รางวัล ‘คมทวน คันธนู’ ครั้งที่ 1 ประกาศผลแล้ว
การจัดงานมอบรางวัล 'คมทวน คันธนู' เป็นครั้งแรก พร้อมกับงานเสวนาของคนในแวดวงบทกวี ที่จะมามองถึงอนาคตข้างหน้าของบทกวีไทย นำทีมโดยกวีซีไรต์ คมทวน คันธนู
เพจเวทีนักกลอน ร่วมกับ โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน วรรณธรรมวรรณธร และพิธีมอบรางวัล คมทวน คันธนู ครั้งที่ 1 และการเสวนาหัวข้อ ฉากทัศน์กวีนิพนธ์ใหม่ในใจฉัน
โดยคณะกรรมการตัดสินบทกวีรางวัล คมทวน คันธนู ได้แก่ คมทวน คันธนู, เผด็จ บุญหนุน, ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ, แพทย์หญิงเสียงพิณ เตมียสถิต ดำเนินรายการ โดย ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
บรรยากาศภายในงาน เริ่มต้นด้วย ผศ.ดร. ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ กล่าวเปิดงาน ต่อด้วย แพทย์หญิงเสียงพิณ เตมียสถิต ผู้ก่อตั้งเพจเวทีนักกลอน กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์รางวัลคมทวน คันธนู
Cr. Kanok Shokjaratkul
"เพจเวทีนักกลอน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนที่รักและชอบในบทกวี ได้เข้ามาจรรโลงภาษาอันงดงามของชาติ
มีกวี นักเขียน ครูบาอาจารย์ เอาบทกวีมาแบ่งปันเผยแพร่ มากกว่า 250 คน อายุต่ำกว่า 15 ปีก็มีหลายคน สูงสุดอายุ 84 ปี เป็นช่องทางเผยแพร่รูปแบบฉันทลักษณ์ ส่งเสริมนักเขียนใหม่ ๆ และจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม
มีการจัดกิจกรรม วันดอกสร้อยสักวา มา 7 ปีแล้ว มีกิจกรรม หนุ่มสาวอ่านเช้าวันใหม่ มีจัดประกวดกวีนิพนธ์ใหญ่ที่สุดคือรางวัล คมทวน คันธนู
ครูคมทวนสามารถประพันธ์ร้อยกรองได้ทุกประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน กลบทต่าง ๆ และประดิษฐ์กลบทออกมาอีกมากมาย เขียนหนังสือตำราวิชาการ เป็นปูชนียบุคคล เป็นที่มาของรางวัล ที่จะค้นหาเพชรเม็ดงามมาประดับวงการให้เพิ่มขึ้น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
จากนั้น คมทวน คันธนู หรือ ประสาทพร ภูสุศิลป์ธร กวีซีไรต์ ประจำปี 2526 จากบทกวีชุด นาฏกรรมบนลานกว้าง ก็ขึ้นกล่าวปาฐกถา
"มันมีสิ่งที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ปกติจะเป็นรางวัลคนที่ตายไปแล้ว ที่มีผลงานและได้รับการยอมรับในวงกว้าง
รางวัลและชื่อเสียง คือ มายาสมมติ สิ่งที่เราควรตระหนักคือ จิตวิญญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ ตั้งแต่เล็กจนโต ผมมีความกล้าหาญขนานแท้ สอง ผมมีความซื่อสัตย์ตัวยง สาม ผมรู้จักประยุกต์ความรู้ด้วยตนเองไปอีกแง่มุมเพื่อถ่ายทอดให้คนข้างหลัง นี่คือความตั้งใจอย่างแน่วแน่และคือจิตวิญญาณไม่เคยเสื่อมคลาย
ปี 2526 ผมได้รับเชิญไปตัดสินงานกวีชิ้นหนึ่ง มีกวีรุ่นใหญ่อยู่ 3 คน ผมคือ 1 ใน 3 ปรากฎว่า คน ๆ หนึ่ง มีกรรมการให้คะแนนเต็มร้อย ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าได้เต็มร้อยคนนั้นคือได้รางวัลชนะ อีกสองคนก็ต้องให้รางวัลเฉลี่ยกันมา
Cr. Kanok Shokjaratkul
นี่เป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผมไม่ต้องการเห็นการเล่นพรรคเล่นพวก เราควรเห็นใจคนรุ่นหลังที่เขาส่งงานด้วยความจริงใจตั้งใจมากกว่า เพื่อให้เขาพัฒนาต่อไป เราไม่มีความสุขที่จะทำงานกับกรรมการท่านนี้
20 ปีต่อมา 2546 ผมไปเป็นกรรมการตัดสินรางวัลใหญ่ของประเทศ เงินรางวัลเยอะ เขาคัดเลือกคนเข้ารอบสิบคนแรก ผมเห็นกรรมการใหญ่เลือกแต่เพื่อนของเขาสิบคน คือไม่เลือกใครเลยนอกจากเพื่อนเขา
ผมก็รู้สึกว่ามันแปลก ๆ เราไม่อยากให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก และคิดว่าจะไม่ทำงานร่วมกับคน ๆ นี้ ถ้าเรามีโอกาส เราควรสนับสนุนคนที่ทำงานด้วยหัวใจและฝีมือ ให้เขาได้เกิด ให้เขาได้รางวัลอย่างแท้จริง
รางวัลคมทวน เป็นความตั้งใจของคุณหมอ ขอบคุณครับ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรให้เขาทำไปตามครรลอง
Cr. Kanok Shokjaratkul
วรรณกรรมในเชิงกวีของเรามีหลายด้าน ไม่เฉพาะกลอน กาพย์ ยังมีโคลง มีฉันท์ และมีอีกหลายลีลามาก อยากให้เราศึกษาอย่างจริงจัง
พยายามก้าวกระโดดข้ามผ่านกลอนไป ยังมีกวีนิพนธ์หลาย ๆ อย่าง ซึ่งไพเราะมาก โดยเฉพาะโคลง มีความสง่างาม มีความอลังการอยู่ในตัว แม้กระทั่งกาพย์ ถ้าวางเรียงดี ๆ ก็สามารถตีเสมอกลอนได้
ผมเคยอ่านงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ผมเปลี่ยนแนวเลย เขาใช้กาพย์ยานีได้ไพเราะมาก ...เจ้าซื่อต่อคนคด แต่ทรยศต่อคนไทย เพียงแบงค์ไม่กี่ใบ ก็ขายชาติเป็นทรชน... นั่นคือความอลังการของกาพย์
ส่วนกลอนนี่สุนทรภู่ท่านปูรากฐานมาเยี่ยมยอดแล้ว แม้จะต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาเยอะแยะจากคนที่ดูแคลนท่าน แต่ท่านก็สามารถข้ามผ่านมาได้ด้วยตัวเองจนกระทั่งเป็นกล่อนอยู่ทุกวันนี้ อยากให้ดำรงความอลังการนี้ตลอดไป"
Cr. Kanok Shokjaratkul
สลับด้วยการอ่านบทกวี วรรณธรรมวรรณธร โดย รศ. ดร.สุปาณี พัดทอง
ต่อด้วยการประกาศรางวัล คมทวน คันธนู ครั้งที่ 1
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ องอาจ สิงห์สุวรรณโชติ จากบทกวีชื่อว่า ก้นหม้อนึ่ง
รองชนะเลิศ ได้แก่ วิสุทธิ์ ขาวเนียม จากบทกวีชื่อว่า กลับจากแนวรบ
รองชนะเลิศ ได้แก่ เสฏฐ์ บุญวิริยะ จากบทกวีชื่อว่า นัยคำนึง
Cr. Kanok Shokjaratkul
- อนาคตของบทกวีไทย
ในช่วงหลังเป็นการเสวนาหัวข้อ ฉากทัศน์กวีนิพนธ์ใหม่ในใจฉัน โดยคณะกรรมการตัดสินบทกวี รางวัล คมทวน คันธนู
ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ มองว่า การเขียนบทกวี ต้องมองเข้าไปภายในจิตใจของตัวเอง
"เมื่อเราเขียนบทกวีด้วยภาษาที่เรามีต่อกันในชาติพันธุ์ภาษาหนึ่ง ในห้วงเวลาหนึ่งที่เป็นยุคสมัยหนึ่งของเรา ก็อยากชวนพวกเราที่เป็นผู้อ่าน มองออกไปข้างนอกให้ไกลเพื่อจะเข้าใจเพื่อน ที่ไม่ใช่เพียงมนุษยชาติ มันรวมถึงอะไรอีกมากมายที่ไม่มีข้อจำกัด
Cr. Kanok Shokjaratkul
มองออกไปข้างนอกให้ไกล แล้วย้อนกลับมามองข้างในให้ลึก เราจะเห็นทั้งฉากทัศน์ภายนอกและฉากทัศน์ภายใน ที่ไม่ได้เกิดแค่เป็นนาฏการเบื้องหน้า แต่มันมีนาฏการที่ซ่อนอยู่ในความเกี่ยวข้อง
ดังนั้นการทำงานกวีนิพนธ์ในยุคข้างหน้า ของผมที่อาศัยจิตและใจในร่างนี้ก็จะเห็นโลกในโลกเท่าที่จะเห็นได้ โลกในโลกที่ไม่ใช่เป็นแค่ภูมิศาสตร์ แต่มีความหมายรวมมากมายกับคำว่าเห็นโลกในโลกแห่งการดำรงอยู่และในที่สุดก็ต้องเห็นโลกในเรา ที่เป็นเหมือนถ้อยคำ ที่ไม่ได้เขียนอีกมากมาย"
Cr. Kanok Shokjaratkul
พญ.เสียงพิณ เตมียสถิต กล่าวว่า ตัวเองไม่ได้เป็นกวี การเขียนก็ยังอยู่ชั้นอนุบาล
"ในฐานะนักอ่าน อ่านบทกวีอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ อ่านแล้วเข้าใจ มันจะมีหลัก เริ่มตั้งแต่ อ่านความจริงก่อน อ่านสิ่งที่ปรากฎออกมาว่าคืออะไร สอง. อ่านสิ่งที่เกี่ยวข้อง สาม. อ่านด้วยเชิงอุปมาอุปไมยเห็นภาพที่ซ้อน นัยยะในบทกวีเหล่านั้น
ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นต่างคนต่างอ่าน แต่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือสิ่งที่จะเป็นไป การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นทักษะที่ไม่ได้หมายถึงการอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่หมายถึงการอ่านโลก อ่านชีวิต อ่านสังคม อ่านใจตัวเอง อ่านทุก ๆ อย่าง ถ้าอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ชีวิตก็จะมีความสุข"
Cr. Kanok Shokjaratkul
อาจารย์เผด็จ บุญหนุน พูดถึงคุณค่าของบทกวี
"การดูว่าบทกวีนั้นมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ไหม หนึ่ง.ดูที่คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ถูกต้องฉันทลักษณ์ไหม ใช้คำสละสลวยงดงามไหม มีคุณค่าทางวิถีของเราไหม สะท้อนชีวิตเราไหม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไหม
ผมพบบทกวีครั้งแรกในลิลิตพระลอ แล้วประทับใจ มีฉากทัศน์ คือคำสละสลวยไพเราะงดงามให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ รู้จักนครรัฐสมัยก่อนว่ามีการปกครองอิสระมีเมืองสรวงเมืองสอง มีวิถีชีวิตคนสมัยนั้นนับถือผีนับถือสาง มันเป็นวรรกรรมที่สุดยอด ไม่งั้นวรรณคดีสโมสรไม่ยกย่อง
โคลงในลิลิตพระลอ โดยเฉพาะ ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง คงแต่บาปบุญยังเ ที่ยงแท้ คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่ อยู่นา ตามแต่บุญบาปแล้ ก่อเกื้อ รักษา งานชิ้นนี้เขียนมา 200-300 ปีแล้วแต่ยังมีผู้นำมาอ้างอิงหลายคน เช่น คมทวน คันธนู, อังคาร กัลยาณพงศ์, ไพวรินทร์ ขาวงาม ในอนาคตผมคิดว่า AI ก็คงเอามาอ้างอิงเหมือนกัน"
Cr. Kanok Shokjaratkul
คมทวน คันธนู กล่าวว่า อยากให้อนุรักษ์ต่อยอดบทกวีที่มีอยู่ให้งอกงาม
"ผมเขียนบทกวีมาตั้งแต่ ม.ศ. 4 อายุ 16-17 ตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่ คนโบราณมีกวีนิพนธ์หลายอย่างต้องศึกษาให้รู้ หลายอย่างก็ขึ้นหิ้งไป ของบางอย่างน่าจะเอามาดัดแปลงใหม่
เราไม่สามารถต้านทานกระแสที่มันเปลี่ยนแปลงไปได้ ยังไงก็ต้องเคลื่อนไหวไปกับเขา ที่เล็งอยู่เป็นโคลงสี่สุภาพและกลอนแปด อ.เสนีย์ ปราโมช เคยแปลโคลงสี่จากโคลงโลกนิติเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เห็นว่าไม่ใช่ของยาก ผมคิดจะทำอยู่ ไม่ว่า ฉันท์ โคลง กาพย์ กลอน เอามาทำให้ง่าย ๆ แล้วเปลี่ยนปรับประยุกต์ใหม่ คนโบราณท่านสนใจแต่ฉันทลักษณ์ แต่ไม่สนใจน้ำเสียง
Cr. Kanok Shokjaratkul
น้ำเสียงเป็นสิ่งสำคัญใน กลอน กาพย์ โคลง ฉันท์ ทุกวันนี้เราได้แต่ฟังว่า กลอนมี สดับ รับ รอง ส่ง มี1234 แต่ไม่รู้ว่า 1 ทำอะไร 2 ทำอะไร 3 ทำอะไร 1 ห้ามตรงไหน ไม่ห้ามตรงไหน ห้ามลงเสียงไหน หรือว่าจะต้องใช้เสียงไหนถึงจะไพเราะ นี่คือสิ่งจำเป็นที่ต้องพัฒนาจากโบราณให้ดี นี่คือความตั้งใจของผม
เหมือน โคลง ที่เรารู้ว่าวรรคหนึ่งเป็นอย่างนี้ เสียงเป็นอย่างนี้ วรรคสองเป็นอย่างนี้ แต่ไม่มีใครปรับปรุงให้เป็นเอกลักษณ์แล้วรู้ว่าจะทำให้ไพเราะยังไง แต่ผมทำได้
Cr. Kanok Shokjaratkul
เหมือน กาพย์ยานี พูดถึง ฉันท์ ยิ่งหนักใหญ่ สามวรรคเป็นหนึ่งบท เสียงไหนลงตรงไหน อีกประเภทหนึ่ง สี่วรรคเป็นหนึ่งบท อินทรวิเชียรวรรคหนึ่งลงตรงไหน อีกประเภทหนึ่ง แปดววรรคเป็นหนึ่งบท
แต่ผมมีกรรมวิธีอยู่ สามารถเอามาทำได้ สมัยก่อนมี กาพย์สุรางคนางค์ เจ็ดวรรคหนึ่งบท หายไปแล้ว เพราะความที่โบราณท่านไม่วางเสียงให้ดี เสียงเลยหายไป เหมือน กาพย์ฉบัง 16 ก็หายไปเพราะโบราณท่านไม่วางเสียง และไม่ทำสัมผัสให้มันกลมกลืนกัน
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราต้องช่วยโบราณ กลอนแปด ที่เราเขียนกันอยู่ต้องปฏิวัติใหม่ ไม่ใช่วรรคสองลงเสียงตรีไม่ได้ น่าจะทำเป็น กลบท สัมผัสซ้ำเสียด้วย ทำไมจะลงไม่ได้ ลงได้ จะลงให้ แต่เราต้องแก้ยังไง
วรรคสองลงด้วยเสียงสูง วรรคสามมีข้อห้ามไม่ให้ลง เหมือนวรรคท้ายก็มีข้อห้าม ซึ่งเราต้องปรับวงการนี้ไปด้วยกัน เพื่อเข้าสู่ฉากทัศน์ใหม่ ทำให้กลอนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้พัฒนาขึ้นไป และไม่ว่าจะเป็น กลอน กาพย์ โคลง ผมว่าต้องพัฒนาครับ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ผมขอวิงวอน ผมอยากเห็นฉันทลักษณ์อื่น ๆ บ้าง โดยเฉพาะ โคลงห้า น่าเล่นมาก แต่โดนทิ้งไป โคลงที่เราว่าเชย ล้าหลัง อย่าง โองการแช่งน้ำ ดัดแปลงสักหน่อย จะเพราะมาก
เปลี่ยนลีลาของ ฉันท์ มาเป็นฉันท์ใหม่ ผมคิดฉันท์ใหม่ไว้หลายชิ้น น่าจะ 10 ชิ้น โคลง 6 ชิ้น กาพย์ 5 ชิ้น กลอน 6 ชิ้น เพื่อจะต่อสานกวี"