ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

ประกาศผลผู้ได้รับรางวัล 'นักเขียนอมตะ' ครั้งที่ 11 ปี 2567 ได้แก่ 'ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ' ผู้อุทิศตนแก่วงการวรรณกรรม และวงการการศึกษา

มูลนิธิอมตะ ประกาศผลรางวัล นักเขียนอมตะ ประจำปี 2567 ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจารณ์ที่ลึกซึ้ง เปิดแนวคิดและมุมมองใหม่ในการวิจารณ์วรรณกรรมและศิลปะไทย ด้วยวรรณศิลป์วลีคมคายสะท้อนทุกมุมมองปัญหาในสังคมไทย เป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการวรรณกรรมไทยและต่างชาติ   

รางวัล นักเขียนอมตะ ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิอมตะ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมบุคคลที่ทำงานด้านวรรณกรรมที่สร้างคุณค่าผ่านงานประพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่เปี่ยมด้วยคุณค่า เชิดชูเกียรติประวัตินักเขียนไทยที่มีความสามารถและเป็นกำลังใจแก่นักเขียนไทยผู้อุทิศตน ทุ่มเท สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าควรแก่การนำผลงานเผยแพร่สู่สากล

 

วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ (AMATA FOUNDATION) เปิดเผย ผลการคัดสรร รางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2567 ว่า

"คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ ประจำปี 2567 จะได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัลจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)

ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

ในปีนี้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านวรรณศิลป์ จำนวน 6 ท่าน ประกอบด้วย ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) ประธานกรรมการ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์), ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ กรรมการ, รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการ, จรัญ หอมเทียนทอง กรรมการ, กนกวลี กันไทยราษฎร์ (พจนปกรณ์) กรรมการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุปาณี พัดทอง กรรมการและเลขานุการ

ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้

1 เป็นนักเขียนสัญชาติไทยและมีชีวิตอยู่ในวันที่เสนอชื่อ

2 มีผลงานเป็นภาษาไทยเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อเนื่องยาวนาน

3 ผลงานมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นผู้ได้รับการยอมรับและยกย่องว่าเป็นนักเขียน นักคิด นักวิจารณ์ที่ลึกซึ้งและสร้างสรรค์ มีผลงานที่โดดเด่น อาทิ ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี, ทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์, ทางอันไม่รู้จบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์

ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

เป็นผู้สร้างแนวคิดใหม่ในการวิจารณ์วรรณกรรมอย่างมีศิลปะ มีวลีคมคาย เช่น ศิลปะส่องทางให้แก่กัน ทฤษฎีจากแผ่นดินแม่, ทวิวัจน์ เป็นต้น คำเหล่านี้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการมองหามุมใหม่ในการเขียนงานวิจารณ์ในแวดวงวรรณกรรมไทย ที่สะท้อนภาพและปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน

ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

เป็นนักภาษาและนักเขียนสารคดีที่มีชั้นเชิงวรรณศิลป์ รอบรู้หลายภาษา ทั้งไทย อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส สามารถเล่นกับภาษาได้อย่างลึกซึ้ง มีกลวิธีเชิงวรรณศิลป์ในการใช้ภาษาเพื่อปลุกเร้าหรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน มีการสร้างคำชุดใหม่ เห็นได้จากบทความต่าง ๆ อาทิ ศัตรูที่ไหลลื่น แง่มุมหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ที่แปลกใหม่และทรงอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยนิสัยที่รักการอ่าน การแปล วิจัย ศึกษา ค้นคว้าวรรณกรรมและวัฒนธรรมยุโรปอย่างลึกซึ้ง ทำให้มองเห็นความแตกต่างและความเหมือนของภูมิปัญญาตะวันตกและตะวันออก เมื่อนำมาผสานกับความช่างคิด ช่างวิเคราะห์วิจารณ์อย่างมีองค์ประกอบ ทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการวรรณกรรมไทยและนักวิชาการวรรณกรรมต่างชาติ

ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

เป็นผู้อุทิศตนให้แก่วงการวรรณกรรมวิจารณ์ วงการศึกษา เป็นนักวิจารณ์ชั้นเยี่ยม ทุกครั้งที่ได้รับทุนใด ๆ จะตั้งใจทำงานวิจัยอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม เป็นแบบอย่างของคนในวงการวรรณกรรม วงการศึกษาไทย และสังคมไทย"

ที่ผ่านมามูลนิธิอมตะได้ประกาศยกย่อง นักเขียนอมตะ ไปแล้ว 11 คน ได้แก่

  • ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นามปากกา 'เสนีย์ เสาวพงศ์'
  • โรจ งามแม้น นามปากกา 'เปลว สีเงิน'
  • โกวิท เอนกชัย นามปากกา 'เขมานันทะ'
  • สมบัติ พลายน้อย นามปากกา 'ส.พลายน้อย'
  • พระไพศาล วิสาโล
  • คำสิงห์ ศรีนอก นามปากกา 'ลาว คำหอม'
  • ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา 'พนมเทียน'
  • อาจินต์ ปัญจพรรค์,
  • สุกัญญา ชลศึกษ์ นามปากกา 'กฤษณา อโศกสิน'
  • อัศศิริ ธรรมโชติ,
  • สุภา สิริสิงห นามปากกา 'โบตั๋น'

ยกย่อง ‘ดร.เจตนา นาควัชระ’ เป็น ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 11 ปี 67

รางวัลนักเขียนอมตะในปีนี้ 2567 จะมีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่  17 มกราคม 2568