เรียนรู้และเข้าใจ “ออทิสติก” ผ่านตัวละครจากซีรีส์-หนังดัง
ทำความเข้าใจกลุ่มผู้ที่มีอาการ “ออทิสติก” ผ่านตัวละครจากซีรีส์และภาพยนตร์ดัง ตั้งแต่ “Forrest Gump” หนังดังขึ้นหิ้ง จนถึง “อู ยองอู” จาก “Extraordinary Attorney Woo” ซีรีส์เกาหลีสุดฮิต
จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับซีรีส์ “Extraordinary Attorney Woo” เล่าเรื่องของ “อู ยองอู” ทนายความหญิง วัย 27 ปี มีไอคิวสูงถึง 164 มีความจำเป็นเลิศ ตลอดจนกระบวนการความคิดที่เยี่ยมกว่าคนปกติ แต่เธอพบว่า ตัวเองกำลังมีปัญหาอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับการเข้าสังคม เนื่องจากเธอมีภาวะแอสเพอร์เกอร์ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกันกับออทิสติก ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำเรตติ้งสูงขึ้นทุกตอนที่ออกอากาศ จนกลายเป็นซีรีส์ที่ทำเรตติ้งสูงสุดของช่อง ENA สถานีที่ออกอากาศ ด้วยเรตติ้งตอนจบที่สูงถึง 17.5
อีกทั้ง “พัก อึน-บิน” ผู้รับบทเป็น “อู ยองอู” ยังได้รับคำชมว่าสามารถถ่ายทอดลักษณะตัวละครออกมาได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงคนเขียนบทและทีมงานที่ทำการบ้านมาอย่างดี พร้อมเก็บรายละเอียดของผู้ที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ได้อย่างครบถ้วน
เพื่อทำความเข้าใจภาวะออทิสติกและแอสเพอร์เกอร์ให้ดียิ่งขึ้น กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวมภาพยนตร์และซีรีส์ที่ตัวละครนำมีภาวะดังกล่าวมาให้ได้ชมกัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นแล้ว ภาพยนตร์และซีรีส์เหล่านี้ยังสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ชมได้อีกด้วย
แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกันก่อนว่า ภาวะออทิสติกและแอสเพอร์เกอร์นั้นคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร
จากข้อมูลของเว็บไซต์ พบแพทย์ ระบุว่า กลุ่มอาการออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) คือ ภาวะระบบประสาททำงานซับซ้อน ผู้ที่เป็นออทิสติกจะมีความสามารถเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม พัฒนาการทางภาษา และทักษะการสื่อสารด้อยกว่าคนทั่วไป และมักมีพฤติกรรมทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำ ๆ เช่น โยนของไปมา สะบัดมือซ้ำ ๆ หรือชอบพูดเลียนแบบ โดยอาการอาจรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ได้ เพราะแต่ละคนมีปัญหาและความรุนแรงที่แตกต่างกัน
ขณะที่ แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger's Syndrome) เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกับโรคออทิสติก ส่งผลต่อพฤติกรรม การใช้ภาษา การสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในสังคม ผู้ป่วยจะมีอาการหมกมุ่นหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ มีความสามารถในการสื่อสารหรือการเข้าสังคมต่ำ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นในความคิดของตนเอง และจริงจังกับกฎหรือกิจวัตรประจำวัน
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่จัดอยู่ในกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High-functioning Autism) โดยจะไม่มีความผิดปกติของสมรรถนะทางสมองหรือการใช้ภาษา พูดเก่ง และดูเหมือนฉลาด อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยหรือเริ่มรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม
สำหรับ 10 ตัวละครที่มีกลุ่มอาการออทิสติกและแอสเพอร์เกอร์ ที่กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวมมามีดังนี้
จูเลีย - Sesame Street (2522)
เริ่มต้นกันที่ “Sesame Street” รายการตุ๊กตาหุ่นมือเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กของสหรัฐที่ออกอากาศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2522 มีตัวละครหลักคือ “เอลโม่” และผองเพื่อนที่มีทั้งมนุษย์ สัตว์ประหลาด นางฟ้า อยู่ร่วมกันในถนน 123 Sesame Street โดยจะจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่แทรกเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่เด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ คำศัพท์ในชีวิตประจำวัน การนับเลข หรือการคิดเลข เป็นต้น รวมถึงข้อมูลที่จะช่วยสร้างความเข้าใจสถานการณ์พบเห็นในชีวิตประจำวัน ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ดีในสังคม
ปี 2558 ได้เพิ่มตัวละคร “จูเลีย” เด็กหญิงมีผมสีส้มที่มีกระต่ายเป็นตุ๊กตาคู่ใจ ผู้มีภาวะออทิสติกเข้าไปในเรื่อง ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจและยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกัน มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ปกครองที่มีลูกเป็นออทิสติก เนื่องจากจูเลียเป็นเหมือนภาพสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามีตัวตน เป็นที่ยอมรับในสื่อและสังคม
ฟอร์เรสท์ กัมพ์ - Forrest Gump (2537)
ตามมาด้วย “Forrest Gump” (2537) ภาพยนตร์ระดับตำนานของ “ทอม แฮงค์” ที่กวาดไปได้ 6 รางวัลในงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 67 รวมถึงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยดัดแปลงมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน เล่าเรื่องราวชีวิตของ “ฟอร์เรสท์ กัมพ์” ชายหนุ่มที่มีบุคลิกที่มองโลกในแง่ดี และโทนหนังที่ฟีลกู๊ด ทำให้กัมพ์เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่รัก และมีหลายบทพูดที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอ
แม้ว่าในภาพยนตร์จะไม่ได้ระบุตรง ๆ ว่า กัมพ์มีภาวะอะไรกันแน่ แต่จากบทความของ ดร.ชินจิ อิจิชิ และ ดร. นาโอมิ อิจิชิ ที่ตีพิมพ์ในปี 2539 โดยทำการศึกษาจากการบรรยายลักษณะและการมีปฏิสัมพันธ์ของกัมพ์กับผู้คนรอบข้าง โดยผู้แต่งพบว่า บุคลิกของกัมพ์นั้นตรงตามเกณฑ์การวินิจฉัยผู้มีภาวะในสเปกตรัมออทิสติก
แซม ดอว์สัน - I Am Sam (2544)
“I Am Sam” เป็นภาพยนตร์แนวดรามา เข้าฉายในปี 2544 เล่าเรื่องของแซม ดอว์สัน ผู้มีภาวะออทิสติก ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง แต่ด้วยความที่แซมมีสติปัญญาเท่ากับเด็ก 7 ขวบ จึงทำให้เขาไม่รู้วิธีเลี้ยงลูก ทำให้เพื่อนบ้านต้องช่วยกันเลี้ยงลูกของแซม แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าแซมจะมอบความรักให้แก่ลูกของเขาไม่ได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เป็นที่ถูกใจของเหล่าบรรดานักวิจารณ์เท่าใดนัก เพราะได้รับคะแนนจากนักวิจารณ์ในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไปเพียง 36% เท่านั้น ตรงข้ามกับคะแนนจากฝั่งผู้ชมที่สูงถึง 86% และยังส่งให้ “ฌอน เพนน์” ผู้รับบท แซม ดอว์สัน ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอีกด้วย
เชลดอน คูเปอร์ - The Big Bang Theory (2550)
ซิตคอมสุดเนิร์ดจากสหรัฐอย่าง "The Big Bang Theory" (2550) นั้นเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างเสียงหัวเราะและประสบความสำเร็จอย่างมาก กวาดรางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วน และสร้างต่อเนื่องกันมาจนถึง 12 ซีซัน โดยเล่าเรื่องของกลุ่มคน 5 คนที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งแต่ละคนนั้นมีความเนิร์ด ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และการเข้าสังคมที่คนทั่วไปอาจจะมองว่าแปลก
หนึ่งในตัวละครที่โดดเด่นที่สุดของเรื่องคือ เชลดอน คูเปอร์ เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย คูเปอร์มีไอคิวสูงระดับอัจฉริยะ แต่ขาดทักษะพื้นฐานทางสังคม ไม่เข้าใจในเรื่องขบขัน ขาดความนอบน้อม ความเห็นอกเห็นใจและความอดทน ด้วยลักษณะเหล่านี้ทำให้เกิดเรื่องขบขันเกี่ยวกับตนเองมากมาย เดิมทีผู้สร้างกล่าวว่า ตัวละครนี้ไม่ได้ตั้งใจให้มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ และโรคย้ำคิดย้ำทำ แต่ลักษณะตัวละครที่ออกมากลับตรงตามภาวะดังกล่าวทุกข้อ
ฌอน เมอร์ฟี - The Good Doctor (2560)
“The Good Doctor” (2560) เป็นซีรีส์อเมริกัน เล่าเรื่องราวของศัลยแพทย์ “ฌอน เมอร์ฟี” ผู้มีภาวะออทิสติก ผู้มีความฉลาดหลักแหลม และมักจะหาวิธีการช่วยเหลือคนไข้ให้รอดชีวิตได้เสมอ แต่ปัญหาที่เมอร์ฟีต้องพบเจอ คือการเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเพื่อนร่วมงาน คนรัก หรือแพทย์ แม้ว่าคาแร็กเตอร์ของเมอร์ฟี จะเป็นคนตรงไปตรงมา คิดอะไรก็พูดอย่างนั้น แต่นั่นคือเสน่ห์ที่ทำให้ผู้ชมหลงรักและเอาใจช่วยตลอด
The Good Doctor นั้นดัดแปลงมาจากซีรีส์เรื่อง “Good Doctor” (2556) ของเกาหลีใต้ ซึ่งนอกจากเวอร์ชันสหรัฐแล้วยังมีเวอร์ชันอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ตุรกี และฮ่องกง สำหรับเวอร์ชันสหรัฐนั้น ฉายไปแล้วทั้งหมด 5 ซีซัน และกำลังถ่ายทำซีซันที่ 6 เตรียมออกอากาศวันที่ 3 ต.ค. 2565
แซม การ์ดเนอร์ - Atypical (2560)
“Atypical” ซีรีส์แนวครอบครัวอบอุ่นหัวใจของ Netflix เป็นเรื่องราวของครอบครัวการ์ดเนอร์ โดย “แซม” ลูกชายของครอบครัวนี้มีภาวะออทิสติก ครอบครัวนี้พยายามจะทำให้แซมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปรกติมากที่สุด แต่ดูเหมือนว่า สังคมจะไม่ได้ปฏิบัติตัวเป็นปรกติกับแซม ซีรีส์เรื่องนี้จึงนำเสนอความสุข มุมน่ารัก และความรักของคนในครอบครัว ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนปัญหาที่เด็กที่มีภาวะออทิสติกและครอบครัวต้องเผชิญ โดย Atypical มีทั้งสิ้น 4 ซีซัน พึ่งจบไปเมื่อปีที่แล้ว
พี่ยิม - Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ (2560)
“โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์” โปรเจคใหญ่ของนาดาว บางกอกในปี 2560 ที่รวมนักแสดงเกือบยกค่ายรวมไว้ด้วยกัน โดยเป็นซีรีส์ 4 เรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างชีวิตกับกีฬา สำหรับเรื่องที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง และได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามคงจะหนีไม่พ้น “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ที่ “ต่อ - ธนภพ ลีรัตนขจร” รับบทเป็นเด็กออทิสติก พัฒนาการช้าทั้งร่างกายและสมองราวกับเด็ก 6 ขวบ แต่ชอบเล่นแบดมินตันเป็นชีวิตจิตใจ ซีรีส์ได้พาให้ผู้ชมได้เข้าใจผู้มีภาวะออทิสติกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แสดงถึงความรักของคนในครอบครัวและเรียกน้ำตาจากคนดูได้หลายปี๊บ
นอกจากนี้ ต่อ ธนภพสามารถแสดงออกมาได้อย่างดีแบบไร้ที่ติ จนคว้ารางวัล นักแสดงนำชาย รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 9 มาครองได้สำเร็จ และก้าวขึ้นเป็นนักแสดงสายฝีมือทันที นอกจากรางวัลที่ต่อได้รับแล้ว Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ ยังได้รับรางวัล ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม และ ละครยอดเยี่ยม ในเวทีนาฏราชอีกด้วย จากการเข้าชิงทั้งสิ้น 9 รางวัล
มุนซังแท - It's Okay to Not Be Okay (2563)
มาต่อกันที่ซีรีส์แนวโรแมนติกดรามาอย่าง “It's Okay to Not Be Okay” (2563) ที่เป็นเรื่องราวความรักของ “มุน คังแท” เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชหนุ่มที่ทำหน้าที่จดบันทึกอาการของผู้ป่วย ผู้อ่อนโยน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความอดทนสูง และ “โก มุนยอง” นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่มีนิสัยแตกต่างจากเขาในทุกด้าน แต่แล้วทั้งคู่กลับเข้าใจและเยียวยาบาดแผลภายในใจของกันและกัน
อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญในเรื่องนี้คือ “มุน ซังแท” พี่ชายของคังแทที่มีภาวะออทิสติกและคังแทต้องคอยดูแลเขาอยู่เสมอ ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมถึง “โอ จองเซ” ผู้รับบท มุน ซังแท ที่ได้รับรางวัลจากหลายเวที
ฮัน กือรู - Move to Heaven (2564)
อีกหนึ่งซีรีส์เกาหลีผลงานของ Netflix ที่ทำให้ผู้ชมน้ำตาท่วมจออย่าง “Move to Heaven” ที่เล่าเรื่องของบริษัททำความสะอาดบ้านผู้เสียชีวิต แต่ละตอนของซีรีส์จะพาผู้ชมไปพบกับเรื่องราวชีวิตของผู้เสียชีวิตแต่ละรายและความปรารถนาสุดท้ายของพวกเขา โดยผ่านตัวละครหลักของเรื่องอย่าง “ฮัน กือรู” เด็กหนุ่มผู้มีอาการแอสเพอร์เกอร์ ที่ทำงานกับพ่อผู้เป็นเจ้าของบริษัทนี้ แต่พ่อของเขาได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้ผู้เป็นอาที่พึ่งออกจากเรือนจำ ต้องมาเป็นผู้ปกครองเขาแทน
แม้ว่า กือรูจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจอารมณ์ของคน รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แต่เขาก็เป็นผู้ที่คลี่คลายปมและตีแผ่เรื่องราววาระสุดท้ายของผู้เสียชีวิตเสมอ ขณะเดียวกัน อาการแอสเพอร์เกอร์ของกือรูก็ทำให้เขาเข้ากับอาแทบไม่ได้เลย และยังรู้สึกคิดถึงพ่ออยู่เสมอ ซึ่งความสัมพันธ์ของอาหลานคู่นี้จะเป็นอย่างไรต้องติดตามในซีรีส์
จะเห็นได้ว่า ตัวละครภาวะออทิสติกและแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่มักจะมีไอคิวและเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่พวกเขาขาดคือวิธีการเข้าสังคม ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือความเข้าใจ และการยอมรับจากสังคมว่า พวกเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ๆ การดูซีรีส์และภาพยนตร์เหล่านี้นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินแล้วยังช่วยให้เรารับมือและปฏิบัติตัวกับพวกเขาได้ถูกต้องอีกด้วย
ที่มา: Applied Behavior Analysis Programs, Autism, Dogo News, Happy Home Clinic, Los Angeles Times, Soompi, The Noize Mag, Whizbliz
กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา