‘อุทกภัย’ สู่ ‘ความหวังเพื่ออนาคต’ การต่อสู้ของ ‘อับดุลเลาะ’
‘อุทกภัย’ ในภาคใต้ของประเทศไทย น้ำท่วมฉับพลันเมื่อปลายปีที่แล้ว บ้านเรือน และโรงเรียนจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาหลายวัน พ่อแม่เลือกซ่อมแซมบ้านก่อนซื้อชุดนักเรียนให้กับ ‘อับดุลเลาะ’ เขาจึงไม่อยากไปโรงเรียน
อุทกภัย ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย อับดุลเลาะ แดงดามัน นักเรียนวัย 9 ขวบจาก โรงเรียนบ้านตะโละสดาร์ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพื่อนร่วมชั้นหลายคนอาจไม่เข้าใจ เด็กชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คนนี้ไม่เพียงต้องดิ้นรนกับการเรียนเท่านั้น แต่เขายังต้องต่อสู้กับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่พัดถล่มจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว
“ตอนที่โรงเรียนกลับมาเปิด (หลังน้ำลด) ช่วงหลังปีใหม่ ผมก็ไม่ค่อยอยากกลับไปเรียน” อับดุลเลาะ เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ เพื่อไม่ให้ใครเห็นความอึดอัดใจที่ถูกซ่อนไว้ภายในท่าทีอันสงบของเขา เพราะอันที่จริงแล้วเขาเคยขอแม่หยุดเรียนเพราะไม่มีชุดนักเรียนใส่เหมือนเพื่อนคนอื่น น้ำท่วมฉับพลันเมื่อปลายปีที่แล้ว
ถือเป็นอุทกภัยที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษสำหรับภูมิภาคนี้ เหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้บ้านเรือน และโรงเรียนจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาหลายวัน แต่ยังทำให้ข้าวของส่วนตัวจำนวนมากถูกพัดพาไป รวมถึงหนังสือและชุดนักเรียนของอับดุลเลาะด้วย
อุทกภัย เกิดขึ้นหลังฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมปี 2566 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันเป็นบริเวณกว้าง อาคารบ้านเรือนและสาธารณูปโภคต้องจมอยู่ใต้น้ำ บางครอบครัวอาจจะสามารถกู้ข้าวของเครื่องใช้กลับมาได้ แต่ครอบครัวของอับดุลเลาะต้องสูญเสียเกือบทุกสิ่งอย่างที่เคยมี
อีกทั้งข้อจำกัดทางการเงินของครอบครัวทำให้พ่อแม่เขาต้องเลือกซ่อมแซมบ้านก่อนที่จะซื้อชุดนักเรียนใหม่ให้กับเขาและน้องสาว
ตอเฮเร๊าะ ระสิหินิ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านตะโละสดาร์ เล่าว่า ครูในโรงเรียนต่างเห็นใจครอบครัว อับดุลเลาะ “เราไม่ได้เข้มงวดกับเรื่องชุดนักเรียนเพราะเราเข้าใจสถานการณ์ ทางโรงเรียนจัดหาชุดนักเรียนใหม่ให้กับอับดุลเลาะในเดือนแรกหลังจากโรงเรียนกลับมาเปิดหลังปีใหม่” ตอเฮเร๊าะกล่าว
สภาพห้องเรียนหลัง 'อุทกภัย'
ในส่วนของโรงเรียนเองก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน ปริมาณฝนที่เอ่อท่วมหลายพื้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายและทำให้โรงเรียนต้องปิดทำการเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ถูกจัดเก็บไว้ชั้นล่างของอาคาร เช่น หนังสือ จอโทรทัศน์ และโต๊ะเรียน ได้รับความเสียหายเกินกว่าจะนำกลับมาซ่อมแซมได้
อุทกภัย ครั้งล่าสุดทำให้โรงเรียนเริ่มตระหนักถึงความรุนแรงและความถี่ของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ผู้อำนวยการจึงทำการย้ายพื้นที่จัดเก็บทั้งหมดไปยังชั้นบนและวางแผนบูรณาการการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไว้ในหลักสูตร
“สิ่งสำคัญคือเด็ก ๆ ต้องเรียนรู้วิธีจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ” ตอเฮเร๊าะเน้นย้ำ
ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง และเด็ก ๆ เช่น อับดุลเลาะต้องแบกรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก รายงานของ ยูนิเซฟ จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50
จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงสุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่รายงานอีกฉบับเมื่อปี 2566 ได้เน้นย้ำถึงอันตรายที่เพิ่มมากขึ้นจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น
ในจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มลูกเหรียง ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่มาหลายปี พบว่าโรงเรียนในพื้นที่ต้องการแผนรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากน้ำท่วมในภาคใต้เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น อาลิซ่า สาเมาะ เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กของกลุ่มลูกเหรียง อธิบายว่า
การทำงานกับโรงเรียนเน้นการประเมินจุดเสี่ยงที่ต้องหลีกเลี่ยง พร้อมกำหนดจุดปลอดภัยทั้งในและใกล้โรงเรียนสำหรับการอพยพเด็กและครูเมื่อเกิดน้ำท่วม ขณะนี้ กลุ่มลูกเหรียงกำลังร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติที่เป็นระบบ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับความปลอดภัยและเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดในชีวิตของอับดุลเลาะ อุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเขาเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่หลายครอบครัว ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญอีกด้วย แคมเปญ #CountMeIn ของ UNICEF ซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนกันยายน
มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความท้าทายที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แคมเปญนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการอภิปรายและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของโลก
แต่ถึงแม้ อับดุลเลาะ จะต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย แต่เขาก็ยังคงมีความหวัง ความฝันที่จะเป็นบุรุษพยาบาลเป็นเป้าหมายที่กระตุ้นให้เขาอดทนแม้จะต้องพบกับความยากลำบาก
ในขณะที่ วนิดา แดงดามัน คุณแม่วัย 26 ปีก็พร้อมที่จะสนับสนุนการศึกษาและความฝันของเขาอย่างเต็มที่ วนิดาซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวต้องทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในร้านอาหารเล็กๆ ในเมืองและรายวันละ 300 บาทจึงเป็นรายได้หลักของครอบครัว เพราะรายได้จากการเก็บน้ำยางของสามีนั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาลนั้นไม่มั่นคงมากพอ
“อับดุลเลาะเคยโดนล้อเพราะเราไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนใหม่ทันทีเมื่อเปิดเรียน” วนิดาเล่าด้วยความกังวลอย่างเห็นได้ชัด “ที่บ้านก็ค่อนข้างเครียดมากเพราะหาชุดนักเรียนใหม่มาแทนไม่ได้ แต่ฉันก็พยายามมากเพื่อจะได้ซื้อชุดใหม่ให้”
ทั้งนี้ เธอยังคงมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการศึกษาของอับดุลเลาะแม้ว่าครอบครัวจะประสบปัญหาทางการเงินก็ตาม
เรื่องราวของอับดุลเลาะเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบของวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชนกลุ่มเปราะบาง แม้ว่าครอบครัวของเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางการเงินแต่เขาก็ยังมีความอดทนต่อสถานการณ์ที่ยากลำบาก
อีกทั้งการสนับสนุนจากแม่และความพยายามของโรงเรียนในการแก้ไขผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อับดุลเลาะหวังว่าจะไม่ต้องขาดเรียนโดยไม่จำเป็นอีกต่อไปเพื่อช่วยให้เขาได้ไล่ตามความฝันในการเป็นบุรุษพยาบาล
การสนับสนุนความพยายามในการช่วยเหลือเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศนั้นมีความสำคัญ เพื่อที่เด็ก ๆ อย่างอับดุลเลาะจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่ครอบครัวของเขายังต้องทำงานเพื่ออนาคตที่มั่นคง
แต่พวกเขาก็ยังต้องการทั้งการช่วยเหลือแบบเร่งด่วนและการแก้ปัญหาในระยะยาวเพื่อฟื้นตัวและให้เด็กทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการประสบความสำเร็จ แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ตาม
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยและทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคเอกชน และผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจร่วมกันปกป้องเด็ก ๆ จากวิกฤตสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับบริการที่จำเป็นให้เหมาะกับความต้องการของเด็กและเยาวชน
เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกรวน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการจัดงบประมาณเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ