พึ่งพาการท่องเที่ยว

พึ่งพาการท่องเที่ยว

การเก็บภาษีท่องเที่ยว หรือ ค่าเหยียบแผ่นดินนี้ มีเก็บกันอยู่ประมาณ 60 ประเทศ บางประเทศก็มีการเก็บมานานแล้ว เช่น ฝรั่งเศส เก็บมาตั้งแต่ปี 1910 หรือ 114 ปีมาแล้ว แต่ประเทศส่วนใหญ่เริ่มเก็บในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา

มีผู้ถามดิฉันว่ามองว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีโอกาสจะกลับไปเห็น 5-6% แบบที่คนอื่นๆตั้งความหวังไหม ดิฉันตอบว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ด้วยศักยภาพของสังคมสูงวัย ถ้าเราสามารถเติบโตตามศักยภาพได้ประมาณ 2.5 ถึง 3% ต่อปีไปได้เรื่อยๆ ก็ถือว่าเก่งแล้ว

หากเราพอใจให้เศรษฐกิจของเรา เติบโตในระดับนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องทำอะไรนะคะ ยังต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งการเติบโต เพราะหากไม่ทำงานหนัก มันจะไม่เติบโตค่ะ

หากตั้งใจที่จะเป็นจุดท่องเที่ยวที่ทุกคนในโลกอยากมา เราต้องวางแผนระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาวด้วย การทำการตลาด การเปิดฟรีวีซ่า เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น เพราะอะไรหรือ

เพราะหากเราต้องพึ่งพาอะไรเป็นพิเศษ เราต้องใส่ใจที่จะสร้างให้สิ่งที่เราพึ่งพา สามารถเป็นตัวชูโรงให้เราไปได้ตลอดเป็นระยะเวลายาวนาน ให้ภาพลักษณ์ ความเป็นจริงที่ประสบ และความประทับใจติดตรึงผู้มาเยือน จนทำให้เป็นจุดหมายที่อยากกลับมาซ้ำแล้วซ้ำอีก

หลังจากโควิด-19 จางไป ผู้คนก็ออกท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างมาก แต่สถานที่ท่องเที่ยวก็จำกัดลง ด้วยเหตุของความไม่สงบและสงคราม ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กระจายตัว แหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ไปแล้วมีความสุข มีความสบายกาย สบายใจ อาหารอร่อย เช่นในประเทศไทยเรานี้ เกิดเหตุการณ์การ “ล้น” ของนักท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานต่างๆไม่สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่แห่แหนกันไปอย่างมากได้ เกิดผลเสียทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ ผู้คนในเมืองท่องเที่ยวถูกเบียดเบียนทรัพยากร เกิดความไม่สะดวกในการอยู่และครองชีพ 

แม้ประเทศไทยจะมีการปรับแผนและพยายามหาจุดขายด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวแบบหาประสบการณ์ (Experience Tourism) หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Heritage Tourism) แต่เราจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมาก ประกอบกับโลกอนาคตที่เราอยากชูการท่องเที่ยว ไม่สามารถจะเป็นการท่องเที่ยวแบบเดิมๆได้อีกแล้ว ต้องมีการลงทุน ต้องวางแผน และเราต้องการเงินมาใช้ในการวางแผนและปฏิบัติการให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์บนดิน ดังนั้น เราควรต้องเก็บภาษีท่องเที่ยว

ข้อมูลจาก CNN Travel ซึ่งนำงานวิจัยของ Rhys ap Gwilym อาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ และ Linda Osti อาจารย์สอนวิชาการจัดการท่องเที่ยว พบว่า การเก็บภาษีท่องเที่ยว หรือ ค่าเหยียบแผ่นดินนี้ มีเก็บกันอยู่ประมาณ 60 ประเทศ บางประเทศก็มีการเก็บมานานแล้ว เช่น ฝรั่งเศส เก็บมาตั้งแต่ปี 1910 หรือ 114 ปีมาแล้ว แต่ประเทศส่วนใหญ่เริ่มเก็บในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา 

หลายคนอาจกลัวว่า เมื่อเก็บภาษีแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง แต่จากการศึกษาของอาจารย์ทั้งสองท่านพบว่ามีอะไรซับซ้อนกว่าที่ทุกคนคิด มีคนทำการศึกษาตัวอย่างของอิตาลีหลายกรณีมาก แต่ผลของการศึกษาไม่มีผลลัพธ์ที่สม่ำเสมอชัดเจน เช่น โรม ฟลอเรนซ์ จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือในประเทศ ก็ไม่ลดลง 

เมืองบาร์เซโลนา แม้จะเก็บภาษี (2.5 ยูโรต่อวัน ตั้งแต่ปี 2012 และปัจจุบันเก็บ 3.25 ยูโรต่อวัน) แต่ก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้เข้าพักโรงแรมได้เพิ่มจำนวนจาก 7.1 ล้านคน ในปี 2013 เป็น 9.5 ล้านคนในปี 2019

ดิฉันสังเกตว่าถ้าเมือง หรือประเทศนั้น เป็นจุดมุ่งหมายที่คนอยากไปอยู่แล้ว คนจะไม่รู้สึกอะไรที่จะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เหมือนกับว่ามันกลายเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย แต่หากเป็นเมืองหรือประเทศที่คนไม่ได้อยากไปมากมาย พอเริ่มเก็บขึ้นมา คนก็จะเอามาเป็นข้ออ้างในการไม่แวะไป สรุปเคล็ดลับคือ ถ้าอยากเก็บภาษี โดยไม่ให้กระทบจำนวนคนมาเยือน ต้องทำเมืองเรา หรือประเทศเรา ให้เป็นจุดมุ่งหมายที่คนอยากมาค่ะ

รัฐบาลหรือท้องถิ่นต้องให้ความชัดเจนแก่นักท่องเที่ยวผู้เสียภาษีด้วยว่าเอาเงินภาษีไปทำอะไร พบว่าประเทศต่างๆในโลกส่วนใหญ่ใช้ในการทำตลาดและแบรนด์ หมายถึงลงทุนโดยตรงกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการท่องเที่ยว เช่น ห้องน้ำสาธารณะ ทางเดินเท้า ทางจักรยาน หรือแม้กระทั่งใช้สร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ 

โดยแนวโน้มการนำภาษีท่องเที่ยวไปสนับสนุนโครงการที่ช่วยขจัดหรือเยียวยาด้านลบของท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคม รวมถึงใช้ปรับปรุงประสบการณ์ หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวรับเหตุผลและยินดีจ่าย

หลายจุดท่องเที่ยว จงใจใช้ภาษีในการกีดกันนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในช่วงเวลากลางวันและใช้บริการหรือใช้จ่ายเงินในแหล่งท่องเที่ยวน้อย ซึ่งหมายความว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้ เป็นภาระต่อสถานที่ไปเยือน รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองเวนิส เริ่มเก็บภาษีการไปเยือน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปเช้าเย็นกลับ ไม่ได้ค้างพัก หรือเรียกกันง่ายๆว่ากลุ่ม day trip เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในอัตราคนละ 5 ยูโร หรือประมาณ 200 บาท เพื่อกีดกันนักท่องเที่ยวประเภทมาเที่ยวกลางวันออกไป หรือจูงใจให้พักอยู่ค้างคืน เพื่อให้อยู่นานขึ้น (จะได้ใช้จ่ายเงินมากขึ้น)

หลายประเทศที่เก็บภาษีท่องเที่ยว ได้ปรับเพิ่มอัตรา เช่น ภูฏาน ปรับเพิ่มในปี 2022 เป็นขั้นต่ำ 200 เหรียญต่อวัน แต่ในปี 2024 ก็ตัดสินใจลดลงเหลือ 100 เหรียญต่อวัน และจะใช้อัตรานี้ไปอีกสามปี จนถึง 31 สิงหาคม 2027 

ภาษีท่องเที่ยว ส่วนใหญ่คิดรวมในราคาโรงแรมที่พัก และอีกส่วนหนึ่งคิดในค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นภาษีขาออกเมื่อนักท่องเที่ยวกลับไป บางแห่งก็คิดตามฤดูกาล หากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (ช่วงโลซีซัน) จะคิดในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงในฤดูกาล (ช่วงไฮซีซัน)

เขียนไปเขียนมาก็พบว่า ฝรั่งเศสคิดภาษีท่องเที่ยวรวมในค่าโรงแรมที่พัก โดยเก็บตั้งแต่ 0.20 ยูโร ไปจนถึง 4 ยูโรต่อคนต่อคืน แต่เมื่อต้นปีนี้ กรุงปารีสประกาศจะขึ้นอัตราสูงสุดจากเดิมถึง 200% โดยประกาศออกตัวว่าจะนำไปพัฒนาปรับปรุงบริการและสาธารณูปโภคของเมือง 

กลับมาที่เมืองไทย เรามีการประกาศว่าตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 เราจะเริ่มเก็บภาษีท่องเที่ยวในอัตรา 300 บาทต่อคน โดยจะนำไปซื้อประกันภัยให้นักท่องเที่ยว 50 บาท ส่วนที่เหลือจะนำไปสมทบกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ดิฉันไปค้นดู เรามีการผ่อนผันยังไม่เก็บ ไม่ทราบว่าตอนนี้เก็บแล้วหรือยัง แต่ขอเรียนนะคะว่า ข้อมูลที่ไปทั่วโลก ที่ได้จาก Trip.com และ Time Out จะมีระบุว่าไทยเราเก็บภาษีตัวนี้ค่ะ 

หากรัฐบาลยังไม่ได้เก็บ ดิฉันแนะนำให้เริ่มเก็บเลย เพราะเราต้องใช้เงินอีกมหาศาล เพื่อเตรียมประเทศของเราให้ไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ท่องเที่ยวคุณภาพ ที่มีคุณค่าต่อชีวิต เป็นที่หลบภัย หลบพักใจและกาย รักษ์สุขภาพ สำหรับผู้แสวงหาความสงบและความสุข ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายแหล่งพักกายและใจในโลกที่เดือดจากสภาพภูมิอากาศ และเดือดจากความขัดแย้งต่างๆนี้ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ใช้ทุนในการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและดำเนินงาน ใช้ทุนในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ให้อยู่ดีกินดี จึงจะสามารถมีหน้าตายิ้มแย้ม เป็นมิตร ใช้ทุนในการแก้ไขปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด สร้างค่านิยมการขยันทำงาน ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต ฯลฯ ซึ่งเมื่อประชาชนมีความสุข ก็จะสามารถสร้างบรรยากาศสวรรค์บนดินได้จริงๆ

หากรัฐอยากหาผู้ที่จะเป็นประธานในการวางกลยุทธ์และขับเคลื่อน เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการ รู้จริงทั้งด้านกว้างด้านลึก และที่สำคัญ รู้ว่าจะเชื่อมต่อแผนและความร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างไร ดิฉันแนะนำ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาค่ะ