ และมี "คุณค่าในตัวเอง" แต่ในวันที่กายกับใจไม่ตรงกัน ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะยืนหยัดความเป็นตัวเอง ไม่อาจถูกบังคับด้วยเพศสภาพภายนอกได้ เมื่อ Sex ไม่ตรงกับ Gender ทางเลือกของใครหลายคนคือ การเปลี่ยนผ่านร่างกายและชีวิตไปสู่การเป็น "สิ่งที่ฉันเป็น" สู่เพศสภาพที่ตรงกับตัวตน
ไม่มีคำว่า One-size-fits-all
แม้อยู่ในยุคที่สังคมเปิดใจให้กับ "ความหลากหลาย" มากขึ้น โดยเฉพาะความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ถูกนิยามเพียงแค่ "ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" อีกต่อไป แต่ก็ยังคงมีอีกหลากหลายความเข้าใจที่สังคมอาจต้องเรียนรู้ เช่น ในความหลากหลายทางเพศที่ได้มองแบบเหมารวมนั้น ก็ยังมีความต้องการที่ "แตกต่าง" ในกลุ่ม คนข้ามเพศ หรือ Transgender แม้เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็มีความต้องการมากกว่า LGBTQ อื่นๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งในเรื่อง ฮอร์โมน หรือ การผ่าตัดแปลงเพศ หากที่ผ่านมา ด้วยความเหลื่อมล้ำของการรับบริการด้านสุขภาพ ทั้งในแง่คุณภาพ มาตรฐานและการเข้าถึง ทำให้ผู้รับบริการข้ามเพศส่วนใหญ่รู้สึกกังวล ขาดความมั่นใจ และไม่อยากเข้ารับบริการด้านสุขภาพมาโดยตลอด
ข้ามเพศมีสิทธิไหม
ปัจจุบันกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เข้าถึงบริการด้านสุขภาพน้อยกว่ากลุ่มรักต่างเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านสุขภาพผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีอยู่จำกัด ทั้งมีประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องเพศ
"ทุกครั้งไปโรงพยาบาลจะถูกจับตรวจ HIV ทำให้ไม่กล้าไป คือข้ามเพศทุกคนไม่ได้เป็น HIV แต่เรายังเป็นโรคเหมือนคนอื่น ทั้งมะเร็ง โรคตับ เพราะเราต้องทำงานใช้แรงงาน"
อาทิตยา อาษา ตัวแทนจากเครือข่ายกลุ่มเสริมพลังทรานส์ เล่าความในใจส่วนหนึ่ง ในการประชุมวิชาการ "การพัฒนาการบริการสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลายในประเทศไทย" เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพสำหรับบุคคลข้ามเพศและบุคคลเพศหลากหลายในไทย จัดโดยโครงการสนับสนุนวิชาการและพัฒนาเครือข่ายการให้บริการทางคลินิกกับบุคคลข้ามเพศ โดยคลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี Gen V Clinic สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับโครงการก่อตั้งสมาคมเพื่อการพัฒนาสุขภาพบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลายแห่งประเทศไทย หรือ ThaiPATH และโครงการข้ามเพศมีสุข
อาทิตยา กล่าวว่า จากการสอบถามเพื่อนๆ ยังพบว่า คนข้ามเพศ กำลังเผชิญสถานการณ์และความต้องการสามเรื่องคือ 1) ปัญหาการกระจายตัวของสถานบริการที่ให้บริการบุคคลข้ามเพศที่ครอบคลุม และการเข้าถึง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่ คนข้ามเพศยังต้องเดินทางมาในกรุงเทพฯ เวลามารับบริการแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าเดินทางค่ารถ ที่พัก ค่าอาหารและต้องลาหยุดงานเราอยากให้คลินิกกระจายตัวทุกที่ในโรงพยาบาลภาครัฐ 2) คนข้ามเพศไม่ได้ไปหาหมอเพื่อเรื่องข้ามเพศอย่างเดียว แต่อาจมีความเจ็บป่วยโรคอื่นเช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่ถ้าไม่เจ็บป่วยจริงก็ไม่อยากไปโรงพยาบาลทั่วไป เพราะไม่ต้องการตอบปัญหาเกี่ยวกับเพศสภาพ และ 3) อยากให้มีการจัดการชุดบริการสุขภาพที่ป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่มากับความเสี่ยงจากการเป็นคนข้ามเพศ
"สุดท้ายเราอยากให้มีการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นมิตร ปลอดภัย ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของเรา เช่น การใช้คำนำหน้าที่ไม่ระบุเพศกำเนิด ไม่อยากให้มีการถูกถามคำถามที่เกิดจากความสนใจใครรู้ส่วนบุคคล เช่น แปลงเพศแล้วหรือยัง ใช้งานแล้วหรือยัง เป็นต้น" อาทิตยา กล่าวว่า
สำหรับ คนข้ามเพศ การรับ "ฮอร์โมน" คือ ด่านแรก หรือสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพที่พึงได้รับ แต่ปัจจุบันเชื่อว่าน่าจะมีคนข้ามเพศมากกว่าครึ่งเลือก "เทคฮอร์โมน" นอกระบบ บ่อยครั้งที่คนข้ามเพศมักไม่มีความรู้เรื่องการใช้ฮอร์โมน บ้างก็แอบไปซื้อยาคุมกำเนิดกินแทนยาฮอร์โมนด้วยความเข้าใจผิด ในความจริงยาฮอร์โมนนั้นจำเป็นต้องเข้าใจถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้องและเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะหากใช้มากเกินความจำเป็น อาจมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพ และนำมาสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดอุดตัน และโรคระยะยาวอีกมากมาย
ณชเล บุญญาภิสมภาร จากเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย เสริมถึงข้อเท็จจริงว่า แปลงเพศไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความสวยงาม แต่คือสุขภาพองค์รวมของชีวิตหนึ่งๆ เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารทำความเข้าใจ เวลาพูดเรื่องการข้ามเพศ ไม่ใช่แค่พูดถึงการได้รับฮอร์โมนเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังมีเรื่องการปรับเปลี่ยนเพศร่างกาย ทั้งมีเรื่องของสิทธิ และการเข้าถึงองค์ความรู้ ที่ผ่านมาเราพยายามเปลี่ยนคำอธิบายให้สังคมเข้าใจ เพราะหลายครั้งการข้ามเพศคือสิทธิ แต่สิ่งที่ถูกโต้แย้งเสมอคือ ข้ามเพศเป็นเรื่องสวยงามไม่ใช่สิทธิ ทั้งที่มันมีความจำเป็นและสำคัญต่อสุขภาวะคนข้ามเพศ เราพยายามสื่อสารเรื่องนี้ในกลุ่มพี่น้องชุมชนที่เราไปทำ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าได้เห็นทัศนคติคนชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปมาก เขาจะไม่พูดต่อไปว่าเป็นความสวยงามอีกต่อไปแล้ว เราเห็นภาคประชาสังคมพูดถึงกระบวนการข้ามเพศมากขึ้น คนข้ามเพศเองจากที่เขาเคยไปซื้อยาเองจากร้านขายยา แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีคลินิกที่จัดบริการตรงนี้และเข้าสู่ระบบบริการเป็นรูปธรรมมากขึ้น
"Gen V Clinic" เพื่อคนข้ามเพศ
อีกอุปสรรคสำคัญ ของการบริการเพื่อกลุ่ม คนข้ามเพศ โดยเฉพาะส่วนใหญ่ หนีไม่พ้นกระจุกตัวอยู่ในศูนย์กลางของประเทศ อย่างกรุงเทพมหานคร สุดท้ายแล้วประชาชนที่มีความหลากหลายทางเพศในต่างจังหวัดจะใช้บริการจากที่ใด หากไม่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อรับบริการ โดยคลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี Gen V Clinic เป็นอีกหนึ่งสถานให้บริการด้านสุขภาพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หัวหน้าโครงการและหัวหน้าคลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การเปิด คลินิกเจนวี เกิดจากความกังวลปัญหาเรื่องการใช้ฮอร์โมนไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งหลายรายไม่ทราบผลกระทบด้านสุขภาพ กอปรกับกลุ่มคณะแพทย์ในเวลานั้นมีความเห็นร่วมกันว่า ทำไมเราไม่ทำคลินิกที่ทำให้เขากลับไปเป็นเพศเดิม แทนคลินิกที่ทำให้เขามีปัญหา จึงร่วมกันผลักดันคลินิกเจนวี เป็นต้นแบบคลินิกเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเชื่อว่าการเปิดตัวบริการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ โดยในระยะแรกคลินิกเจนวีมีผู้ใช้บริการเพียง 21 ราย แต่ปัจจุบันกลับได้รับความนิยมขยายตัวมีผู้เข้ามาใช้บริการมากถึง 500 ราย/ปี ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการ และช่องว่างที่ถูกเติมเต็มอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่ 90% มาขอรับบริการและปรึกษาเรื่องฮอร์โมน และเป็นผู้ป่วย HIV ประมาณ 9%
"อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะคนข้ามเพศที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวง ต้องเดินทางมารับบริการ ปัจจุบันมีการขยายเจนวีคลินิกไปยัง 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ขอนแก่น (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) สงขลา (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) นครนายก (คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส."
จุดเปลี่ยนของการเข้าถึง
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งหวังการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพในกลุ่มคนข้ามเพศ จึงสนับสนุนคลินิกเพศหลากหลาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Gen V Clinic) ในการดำเนินโครงการสนับสนุนวิชาการและพัฒนาเครือข่ายการให้บริการทางคลินิกกับบุคคลข้ามเพศ เพื่อขยายการทำงานกับเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และคนทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพกับคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราเห็นความสำเร็จของคลินิกเจนวี ที่ไม่ใช่แค่เรื่องบริการเพศอย่างเดียว แต่เป็นสุขภาพจิต แนะนำการปรับตัว ทำงานกับพ่อแม่คนรอบข้าง มีการทำงานครอบคลุม ซึ่งที่ผ่านมา LGBTQ โดนเรื่องเลือกปฏิบัติ ถูกตีตราเยอะ คลินิกนี้จะให้มิติเรื่องใจด้วยไม่ใช่แค่การบริการอย่างเดียว บางคนมาด้วยความกลัว กังวลว่าคนอื่นจะรู้สถานภาพ บางรายต้องทำงานร่วมกับพ่อแม่ ที่จะให้คำแนะนำเรื่องการใช้ฮอร์โมนอย่างไรให้เหมาะสมสำหรับช่วงวัย คลินิกเจนวีต้องเป็นคลินิกที่ทำให้คนใช้บริการรู้สึกถึงการถูกลดคุณค่าน้อยลงจากที่ผ่านมา
"สำหรับ สี่พื้นที่นี้จะเป็นจุดตั้งต้นที่จะขยายผลไปในพื้นที่อื่นทั่วไทย รวมถึงเป็นต้นแบบกระบวนการเพื่อขยายผลให้กับโรงเรียนแพทย์อื่นๆ ไม่เพียงการให้บริการด้านสุขภาพ โครงการนี้ยังทำงานควบคู่กับโครงการข้ามเพศมีสุข อีกหนึ่งโครงการที่ สสส. ให้การสนับสนุน ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมประสานพลังขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ หนุนเสริมเครือข่ายให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาแกนนำภาคชุมชนที่ร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะคนข้ามเพศไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวในภาคนโยบายเองก็มีความก้าวหน้า เมื่อ ยาฮอร์โมน กำลังจะกลายเป็นอีกสิทธิประโยชน์ที่ คนข้ามเพศ ในไทยทุกคนมีสิทธิได้รับ" ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มีการคุยกันเรื่องเข้าสู่ระบบสิทธิประโยชน์ และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ อาทิ ฮอร์โมนเกือบทั้งหมดควรอยู่ในบัญชีหลัก รวมถึงการพิจารณาสิทธิเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ รวมถึง สปสช. มีแนวคิดที่จะออกแบบชุดบริการสำหรับคนข้ามเพศ โดยมีการประชุมรับฟังเสียงประชาชนในชุมชนว่าควรต้องมีองค์ประกอบ รูปแบบ และความครอบคลุมด้านใดในด้านสิทธิ ซึ่งสปสช. จะนำไปศึกษาเพิ่มเติมและหาข้อสรุปและเสนอให้บอร์ดสปสช. ได้พิจารณาต่อไป
"อีกบทบาทสปสช. คือ การดูแลเรื่องการเข้าถึงการบริการสุขภาพ และทำให้ประชาชนรับรู้สิทธิที่พึงมี ผู้รับบริการมีสิทธิที่จะขอให้มีการปรับปรุงระบบการให้บริการ และได้รับสิทธิการคุ้มครอง เรามีสายด่วน 1330 รองรับ เพราะการส่งเสียง หรือ Voice จากเครือข่ายคือ ตัวกระตุ้น สร้างแรงกระเพื่อม ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็งและเป็นคนกำหนดว่าคุณจะไปทางไหน" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว