'ฝุ่น ไฟป่า เผา' ลดได้ เมื่อชุมชนมีส่วนร่วม
"เชียงใหม่" เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เผชิญปัญหาฝุ่นมาอย่างยาวนาน แต่ท่ามกลางวิกฤติสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่รุมเร้า ยังมีพลังเครือข่ายจากหลากหลายชุมชนถึงระดับจังหวัดมาร่วมกันขับเคลื่อนอย่างแข็งแกร่ง โดยมีความหวังที่จะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
ฤดูกาลเข้มข้นที่สุดของ ฝุ่น PM 2.5 มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ "เชียงใหม่" ที่แม้จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นลำดับต้นๆ ของประเทศ แต่ยังมีชุมชนเล็กๆ เป็นอีกหนึ่งพลังที่ร่วมปกป้องลมหายใจคนเชียงใหม่ และมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาด้วยความตระหนัก
แนวกันไฟ "บ้านปงใต้" ผู้พิทักษ์ดอยสุเทพ
ที่ชุมชนบ้านปงใต้ ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งต้นแบบหมู่บ้านป้องกันไฟป่า และมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ของจังหวัดอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้อยู่ใกล้เทศบาลนครเชียงใหม่มากที่สุด
บุญศรี หม่อมป๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านปงใต้ เล่าว่า ช่วงหน้าแล้งในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะนำชาวบ้านราวๆ 70 - 80 คน มาช่วยกันทำ แนวกันไฟ บริเวณสันเขาเชิงดอย เขตพื้นที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่อยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้าน มีระยะทางยาว 5.5 กิโลเมตร กว้าง 8 เมตร ด้วยการนำเครื่องเป่า ไม้กวาด คราดให้หญ้าและใบไม้แห้งออกไปตลอด 4 เดือนจนถึงเดือนพฤษภาคม โดยมีการจัดตั้งศูนย์ในชุมชน ชาวบ้านจะสลับกันเป็นเวรลาดตระเวน คอยเฝ้าระวัง ไฟป่า เพราะชาวบ้านรู้ทางขึ้นลงของพื้นที่ดี เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น จากศูนย์เฝ้าระวังจะเข้าถึงจุดที่เกิดไฟไม่เกิน 15 นาที ก็สามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อช่วยกันดับไฟ หากเกินกำลังคนที่อยู่เวร จะแจ้งในไลน์กลุ่มขอกำลังเสริม ทุกคนก็จะมาช่วยกัน และหากไฟสูงเกิน 2 เมตร ก็ยังมีแนวกันไฟป้องกันไม่ให้ไฟลาม ซึ่งมาตรการนี้ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 11 หมู่บ้านของ ต.บ้านปง ทำให้เขาที่เป็นเขาหัวโล้น กลายมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
"สถานีใบไม้" แปลงไม้แห้งเป็นรายได้
อีกหนึ่งต้นแบบจัดการใบไม้แห้งแปลงเป็นปุ๋ย สร้างรายได้ กำไร 2 ต่อ ด้วยแนวคิด "ลดการเผา-สร้างรายได้" ของ "อัมพร บุญตัน" ผู้ก่อตั้งสถานีใบไม้ ที่เริ่มก่อตั้งจากการเห็นชาวบ้านจัดการใบไม้แห้งด้วย การเผา จึงอยากที่จะหาวิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม หลังได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยจากใบไม้จากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงเริ่มต้นจากภายในครัวเรือนและคนรู้จัก ก่อนขยายสู่สถานีใบไม้ที่ปัจจุบันมี 2 สถานี ได้แก่ สถานีหางดง อ.หางดง และสถานีสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มีบริการรับทิ้ง บดกิ่งใบไม้ และสอนทำปุ๋ยหมัก ค่าใช้จ่ายในการบริการ 100-300 บาท จากนั้นจะนำใบไม้ที่ได้รับ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ขณะนี้มี 3 ตัวคือ ปุ๋ย ดินปลูก และตัวสตาร์ทเตอร์ที่นำไปใส่ในเศษอาหารทำให้เกิดการย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย
อัมพร กล่าวต่อไปว่า ตั้งเป้าในปี 2567 จะทำให้ได้ 50 ตัน คิดเป็นใบไม้แห้งราว 100-150 ตัน จะช่วยลดการเผาใบไม้ได้มากขึ้น โดยอนาคตจะพยายามยกระดับไปสู่การเป็น ธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ซึ่งการจะทำให้เกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนควรจะขายได้ในราคา 3,500 บาทต่อตัน จึงจะทำให้ชาวบ้านเห็นถึงรายได้และร่วมกันทำปุ๋ยใบไม้ในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อช่วยลดการเผาด้วยการกำหนด 1 วันใน 1 สัปดาห์ให้เป็นวันรับเก็บขยะใบไม้ ไม่ให้ชาวบ้านจัดการด้วยการเผา ถือเป็นการมีส่วนร่วมลดมลพิษทางอากาศจากชุมชน
ท่องเที่ยวลมหายใจไร้ฝุ่น บ้านบวกจั่น
สุริยะ อนันต์วิไล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสีเขียวและวัฒนธรรมชนเผ่าบ้านบวกจั่น กล่าวว่า ไอเดียคือ เมื่อก่อนเราก็ไม่สนใจเรื่องฝุ่นไฟ แต่ปัจจุบันรู้ว่ามันมีผลกับทุกคน เราอยากให้ทุกคนเห็นว่าเราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ยังทำกันอยู่ แล้วพวกคุณทำหรือยัง?
"บ้านบวกจั่นมี 200 กว่าครัวเรือน ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านเหนือฝุ่น เพราะอยู่ที่ระดับความสูง 1,300 เมตร ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เดิมทำการเกษตรผักผลไม้และดอกไม้เมืองหนาว แต่มีปัญหาเรื่องรายได้ จึงรวมตัวกันทำท่องเที่ยวโดยนำจุดเด่นของชุมชนคือ ป่าสีเขียวที่พวกเขาช่วยกันปกปักรักษามายาวนาน เราดูแลป่ามาตลอดสามสิบปี ทำให้ไฟมาไม่ถึง ทำ แนวกันไฟ รอบป่าความกว้าง 3 เมตร กวาดเศษใบไม้ ตัดหญ้า เป็นเรื่องปกติ นโยบายหลักของหมู่บ้านคือ เราต้องทำทุกสองเดือน ยังเคยคุยกันขำๆ ว่า หมู่บ้านเรามีเรื่องเดียวที่สามัคคีคือ ทำแนวกันไฟนี่แหละ ก็หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไม แต่ทุกคนมองว่ามันคือบ้านของเรา"
สุริยะ กล่าวต่อไปว่า ผลพวงจากการเป็นผู้พิทักษ์พื้นที่ป่า 700 ไร่ ทำให้ป่าสีเขียวอุดมสมบูรณ์กลายเป็นทุนการท่องเที่ยว และจุดขายหลักที่เป็นกระแสได้รับความสนใจเวลานี้
"จุดเด่นไฮไลต์คือ การพาเส้นทางเดินป่าของผู้พิทักษ์ไฟป่า เราจะพาเดินไปถึงหอดูไฟป่าเก่าแก่ของชุมชนที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งสูงประมาณ 50 เมตรเพื่อชมวิวป่า หลังเปิดดำเนินการมาได้เพียงสามปี ปัจจุบันมีชาวบ้านร่วมทำ ธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งเปิดเป็นที่พัก 25 ครัวเรือน บ้างเป็นไกด์เดินป่า ใครมีรถก็รับนักท่องเที่ยวไปเที่ยว โดยสมาชิกจะถูกหักรายได้ 50 บาท เข้าวิสาหกิจชุมชนเพื่อนำไปเป็นทุนดูแลป่าไม้ และปลูกต้นไม้เพิ่มเติมให้ยิ่งเขียวมากขึ้น"
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาของ "ชุมชน" เล็กๆ และได้รับการเสริมพลังจากทางภาครัฐและภาคีที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของการแก้ปัญหา ซึ่งต้นแบบทั้งสามชุมชนอยู่ในเครือข่ายความร่วมมือของสภาลมหายใจเชียงใหม่
"ผลลัพธ์สำคัญเชิงมาตรการคือ ชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบกลไก มาตรการ ลดการเผา ในเชิงพื้นที่ ซึ่งเห็นได้ชัดถึงการที่ชาวบ้าน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบ ป้องกันวิกฤติ 5-6 เดือนที่เปราะบางต่อการกระจายตัวของ ไฟป่า หรือไฟจุด ซึ่งชาวบ้านมีส่วนร่วมทำให้พื้นที่ไม่ถูกเผา เป็นกลไกสำคัญที่ยืนยันถึงการทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมดูแลป่า"