‘ครอบครัวนี้มีปัญหา’ ประเด็นสากลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส 2024
หลากหลายความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ถูกถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มประเทศต่าง ๆ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส 2024
หนังประกวดทั้งสายหลัก Venezia 81 ชิงรางวัลสิงโตทองคำ และสาย Orizzonti ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ประจำปีนี้ ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่ว่าด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ‘ครอบครัว’ ทั้งครอบครัวขนาดเล็ก และครอบครัวขนาดใหญ่ เลยไปถึงครอบครัวในระดับชุมชน นับเป็นประเด็นสากลที่หนังจากหลาย ๆ ชาติให้ความสำคัญ โดยจะขอเริ่มกันที่หนังสายประกวดหลักจำนวน 7 เรื่องดังนี้
Stranger Eyes
เรื่องที่กล่าวถึงความเจ็บปวดบอบช้ำของสมาชิกครอบครัวที่หนักหน่วงที่สุดก็เห็นจะเป็น Stranger Eyes ของผู้กำกับ Siew Hua Yeo จากประเทศสิงคโปร์ เมื่อคู่สามีภรรยาลูกอ่อนต้องร้อนอกร้อนใจหลังบุตรสาววัยทารกได้หายตัวไป พวกเขาจึงต้องอาศัยภาพจากกล้องวงจรปิดของคอนโดมีเนียมที่พักอาศัยมาแกะรอยเบาะแสหาผู้ลักพาตัว
ในขณะเดียวกันกับที่ผัวเมียมือใหม่คู่นี้ จะได้รับวีดิโอที่บรรจุภาพจากการถูกแอบถ่ายระยะไกล ในอิริยาบทอันเป็นส่วนตัวของพวกเขาอย่างมีปริศนา ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์จะแลดูดราม่าเพียงใด ผู้กำกับ Siew Hua Yeo กลับนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดอย่างไม่เร่งเร้า ค่อย ๆ แสดงภาพตัวละครผู้กำลังจมอยู่ในความทุกข์เศร้าอย่างไม่ฟูมฟาย โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาตกอยู่ภายใต้การบันทึกและจ้องมองของสื่อภาพเคลื่อนไหว ให้อารมณ์ที่ไม่ต่างไปจากผลงานหนังน้ำแข็งหัวใจสลายของผู้กำกับแคนาดาอย่าง Atom Egoyan เลย!
And Their Children After Them
ส่วนหนังฝรั่งเศสเรื่อง And Their Children After Them ของผู้กำกับคู่พี่น้องฝาแฝด Zoran และ Ludovic Boukherma ก็ว่าด้วยเรื่องชวนปวดหัวของครอบครัวที่มีลูกชายวัยรุ่นนาม Anthony วัยเพียง 14 ปี เมื่อปี 1992 ณ เมืองต่างจังหวัดใกล้ชิดธรรมชาติ
เมื่อ Anthony ได้ไปเที่ยวทะเลสาบและพบกับสาวรุ่นโฉมสะคราญอย่าง Steph ที่ชวนเขาและลูกพี่ลูกน้องหนุ่มอีกนายไปร่วมงาน party วัยรุ่นครั้งใหญ่ Anthony จึงตัดสินใจแอบขโมยรถมอเตอร์ไซค์แสนรักของคุณพ่อไป
เมื่อเขาได้ไปเขม่นเข้ากับ Hacine หนุ่มวัยรุ่นอันธพาลหัวร้อน Hacine ก็ย้อนกัดด้วยการขโมยมอเตอร์ไซค์ขับหนีไปเสีย! คุณพ่อของ Anthony จึงไล่แจงสี่เบี้ยกับเขาว่าเกิดอะไรด้วยอารมณ์โมโหร้าย
ถ่ายทอดสถานการณ์ก้าวข้ามผ่านวัยของชายอายุเพียง 14 ปี ที่ชีวิตไม่มีอะไรง่ายเลย หนังพาเราย้อนไปยังยุคสมัยที่เคยชื่นหวานก่อนการมาถึงของดิจิทัลเทคโนโลยี ที่คนในปัจจุบันผู้มีอายุช่วงกลางเลขหลักสี่ น่าจะมีอารมณ์ไปกับหนังได้เป็นพิเศษ!
Three Friends
หนังฝรั่งเศสอีกเรื่องในสายประกวด คือ Three Friends ของผู้กำกับ Emmanuel Mouret นี่ก็หันไปว่าด้วยกระบวนการสร้างครอบครัวของเพื่อนสาวสามนางซึ่งบางรายก็มีคู่ชู้ชื่นอยู่แล้ว แต่กลับไม่ได้รู้สึกแน่วแน่แช่แป้งกับชายคนรักของตนสักเท่าไหร่ จนอยากจะลองเปิดใจคบหากับ ‘คนอื่น ๆ’ ที่ผ่านเข้ามา เผื่อว่าเขาคนนี้สินะ ที่เหมาะจะมาเป็น ‘สามี’ และ ‘พ่อ’ ของลูกของพวกเธอ
หนังได้ดาราดังอย่าง Camille Cottin, Sara Forestier และ India Hair มาร่วมรับบทเป็นเพื่อนซี้สตรีสามใบเถา ที่เล่าเรื่องผ่านบทสนทนาแห่งภาวะไม่กล้าตัดสินใจ และต้องหันไปปรึกษาหาคำตอบจากเพื่อนเพื่อให้เตือนสติกันอยู่บ่อยครั้งตามสไตล์หนังฝรั่งเศสเขาหละ!
Youth (Homecoming)
ด้านหนังสารคดีเรื่อง Youth (Homecoming) ของผู้กำกับจีนอย่าง Wang Bing นี่ก็ว่าด้วยการสร้างครอบครัวด้วยเช่นกัน แม้เนื้อหาหลักสำคัญจะเป็นการติดตามภาพชีวิตของแรงงานหนุ่มสาวชาวโรงงานทอผ้า ที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหน้าจักรกันตลอดทั้งวัน ณ ย่านอุตสาหกรรมแห่งเมืองซิลี ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงแถบหุบเขาในยูนาน ซึ่งทั้งแรงงานชายหญิงก็ต้องแออัดอาศัยอยู่ในหอพักกันแทนบ้าน ทว่าเมื่อใกล้งานเฉลิมฉลองปีใหม่ พวกเขาก็จะเก็บกระเป๋าเพื่อเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ตัวเองได้จากมา
สำหรับ ชิเหว่ย แล้ว การกลับบ้านครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่เธอจะได้เข้าพิธีวิวาห์กับเจ้าบ่าว ฟางลิงปิง อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านไอที แต่หลังจากที่พวกเขาได้เป็นฝั่งเป็นฝา ทั้งคู่ก็ต้องพากันกลับไปหางานทำที่ซิลี เพื่อที่จะได้อาศัยอยู่ด้วยกันฉันคู่รักข้าวใหม่ปลามัน แต่การหันมาเริ่มต้นอาชีพใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย และ ฟางลิงปิง จะหางานได้ไหม หากเขาจะร้างไร้ประสบการณ์ในการทอผ้าอย่างสิ้นเชิง!
Maria
หันมาที่หนังเกี่ยวกับดารานักร้องในวงการบันเทิง เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิสปีนี้ยังเริงใจเสนอหนัง biopic ที่มุ่งจิกกัดบุคลิกหยิ่งทะนงของนักร้องสาวหุ่นสะโอดสะองหลังลดน้ำหนักลงอย่างฮวบฮาบนาม Maria Callas ผ่านหนังเรื่อง Maria ของผู้กำกับ Pablo Larraín และได้นักแสดงสาวระดับแถวหน้าอย่าง Angelina Jolie มารับบทเป็น Maria ตอนผ่ายผอม กระทั่งตรอมใจตายด้วยโรคร้ายรุมเร้าเมื่อปี 1977 ณ กรุงปารีส
ซึ่งถึงแม้ว่าเธอจะใช้ชีวิตแบบสาวโสดอยู่เพียงลำพัง หากในคฤหาสน์หรูของเธอยังมีทั้งแม่บ้าน Bruna (รับบทโดย Alba Rohrwacher) และพ่อบ้าน Ferruccio (รับบทโดย Pierfrancesco Favino) ที่อาศัยร่วมชายคาเดียวกันฉันคนในครอบครัว อุทิศตัวรับใช้ Maria Callas แม้ในยามที่เธอเกรี้ยวกราดประสาทหลอนจากการแอบทานยาต้องห้าม จนดูเป็นความไฮโซที่พยายาม สร้างความหรูหราใช้วาจาแบบผู้ดีที่ดูจะเกินวิสัยของการเป็นคนรับใช้สำหรับ Bruna และ Ferruccio เกินไปสักนิด
The Order
ในขณะที่หนังเรื่อง The Order ของ Justin Kurzel ก็เล่าเหตุการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นในชุมชนครอบครัว ณ เมืองเกอร์ดาเลนน์ รัฐไอดาโฮ ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาประมาณปี 1983
เมื่อสมาชิกในครอบครัวเกิดความระส่ำระสายจากพฤติกรรมอันท้าทายของเหล่าโจรปล้นธนาคาร อันธพาลนักฉ้อโกงทรัพย์ และการดักทำร้ายขณะขับรถ จน FBI ท้องถิ่นต้องรับบทหนักในการสืบสาวมูลเหตุจูงใจ ก่อนจะได้รู้ว่ามันเป็นความเคลื่อนไหวขององค์การใต้ดินที่กำลังหมิ่นอำนาจรัฐบาล ด้วยแรงกระตุ้นจากงานวรรณกรรมล้างสมองเรื่อง The Turner Diaries (1978) ของ William Luther Pierce สร้างความตึงเครียดให้กับครอบครัวและชุมชน เมื่อมีคนเห็นดีเห็นงามกับความคิดขบถนี้มากขึ้นทุกที!
Harvest
ปิดท้ายหนังสายประกวดด้วยงานที่ดัดแปลงมาจากนิยายเข้ารอบสุดท้ายรางวัล The Man Booker Prize เรื่อง Harvest ของผู้กำกับหญิง Athina Rachel Tsangari จากงานชื่อเดียวกัน (2013) ของ Jim Crace
เล่าเรื่องราวครอบครัวในชุมชนเกษตรกรรมอันไม่ระบุยุคสมัยในอังกฤษ ที่เพื่อนสนิทในวัยเด็กสองราย นายหนึ่งเป็นชาวเมืองที่หันมาทำกสิกรรม และอีกนายมีตำแหน่งเป็นคฤหบดีมีที่ดินถือครองมากมาย พวกเขากำลังถูกท้าทายจากความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่ประกาศการมาถึงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ชีวิตครอบครัวในชุมชนไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมต่อไป และต้องผ่านการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคตที่กำลังคืบคลาน!
ส่วนงานที่เข้าร่วมประกวดในสาย Orizzonti ก็มีที่ว่าด้วยเรื่องปัญหาในครอบครัวอย่างโดดเด่นชัดเจนอีกสี่เรื่องด้วยกัน
Familia
เรื่องแรกคือหนังอิตาลีชื่อ Familia ของผู้กำกับ Francesco Costabile เมื่อมารดานาม Licia ต้องกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ดูแล Luigi และ Alessandro บุตรชายสองคนเพียงลำพัง หลังจากที่ Franco ผู้เป็นบิดา เคยใช้กำลังและวาจาทำร้ายสมาชิกในครอบครัวตัวเองอย่างเดือดพล่าน ก่อนจะหายไปจากบ้านเป็นเวลายาวนานถึง 10 ปี
แต่เมื่อเด็กน้อยเติบโตเป็นหนุ่มกันเต็มที่ Franco ก็หวนกลับมาคืนดี ทว่าการกลับมาคืนรังครั้งนี้ พวกเขาจะมีหลักประกันใดชวนให้มั่นใจได้ว่าฝ่ายบิดาจะไม่หันมาใช้ความรุนแรงอีกครั้ง
หนังเล่าสถานการณ์แตกร้าวของคนในครอบครัวได้อย่างน่าเศร้าใจ เมื่อคนรักที่ชิดใกล้กลับกลายเป็นคนที่อันตรายมากที่สุด!
My Everything
ด้านหนังฝรั่งเศสเรื่อง My Everything ของ Anne-Sophie Bailly ก็มีเนื้อหาที่ว่าด้วยชีวิตของ ‘มนุษย์แม่’ นาม Mona ผู้มีหน้าที่ดูแล Joël บุตรชายสมองช้าวัย 30 ปีที่กำลังมีความรักกับ Océane เพื่อนร่วมงานหญิงที่มีอาการเดียวกัน ในขณะที่ Mona เองก็กำลังต้องการวันเวลาแห่งความอิสระที่เธอจะหันไปมีความสัมพันธ์กับชายคนใหม่
แต่มันถึงเวลาที่เธอจะปล่อยให้ Joël ออกไปมีชีวิตของตนเองกับคนรักแล้วหรือไม่ หากเขายังคงมีความไม่มั่นคงทางจิตใจซึ่งต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่
หนังดูจะเป็นแบบทดสอบ ‘วัดใจ’ Mona อย่างโหดร้ายว่าเธอจะตัดสินใจอย่างไร ในบทบาทของการเป็น ‘มารดาเลี้ยงเดี่ยว’ ของเธอ
Ties That Bind Us
ในขณะที่หนังฝรั่งเศสอีกเรื่องคือ Ties That Bind Us ของผู้กำกับหญิง Carine Tardieu กลับนำเสนอภาพครอบครัวจำเป็นที่ไม่เห็นจะต้องผูกพันกันทางสายเลือดเสมอไป เมื่อคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวอาศัยอยู่ตามลำพังกับบุตรชายวัยเพียง 6 ขวบปี แต่กำลังมีความรักกับหญิงสาวคนใหม่ ทำให้ไม่มีเวลามาดูแลลูกชายหัวแก้วหัวแหวน วันหนึ่งเขาจึงต้องฝากให้เพื่อนบ้านหญิงที่รักชีวิตโสด (แสดงโดย Valeria Bruni Tedeschi) เป็นผู้คอยดูแลแทน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านสตรีกับเด็กชายที่กำลังต้องการคนใกล้ชิดดูแลจึงพัฒนาเหมือนเป็นลูกเป็นแม่ เกิดเป็นรักแท้ที่อยากจะเทคแคร์กันตลอดไปจริง ๆ! นับเป็นหนังที่พูดถึง ‘สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก’ อันเป็นสารอาหารหลักของการเป็นคนในครอบครัวเดียวกันได้อย่างซาบซึ้งใจ
Quiet Life
ปิดท้ายหนังในสายนี้กันด้วยเรื่อง Quiet Life ของผู้กำกับ Alexandros Avranas ซึ่งเล่าเรื่องราวได้อย่างสุดสะเทือนใจ หนังไล่ถ่ายทอดประสบการณ์ของครอบครัวรัสเซียอันประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และบุตรสาวสองหน่อ ที่กำลังยื่นขอลี้ภัยในประเทศสวีเดน หลังจากผู้เป็นพ่อเกือบจะถูกคร่าชีวิตจากสงครามในบ้านเกิด แม้ว่าพวกเขาจะละเมิดกฎหมายเดินทางเข้าประเทศมา พร้อม ๆ กับที่บุตรสาวคนเล็กเป็นโรคปริศนาซึ่งจะมีอาการเฉพาะเด็กที่อพยพมาเท่านั้น
วันหนึ่งเมื่อทางการสวีเดนปฏิเสธการเข้าเมืองของครอบครัวนี้ นารีคนสุดท้องก็เป็นลมล้มกองกับพื้นไม่ยอมฟื้นจากอาการโคม่า ฝ่ายบิดาและมารดาจึงต้องหาทางอุทธรณ์ให้รัฐบาลสวีเดนเห็นถึงความเดือดร้อนผ่านอาการนอนแน่นิ่งของบุตรสาวที่จะไม่ยอมให้ใครเอาตัวออกนอกประเทศ!
หนังเรียกร้องความเมตตาให้กับผู้อพยพที่หนีตายมาสู้เอาดาบหน้าว่าพวกเขามีความจำเป็นถึงเพียงไหนในการหวังพึ่งประเทศใหม่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ผ่านเรื่องราวที่ดูแล้วชวนให้สะเทือนใจ แม้ว่าทุกอย่างจะนำเสนอแบบหน้าตายจนเราไม่ได้เห็นถึงความท่วมท้นฟูมฟายกันในฉากใด ๆ เลย!