‘อัญชัน’ นักเขียนซีไรต์ ผู้มีความเป็น‘สากล’
วงเสวนาพูดคุยถึงการสร้างสรรค์ผลงานของ 'อัญชัน' นักเขียนซีไรต์ ปี 2533 ที่ล่าสุด มีบทบาทเป็นนักเขียนนานาชาติ อีกทั้งมีลักษณะพิเศษ คือ มีความเป็น ‘สากล’
ประพันธ์สาส์น จัดเสวนา ประเมินฐานะทางวรรณกรรมของ อัญชัน นักเขียนซีไรต์ นักเขียนนานาชาติ กับความเป็น สากล วันที่ 15 มกราคม 2567 ณ งานจัตุรัสจามจุรีบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 16 จามจุรีสแควร์ สามย่าน
โดยมี ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557, ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร นักเขียน นักวิจารณ์ บรรณาธิการอิสระ และ อาทร เตชะธาดา เป็นผู้ดำเนินรายการ
ช่วงหลังเป็นการแนะนำหนังสือ มนุษย์ครึ่งทาง และ กาลครั้งหนึ่งในความฝัน โดย อัญชัน เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทย โดย อ.บุญรัตน์ บุญญาทิษฐาน นักแปลรางวัลสุรินทราชา
อัญชัน หรือ อัญชลี วิวัธนชัย เป็นนักเขียนซีไรต์ ประจำปี 2533 จากผลงานรวมเรื่องสั้นชุด อัญมณีแห่งชีวิต และเป็นนักเขียนรางวัลชมนาดเกียรติยศ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 กว่าปี มีจำนวนกว่า 20 เล่ม ทั้งเรื่องสั้น บทละคร บทกวี สารคดี และนวนิยาย
อัญชัน Cr. ประพันธ์สาส์น
- ประเมินฐานะทางวรรณกรรม ของ อัญชัน
อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กล่าวว่า จากความสนิทสนมที่ได้พูดคุยกันมาตลอด 30 ปี ทุกสัปดาห์ ๆ ละ 1-2 ชั่วโมง ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้ดำเนินรายการในวันนี้
"เนื่องจากว่า เขาอยู่ที่ซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ผมทำหน้าที่แทน เขาบอกว่า คุณอาทรเหมาะสมที่สุดแล้ว จะรอฟัง รู้สึกตื่นเต้นมาก ว่าวันนี้จะมีใครวิจารณ์อะไรยังไงบ้าง
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตั้งแต่ อัญมณีแห่งชีวิต ที่สร้างชื่อเสียงให้กับคุณอัญชันในปี 2533 ด้วยยอดพิมพ์ทะลุแสนเล่มขึ้นไป และมีการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย
หลังจากนั้นเธอยังเขียนหนังสืออยู่สม่ำเสมอ ทำงานไม่หยุดไม่หย่อน ทั้ง Fiction Non-Fiction ที่โดดเด่นก็คือ นิวยอร์ค นิวยอร์ค, อเมริกา อเมริกัน วันนี้เราจะมาประเมินฐานะทางวรรณกรรม ซึ่งเหมือนการจัด Portfolio ของคุณอัญชัน กัน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ตัวแทนนักกลอน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557 กล่าวว่า อัญชันเป็นรุ่นน้องคณะอักษรศาสตร์ ตอนเข้ามาปีหนึ่ง กำลังเรียนอยู่ปีสาม
"เรามีธรรมเนียมแข่งขันกลอนสดระหว่างคณะ แข่งกันทุกคณะจนได้ชนะเลิศ แล้วไปแข่งต่อกับมหาวิทยาลัยอื่น รุ่นพี่คณะอักษรศาสตร์ก็คัดเลือกนักกลอนประจำคณะจากน้องปีหนึ่ง ได้มา 4 คน คุณอัญชันเป็น 1 ใน 4 เป็นคนตัวเล็ก น่ารัก จุ๋มจิ๋ม ตากลม
เราได้พาน้องไปแข่งที่คณะรัฐศาสตร์ด้วยความห้าวหาญมาก อดุลย์ จันทรศักดิ์ (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2551) เป็นกรรมการ พอน้องเขียนกลอนเสร็จ คุณอดุลย์ก็วิพากษ์วิจารณ์แบบไม่ธรรมดาแล้วเหน็บแนมว่า คณะอักษรศาสตร์เนี่ยนะ เขียนกลอนขนาดนี้ แย่
เราก็แค้นมาก ปีนั้นเราแพ้คณะรัฐศาสตร์ น้อง 4 คน ชมัยภรเป็นหัวหน้าทีม เดินจากคณะรัฐศาสตร์มาอักษรศาสตร์ 500 เมตร ร้องไห้มาตลอดทาง
Cr. Kanok Shokjaratkul
อัญชัน หรือ บี๋ มีอารมณ์อ่อนไหวมาก มีคนว่าพวกอักษรเขียนกลอนหวาน เราเลยต้องฝึกแรง ๆ ให้ทุกคนเขียนหัวข้อ ผ้าเปื้อนเลือด เพื่อให้น้องเข้มแข็ง ฝึกจนสามทุ่มยังไม่เลิก ดึกมากแล้ว เราต้องไปส่งน้องกลับบ้าน นั่งแท็กซี่ไปที่ฝั่งธน
ไปถึงก็ตกใจมาก แม่บี๋ ป้าบี๋ ใครต่อใครไม่รู้ยืนรอกันเป็นแถวเลย ทำไมลูกสาวยังไม่กลับบ้านสักที บี๋เป็นคนที่ถูกโอบอุ้มอยู่ในอ้อมอกของพ่อแม่มาโดยตลอด ดูได้จากเรื่อง ไม้เป็นหิน ดินเป็นทราย เขาพูดถึงภาวะที่เขาผูกพันกับพ่อ มันละเอียดลึกซึ้งมาก
บี๋มีฝีมือกลอนที่ไม่ธรรมดา ในเล่มที่ชื่อว่า ลายสือ เขียนไว้ว่า เราสร้างรถเพื่อรอใคร เข้าใจรถ เราแลกหมดเพียงมิให้มีใครเห็น ให้เขาถึงทุกสัมผัสสิ่งลับเร้น ที่ริกเต้นลึกถึงใต้หัวใจเรา... คนที่พูดแบบนี้ได้ต้องเข้าใจภาวะข้างในจริง ๆ
มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเราตื่นเต้นกันมาก เรื่อง แม่ครับ เด็กนอนมองผ้าม่านที่มีลายกระต่าย บรรยายได้อย่างละเอียด ท้ายที่สุดเราพบว่า เด็กนอนฝันไป และแม่เขาตาย เรื่องนี้โดนคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ถล่มเละเพราะมีหลายประโยคที่คุณวาณิชไม่ชอบ เช่น หัวเราะงอไปงอมา มดตกน้ำจ๋อมแจ๋ม
Cr. Kanok Shokjaratkul
บี๋อยากรวมเล่ม อัญมณีแห่งชีวิต พิมพ์ครั้งแรก ก็ยืมชื่อสำนักพิมพ์คมบางไปส่งซีไรต์ ปีนั้นชมัยภรไม่ได้เป็นกรรมการซีไรต์นะคะ ตอนประกาศผลเราตื่นเต้นแทนน้อง ไปนั่งฟังแถลงข่าว พอแถลงจบ ไม่มีใครรู้จักอัญชันเลย เราตอบได้อยู่คนเดียวว่าอัญชันเป็นใคร กลายเป็นเป้าเลยค่ะ ว่าชมัยภรเอาไปส่ง
พอได้ซีไรต์ เขาก็เป็นของแปลกของสังคมไทยทันที เพราะเขียนหนังสือไม่เหมือนคนอื่น เขียนแบบ ชาวกรุง นิตยสารสมัยก่อน มนัส จรรยงค์, สุวรรณี สุคนธา, อาจินต์ ปัญจพรรค์ เอาลีลาของคนเหล่านี้ไปเขียน
อัญชันมีความรักผูกพันต่อแผ่นดินไทย กับความเป็นคนไทยในอเมริกา ทำให้เรื่องของเขาจะทันสมัยกึ่งเชย ๆ ปนกันอยู่ ดูเท่ ดูแปลก ๆ เช่น เรื่อง หม้อที่ขูดไม่ออก ดูเหมือนโบราณแบบสมัยใหม่ กล้าหาญ ที่จะลุกขึ้นมาเล่า งานเขาเป็นลูกผสม ที่นักวิชาการวรรณกรรมเอาไปใช้เยอะที่สุด ไม่มีใครโดนวิพากษ์วิจารณ์วิเคราะห์ชำแหละละเอียดมากเท่าเขา
ดวงใจวิจารณ์ จัดงานเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว พูดเรื่อง หม้อที่ขูดไม่ออก เรื่องเดียว 3 ชั่วโมง อธิบายทีละบรรทัด สนุกมาก แล้วก็มีเรื่อง ผู้ร่วมทาง, สินในหมึก ที่คอยฝนที่ป้ายรถเมล์แล้วมีแม่ค้าขนมจีนกลายเป็นผู้เล่าเรื่อง ก็ถูกนำมาพูดถึง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- นักเขียนซีไรต์ ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด ถึงกับมีคนทำเล่มวิจารณ์ออกมาขาย
ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงที่อัญชันได้ซีไรต์กำลังเรียนอยู่ปริญญาโท รู้สึกตื่นเต้นกับเล่มนี้มาก
"ไม่มีใครรู้จักอัญชันเลย เพราะว่า 1) คุณอัญชันอยู่ต่างประเทศ 2) ไม่เคยเห็นผลงานใด ๆ ทั้งสิ้นเลย มันเป็นปรากฎการณ์อันมหัศจรรย์ของซีไรต์ การวิพากษ์วิจารณ์งานซีไรต์มันมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว
เช่น งานของวาณิช ก็โดนถล่ม แต่ของอัญชันยิ่งกว่าโดนถล่ม แล้วภาษาแปลกหมดเลย ตัดบทความวิจารณ์งานคุณอัญชันได้มาหนึ่งแฟ้มใหญ่ ๆ พี่วาณิชก็ว่าไปแล้ว 7-8 ตอน ทุกตอนชำแหละละเอียดมาก พี่ทิวา สาระจูฑะก็เหมือนกัน มีอยู่คนหนึ่งเขียนเป็นเล่มเพื่อชำแหละหนังสือเล่มนี้
ประเด็นที่พูดกันคือเรื่อง ภาษา หลายคนรับภาษาของคุณอัญชันไม่ได้เลย ไม่ใช่แค่ครูภาษาไทย แต่คนทั้งวงการออกมา นี่คือภาพจำของหนังสือเล่มนี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
เรื่องที่จำได้ดี ผ่านมา 33 ปียังอยู่ในความทรงจำของนักอ่านคือ หม้อที่ขูดไม่ออก เป็นชิ้นงานที่อยู่ยั้งยืนยง ยังมีคนพูดถึง เอามาศึกษา เอามาวิเคราะห์วิจารณ์
เรื่อง หม้อที่ขูดไม่ออก คุณอัญชันเขียนไว้หลายประเด็น หลายเรื่อง เรื่องเชิงมนุษยธรรม เรื่องความผูกพัน ที่เด่นมากคือเรื่องผู้หญิง เป็นหมุดหมายของวรรณกรรมไทยที่มีตัวแทนเป็นเสียงของผู้หญิงจริง ๆ
ที่ถูกกดทับ ถูกกดขี่ สร้างความฉงนฉงายมาก มันโฟกัสไปที่หม้อต้มข้าว ตัวเอกทำโน่นทำนี่ทำงานบ้านตลอดเวลา หัวหมุนมากเลย แล้วหม้อมันไหม้ ก้นมันไหม้ ต้องซ่อนหม้อ เกิดความกลัวมากกว่าความบกพร่องในหน้าที่ เราเห็นความเหนื่อยหน่ายของผู้หญิงคนนี้
ที่จำแม่นมากคือไล่นกกระจอกที่หน้าต่าง หล่อนมองดูนกแล้วค่อย ๆ ลุกจากปลายเตียง ย่องแผ่วเบาไปหยิบไม้กวาดด้ามเก่าที่วางพิงมุมห้องมาถือแล้วเดินไปที่ริมหน้าต่าง เปิดหน้าต่างกรุมุ้งลวดออกจนกว้าง สอดด้ามไม้กวาดลอดออกไปอย่างไม่ให้มีเสียง แล้วจึงกระทุ้ง ๆ ไปตามกิ่งก้านไม้ใต้ร่มมะม่วงทะลายเก่าที่ทอดระกิ่งเข้ามาถึงริมหน้าต่างชั้นบน นกกระจอก 6-7 ตัวบินปร๋อแตกออกจากพุ่มไปตามแรงไม้กระแทก...
ผู้หญิงคนนี้ก็ไม่ต่างจากนกกระจอก จริง ๆ เขาสามารถออกจากบ้านนี้ก็ได้แต่ไม่ออก เพราะหน้าที่ความเป็นภรรยาและอะไรต่าง ๆ นานา ที่ถูกผูกมัดอยู่ในครอบครัวแบบนี้ นี่เป็นตัวแทนเสียงหนึ่งที่มันดังมาก ๆ จนถึงวันนี้ ผ่านมา 30 ปีแนวคิดเรื่องผู้หญิงที่ถูกกดทับในสังคมก็ยังดำรงอยู่"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- เป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาและเทคนิคได้อย่างเต็มที่
ดร.จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร นักเขียน นักวิจารณ์ บรรณาธิการอิสระ กล่าวว่า ในเรื่อง เพื่อนร่วมทาง คุณอัญชันมีเทคนิคการใช้การเล่นคำตั้งแต่ระดับของเสียงไปถึงกลิ่น
"บรรยายภาพฆาตกรคนหนึ่งนั่งรถไฟไปแล้วตัวเองมีความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา ในสิ่งที่ได้กระทำไป ภาษา วิธีการเล่า มุมมองของการเล่าเรื่องในเชิงเทคนิควิธีสามารถนำมาเป็นแนวทางในการเขียนของคนรุ่นใหม่ได้เลย
มันยังไม่เก่า แม้ว่าภาษาจะใช้เยอะแยะมากมาย แต่วิธีการมันสอดคล้องกับเนื้อหา ผมใช้เรื่องนี้ในการสอน Creative Writing เพราะเขามีการนำเสนอได้สมดุลทั้งรูปแบบและเนื้อหาเป็นอย่างดี
ถ้ามองเป็นภาพยนตร์ จะมองเห็นมุมกว้างก่อน แล้วค่อย ๆ เข้าไปในพื้นที่ภายใน แล้วค่อย ๆ โยงเข้าไปในพื้นที่ของจิตใจที่มืดมนของตัวละคร แล้วก็เผยออกมาในตอนสุดท้าย
Cr. Kanok Shokjaratkul
ในยุคหลัง งานคุณอัญชันที่เป็นภาษาอังกฤษ เริ่มใช้ตัวละครเด็กเยอะขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำเสนอเรื่องที่เบา ๆ คุณอัญชันไม่เคยหลุดออกจากพล็อตของตัวเอง
ถ้าวางแก่นเรื่องไว้แล้ว วิธีการวางสัญลักษณ์ ให้ความหมายหรือนัยยะสำคัญของเรื่องจะถูกสอดแทรกไปผ่านตัวละคร ผ่านฉาก ผ่านมิติทางเพศของตัวละครไว้เยอะมาก
มีเรื่องหนึ่ง The Witch เรื่องสั้นขนาดยาว เขียนเป็นภาษาอังกฤษ 3 ตอน นางเอกชื่อสุดา ผู้หญิงคนไทยอยู่ในซานดิเอโก มีเพื่อนร่วมแกงค์เป็นผู้หญิงอีก 3 คน เป็นอเมริกันเชื้อชาติ เม็กซิโก, โดมินิกัน, ฟิลิปปินส์
ระยะหลัง ๆ ตัวละครมีลักษณะคนพลัดถิ่นมากยิ่งขึ้น มีการผสมผสานทางชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตัวละครทั้ง 4 ได้เข้าไปในพื้นที่หนึ่งที่มีแม่มดอยู่ในบ้าน ไปผจญภัยกันในนั้น แม่มดคนนี้ถูกสังคมกีดกันออกไปให้อยู่ในบ้านร้างหลังนั้นเพราะมีความสามารถพิเศษทางการได้ยินและได้กลิ่น
ต่อมาตาบอด แล้วได้รับบริจาคดวงตาจากผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้ง 4 สาวได้รู้ประวัติแม่มดจากบาดแผลของเธอ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความเป็นคนในและคนนอก ถูกนำเสนอผ่านเรื่อง ที่มีความมืดมน มีความดาร์ก และสะเทือนอารมณ์
งานยุคหลังเริ่มมีความหวังอะไรบางอย่างขึ้นมาเยอะพอสมควร อย่างเรื่องแม่มด มีคติบางอย่างว่า เมื่อตัวเองได้รับบริจาคดวงตาจากเด็กสาว เธอก็เลือกมองแต่สิ่งสวยงามของโลกนี้เท่านั้น เพื่อให้คุ้มค่ากับดวงตาที่ได้รับมา
นอกจากเรื่องเพศ ยังมีเรื่องเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง คนพลัดถิ่น ไม่ใช่มีความสามารถแค่เอาตัวรอดได้เท่านั้น ผู้หญิงจะอยู่รอดหรือต่อสู้ได้เมื่อมีชุมชนของผู้หญิงขึ้นมา รวมตัวกัน ให้ความหวังซึ่งกันและกัน เป็นงานยุคหลังที่สวยงามน่าอ่าน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- งานยุคหลังมุมมองกว้างขึ้น เป็นนักเขียนนานาชาติ
อาทร กล่าวว่าจากการพูดุคยกันบ่อย ๆ มองเห็นว่า งานยุคหลัง ลงลึกเรื่องอุปสรรคของมนุษย์ที่ยังไม่พ้นด้านมืด
"คีย์เวิร์ดคือ มนุษย์ครึ่งหนึ่งยังดิบอยู่ ความคิดด้านในแรงและกราดเกรี้ยว ภาษาอังกฤษก็สุด ๆ เปิดเรื่องมาด้วยการร่ายกลอนเปล่า ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ"
ส่วน อาจารยชมัยภร กล่าวว่า เมื่อพิจารณางานของอัญชันทั้งหมด ตัวความคิดข้างในแรงด้วยเซ็กส์ ผู้หญิง มนุษยชาติ มนุษยธรรม เรื่องฝีมือ วิธีการต่าง ๆ
Cr. Kanok Shokjaratkul
"เมื่อมาเชื่อมกับผลงาน 2 เรื่องล่าสุด งานของอัญชันไม่ใช่นักเขียนไทยแล้ว แต่เป็นงานของนักเขียนระดับโลก ความคิดเขามีความเป็นสากล ความเป็นสากลมันค่อย ๆ ไต่ระดับ แล้วเขาทำมาเรื่อย ๆ
ที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้คือ งานกวีนิพนธ์ อัญชันเขียนได้ลึกซึ้งมาก ลุ่มลึกมาก แล้ววิธีการนำเสนอ ภาษา หรือคำ ที่ใช้ในกวีนิพนธ์ มันไปปรากฎในงานวรรณกรรมทุกเล่มที่เขาเขียน
เขาเอาคำภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทย และใส่ในภาษาไทย มีความรู้สึกว่าเขาเป็นความหวังของการสู่สากลของประเทศไทย ถ้าเขาทำงานอยู่สม่ำเสมอ ทำอยู่เรื่อย ๆ ทำต่อไป เชื่อว่างานลึกซึ้งของเขามหาศาลจะสามารถไปสู่โนเบลได้"
Cr. Kanok Shokjaratkul
ดร. ธเนศ กล่าวว่า ในเรื่อง เพื่อนร่วมงาน คุณอัญชันใช้เนื้อที่ประมาณสองหน้าพิมพ์ให้รายละเอียดของรถไฟที่ลอดหนีอยู่หลบอยู่แล้วแหวกอากาศออกไปเป็นความมืด
"ดำ ๆ เหมือนงูที่ทะลุทะลวงบรรยากาศออกไป เป็นเทคนิคของการถ่วงอารมณ์ หน่วงอารมณ์มาก ๆ ติดใจตรงที่ให้ภาพกว้างก่อนแล้วค่อย ๆ เจาะลึกซูมเข้าไปในตัวจิตใจของตัวละคร
นี่เป็นเทคนิคคลาสสิกมาก เป็นเทคนิคมุมกล้องจริง ๆ มันน่าสนใจ คน ๆ หนึ่งเป็นนักเขียนคุณภาพสูง อยากรู้ภูมิหลังในการได้ข้อมูล ได้อ่านหนังสือ หรือได้รับอะไรบางอย่าง เข้ามาอยู่ในตัวเขาแล้วออกมาในงานเขียน เขาอ่านหนังสืออะไรมาบ้าง"
Cr. Kanok Shokjaratkul
ดร.จิรัฏฐ์ กล่าวว่า ลักษณะของงานวรรณกรรมที่มีความเป็นสากล อยู่ที่ผู้ประพันธ์หรือนักเขียนนำเสนอภาวะอารมณ์ของมนุษย์ขั้นพื้นฐานได้ลึกซึ้งมากน้อยแค่ไหน
"เวลาอ่านแต่ละเรื่องของคุณอัญชันไม่ว่าเป็นขาวเป็นดำ ผู้หญิงหรือผู้ชาย คนดีหรือคนร้าย พออ่านไปลึก ๆ คุณอัญชันนำพาเราไปสู่หัวใจของมนุษย์บางอย่างที่มีลักษณะความเป็นสากล
เราจะเริ่มตัดสินใจได้ยากขึ้นว่า จะตัดสินคนนี้ได้อย่างไรแม้ว่าเขาเป็นฆาตกรก็ตาม คือจะเกิดภาวะอารมณ์ที่เราขัดแย้งกับตัวเองตลอดเวลา
อัญชันนำเสนอแนวนี้หลายเรื่องมาก เกิดการตอบโต้ในใจตัวเรากับสิ่งที่คุณอัญชันได้ตั้งคำถามไว้ นี่คือลักษณะของความเป็นสากล ที่วรรณกรรมโลกควรจะมี
ไม่ว่าจะเขียนถึงโลกในภูมิภาคไหนก็ตาม ตัวละครเชื้อชาติใดก็ตาม สุดท้ายแล้วเราเผยให้เห็นความซับซ้อนของมนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคุณอัญชันทำได้อย่างดี"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- มนุษย์ครึ่งทาง และ กาลครั้งหนึ่งในความฝัน
ช่วงหลังเป็นการแนะนำหนังสือ 2 เล่ม โดย อัญชัน เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทย โดย อ.บุญรัตน์ บุญญาทิษฐาน นักแปลรางวัลสุรินทราชา
เรื่องแรก กาลครั้งหนึ่งในความฝัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบูลลี่ (Bully) เด็กในครอบครัว
"เรื่องนี้ เป็นสิ่งซึ่งเราไม่ค่อยตระหนักกัน การบูลลี่เด็กในครอบครัว อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนได้อ่านเรื่องนี้ เด็กที่ถูกตี ถูกทำร้าย ถูกข่มขืน คุณอัญชันมองว่า เด็กพวกนี้ได้สร้างโลกของเขาขึ้นมาอีกใบหนึ่ง เป็นโลกในความฝัน และเขาต้องการอยู่นั้นตลอดเวลา ก็ไปซื้อยานอนหลับมา
Cr. Kanok Shokjaratkul
เพราะถ้าอยู่ในความจริงก็จะถูกบูลลี่ เป็นเรื่องราวของเด็กที่ไม่เข้าใจความรัก พ่อแม่เลิกกัน แม่ไปมีสามีใหม่ มีลูกสองคน พ่อใหม่กับลูกสองคนบูลลี่เด็กคนนี้ตลอดเวลา ทุกเรื่องทุกสิ่งที่เขารักจะถูกทำลาย
แม่เป็นคนดีรักลูกพาไปหาจิตแพทย์ หมอพาเด็กไปสวนสัตว์ ไปกินไอศครีม เด็กก็ดีขึ้น แล้วเด็กเกิดรักหมอขึ้นมา แต่ตอนจบเป็นยังไงต้องไปอ่าน
ทำให้เห็นว่าในยุคปัจจุบัน การคุกคามทำให้เกิดความกลัว เด็กจะวิ่งไปหาความรักจากที่อื่น เราต้องช่วยกันให้เด็กของเราเป็นสิ่งที่ดีงาม แทนที่จะเป็นอะไรไป หรือเป็นฆาตกร
Cr. Kanok Shokjaratkul
อัญชันเป็นนักเขียนที่เหมือนมาจากโลกอื่น มีความคิดกว้างไกล ถ้าวันนี้ที่เรานั่งอยู่มันคือ อดีตของอีก 400 ปีข้างหน้า ก็คือหนังสือเล่มนี้ มนุษย์ครึ่งทาง
ทุกวันนี้ถ้าคุณเดินออกไปข้างนอกจะพบกับค่า PM 2.5 กำลังคุกคามอยู่ พอหน้าฝนก็พบฝนเย็นฉ่ำ แต่วันนี้ในอนาคต 400 ปีข้างหน้ามันคือฝนพิษ เดินออกไปเหมือนน้ำกรดหยดใส่ ถ้าฝนเทราดมาทั้งตัว ก็จะกัดกินกร่อนร่างกายจนหายไปได้เลย
มีความเป็นสากลมาก ๆ ในเรื่องมีการสร้างโลกอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เดินทางไปถึงได้ด้วยอุโมงค์ที่ยาวไกลมาก ขอบฟ้าที่ครอบคลุมศีรษะเราอยู่มันเป็นที่พัก เป็นที่หลบภัย แต่มีความแปลกและแตกต่างอยู่ เหมือนเราเดินทางมาเป็นชีวิตครึ่งทาง
เล่มนี้วิเศษมาก อีกสิบปีร้อยปีก็สามารถอ่านได้ เพราะนี่เป็นเรื่องจริง เคยฟังข่าวจาก VOA บอกว่าอเมริกาจะเอากระดูกมนุษย์มาทำเป็นปุ๋ย แต่คุณอัญชันเขียนกรรมวิธีการทำทั้งหมดไว้ในเล่มนี้หมดแล้ว
คุณอัญชันมีจินตนาการที่ทันสมัยมาก สามารถเก็บประเด็นเกี่ยวกับมนุษยชาติมาบรรยายได้น่าตื่นเต้นน่าติดตาม แล้วพระเอกของเรื่องนี้คือสัปเหร่อ เป็นชีวิตของสัปเหร่อคนหนึ่ง
จินตนาการของนักเขียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ความเป็นสากลอยู่ในนักเขียนคนนี้ ถ้าคุณอ่านหนังสือของเธอ จะมีความรู้มาก"