'ประจันตคาม' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม 'ล้อมรักษ์' พลิกใจให้เลิกยา

'ประจันตคาม' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม 'ล้อมรักษ์' พลิกใจให้เลิกยา

ถอดรหัส "สร้างสุข" แบบฉบับ "เมืองประจันตคาม" จ.ปราจีนบุรี เปลี่ยนแนวคิดสู่การใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและผู้เสพสิ่งเสพติด สร้างปรากฏการณ์ "ลดเสี่ยง ลดผู้เสพ"

แม้จะมีคำขวัญกล่าวขานชื่นชมว่า "เมืองประจันตคามน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก" แต่ก็ใช่ว่า "ประจันตคาม" จ.ปราจีนบุรี จะหลุดพ้นจากวังวนปัญหาและปัจจัยเสี่ยงสุขภาพแตกต่างจากพื้นที่อื่น หากกลับมีหลายชีวิตและหลายครอบครัวที่ความสุขต้องสะดุด ซึ่งในวันนี้ คนประจันตคามกำลังค้นพบวิธี "สร้างสุข" สร้างปรากฏการณ์ "ลดเสี่ยง ลดผู้เสพ" ที่เป็นก้าวสำคัญของการปรับเปลี่ยนแนวคิดสู่การใช้ชุมชนเป็นฐานในการร่วมบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและผู้เสพสิ่งเสพติดในสังคมไทย

เชื่อม "บวร" ปั้นปลูกพลัง "คนสู้เหล้า" 

ที่ชุมชนวัดกอกมะไฟ จ.ปราจีนบุรี เป็นต้นแบบจัดการตนเองชุมชนคนสู้เหล้า ซึ่งได้มีพระครูประโชติพรหมธรรม อดีตเจ้าคณะตําบล บ้านหอย คือหนึ่งในแกนนำผู้ริเริ่มชวนชาวบ้าน เลิกเหล้า มาตั้งแต่ปี 2558

เพ็ญประภา พัวพานิช ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านเกาะแดง เผยถึงที่มาที่ทำให้คนบ้านหอยตัดสินใจเดินหน้าเผชิญปัญหาแก้วิกฤติ และรพ.สต.บ้านเกาะแดง เป็นอีกหนึ่งแกนนำสำคัญในพื้นที่ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนไม่น้อยเช่นกัน

เพ็ญประภา เล่าว่า ก่อนหน้านี้ในพื้นที่มีคนดื่มเหล้ามากมาย สร้างความหวาดกลัวแก่คนในชุมชน รพ.สต. จึงประสานทางภาคีในชุมชนร่วมขับเคลื่อน โดยยึดหลัก "บวร" มีบ้านคือเครือข่ายสมาชิกในชุมชน และวัดเกาะมะไฟ นอกจากนี้ พระครูช่วยการขับเคลื่อนโครงการฯ "หมู่บ้านรักษาศีล 5" จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นครอบครัวต้นแบบ "รักษาศีล 5" ภายในหมู่บ้านเกาะมะไฟ จํานวน 3 ครอบครัว

\'ประจันตคาม\' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม \'ล้อมรักษ์\' พลิกใจให้เลิกยา

ผลการดำเนินการเกือบกว่าสิบปี เปลี่ยนเป็นผลิผลอันน่าภูมิใจ ทางชุมชนมีการประกาศบุคคลต้นแบบ เลิกเหล้า และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจยิ่งขึ้นคือ มีคนเลิกเหล้าได้จริงตลอดชีวิต

"เพราะเขาได้ออมเงิน เราสะท้อนให้เขาเห็นว่า เงินเหลือจากการเลิกเหล้าสามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร ปัญหาครอบครัวลดลง มีสมาชิกที่ประกาศเลิกเหล้าตลอดชีวิต 3 คนและกลายเป็นบุคคลต้นแบบจนถึงวันนี้ นอกจากนี้เรายังทำกิจกรรมกับนักดื่มหน้าใหม่ เด็กเยาวชน เรายังคิดกิจกรรมตีฆ้องร้องป่าว และนักสืบน้อย ที่จะสำรวจตรวจตราเป็นเบาะแสให้เราว่า ร้านค้าใดมีการขายสุราไหม หรือในงานต่าง ๆ มีใครพกพาเหล้ามาหรือไม่ ถ้าเด็กรู้จะไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงโครงการฝากเหล้าไว้กับตำรวจ ผลจากการทำงานชุมชนเดิมมีตั้งวงดื่มสุรา ปัจจุบันเงียบลงมาก อุบัติเหตุที่เกิดในชุมชนลดน้อยลง"

เพ็ญประภา กล่าวต่อไปว่า ตอนทำใหม่ ๆ ยอมรับว่าเกิดการต่อต้านเยอะ เพราะพอพูดถึงคำว่า (เลิก) เหล้านี่ ทุกคนจะหันหน้าหนี แล้วบอกเราทำไปทำไม มันไม่ประสบความสำเร็จหรอก เพราะที่นี่มีวิถีอย่างหนึ่งคือรับจ้างตัดต้นไม้ จะมีการตั้งวงทุกเย็น บางทีนายจ้างก็ให้เหล้าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ทำให้เด็กเราซึมซับจากตรงนี้

\'ประจันตคาม\' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม \'ล้อมรักษ์\' พลิกใจให้เลิกยา

ร้อยใจให้โอกาสสู่อ้อมกอดชุมชน

หลังสำเร็จงานขับเคลื่อนเรื่องเหล้า ดําเนินงานผนึกกําลังของชุมชนคนสู้เหล้า 8 ปี ผนวกกับกลไก พชอ. ประจันตคาม เดินหน้าต่อในการบําบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx) แต่พลังแห่งความเปลี่ยนแปลง เพิ่มสุข ในชุมชนยังไม่หมด ชาวตำบลบ้านหอย ขยายผลสู่โครงการ ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx เมื่อสามปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการต่อยอดที่เป็นเคล็ดลับเพิ่มสุขในชุมชน

"เราพบปัญหาผู้ป่วยไม่ยอมกินยา ไม่ยอมฉีดยา ทำให้ญาติครอบครัวเกิดความกลัว และมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว จึงเริ่มโครงการในปี 2565 ช่วงแรกมีผู้ป่วย 3 เคส แต่ปัจจุบันเรามีเคสเพิ่มจำนวนมาก จึงคิดโมเดล ร้อยใจเพิ่มโอกาสในอ้อมกอดชุมชน ทำงานร่วมกับชุมชนส่งสัญญาณเตือน สื่อสารผ่านกรุ๊ปไลน์"

\'ประจันตคาม\' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม \'ล้อมรักษ์\' พลิกใจให้เลิกยา

ปทุมรัตน์ เกตุเล็ก พยาบาลวิชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มจิตเวช รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ผู้บุกเบิกตำนานนางฟ้าในชุมชน เปิดเผยถึงจุดเริ่มของ ชุมชนล้อมรักษ์ ประจันตคาม นี่อาจเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ทำไมวัดมะกอกไฟต้องให้ความสำคัญการจัดการปัญหาสุราในพื้นที่ ซึ่งเรามีทีม 5 เสือมาช่วยตลอด และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เรามองว่าพื้นที่เป็นเจ้าของปัญหา เพราะฉะนั้นการจัดการตนเองเพื่อดูแลเคส เมื่อเขารับทราบวิธีการเขาจะดูแลเองได้จริง

"หักหอกเป็นดอกไม้" พลิกใจให้เลิกยา

ปทุมรัตน์ เล่าว่า สุราและยาเสพติดทำให้ ผู้ป่วยจิตเวช เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง จึงขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนล้อมรักษ์ เกิดเป็น "ยุทธการหักหอกเป็นดอกไม้" ดูแลผู้ป่วยวิกฤติจิตเวชที่เกิดจากปัญหาแอลกอฮอล์และยาเสพติด

"การดำเนินงานแรกคือ ต้องการหาเจ้าภาพร่วม ทางคณะทำงานจึงเซ็ตชุมชนต้นแบบขึ้น และขยายสู่เทศบาลต้นแบบ ได้แก่ เทศบาลโพธิ์งาม เพื่อรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชวิกฤตที่มีอาการสงบแล้ว คนที่เลิกกลับมามีคุณภาพชีวิตได้ ทำงานได้ หลายครัวเรือนเมื่อเลิกดื่มแล้วมีเงินเหลือใช้ ลดรายจ่ายได้ ช่วยกันทำมาหากิน บางคนส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี มีความรักความอบอุ่นกลับมา"

\'ประจันตคาม\' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม \'ล้อมรักษ์\' พลิกใจให้เลิกยา

คืนกลับสู่ชุมชน

ปทุมรัตน์ เปิดใจถึงเบื้องหลังการทำงานว่า แรกเริ่มไม่ได้โรยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด เพราะแรงเสียดทานภายในนั้นมีไม่น้อย การที่มีผู้ป่วยจิตเวช ที่เกิดจากการเคยติดยาเสพติดส่วนใหญ่ แล้วไม่ยอมทานยา และเสพซ้ำ ทำให้เกิดวิกฤตจิตเวชในชุมชนค่อนข้างเยอะ แต่แม้เมื่อรักษาหายแล้ว แต่มีจำนวนไม่น้อยที่การรังเกียจเดียดฉันท์จากคนในชุมชน กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยกลับไปมีภาวะวิกฤติซ้ำ หรือกลับไปเสพสิ่งเสพติดซ้ำ

"ชุมชนล้อมรักษ์" จึงเป็นจุดเปลี่ยนการแก้วิกฤติจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง โดยใช้ชุมชนเป็นฐานจัดกระบวนการ "พลิกใจให้เลิกยา" มีระบบดูแล ติดตามจนผู้ป่วยจิตเวชกลับคืนสู่สังคมได้สำเร็จ เกิดคนต้นแบบพลิกใจเลิกยาจำนวน 4 คน ช่วยคืนความสุข คืนคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัว และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

รัฐดันนโยบายเร่งด่วน "เปลี่ยนลงโทษเน้นบำบัด"

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวถึงปัญหาสำคัญของไทยนอกจากยาเสพติดแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก โดยผลวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมปี 2564 พบว่า แอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 165,450.5 ล้านบาท เฉลี่ย 2,500 บาทต่อคน และต้นทุนทางอ้อม 159,358.8 ล้านบาท จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้สถานการณ์พฤติกรรม และผลกระทบพนันปี 2566 พบว่า 63% หรือคนไทย 35 ล้านคน เล่นพนัน ทำให้ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันถึง 46% และมีผู้ติดหนี้พนันถึง 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 5 แสนคน คิดเป็นมูลค่าหนี้สินกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,335 บาท/คน

\'ประจันตคาม\' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม \'ล้อมรักษ์\' พลิกใจให้เลิกยา

"รัฐบาลได้ประกาศนโยบายปราบปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ข้อมูลปี 2566 จาก UN News และ The Diamond Rehab Thailand ระบุว่าการใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า และยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต มีผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นประมาณ 57,000 คน จากสถานการณ์ข้างต้น จำเป็นต้องมีนโยบายเร่งด่วน ได้แก่ 1. เปลี่ยนจากลงโทษมาเน้นการบำบัด ฟื้นฟูชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) 2. ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ชุมชนเป็นฐาน และ 3. จัดหาอาชีพ สำหรับผู้บำบัด และผู้ที่พ้นโทษแล้ว" 

สร้างกลไก "ลดเสี่ยง ลดผู้เสพ สร้างสุข มีเงินออม"

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. สามารถขยายผลสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดสู่ชุมชนอื่น ๆ โดยปี 2565  มีผู้เข้าร่วม 151,948 คน สามารถประหยัดเงินได้ถึง 121,784,378 บาท 

\'ประจันตคาม\' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม \'ล้อมรักษ์\' พลิกใจให้เลิกยา

ขณะที่งานชุมชนล้อมรักษ์ เสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ป้องกัน ปัญหายาเสพติด ในระดับพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 มีพื้นที่ต้นแบบ 25 พื้นที่ 5 ภูมิภาค มีแกนนำขับเคลื่อน จำนวน 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน เกิดพื้นที่ต้นแบบที่ลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ

"สสส. หนุนเสริมเชิงวิชาการ สร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการหลากหลายดังกล่าว ที่ สสส. และภาคีเริ่มดำเนินการมาในชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันในแต่ละพื้นที่มีการพัฒนากลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ ที่เรายังสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพ และได้ยกระดับขึ้นมาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ให้กับพื้นที่อื่น"

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่า ชาวบ้านหอย เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ในวิถีชีวิตที่จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นได้ จำเป็นต้องมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งลดความเสี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำร้ายสุขภาพและสิ้นเปลือง เช่น ลดการเสพเหล้า บุหรี่ การพนัน และสิ่งเสพติด ที่จะทำให้เรามีเงินออมเพิ่มขึ้น ยังลดอุบัติเหตุ และมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี

\'ประจันตคาม\' จ.ปราจีนบุรี สุขเพิ่ม เติม \'ล้อมรักษ์\' พลิกใจให้เลิกยา

"สิ่งสำคัญคือภาวะผู้นำชุมชนเอง แกนนำมิติต่าง ๆ ที่จับมือทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้งานต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ หากเราใช้แต่บทลงโทษ ใช้ระบบราชการในการควบคุมกำกับอย่างเดียว อาจสำเร็จได้ยาก แต่หากเราใช้กระบวนการชุมชน ที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ ที่จะเปลี่ยนผู้เสพให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้"

ตัวอย่างของบ้านมะกอกไฟคือ การมีนวัตกรรมต่าง ๆ  เช่น หักหอกเป็นดอกไม้ ที่เข้าใจปัญหาที่ชุมชนเคยมองว่าทิ่มแทง เปลี่ยนเป็นการหยิบยื่นความรัก ความเอื้ออาทร และการเปิดรับด้วยความห่วงใย ทำให้ผู้เสพอาจเปลี่ยนแปลงเป็นคนที่กำลังสำคัญชุมชนได้

นพ.พงศ์เทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ชุมชนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งจึงเปรียบเสมือน "พื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์" คือพื้นที่ที่ไม่ว่าปัญหาอะไร หากภาครัฐอยากขับเคลื่อนลงมาในพื้นที่ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะปุ๋ยที่ดีที่สุดคือชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนที่เอื้ออาทร และก็เป็นเจ้าของปัญหาชุมชนเอง