หัวร้อนบนถนน ปัญหาสุขภาพจิตโลกเสมือน คุยกับ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร
คุยกับจิตแพทย์ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร เมื่อสังคมเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ปัญหาสุขภาพจิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ อาการหัวร้อนที่พบบ่อยบนถนน เป็นปัญหาสุขภาพจิตไหม สัญญาณเตือนสุขภาพจิต
KEY
POINTS
- ปัญหาสุขภาพจิต เกิดจากสิ่งที่ทำให้เครียด เมื่อก่อนมีอยู่แต่ในโลกจริง เช่นปัญหาที่ทำงาน ปัญหาครอบครัว แต่ตอนนี้ตัวกระตุ้นอยู่ใน โลกเสมือน เต็มไปหมด
- คนเราโกรธได้ เป็นเรื่องธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ถูกล่วงเกิน ถูกคุกคาม ก็โกรธ แต่ถ้าแสดงออกผิดวิธีผิดหลัก มันเดือดร้อนกว่าเดิม
- พฤติกรรมเสี่ยง ที่ควรระมัดระวังจะทำให้เกิด ปัญหาสุขภาพจิต
- สัญญาณอะไรบ้างที่เตือนว่าเราเริ่มมี ปัญหาสุขภาพจิต
- อาการซึมเศร้า เราจะสังเกตเห็นได้เอง หรือต้องให้คนอื่นบอก
- อาการ หัวร้อน ที่พบบ่อยบนถนน เป็นปัญหาสุขภาพจิตด้วยหรือไม่
จากการเก็บสถิติด้วยระบบ Mental Health Check In ของภาครัฐ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา พบว่าประชาชนในประเทศไทยมีความเสี่ยงสุขภาพจิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีตัวเลขสูงสุดที่เดือนสิงหาคม คือมี ภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6 % และมีภาวะหมดไฟ 17.6% แน่นอนว่าในจำนวนนี้มีคนวัยทำงานรวมอยู่ด้วยเกินกว่า 90%
ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร (ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร)
เป็นข้อมูลจากการบรรยายเรื่อง How-to บริหารสุขภาพใจในที่ทำงานด้วย CBT in the Workplace โดย ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้เชี่ยวชาญด้าน Cognitive Behavioral Therapy โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในงาน Trend Talk จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับ BDMS Wellness Clinic
Cognitive Behavioral Therapy (CBT) คือวิธีการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ของตนเองที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความจริง มีเป้าหมายเพื่อจัดการสภาวะอารมณ์และกระบวนการคิดที่เป็นปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติ
การดูแล สุขภาพใจ สุขภาพกาย ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบันที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ในนาม ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ White Collars ในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ
credit photo: Pexels (Pixabay)
เมื่อสังคมเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ปัญหาสุขภาพจิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่
“ปัญหาสุขภาพจิตก็เพิ่มขึ้นครับ เพิ่มขึ้นจากหลากหลายปัจจัย จากสภาพแวดล้อม-สังคมเปลี่ยนไป ความเครียดเยอะขึ้น การแข่งขัน โลกหมุนเร็วขึ้น ทุกอย่างต้องทำอะไรที่เร็วขึ้นหมด จนรู้สึกถูกกดดัน เนื่องจากการดำเนินชีวิตเป็นรายปัจเจกมากขึ้น
วิถีชีวิต 20-30 ปีก่อน อยู่บ้านแบบครอบครัวไทย คือครอบครัวขยาย ตอนนี้แยกมาอยู่เป็นครอบครัวเล็กมากขึ้น เครือข่ายสังคมเปลี่ยนไป สิ่งที่จะเกื้อกูลในเชิงสังคม ครอบครัว อารมณ์ ความรู้สึก จะลดลง หมายถึงการแยกกันอยู่
แต่ด้านดีคือ คนยอมรับเรื่องปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น มีปัญหาด้านนี้ได้ ยอมเล่าเรื่อง ยอมเปิดเผยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ภาพของปัญหาดูมากขึ้น”
credit photo: Eden Moon (Pixabay)
ปัญหาสุขภาพจิตมีอะไรใหม่จากเดิมอย่างไรบ้างหรือไม่เมื่อโลกมาถึงยุคดิจิทัล
“ปัญหามีความสัมพันธ์กับโลกดิจิทัล ถ้าเราดูว่าปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากสิ่งที่ทำให้เขาเครียด เมื่อก่อนมีอยู่แต่ในโลกจริง เช่นปัญหาที่ทำงาน ปัญหาครอบครัว แต่ตอนนี้ตัวกระตุ้นอยู่ในโลกเสมือนเต็มไปหมด เช่นการถูกบูลลี่ในโซเชียล ทัวร์ลง เป็นความเครียดขึ้นมาได้
หรือ ความสัมพันธ์ในโลกดิจิทัล เรามีเพื่อนออนไลน์ ทางหนึ่งก็ดี มีคนคุยด้วย มีการติดต่อได้หลากหลาย แต่ความมั่นคงของความสัมพันธ์ไม่เหมือนเพื่อนในชีวิตจริง จู่ๆ เขานึกจะหายไป เขาก็หายไป
แอคเคาน์ใช้ชื่อจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ วันใดเขาไม่อยากคุยกับเรา เขาก็หายไป หรือเราก็ไม่รู้ว่าเราคุยกับใคร ซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงบางอย่างเหมือนกัน”
ผศ.นพ.ณัทธร กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตในยุคดิจิทัลยังคงทำให้เกิดกลุ่มอาการเชิงจิตเวชชุดเดิม อาทิ ซึมเศร้า ท้อแท้ หดหู่ เบื่อหน่าย หมดกำลังใจ นอนไม่หลับ นอนตื่นกลางดึกแล้วนอนต่อไม่ได้ กินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด หมดแรง ไม่มีสมาธิทำงาน วิตกกังวลว่าจะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในชีวิต กังวลล่วงหน้า เกิดความตึงเครียด เพียงแต่มีบริบทที่เปลี่ยนไปจากเดิมเพราะโลกดิจิทัลดังที่อธิบายในตอนต้น
ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร (ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร)
พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรระมัดระวังจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต
“อาจเป็นความเสี่ยงที่มีมาดั้งเดิม เช่นมีสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติโรคจิตเวช มีพันธุกรรม หรือมีสภาพแวดล้อมไม่ดีตั้งแต่เด็ก เช่นเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรง มีความขัดแย้งสูง ก็ทำให้สภาพจิตใจไม่มั่นคงเป็นทุนเดิม
บวกกับปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เช่น ความเครียดในการทำงาน การเรียน ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน แฟน บุคคลรอบตัว เป็นตัวกระตุ้นปัจจัยดั้งเดิมให้แสดงอาการออกมาได้
วัยทำงานเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้บ่อย เพราะมีความขัดแย้ง มีแรงกดดันสูง ลักษณะโรคทางจิตเวชพบว่ามาออกอาการช่วงวัยทำงาน วัยที่เสี่ยงคือวัยเรียนต่อด้วยวัยทำงาน
ถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาซุกซ่อนอยู่ ทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ก็วนกลับมาเครียดเพิ่ม เกิดเป็นวงจรที่วนไปวนมา
บางคนอาจเริ่มจากเป็นโรคก่อนแล้วทำงานไม่ได้ พอทำงานไม่ได้ โรคก็ยิ่งแย่ลง บางคนเริ่มจากงานก่อน งานกดดันมาก เดิมไม่ป่วยก็ป่วยเพราะงาน พอทำงานไม่ได้ก็ยิ่งป่วยหนักเข้าไปอีก จิตแพทย์จะทำความเข้าใจว่ามีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง จะได้แก้ไข”
credit photo: 825545 (Pixabay)
มีสัญญาณอะไรบ้างที่เตือนเราเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต
“เป็นปัญหาทางอารมณ์ที่เจอบ่อยในลักษณะ ซึมเศร้า วิตกกังวล ให้สังเกตอารมณ์ตัวเอง โดยพื้นฐานเรามีความสุขกับชีวิตแค่ไหน เมื่อเจอเรื่องเครียดมากระทบ อารมณ์เปลี่ยนไปอย่างไร จากเดิมเคยโอเคกับชีวิต ถ้าไม่อยากทำอะไรเหมือนเมื่อก่อน ก็เป็นสัญญาณหนึ่ง
เรื่องที่เราเคยสนุก ชอบ ทำแล้วเพลิน แต่ตอนนี้ไม่อยากทำแล้ว เมื่อก่อนดูฟุตบอลดูละครสนุก แต่ตอนนี้ไม่แล้ว ทั้งที่ฟุตบอลและละครก็ยังสนุกเหมือนเดิม มีอะไรในใจเราหรือเปล่าที่ทำให้เราไม่เหมือนเดิม
หรือวิถีชีวิตเปลี่ยนไป เช่นเคยกินได้ ก็กินไม่ได้ เคยนอนได้ปกติ ก็นอนไม่หลับ ก็อาจเป็นสัญญาณเตือน
หรือในเชิงความคิด เวลาคนมีปัญหาสุขภาพจิต วิธีคิดและมุมมองจะเปลี่ยนไป เดิมเคยมองกลางๆ พอรู้สึกแย่ก็มองไปทางลบทุกอย่าง จากเดิมโอเคกับคนในครอบครัว พอซึมเศร้าขึ้นมาก็คิดว่าในครอบครัวไม่มีใครรัก ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยคิดแบบนี้ ก็อาจเป็นจุดสังเกตได้ว่าจะมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่”
credit photo: Holger Langmaier (Pixabay)
‘อาการซึมเศร้า' เราจะสังเกตเห็นเอง หรือต้องให้คนอื่นบอก
“ถ้าหัดสังเกตตัวเอง เราก็อาจจะเห็นว่าอารมณ์เราเปลี่ยนไป แต่บางทีเราอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นนานๆ เดิมๆ เราก็ไม่ทันสังเกต งานเราหมกมุ่นมาก เราก็ทำแต่งาน วนเวียนจนเราแย่ลงเรื่อยๆ จริงๆ เราแย่แล้วแต่ยังไม่รู้ตัว จะต้องมีคนอื่นรอบตัวสะท้อนมา
วิธีบอกคือบอกด้วยความห่วงใยมากกว่าบอกว่าแกป่วยแล้ว ไปหาจิตแพทย์สิ แกบ้าหรือเปล่า จะทำให้คนมีปัญหาจำนวนหนึ่งยิ่งไม่อยากไปพบจิตแพทย์
ถ้าเราบอกเขาในเชิงความห่วงใย ชวนเขาไปหาความช่วยเหลือ ก็จะง่ายขึ้น พยายามลด Stigma หรือตราบาป ความคิดที่ติดว่าไปหาจิตแพทย์คือเป็นบ้า ติดมานานแล้ว แต่สิ่งที่นักจิตวิทยาและจิตแพทย์พยายามทำคือให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ คนเรามีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ถ้าดูแลตัวเองไม่ไหวก็ไปหาคนช่วย”
credit photo: PDPics (Pixabay)
มีข่าวเยาวชนฆ่าตัวตายเพราะสูญเงินจำนวนมากจากการถูกหลอกซื้อของออนไลน์ คิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุทำให้พ่อแม่เสียใจเดือดร้อน คุณหมอพอจะมีคำแนะนำเบื้องต้นอย่างไร
“ให้คิดว่า ปัญหามีทางออก คนคิดฆ่าตัวตายมักอยู่ในภาวะที่เหมือนรู้สึกไม่มีทางไป ไม่มีทางออกจากปัญหานี้แล้ว หมดหวัง คงไม่สามารถดีกว่านี้ได้
แต่เรื่องต่างๆ มีทางไปของมัน ถ้าเราทำให้ความหวังกลับคืนมา ว่าแก้ไขได้ มีทางไป เราสูญเสียของ แต่ชีวิตยังอีกยาว ค่อยๆ หามาใหม่ โตขึ้นอาจซื้อโทรศัพท์เป็นสิบเครื่องเลยก็ได้ แต่ตอนที่คนกำลังหมดหวัง อาจมองไม่เห็นอะไร เราต้องช่วยเขาก่อน ดึงขึ้นมา
พ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญ ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ก็กลายเป็นความเครียดของลูก ถ้าพ่อแม่ให้กำลังใจ รักลูก ก็ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น เด็กผิดพลาดได้ บางครั้งเขาทำอะไรที่ไม่เข้าท่า ทำอะไรที่ดูไม่ฉลาด แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต
คนเราเรียนรู้ชีวิตก็ด้วยการลองผิดลองถูกส่วนหนึ่ง ชีวิตไม่ได้ไปตามเส้นทางที่มีคนคอยสอนตลอดเวลา ส่วนใหญ่ออกนอกลู่นอกทางไปบ้างแล้วก็เรียนรู้ว่าดีไม่ดีอย่างไร
ถ้าลูกพลาดพลั้งไป พ่อแม่ก็ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งด่าซ้ำ ค่อยๆ คุยกัน เกื้อกูลกัน จะดีจะร้ายอย่างไรพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเขา แต่ไม่ใช่ช่วยเหลือทุกอย่าง ก็เป็นการประคบประหงมเกินไป”
ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร
อาการหัวร้อนที่พบบ่อยบนถนน เป็นปัญหาสุขภาพจิตด้วยหรือไม่
"เป็นครับ คนเราโกรธได้ เป็นเรื่องธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ถูกล่วงเกิน ถูกคุกคาม ก็โกรธ แต่ถ้าแสดงออกผิดวิธีผิดหลัก มันเดือดร้อนกว่าเดิม ต่อยกันข้างถนน ถูกถ่ายลงโซเชียล เลยเถิดฆ่าฟันกัน พอใจสงบแล้วมาดู จะเห็นว่าไม่คุ้ม แต่ตอนนั้นอารมณ์ขึ้น แล้วมันหยุดไม่ได้
ต้องหาวิธีจัดการอารมณ์โกรธ ต้องรู้ว่าจะแสดงออกแบบไหน ทำอย่างไรไม่ให้ต่อยืดยาว เป็นเรื่องการจัดการอารมณ์ เป็นทักษะที่มนุษย์ควรมีเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ
หัดใจเย็นๆ หัดทำอะไรที่ผ่อนคลาย รู้ว่าตัวเองเครียด ก็ผ่อนคลายบ้าง ฝึกตัวเอง ถ้าทำด้วยตัวเองไม่ได้ มีวิธีบำบัดด้วยการไปคุยกับนักบำบัด เรื่องวิธีจัดการความโกรธ
ทำไม(อารมณ์)คุณขึ้นเร็ว ขึ้นจากอะไร มีอะไรเป็นตัวกระตุ้น ควรระวังอะไรบ้าง ก็ไปฝึก ไปคุย 1-4 อาทิตย์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ให้ทักษะอยู่ตัว ก็นำไปใช้ได้ บางคนเป็นมากก็ต้องกินยาช่วยส่วนหนึ่ง ฝึกส่วนหนึ่ง
แต่เจ้าตัวต้องยอมรับก่อนว่าเป็นปัญหา เพราะคนโมโหรุนแรงมักควบคุมตัวเองไม่อยู่ ถ้าเริ่มต้นไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา พอมีคนไปแนะนำ ก็โกรธคนแนะนำอีก พาไปหาหมอ ก็จะด่าหมออีก การยอมรับจึงเป็นเรื่องสำคัญว่าเราเข้าใจว่าปัญหาของเรา
อารมณ์โกรธมีได้ แต่ถ้ามันสร้างปัญหาให้เรา หาคนช่วยดีกว่า ไม่ว่าจะ โกรธ เศร้า กังวล หรืออะไรก็ตาม ถ้าเรายอมรับ จะเริ่มต้นได้ มีวิธีจัดการเกือบทุกอย่าง การบำบัดความโกรธค่อนข้างยาก เพราะอารมณ์มันพุ่ง อารมณ์พุ่งแล้วมักหยุดไม่ได้
คนเรามีความก้าวร้าวอยู่ในตัว เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าควบคุมได้ ใครทำอะไร เราแผ่เมตตาได้ตลอด ก็ดีมาก ถ้าไม่ได้ ก็ด่าๆ ไปบ้าง แต่ต้องรู้ระดับ ต้องไม่ข้ามตรงนี้ ถ้าข้ามแล้วจะเกิดปัญหา"