จริงหรือไม่? สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยง 'นกเขาไม่ขัน' เตือนคนรุ่นใหม่รู้เท่าทัน
การ "สูบบุหรี่ไฟฟ้า" ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเสี่ยง "นกเขาไม่ขัน" ด้วย พร้อมชวนคนรุ่นใหม่รู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า
อีกหนึ่งประเด็นร้อนใจใน วันงดสูบบุหรี่โลก ปีนี้ที่เพิ่งผ่านพ้น นั่นคือปัญหาภัยบุหรี่ที่กำลังอวตารสู่ร่างใหม่ โดยแปลงสภาพมาเป็น "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่ดูเหมือนว่าจะเข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีข้อมูลน่าสนใจระบุอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าออกมาต่อเนื่อง เช่นล่าสุดทางการแพทย์พบว่าไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ หากยังทำให้เกิดปัญหาสมรรถภาพทางเพศลดลง รวมไปถึงปัญหาการอ่อนตัวและหลั่งไว หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "นกเขาไม่ขัน" นั่นเอง
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และแพทย์ผู้ชำนาญด้านสุขภาวะทางเพศ คลินิกวัยรุ่นชาย โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เผยว่า จากการดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวพบว่า จากเดิมประมาณ 30% ที่เคยพบปัญหาอ่อนตัวเมื่อจะมีกิจกรรมทางเพศ สาเหตุนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจจากการที่ปกติช่วยตัวเองบ่อย แต่ปัจจุบันเมื่อสอบถามข้อมูลเชิงลึก กลับพบว่ามีเรื่องของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมด้วย สอดคล้องกับข้อมูลจากต่างประเทศที่มีการสำรวจผู้ชายที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าวันละ 2 ครั้ง จำนวน 13,000 คน 4.8% พบว่ามีปัญหาเรื่องอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ชายอายุ 20-25 ปี
ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพราะ บุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า มี "นิโคติน" ซึ่งไปกระตุ้น "โดปามีน" ฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ และนิโคตินทำให้เกิดอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับเบาหวานและภาวะไขมันในเลือดสูง ที่จะไปทำลายผนังด้านในของหลอดเลือดในทุกอวัยวะ รวมถึงองคชาต ทำให้หลอดเลือดในองคชาตที่มีขนาดเล็ก 1 มิลลิเมตร เกิดความผิดปกติคือหดตัวหรือไม่ขยายตัว จึงไม่สามารถแข็งตัวได้ หากไปเกิดปัญหาที่หัวใจที่มีหลอดเลือดขนาด 3 มิลลิเมตร ก็จะเกิดปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเกิดที่สมองที่มีหลอดเลือดขนาด 5 มิลลิเมตร ก็จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ที่น่าห่วงคือการทำลายผนังด้านในหลอดเลือดมักเกิดกับหลอดเลือดขนาดเล็กที่สุดก่อนคือ 1 มิลลิเมตร ดังนั้น คนที่เป็นนกเขาไม่ขันอาจจะเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า อาจจะเป็นโรคหัวใจภายใน 5 ปี ได้ถึง 80%
"นอกจากนี้ สารนิโคตินจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตปล่อยอะดรีนาลีนและสารต่างๆ ทำให้เส้นเลือดหดตัวทั้งร่างกายรวมถึงที่อวัยวะเพศชาย ปลุกเร้าไม่ขึ้น ขาดสารตั้งต้นในการขยายหลอดเลือดที่น้องชาย เกิดความเครียดเป็นเวลานาน จนฮอร์โมนเพศชายลดลง และลูกอัณฑะฝ่อไม่สร้างฮอร์โมน ส่วนที่เชื่อกันว่าดื่มเหล้าสูบบุหรี่แล้วทำให้คึกคักในเรื่องทางเพศอาจจะเป็นเพียงช่วงระยะแรก แต่ถ้าสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปหลายครั้งหรือระยะยาวก็จะเกิดภาวะน้องชายไม่แข็งตัวในที่สุด" ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้จะพบกับข่าวสารปัญหาสุขภาพที่เป็นผลพวงจาก บุหรี่ไฟฟ้า เผยออกมาแต่ละวัน ซึ่งปัจจุบันคงมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า เพราะกลยุทธ์ทางการตลาด อุตสาหกรรมยาสูบ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะโลกออนไลน์มากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ หอประชุมพุดพิชญา โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรมโครงการเครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลเมืองกะทู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต จัดงาน "เวทีสาธารณะนักสื่อสารรุ่นใหม่ รู้เท่าทันภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดภูเก็ต" โดยได้มีเด็กและเยาวชนกว่า 200 คน จากสถานศึกษาในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการสื่อสารเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา สำรวจนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน ในโรงเรียน 87 แห่ง พบว่า 1.) เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า 2.) กลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการใช้ Influencer ที่เด็กเยาวชนวัยรุ่นให้ความสนใจ มุ่งเน้นไปที่ชักชวนโน้มน้าวใจเด็กและเยาวชน โดยมีการพบเห็นโฆษณาและการส่งเสริมการขายทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2558 เป็น 48% ในปี 2565 และ 3.) นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซอง/บุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติ โดย 31.1% เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และ 36.5% เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น
"การขับเคลื่อนมาตรการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากพิษภัย บุหรี่ไฟฟ้า คือ 1.) คงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและควรลงนามในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับการควบคุมและปราบปรามบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย 2.) บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีจับปรับ การห้ามโฆษณาและจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 3.) สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนสื่อสารรณรงค์ เผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ รู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน" รุ่งอรุณ กล่าว